ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียเตรียมให้สิทธิประโยชน์เพิ่มดึงการลงทุนต่างชาติ

ASEAN Roundup มาเลเซียเตรียมให้สิทธิประโยชน์เพิ่มดึงการลงทุนต่างชาติ

11 เมษายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 3-10 เมษายน 2564

  • มาเลเซียเตรียมให้สิทธิประโยชน์เพิ่มดึงการลงทุนต่างชาติ
  • สิงคโปร์-สหรัฐฯกระชับความร่วมมือด้านการขนส่ง
  • IMF คาดเศรษฐกิจเวียดนามเติบโต 6.5%
  • เวียดนามเตรียมใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวกับเหล็กมาเลเซีย
  • กัมพูชาชี้โอกาสลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
  • มาเลเซียเตรียมให้สิทธิประโยชน์เพิ่มดึงการลงทุนต่างชาติ

    เต็งกู ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเลเซีย ที่มาภาพ: https://www.econotimes.com/Malaysia-luring-more-foreign-investment-this-year-after-a-68-decline-last-year-1605823
    มาเลเซียเตรียมดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นในปีนี้หลังจากที่ลดลง 68% ในปี 2020

    มาเลเซียจะเสนอสิ่งจูงใจเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct Investment:FDI) มากขึ้น รวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้เช่น การวิจัยและพัฒนา ในปีนี้หลังจากที่ลดลง 68%ในปี 2020

    เต็งกู ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การลดลงของ FDI ในปีที่แล้วส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและความไม่แน่นอนทางการเมือง

    รายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(United Nations Conference on Trade and Development:UNCTAD) ชี้ว่า FDI ในมาเลเซียที่ลดลง ถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    เต็งกู ซาฟรูล อับดุล อาซิส กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติตระหนักดีว่านโยบายส่วนใหญ่ของมาเลเซียยังคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง นโยบายภาษี ความริเริ่มและสิ่งจูงใจต่างๆ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความสม่ำเสมอ

    มาเลเซียกำลังพิจารณาที่จะรื้อฟื้นภาษีการบริโภคเพื่อเพิ่มรายได้จากภาษี

    ขณะเดียวกันมาเลเซียกำลังดำเนินการพร้อมกันจากหลายฝ่าย เพื่อ ทบทวนนโยบายที่มีอยู่และปรับโครงสร้างกลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการที่มีผลกระทบสูงจะมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว

    โดยดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมีน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมกล่าวว่า การทำให้นโยบายการลงทุนของรัฐบาลให้อยู่ในความสนใจและมีความยืดหยุ่น รวมทั้งตอบสนองต่อระบบนิเวศที่กำลังพัฒนา นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก

    ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมีน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม มาเลเซียที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/article/malaysia-reviewing-existing-policies-investment-strategy-expedite-highimpact-project

    “ผมมีความยินดีที่จะบอกว่า ความพยายามส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องของมาเลเซีย ทำให้เราประสบความสำเร็จบนแผนที่ของนักลงทุนรวมถึงนักลงทุนชาวญี่ปุ่น”

    “กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (MITI) กำลังเป็นผู้นำในการปฏิรูปวาระการลงทุนของมาเลเซีย” ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมีน อาลีกล่าวในการเปิดการเสวนาการลงทุนผ่ายระบบออนไลน์ที่จัดโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)

    ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมีน อาลีกล่าวว่า วาระใหม่นี้จะนำเข้าสู่ National Investment Aspirations ซึ่งจะนำมาเลเซียไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ(หมายถึงสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย และสามารถผลิตสินค้าที่ซับซ้อนได้) สร้างงานที่มีมูลค่าสูง ขยายความเชื่อมโยงภายในประเทศ การพัฒนาคลัสเตอร์ใหม่และที่มีอยู่ และยกระดับให้ครอบคลุม

    “กลยุทธ์การลงทุนใหม่ของเราจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการแสวงหาเทคโนโลยีขั้นสูง และการลงทุนที่ยั่งยืน รวมถึงการเพิ่มความเข้มข้นของนวัตกรรม สร้างความสมดุลระหว่างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลทั่วโลก ( ESG)” กล่าว

