ASEAN Roundup ประจำวันที่ 26 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2565
เวียดนามเตรียมตั้ง Financial Center ในโฮจิมินห์
เวียดนามเตรียมการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงินในนครโฮจิมินห์ โดยได้ขอให้สหราชอาณาจักรช่วยเหลือในการปรับปรุงกรอบกฎหมายด้านการธนาคารและการเงิน
นายหว่อง ดิงห์ เว้ ประธานรัฐสภาเวียดนามกล่าวกับนายปีเตอร์ เอสตลิน รักษาการนายกเทศมนตรีนครลอนดอนว่า เวียดนามต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงสหราชอาณาจักร ในการพัฒนาศูนย์กลางทางการเงิน โดยชี้ว่าลอนดอนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
นายเว้ พบปะกับนายเอสตลินในการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน
นายเอสตลินกล่าวว่า สหราชอาณาจักรยินดีที่จะเป็นพันธมิตรกับเวียดนามในระดับต่างๆ รวมถึงการพัฒนาตลาดการเงินและยกระดับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางธุรกิจเพื่อให้ตลาดตราสารหนี้เติบโต
นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างธนาคารในสหราชอาณาจักรและคู่ค้าเวียดนามเพื่อช่วยให้โฮจิมินห์ซิตี้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน
ในร่างแผนงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว นครโฮจิมินห์เตรียมการที่จะจัดตั้งศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศภายในปี 2030 บนสามเสาหลัก ได้แก่ ตลาดการเงินและการธนาคาร ตลาดทุน และตลาดอนุพันธ์
เวียดนามให้ธุรกิจทุกประเภทใช้ e-invoices เริ่ม 1 ก.ค.
กระทรวงการคลังออกหนังสือเวียน แจ้งให้กิจการทุกประเภท ธุรกิจในครอบครัว และกิจการส่วนบุคคลทั้งหมดต้องใช้ส์ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิก(e-invoices) แทนใบแจ้งหนี้แบบกระดาษเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม
หนังสือเวียนระบุว่า ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม เฉพาะบริษัทที่ได้รับการแจ้งเตือนจากหน่วยงานด้านภาษี จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กรอบตามระยะเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด
ก่อนหน้านี้มีการสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนไปใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ หากมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการติดตั้งใช้งานการแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์
ในขณะเดียวกัน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สหกรณ์ ครัวเรือนธุรกิจ และเจ้าของธุรกิจส่วนบุคคลในพื้นที่ที่มีภาวะลำบากและอยู่ในสภาวะยากลำบากอย่างมากที่ไม่สามารถทำธุรกรรมกับกรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และไม่มีซอฟต์แวร์บัญชีใด ๆ จะได้รับการยกเว้นการใช้e-invoices
ในความเป็นจริง มีการใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ใน 63 ท้องที่ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่างๆ ยังคงรายงานปัญหามากมายจากกระบวนการ
ราคาบ้านในนครโฮจิมินห์ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ราคาอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยวิลล่าบางหลังในเมืองกำลังขายในราคา 700 พันล้านด่อง (30 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามแถลงการณ์ในการเสวนา
ในการเสวนาหัวข้อ ‘Money Flow and Real Estate Trends in Late 2022’ ซึ่งจัดโดย Cafeland เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ นายโว เหวียน ถ่วน เกี๊ยต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดโครงการบ้านจัดสรรของ CBRE Vietnam เปิดเผยว่า บ้านและวิลล่าในเขตเมืองทางตะวันออกของเมืองมีราคาตลาดตั้งแต่ 200 ล้านด่อง (8,580 เหรียญสหรัฐ) ถึง 400 ล้านด่อง (17,200 เหรียญสหรัฐ) ต่อตารางเมตร
ด้านปริมาณที่อยู่อาศัย นายเกี๊ยตกล่าวว่า จำนวนอพาร์ทเมนท์ว่างในโฮจิมินห์ซิตี้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 12,000 ยูนิตเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,000 ยูนิตในไตรมาสแรกของปีนี้
