ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียเปิดประมูลน้ำมันและก๊าซ 6 แปลง

ASEAN Roundup อินโดนีเซียเปิดประมูลน้ำมันและก๊าซ 6 แปลง

24 กรกฎาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-22 กรกฎาคม 2565

  • อินโดนีเซียเปิดประมูลน้ำมันและก๊าซ 6 แปลง
  • เมียนมาออกคำสั่งเข้มงวดขึ้นอีกรับมือดอลลาร์ขาด
  • Total-Ooredoo ถอนตัวออกจากเมียนมา
  • ฟิลิปปินส์ได้โควตาน้ำตาลเพิ่มจากสหรัฐฯ
  • ประธานาธิบดีโจโควีเร่งรัดผลิตน้ำตาลเพิ่ม
  • มาเลเซียศูนย์กลางผลิตอุปกรณ์ 5G ในเอเชียแปซิฟิกของ Ericsson
  • แบงก์ ออฟ อเมริกากลับเข้าตลาดเวียดนาม
  • อินโดนีเซียเปิดประมูลน้ำมันและก๊าซ 6 แปลง

    ที่มาภาพ: https://www.pertamina.com/en/news-room/news-release/pertamina-upstream-subholding-implements-aggressive-massive-exploration-activitie

    อินโดนีเซียโดยกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ (ESDM) จะเปิดให้สำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซจำนวน 5 แปลงและพื้นที่ในการพัฒนา 1 แปลง ในรอบการประมูลแรกของปี 2565

    แปลงที่นำออกประมูล ได้แก่ นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของอาเจะห์ นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอาเจะห์ และอารากุนโดในอาเจะห์ บาเวอันนอกชายฝั่งในชวาตะวันออก เบงการา 1 ในกาลิมันตันเหนือ และมาราตูอา 2 นอกชายฝั่งในช่องแคบมากัสซาร์

    Tutuka Ariadji อธิบดีกรมน้ำมันและก๊าซของกระทรวง ESDM กล่าวเมื่อวันพุธ (20 ก.ค.) และเชื่อว่าจะได้รับการตอบสนองที่ดี เนื่องจากรัฐบาลได้ เตรียมสิทธิประโยชน์จูงใจหลายด้านซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดและเงื่อนไขของการแบ่งกำไรของผู้รับเหมา ซึ่งจะพิจารณาปัจจัยเสี่ยงของแหล่งน้ำมันและก๊าซเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้มูลค่าของค่าตอบแทนในการให้สัญญาสัมปทาน(signature bonus)ผู้รับเหมาสามารถต่อรองได้

    อีกทั้งจากนั้นรูปแบบการชำระเงินของ First Tranche Petroleum (FTP คือ ส่วนของน้ำมันหรือก๊าซที่ผลิตและกันไว้จากพื้นที่สัญญาที่รัฐบาลและผู้รับเหมามีสิทธิ์รับและรับในแต่ละปีก่อนที่จะหักค่าดำเนินการใดๆ และต้นทุนการจัดการการผลิต) จะปรับเปลี่ยนเป็น 10% จาก 20% เช่นเดียวกับการกำหนดราคาตามเงื่อนไขแผนการขายตลาดในประเทศ DMO(Domestic Market Obligation) ที่ 100% ในช่วงระยะเวลาของสัญญา และมีความยืดหยุ่นในการเลืำอกรูปแบบสัญญา

    “เราปรับเปลี่ยนข้อกำหนดและเงื่อนไขเพื่อให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการเก็บภาษี เราอาจหารือกันในภายหลัง” Ariadji กล่าวในประกาศอย่างเป็นทางการ

    เมียนมาออกคำสั่งเข้มงวดขึ้นอีกรับมือดอลลาร์ขาด

    ที่มาภาพ: https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-suspends-foreign-loan-repayments-amid-dollar-crunch
    เมียนมากำลังประสบปัญหาการขาดแคลนดอลลาร์ จนทำให้ธนาคารกลางซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารประเทศด้วยกองทัพต้องออกคำสั่งถี่ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา กำกับการใช้เงินดอลลาร์ และมีความเข้มงวดมากขึ้นตามลำดับ

    โดยล่าสุดมีคำสั่งให้สถาบันการเงินแลกเปลี่ยนและปรับยอดเงินดอลลาร์สหรัฐคงเหลือในบัญชีของลูกค้า