    รัฐบาลได้สร้างรากฐานที่จำเป็นเพื่อเปลี่ยนมาเลเซียให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านแผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัลของมาเลเซีย (MyDIGITAL) ที่เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้โดยนายกรัฐมนตรีตัน สรี มุห์ยิดดิน ยัสซิน

    ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมีน อาลี กล่าวว่า มาเลเซียคาดว่าจะเป็นกลุ่มแรกในภูมิภาคที่สร้างระบบนิเวศ 5G โดยใช้อินเทอร์เน็ตและบริการคลาวด์แบบเรียลไทม์

    นอกจากนี้ มาเลเซียจะยังคงถอดบทเรียนจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากมายของญี่ปุ่นในด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตออฟธิง

    “ด้วยการผนึกกำลังเหล่านี้ ผมมั่นใจว่าธุรกิจของมาเลเซียและญี่ปุ่นสามารถเพิ่มความร่วมมือ เพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การผลิตที่ชาญฉลาด และทุกเรื่องที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่”

    นอกจากนี้ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมีน อาลียังกล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายควรใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงที่มีอยู่ เพื่อเสริมสร้างความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างวิถีการค้าและการค้าระหว่างมาเลเซีย – ญี่ปุ่นให้แข็งแกร่ง

    “ผมมั่นใจว่าเรามาถูกทาง เนื่องจากการลงทุนของญี่ปุ่นในมาเลเซียปัจจุบันยังคงอยู่ที่ระดับสูงสุดในมูลค่า 91,400 ล้านริงกิต จากโครงการการผลิตทั้งหมด 2,761 โครงการ และสร้างงาน 348,475 ตำแหน่งแล้ว

    “สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความพึงพอใจที่จะลงทุนในมาเลเซีย การค้าของเราแม้ลดลง 5.3% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 แต่ยังคงบ่งชี้ถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรา ผมมองในแง่ดีว่าตัวเลขจะดีขึ้นในไม่ช้า เมื่อเราเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวหลังโควิด-19”

    ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมีน อาลี กล่าวว่า มาเลเซียเป็นประเทศการค้าที่เปิดกว้าง และเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่ต้องการมาโดยตลอดและจะยังคงขับเคลื่อนด้วยคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับนักลงทุน

    “ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นยึดคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อพิจารณาข้อเสนอที่ให้ประโยชน์ของมาเลเซียและสิ่งจูงใจในการแข่งขันและการลดหย่อนภาษี

    “ขอให้มองมาเลเซียเป็นประตูสู่ตลาดอาเซียน นอกจากนี้นักลงทุนจะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เปิดจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากร 3 พันล้านคน”

    สิงคโปร์-สหรัฐฯกระชับความร่วมมือด้านการขนส่ง

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-us-air-travel-covid-19-certificate-climate-change-14586458
    สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกาจะร่วมหาแนวทาง การฟื้นฟูการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศอย่างปลอดภัยท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีน

    นายอ๋อง เย กุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ได้มีการประชุมผ่านระบบออนไลน์ครั้งแรกกับนายพีท บัตติเจจ รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน โดยได้มีการพูดคุยกันในหลายประเด็นรวมถึงการฟื้นตัวจากการระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ทั้งนายอ๋องและนายบัตติเจจ “ตระหนักถึงผลกระทบของการขนส่งที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ“บทบาทสำคัญ” ของการขนส่ง ในการผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้สินค้าและโซ่อุปทานเคลื่อนย้าย และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของคนระหว่างกัน

    “จากความร่วมมือที่ยอดเยี่ยมซึ่งริเริ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยหน่วยงานด้านเทคนิคและเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย พวกเขาตั้งใจที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและการแลกเปลี่ยนทวิภาคีระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกาในทุกภาคการขนส่ง” กระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์และสหรัฐฯระบุในแถลงการณ์ร่วม