อุปทานในไตรมาสที่สองเกือบจะเท่ากับในไตรมาสที่สามของปี 2019 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าตลาดกำลังฟื้นตัวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม อพาร์ทเมนท์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นระดับไฮเอนด์และหรูหราในโครงการขนาดใหญ่บางโครงการ ดังนั้นจำนวนโครงการที่เปิดตัวในตลาดจึงน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปี 2019
นายเกี๊ยตชี้ว่า อพาร์ทเมนท์ในเซ็กเมนต์ราคาไม่แพงหรือระดับกลางนั้นหายากในทุกวันนี้ และมักจะมีเฉพาะในเขตชานเมืองเท่านั้น
นายเกี๊ยตประเมินอุปทานอพาร์ทเมนท์ในช่วงที่เหลือของปีว่า จำนวนอพาร์ทเมนท์ใหม่ที่เปิดตัวในโฮจิมินห์ซิตี้ในปี 2022 คาดว่าจะสูงถึง 22,000-24,000 ยูนิต โดย 14,000 ยูนิตเปิดขายแล้ว”
นายซู ง็อก ควง ผู้อำนวยการอาวุโสของ Savills Vietnam เปิดเผยว่า “ปริมาณอพาร์ตเมนต์จะยังมีน้อยไปจนถึงสิ้นปีและอพาร์ทเมนท์จะมีราคาสูง”
“ราคาอพาร์ตเมนต์ในโฮจิมินห์ซิตี้สูงกว่ารายได้ของคนในท้องถิ่นมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30 และ 35 ปี” นายควงกล่าว “ดังนั้น หลายคนจึงมองหาในจังหวัดใกล้เคียง เช่น ล็อง อาน, บิ่ญเซือง และ ด่งนาย”
อินโดนีเซียเตรียมขยายโควต้าส่งออกน้ำมันปาล์ม
อินโดนีเซียได้เสนอรัฐบาลเพิ่มโควตาการส่งออกน้ำมันปาล์ม ในวันศุกร์(1 ก.ค.) และกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มระดับบังคับของไบโอดีเซลในส่วนผสมเชื้อเพลิงเพื่อพยุงราคาสำหรับเกษตรกรในช่วงเวลาที่สต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศอยู่ในระดับสูง รัฐมนตรีอาวุโสกล่าวเมื่อวันเสาร์(2 ก.ค.)
สต็อกน้ำมันปาล์มพุ่งขึ้นและการสั่งซื้อทะลายปาล์มสดจากเกษตรกรมีไม่มาก หลังจากอินโดนีเซียระงับส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นเวลา 3 สัปดาห์จนถึง 23 พฤษภาคม เพื่อควบคุมราคาน้ำมันปรุงอาหารในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น
อินโดนีเซียหันมาห้ามการส่งออกแทนการใช้มาตรการทางการตลาดภายในประเทศซึ่งกำหนดให้บริษัทต่างๆ จัดส่งผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งเข้าตลาดในประเทศผ่านโครงการน้ำมันสำหรับประกอบอาหารจำนวนมากของรัฐบาล และใช้ปริมาณการส่งเข้าท้องตลาดในประเทศกับใบอนุญาตส่งออกและโควตาของบริษัทต่างๆ ปริมาณที่ส่งเข้าตลาดในประเทศทั้งหมดในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 270,000 ตัน
ตอนนี้รัฐบาลจะอนุญาตให้บริษัทที่ขายน้ำมันปาล์มในประเทศส่งออกได้ 7 เท่าของยอดขายในประเทศจากปัจจุบันที่กำหนด 5 เท่า นาย ลูฮุต ปันจาอิตัน รัฐมนตรีอาวุโสกล่าว
“ผมขอให้กระทรวงการค้าเพิ่มโควต้าการส่งออกเป็น 7 เท่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มราคาทะลายปาล์มสดของเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ” นายลูฮุตกล่าวในแถลงการณ์
รัฐบาลได้จัดสรรโควตาการส่งออกน้ำมันปาล์มจำนวน 3.4 ล้านตันภายใต้ “ช่วงการเปลี่ยนผ่าน” หลังจากการห้ามส่งออกและโครงการเร่งการส่งออก อย่างไรก็ตามการจัดส่งทำได้ค่อนช้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย GAPKI กล่าวว่า การส่งออกมีอุปสรรคจากปัญหาในการหาเรือ
รัฐบาลจะใช้แผนเพิ่มระดับการผสมไบโอดีเซลบังคับเป็น 35% หรือ 40% ขึ้นอยู่กับอุปทานและราคาน้ำมันปาล์มดิบจาก 30% ในปัจจุบัน
อินโดนีเซียลงนาม FTA กับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี(Free Trade Agreement:FTA) เป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับรัฐอ่าวที่ผลิตน้ำมันรายใหญ่ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเยือนอาบูดาบี ซึ่งจะมีผลให้ยกเลิกหรือลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อขายระหว่างประเทศมุสลิมอย่างมาก
กระทรวงเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระบุว่า น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้าแฟชั่น ของอินโดนีเซีย และปิโตรเคมีผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก และเหล็กกล้าของเอมิเรตส์ จะได้รับประโยชน์จากการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากร
ข้อตกลงยังรวมไปถึงภาคบริการ การลงทุน สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการยอมรับร่วมกันของการรับรองฮาลาลของกันและกัน กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียกล่าว
รายละเอียดของข้อตกลงไม่มีการเปิดเผยและยังคงจำเป็นต้องให้ทั้งสองประเทศให้สัตยาบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขั้นตอนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีอำนาจเด็ดขาด แต่อาจใช้เวลาหลายเดือนในระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย
การส่งออกหลักของอินโดนีเซียไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ น้ำมันปาล์ม เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ในขณะที่การส่งออกของเอมิเรตส์ไปยังอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นก๊าซปิโตรเลียมและน้ำมันที่ไม่ใช่น้ำมันดิบ เหล็ก และเหล็กกล้าประสม ข้อมูลตามรายงานของ Observatory of Economic Complexity
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ร่ำรวยด้วยน้ำมันได้สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิดกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่จะเพิ่มเศรษฐกิจขึ้น 2 เท่าเป็น 816 พันล้านดอลลาร์ภายในสิ้นทศวรรษ ส่วนหนึ่งโดยการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลงนามข้อตกลงที่คล้ายกันกับอินเดียและอิสราเอลในปีนี้
Abdullah bin Touq รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเอมิเรตส์ อั กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ข้อตกลงกับอินโดนีเซียสามารถเพิ่มการค้าที่ไม่ใช่น้ำมันในระดับทวิภาคีเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 5 ปี จากประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ซุลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซียกล่าวว่า อินโดนีเซียคาดว่าการลงทุนของ UAE ในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นตามข้อตกลง ซึ่งจะกระตุ้นการส่งออกไปยังตะวันออกกลางและที่อื่นๆ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญสำหรับตะวันออกกลางและบางส่วนของแอฟริกา เอเชีย และยุโรป
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า 270 ล้านคนในช่วงเวลาที่กระจายการเชื่อมโยงทางการค้าและมองหาการสร้างงานให้กับพลเมือง 1 ล้านคน
ทานี อาเหม็ด อัล เซยูดี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศเอมิเรตส์ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า รัฐบาลคาดว่าข้อตกลงการค้าจะสร้างงานทักษะสูง 55,000 ตำแหน่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ภายในปี 2030
“ข้อตกลงจะเพิ่มGDP ของเราประมาณ 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 จะเพิ่มการส่งออก 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและเพิ่มการนำเข้า 2.6 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030”
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ระหว่างการเจรจาการค้าเสรีระดับทวิภาคีกับประเทศอื่นๆ อย่างน้อยหลายสิบประเทศ รวมทั้งออสเตรเลียและเกาหลีใต้
“เราใกล้จะสรุปกับโคลอมเบีย จะมีการลงนามในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า” อัล เซยูดี กล่าว พร้อมเสริมว่า อาจจะบรรลุข้อตกลงกับตุรกีได้ก่อนสิ้นปี
ฟิลิปปินส์เตรียมลงนามFTA เกาหลีใต้ในปีนี้
ฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้เตรียมลงนาม ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี(FTA) หลังจากประสบความสำเร็จในการเจรจาเมื่อปีที่แล้วทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาเอฟทีเอในเดือนมิถุนายน 2019 ก่อนสรุปการเจรจาในเดือนตุลาคม 2021 ฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้วางแผนที่จะลงนามข้อตกลงในวันที่ 30 มิถุนายนปีนี้