    ธนาคารกลางเมียนมา ได้สั่งให้ธนาคารในท้องถิ่นในบ่ายวันพฤหัสบดี(21ก.ค.) ซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐที่เหลืออยู่ในบัญชีสกุลเงินต่างประเทศของธุรกิจ องค์กร และบุคคลภายในเวลา 18.00 น. ของวันนั้น

    คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางเมียนมาในการจำกัดการถือครองสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างยิ่งยวดของกองทัพในการควบคุมการหมุนเวียนของเงินตราต่างประเทศในประเทศ

    คำสั่งล่าสุดจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกือบทั้งหมดที่จดทะเบียนที่ สำนักงานดูแลด้านการลงทุนและการจัดตั้งบริษัทของเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration: DICA) รวมถึงบริษัทในประเทศที่มีต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วน 35% แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้กล่าวกับ Myanmar Now

    ในวันเดียวกันขณะที่มีการรายงานข่าว สถาบันการเงินยังคงขอความชัดเจนถึงขอบเขตของคำสั่งกับธนาคารกลาง

    มีรายงานว่ามีข้อยกเว้นสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ดำเนินการโดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการลงทุนเมียนมาและธุรกิจที่ดำเนินงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) ทั้งสองกลุ่มได้รับการยกเว้นจากนโยบายธนาคารกลางที่กำหนดให้ต้องแลกสกุลเงินโดยในเดือนเมษายน

    ในขณะนั้น ธนาคารกลาง ได้สั่งให้สถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต แปลงเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินท้องถิ่นที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1,850 จั๊ตต่อดอลลาร์ ภายในหนึ่งวันทำการหลังจากได้รับเงินดอลลาร์มา

    แต่หลังจากได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสถานทูตและหอการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารกลางได้ยกเลิกคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน และยกเว้นให้กับธุรกิจและองค์กรหลายประเภท รวมถึงบริษัทที่เข้ามาลงทุนโดยตรง บริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนนักการทูตและพนักงานต่างชาติของ UN และหน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศที่อื่นๆ

    ในคำสั่งเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางยังได้ยกเว้นสำหรับบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10% แต่คำสั่งนี้มีการยกเลิกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา

    ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ธนาคารกลางได้สั่งให้บริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 35% ให้แลกสกุลเงินต่างประเทศเป็นจั๊ตกับธนาคารพาณิชย์ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม

    ในวันที่ 13 กรกฎาคมก่อนออกคำสั่งดังกล่าว ธนาคารกลางได้สั่งให้บริษัท ธนาคารในประเทศ และบุคคลที่มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ระงับการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศและกำหนดเวลาการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศใหม่ เพื่อรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ

    ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก บริษัทในเมียนมียอดหนี้สกุลเงินดอลลาร์คงค้างอย่างน้อย 1.2 พันล้านดอลลาร์

    ธนาคารกลางยังปรับเปลี่ยนกฎที่เกี่ยวข้องกับการแปลงสกุลเงิน

    เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม กรมศุลกากรในสังกัดกระทรวงการวางแผนและการคลังได้แจ้งหัวหน้าสำนักงานระดับภูมิภาคและหน่วยงานของรัฐ หัวหน้าเขตการปกครอง และเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการครบวงจรทุกแห่ง ว่า ผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกที่สามารถสำแดงได้เท่านั้น ที่จะสามารถขอ ใบขนสินค้าขาออกได้

    สำหรับการส่งออกข้าวโพด ถั่ว ถั่วพัลส์ และพืชน้ำมัน การขอใบขนสินค้าขาออกสามารถทำได้เมื่อมีใบรับรองจากธนาคารที่ได้รับอนุญาต มีใบอนุญาตส่งออก และวิธีการโอนเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศ ข้อกำหนดนี้มีผลบังคับใช้วันที่ 14 กรกฎาคม

    ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกใบอนุญาตส่งออกข้าวโพด ถั่ว และถั่วพัลส์ชนิดต่างๆ สำหรับการค้าทางทะเลระหว่างประเทศตามปกติในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. คณะกรรมการกำกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศออกคำสั่งว่าด้วยการการชำระเงินสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรข้ามแดนได้แก่ ข้าวโพด ข้าว ถั่ว และพืชน้ำมัน ให้ดำเนินการเป็นดอลลาร์แทนเงินหยวน-จั๊ต และบาท-จั๊ต