    นอกเหนือจากการหาแนวทางการฟื้นฟูการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศและการฟื้นตัวแลการปรับตัวหลังการระบาดในระยะยาวแล้วทั้งสองประเทศยังตกลงที่จะให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างความปลอดภัย ความมั่นคงและการอำนวยความสะดวกต่อไป

    ทั้งสองประเทศจะแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการขนส่งในเมืองแและระบบขนส่งอัจฉริยะ รวมทั้งหาโอกาสในการพัฒนาดิจิทัลและใช้ประโยชน์จากศักยภาพของระบบอัตโนมัติ แถลงการณ์ร่วมระบุ

    ทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นโดยที่ทั้งสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีในข้อตกลงปารีส ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในด้านการขนส่ง ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงทางเลือก พลังงานไฟฟ้า มาตรการที่อิงตลาด และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

    นอกจากนี้ทั้งสองประเทศจะพัฒนาและใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน และเทคโนโลยีสีเขียวอื่นๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลอีกด้วย แถลง
    การณ์ร่วมระบุ

    ความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ได้แก่ การหานวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ไร้คนขับ โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีการเคลื่อนที่อัจฉริยะ

    สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกาจะหาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศ ในการวางแผนการขนส่งในเมือง เช่น ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งทางเลือกการปล่อยมลพิษต่ำ เช่น การเดินและการใช้จักรยาน

    “ทั้งสองฝ่ายตั้งใจที่จะเสริมสร้างความร่วมมือที่ ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) และองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เพื่อให้การบินและการขนส่งทางทะเลเปิดกว้าง มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ ปลอดภัย ยั่งยืนและยืดหยุ่น ในลักษณะที่สอดคล้องกัน ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับใช้ ปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหและในการกรรมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ” แถลงการณ์ร่วมระบุ

    ความร่วมมือที่ ICAO รวมถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายระยะยาวใหม่ในการลดปริมาณคาร์บอนในภาคการบินและสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในโครงการชดเชยและลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ

    ส่วนที่ IMO จะตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยมลพิษจากเรือและวางแผนที่จะดำเนินการเพื่อให้อย่างน้อยก็บรรลุเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซจากเรือลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2050 เมื่อเทียบกับระดับปี 2008 รวมทั้งหาแนวทางการยกระดับเป้าหมาย

    “เราจะสานต่อการมีส่วนร่วมของเรา จากเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะผ่านการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งและการประชุมของรัฐมนตรีคมนาคม สนับสนุนเป้าหมายของ วิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค (APEC Putrajaya Vision 2040) และเดินหน้าการดำเนินการของกลุ่มในด้านสภาพภูมิอากาศ นวัตกรรมและการก้าวสู่ดิจิทัล” แถลงการณ์ร่วมระบุ

    IMF คาดเศรษฐกิจเวียดนามโต 6.5%

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/imf-sees-vietnam-economy-growing-at-6-5-pct-4259820.html

    กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund:IMF) ประมาณการเศรษฐกิจของเวียดนามว่าจะเติบโต 6.5% ในปีนี้ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ 4.9% เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด -19

    การคาดการณ์นี้นับว่า มีอัตราเติบโตสูงเป็นอันดับสองสำหรับประเทศอาเซียน 5 ประเทศ รองจากฟิลิปปินส์ที่ครองอันดับ 1 ด้วย การเติบโต 6.9% ตามมาด้วยมาเลเซียที่เท่ากับเวียดนามที่ 6.5% ส่วนอินโดนีเซียคาดว่าจะเติบโตที่ 4.3% เและไทยที่ 2.6%

    การเติบโตของเวียดนามคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.2% ในปี 2022

    อัตราการว่างงาน 3.3% ในปีที่แล้วคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.7% ในปีนี้ซึ่งต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2ในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ และสูงกว่าไทยที่อยู่ในระดับ 1.5% ท่านั้น