    ในวันที่ 14 กรกฎาคม ธนาคารกลางยังอนุญาตให้สถาบันต่างประเทศจัดตั้งสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ทั้งในรูปการถือหุ้นเต็มหรือในรูป joint ventures เพื่อดึงเงินทุนจากต่างประเทศ

    รัฐบาลทหารเมียนมาได้ปรับกฎการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้เข้มงวดขึ้น หลังจากที่ค่าเงินของประเทศอ่อนไปหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ในปีที่แล้ว ภายหลังการรัฐประหารที่ทำให้มีการระงับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศบางส่วนที่อยู่ในสหรัฐฯ และการระงับความช่วยเหลือในระดับพหุภาคี ซึ่งเป็นสองแหล่งเงินตราต่างประเทศที่สำคัญ

    รัฐบาลได้สั่งห้ามการนำเข้ารถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันประกอบอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาปริมาณทุนสำรอง นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและบาทเพื่อการค้าตามแนวชายแดนจีนและไทย

    นโยบายที่บังคับแปลงสกุลเงินที่บังคับของรัฐบาลทหารและคำสั่งที่ยกระดับความเข้มงวด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2,000 จั๊ตในตลาดมืดของเมียนมา ณ วันที่ 21 กรกฎาคม และราคาน้ำมันและสินค้านำเข้าก็เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

    จากนโยบายที่คาดเดาไม่ได้ของรัฐบาลทหาร แหล่งข่าวก่อนหน้านี้ตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารกลางอาจมีข้อกำหนดใหม่ในการแปลงสกุลเงินให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงหรือ FDI บริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และในเขตเศรษฐกิจเฉพาะซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับคำสั่ง

    ในรายงานการติดตามเศรษฐกิจฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี(21 ก.ค.) ธนาคารโลกกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายล่าสุดของรัฐบาลทหารมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อการเติบโตของประเทศและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

    “ข้อจำกัดทางการค้าและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีผลต่อการปฏิรูปก่อนหน้านี้เพื่อเปิดเสรีการค้าและการทำให้มีอัตราแลกเปลี่ยนเดียว(แทนที่จะเป็นอัตราตลาดมืดและตลาดทางการ)” รายงานระบุ

    บทเรียนจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเมียนมาชี้ว่า ตราบใดที่แนวโน้มเหล่านี้ยังคงต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะอ่อนแอลงอีก ซึ่งจำกัดศักยภาพในการเติบโตของเมียนมาในระยะยาว”

    Total-Ooredoo ถอนตัวออกจากเมียนมา

    บริษัต่างชาติทะยอยถอนตัวออกจากเมียนมา โดยล่าสุด TotalEnergies ของฝรั่งเศสกล่าวว่า การถอนตวออกจากเมียนมามีผลแล้ว

    TotalEnergies บริษัทน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสกล่าวเมื่อวันพุธ(20 ก.ค.)ว่า แผนการถอนตัวจากเมียนมาซึ่งประกาศเมื่อหกเดือนก่อนได้มีผลแล้ว

    “TotalEnergies ได้ถอนตัวออกจากเมียนมาแล้ว”บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ระบุในแถลงการณ์ “เป็นไปตามตารางเวลาหกเดือนที่ระบุไว้ในข้อตกลง การถอนตัวมีผลตั้งแต่วันพุธ”

    ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศสและหุ้นส่วนเชฟรอนของสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่า จะถอนตัวออกจากแหล่งก๊าซยานาดา โดย TotalEnergies อ้างถึงสถานการณ์ที่ “เลวร้ายลง” ด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม

    “ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติธรรมดา TotalEnergies ได้เลือกที่จะถอนตัวออกจากเมียนมาโดยไม่ต้องแสวงหาค่าตอบแทนทางการเงินสำหรับสินทรัพย์ของบริษัท” บริษัทระบุในขณะนั้น

    แหล่งยานาดา ในทะเลอันดามันผลิตกระแสไฟฟ้าแก่เมียนมาและ ไทย ประเทศเพื่อนบ้าน

    TotalEnergies เจอแรงกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนให้ตัดการเชื่อมโยงทางการเงินกับรัฐบาลทหารตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

    Human Rights Watch กล่าวว่า โครงการก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งรายรับจากสกุลเงินต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดเพียงแหล่งเดียวของเมียนมาโดยสร้างรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุกปี

    TotalEnergies กล่าวว่าการถอนตัวจาก Yadana และท่อส่งก๊าซ MGTC จะมีผลในวันที่ 20 กรกฎาคม ด้วยการถือหุ้นในสัดส่วน 31.4% ของบริษัทในแหล่งก๊าซยาดานา ถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มบริษัทที่ร่วมลงทุน ซึ่งประกอบด้วยเชฟรอน บริษัท ปตท.สผ. ของไทย และ MOGE ที่กองทัพเมียนมาควบคุม ทั้งหุ้นที่บริษัทถือทั้งหมดขายให้กับบริษัท ปตท.สผ. และเชฟรอน

    ขณะที่เชฟรอนจะถือหุ้นใหญ่ที่สุดที่ 41.1% โฆษกของบริษัทยืนยันแผนการถอนตัวออกจากเมียนมา แม้จะยังไม่ได้กำหนดวัน เนื่องจากให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านที่มีการวางแผนและไม่วุ่นวาย

    ที่มาภาพ: https://www.ooredoo.com/en/media/news_view/ooredoo-myanmar-4g-rollout-reaches-300-townships-across-myanmar/

    ด้าน Ooredoo บริษัทโทรคมนาคมของกาตาร์ กำลังเจรจาขายธุรกิจในเมียนมาซึ่งจะเป็นสัญญาณการถอนตัวของบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายสุดท้ายของประเทศ แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กล่าวกับรอยเตอร์

    แหล่งข่าวกล่าวว่า Ooredoo ซึ่งมีฐานอยู่ในโดฮาได้แจ้งกรมไปรษณีย์และโทรคมนาคมของเมียนมา (PTD) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศถึงความตั้งใจที่จะขายธุรกิจ ที่เป็นผู้ดำเนินการรายใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมาที่มีผู้ใช้เกือบ 15 ล้านคนในปี 2563 ก่อนที่อุตสาหกรรมจะหยุดชะงักจาก รัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564

    ผู้ซื้อที่มีศักยภาพหลักได้แก่ Young Investment Group บริษัทในเครือ Campana Group ธุรกิจบริหารโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ และบริษัทโทรคมนาคม SkyNet ซึ่งมี Shwe Than Lwin กลุ่มธุรกิจเมียนมาเป็นเจ้าของ

    แต่การเจรจากับสามกลุ่มนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้ง Ooredoo และผู้ซื้อทั้งสามกลุ่มปฏิเสธที่จะให้ให้ความเห็น ขณะที่แหล่งข่าวไม่เปิดเผยมูลค่าที่จะซื้อขาย

    ข้อมูลผลการดำเนินงานพบว่า Ooredoo มีลูกค้า 9 ล้านรายในปี 2565 ลดลงจาก 15 ล้านในปี 2563 ซึ่งมีรายได้ประมาณ 330 ล้านดอลลาร์

    ภาคโทรคมนาคมในเมียนมาต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในปี 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย การให้บริการ data บนมือถือยังคงปิดให้บริการในบางส่วนของประเทศ หลังจากการจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศตลอดปี 2564

    Ooredoo เป็นบริษัทโทรคมนาคมต่างชาติรายใหญ่รายสุดท้ายในเมียนมา หลังจากที่บริษัท Telenor ของนอร์เวย์ ถอนตัวออกไปในเดือนมีนาคมปีนี้

    ธูรกิจของ Telenor ในเมียนมามีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทในประเทศ Shwe Byain Phyu และมียบริษัทการลงทุน M1 ของเลบานอน ถือหุ้นส่วนน้อย

    ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นๆ ในประเทศ ได้แก่ MPT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และ Mytel ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกองทัพเมียนมา และ Viettel ที่กระทรวงกลาโหมเวียดนามเป็นเจ้าของ

    ฟิลิปปินส์ได้โควตาน้ำตาลเพิ่มจากสหรัฐฯ

    ที่มาภาพ: https://mb.com.ph/2021/09/07/sra-scraps-sugar-exports-for-crop-year-2021-2022/
    สหรัฐอเมริกาจัดสรรโควตาส่งออกน้ำตาลแก่ฟิลิปปินส์เพิ่ม 3,075 ตันในปีการเพาะปลูกถัดไป