    ในไตรมาสแรกของปีนี้การเติบโตของ GDP เวียดนาม อยู่ที่ 4.48% ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเติบโต 6.5–7% ในปี 2021-2022

    เวียดนามเตรียมใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวกับเหล็กมาเลเซีย

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/921200/viet-nam-to-apply-temporary-anti-dumping-measures-on-malaysian-steel-products.html

    เวียดนามจะใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวกับผลิตภัณฑ์เหล็กรูปตัว H ที่มีต้นกำเนิดจากมาเลเซีย

    สำนักงานกำกับดูแลด้านมาตรการการค้าของเวียดนาม (Trade Remedies Authority of Vietnam : TRAV)ระบุเมื่อเร็วๆนี้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ออกประกาศ เพื่อใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดชั่วคราวกับผลิตภัณฑ์เหล็กรูปตัว H จากมาเลเซีย

    อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวที่ใช้กับผู้ส่งออกมาเลเซีย คือ 10.2%

    TRAV เปิดการสอบสวนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยพิจารณาจากผลการประเมินของคำร้อง ที่ขอให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด จากตัวแทนของอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศที่ยื่นมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

    หลังจากใช้เวลาการตรวจสอบเบื้องต้น 8 เดือน ผลการตรวจสอบพบว่า ปริมาณการนำเข้าเหล็กรูปตัว H จากมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาการสอบสวน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตเหล็กรูปตัว H ในประเทศ

    การทุ่มตลาดสร้างแรงกดดันอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในเกณฑ์ต่างๆ เช่น ปริมาณการผลิต ปริมาณการขาย รายได้ กำไร ส่วนแบ่งการตลาด และสินค้าคงเหลือ ซึ่งมีความผันผวนอย่างมากในช่วงการสอบสวน ตัวชี้วัดเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าลดลงอย่างชัดเจน

    เพื่อให้ได้ข้อสรุปขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับกรณีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า จะทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อระบุผลิตภัณฑ์ที่มีปัจจัยพิเศษที่จำเป็น ต้องได้รับการยกเว้นและไม่นับรวม และในขณะเดียวกันก็จะประเมินผลกระทบของกรณีนี้ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้บริโภคปลายทาง

    คาดว่ากรณีนี้จะสรุปได้ในไตรมาสที่สองของปีนี้

    กัมพูชาชี้โอกาสลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

    ที่มาภาพ: https://www.akp.gov.kh/post/detail/230188

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกัมพูชาได้ชี้ให้เห็นโอกาสการลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชา

    นายซุน จันทอล รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม ได้ นำเสนอโอกาสการลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานให้กับ บริษัทในประเทศและต่างประเทศจำนวน 50 บริษัท ผ่านการประชุมทางวิดีโอเมื่อวันที่ 7 เมษายน

    การนำเสนอนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออัพเดทนักลงทุน เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกัมพูชา รวมถึงโอกาสในการลงทุนในภาคส่วนนี้

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้เน้นการเชื่อมต่อถนนทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการปรับปรุงถนนจาก 2 เลนเป็น 4 สี่ จากการปรับปรุงผิวจราจรแบบ Double Bituminous Surface Treatment (DBST) เป็น แอสฟัลต์คอนกรีต (Asphalt Concrete) และโครงการก่อสร้างถนนที่สำคัญเช่น ถนน 34 สายในจังหวัดพระสีหนุ ถนน 38 สายในเมืองเสียมราฐ จังหวัดพระตะบอง – เกาะกง พระตะบอง – เสียมราฐ และถนนกัมปงชนัง – กำปงธม ถนนวงแหวนรอบที่ 4 เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์พนมเปญหรือ Phnom Penh Logistics Center (PPLC) ซึ่งจะมีการลงนามข้อตกลงระหว่าง บริษัท YCH ของสิงคโปร์และกระทรวงฯ โดยเป็นไปตามแผนแม่บทโลจิสติกส์แห่งชาติ และยังระบุถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อควบคุมการละเมิดกฎจราจรบนท้องถนน