    ในประกาศที่โพสต์บนเว็บไซต์ของสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (USTR) หน่วยงานบริการการเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรสหรัฐประกาศว่า ได้จัดสรรโควตาให้ฟิลิปปินส์เพิ่มอีก 145,235 ตันน้ำตาลทรายดิบ(MTRV) สำหรับปีการเพาะปลูก 2566 หรือ 1 ต.ค. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2566 ซึ่งสูงกว่าการจัดสรร 142,160 ตันน้ำตาลทรายดิบ ในปีงบประมาณก่อนหน้า

    การให้โควตาฟิลิปปินส์นับว่ามีมูลค่าสูงเป็นอันดับสามรองจากสาธารณรัฐโดมินิกัน (189,343 MTRV) และบราซิล (155,993 MTRV)

    การจัดสรรโควตาของสหรัฐฯ สำหรับปีการเพาะปลูก 2565-2566 อยู่ที่ 1.117 ล้านตันน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำที่สหรัฐฯ ให้คำมั่นกับองค์การการค้าโลก

    กรอบโควตาอัตราภาษี (Tariff Rate Quota: TRQ)ของสหรัฐฯ สำหรับน้ำตาลทรายดิบช่วยให้ประเทศต่างๆ ส่งออกผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่กำหนดไปยังสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษีที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นอัตราภาษีพิเศษที่สหรัฐฯ อนุญาตให้แก่บางประเทศสำหรับการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ตามโควตาที่สหรัฐฯกำหนดให้

    จากข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแลน้ำตาล ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ส่งออกน้ำตาลรวมมีน้ำหนัก 116,212 ตัน (commercial weight) ในปีการเพาะปลูก 2560-2561 ส่งออกน้ำหนัก 103,685 ตัน ในปี 2561-2562 ส่งออกน้ำหนัก 109,408 ตัน และส่งออกน้ำหนัก 112,008 ตันในปี 2563-2564

    ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ไม่ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำตาล ไปยังสหรัฐอเมริกา

    ประธานาธิบดีโจโควีเร่งรัดผลิตน้ำตาลเพิ่ม

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/240333/president-instructs-officials-to-rev-up-national-sugar-production

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ โจโกวี สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Syahrul Yasin Limpo และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ Erick Thohir เพิ่มการผลิตน้ำตาลของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Syahrul Yasin Limpo กล่าวว่า กระทรวงและรัฐมนตรีอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐมนตรี SOE ได้รับคำสั่งให้เตรียมอ้อยตอและปรับพื้นที่อย่างเหมาะสม ซึ่งหมายความว่าต้องมีการเร่งดำเนินการและการขยายพื้นที่ควบคู่กันไป และการที่สั่งให้ใช้มาตรการที่จำเป็นในการเพิ่มน้ำตาลเพื่อการบริโภคน้ำตาล หมายความว่าต้องจัดหาน้ำตาล 850 ตัน

    นาย Limpo ชี้ว่า ความต้องการน้ำตาลเพื่อการบริโภคของประเทศอยู่ที่ 3.2 ล้านตันและน้ำตาลอุตสาหกรรมที่ 4.1 ล้านตัน แต่การผลิตน้ำตาลในประเทศมีเพียง 2.35 ล้านตันเท่านั้น การผลิตและความต้องการน้ำตาลของประเทศที่ห่างกัน ทำให้ยังมีส่วนต่างประมาณ 850,000 ตัน

    นอกจากนี้ชี้ว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะงักงัน ทำให้ประเทศอื่น ๆ จำกัดโควตาการส่งออก ส่งผลให้อุปทานน้ำตาลในอินโดนีเซียมีความผันผวน

    ประธานาธิบดีจะติดตามสถานการณ์ปริมาณสต็อกอาหารอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะน้ำตาลที่ได้เน้นย้ำ เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์มีผลต่อระดับเงินเฟ้อของประเทศ

    ณ เดือนมิถุนายน 2565 เงินเฟ้อของอินโดนีเซียแตะระดับ 4.35% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    มาเลเซียศูนย์กลางผลิตอุปกรณ์ 5G ในเอเชียแปซิฟิกของ Ericsson

    ที่มาภาพ: https://www.malaymail.com/news/money/2022/07/23/malaysia-to-be-a-manufacturing-hub-for-ericssons-5g-equipment-in-asia-pacific/18965

    มาเลเซียได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม 5G ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Ericsson โดยจะผลิต 5G New radios โครงข่าย 5G ใหม่ล่าสุดและทันสมัยที่สุดของ Ericsson โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปีนี้

    David Hagerbro ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (มาเลเซีย ศรีลังกา และบังคลาเทศ) กล่าวว่า มาเลเซียจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตอุปกรณ์ 5G ของ Ericsson สำหรับตลาดในประเทศและภูมิภาค

    สิ่งที่สนับสนุนการตัดสินใจให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคคือความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่มาเลเซียมี

    “นี่เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นระยะยาวของ Ericsson ต่อประเทศรวมถึงเครือข่าย 5G ที่กำลังเปิดตัว” Hagerbro กล่าวในแถลงการณ์

    Borje Ekholm ประธานและ CEO ของกลุ่ม Ericsson ร่วมกับ Hagerbro ได้เข้าคาราวะนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ในปุตราจายาเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของ Ericsson ต่อมาเลเซีย

    Hagerbro เปิดเผยว่า Ericsson จะลงทุนเพิ่มและสร้างโอกาสการจ้างงานในประเทศให้มากขึ้น

    “นอกจากเป็นศูนย์การผลิตแล้ว เรายังมีศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคที่สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ เช่นเดียวกับศูนย์บำรุงรักษาและสนับสนุนในชาห์อาลัม ซึ่งจะช่วยให้เรายกระดับการตอบสนองและการส่งมอบบริการสนับสนุนแก่ลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

    นอกจากนี้ Ericsson ยังได้ริเริ่ม Ericsson Educate ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ Universiti Teknologi Malaysia (UTM) และ Digital Nasional Bhd เพื่อเสริมสร้างความรู้แก่นักเรียนมาเลเซียเกี่ยวกับ 5G และเทคโนโลยีใหม่อื่นๆที่เกิดขึ้น

    “ความร่วมมือนี้คาดว่าจะส่มอบความรู้ให้นักเรียนได้มากถึง 1,200 คนในปีแรก และจะช่วยให้นักศึกษา UTM สามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทในเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศและการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม 4.0

    ศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของมาเลเซียในการวิจัยและทดสอบเทคโนโลยี 5G ถูกจัดตั้งขึ้นโดย Ericsson ที่ UTM ในปี 2559

    แบงก์ ออฟ อเมริกากลับเข้าตลาดเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/companies/bank-of-america-eyes-vietnam-return-4490980.html

    Madhu Kannan รองประธานบริหารด้าน Global Corporate and Investment Banking ของ แบงก์ ออฟ อเมริกาเปิดเผยว่า แบงก์ ออฟ อเมริกา อยู่ระหว่างการขออนุญาต จัดตั้งสาขามูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ในโฮจิมินห์ซิตี้

    ในการพบปะกับฟาน วัน มาย ประธานคณะกรรมการประชาชน โฮจิมินห์ ซิตี้ ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ Kannanได้ขอการสนับสนุนให้ธนาคารกลับมาดำเนินการในเวียดนามอีกครั้งหลังจากปิดสำนักงานในกรุงฮานอยในปี 2545 ในช่วงที่บริษัทแม่เริ่มการปรับโครงสร้าง

    ฟาน วัน มาย กล่าวว่า การเชิญ แบงก์ ออฟ อเมริกากลับไปที่โฮจิมินห์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการมาเยือนครั้งนี้ พร้อมกับย้ำว่ามุ่งมั่นที่จะช่วยธนาคารจัดตั้งสาขาในโฮจิมินห์ ซิตี้ ที่วางแผนจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ

    นอกจากนี้โฮจิมินห์ ซิตี้ ยังยินดีต้อนรับธุรกิจของสหรัฐฯ ให้ลงทุนในภาคการเงิน เทคโนโลยี การศึกษา และการดูแลสุขภาพ

    Kannan กล่าวว่า าารดำเนินธุรกิจของธนาคารจะสอดคล้องกับเส้นทางการพัฒนาของเมือง

    แบงก์ ออฟ อเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปี 2447 เป็นธนาคารใหญ่อันดับสองของสหรัฐอเมริกา