เมื่อมีผลบังคับใช้ FTA จะยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จากทั้งสองประเทศ และเปิดประตูสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของการค้าทวิภาคี ข้อตกลงนี้เป็นเพียง FTA ระดับทวิภาคีครั้งที่ 2 ของฟิลิปปินส์ ต่อจาก FTA กับญี่ปุ่นในปี 2008 การค้าระหว่างฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ได้รับประโยชน์จาก FTA ของอาเซียน-เกาหลี ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2010 ส่วน FTA ระดับทวิภาคีฉบับใหม่จะยิ่งเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศมากึ้นและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนกัน
สำหรับฟิลิปปินส์ FTA สามารถช่วยยกระดับการเข้าถึงตลาดสำหรับสินค้าเกษตรไปยังเกาหลีใต้ ในขณะที่เกาหลีใต้มีความกระตือรือร้นที่จะขยายการส่งออกยานยนต์ไปยังตลาดฟิลิปปินส์
เมียนมาขยายการใช้เงินหยวน-บาทการค้าชายแดน
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่เมืองเนปิดอว์ ได้มีการจัดประชุมเรื่องการขยายการใช้เงินหยวน/จั๊ตในชินชเวฮอว์ ด้านชายแดนเมียนมากับจีน และบาท/จั๊ตในภาคการค้าของมะริด เกาะสอง แคว้นตะนาวศรี ชายแดนที่ติดกับไทย
ดอว์ ตาน ตาน สเว รองผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมา และเจ้าหน้าที่จากธนาคารไทย เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเศรษฐกิจเมียนมา และธนาคารเอกชนในท้องถิ่นเข้าร่วมประชุม
การใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค่าชายแดนถูกนำมาใช้ที่ชายแดนเมียนมา-จีน และการใช้สกุลเงินท้องถิ่น หยวน/จั๊/บาท ในการค้าชายแดนเมียนมา-ไทย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม การประชุมมุ่งเน้นไปที่การขยายการใช้เงินบาท/จั๊ต ในมะริดและเกาะสอง และการใช้เงินหยวน/จั๊ตในชินชเวฮอว์
รูปแบบการชำระด้วยเงินตราต่างประเทศมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการค้าทวิภาคี การไหลเวียนทางการค้า กระบวนการชำระเงินและสภาพคล่อง และการใช้สกุลเงินในประเทศให้สอดคล้องกับการรวมกลุ่มทางการเงินของอาเซียน
คณะทำงานเฉพาะกิจได้มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมมือกับธนาคาร กรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ พ่อค้าในท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐในภูมิภาค/รัฐ เพื่อเริ่มดำเนินการในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองของเดือนกรกฎาคม และดำเนินการตามมาตรฐานขั้นตอนและข้อตกลงการธนาคาร(Standard of Procedures and Banking agreement)โดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงแผนการให้ธนาคารเมียนมารับเงินโอนที่ส่งโดยแรงงานเมียนมาเป็นเงินบาท ผ่านธนาคารไทยในประเทศไทย เพื่อให้พ่อแม่และญาติพี่น้องในเมียนมา
ภายใต้ความร่วมมือของธนาคารกลางแห่งเมียนมา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการวางแผนและการเงิน และคณะกรรมการกลางดูแลความราบรื่นของการค้าและสินค้า(Central Committee on Ensuring the Smooth Flow of Trade and Goods) การขยายการค้าในภูมิภาคโดยใช้เงินหยวน/จั๊ต/ และ บาท/จั๊ต และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2021-2022
ภายในระยะเวลานำร่องหยวน/จั๊ด ตั้งแต่มกราคม 2022 ถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2022 รายได้จากการส่งออกมีมูลค่า 197.464 ล้านหยวน และมีการชำระเงินสินค้านำเข้า 77.699 ล้านหยวน ทำให้เกินดุลในรูปเงินหยวน 119.765 ล้าน
ภายในระยะเวลานำร่องบาท/จั๊ต ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2022 รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 1,540.46 ล้านบาท มูลค่านำเข้า 1,137.95 ล้านบาท จึงเกินดุล 402.51 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้มีการอนุญาตให้แรงงานโอนเงินกลับประเทศได้และมีรายได้ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2022 เท่ากับ 29.548 ล้านบาท
ธนาคารกลางเมียนมาได้หารือเกี่ยวกับกลไกการชำระเงินที่ดำเนินการโดยธนาคารต่างประเทศหลายครั้ง และในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินบาท/จั๊ต และหยวน/จั๊ต นั้น ได้มีการประสานงานโดยธนาคารกลางของประเทศไทย ธนาคารจีน และธนาคารไทย การสนับสนุนสภาพคล่อง การเงินการค้า และเวลาการชำระบัญชีถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนเพื่อแปลงสกุลเงินที่ได้จากการเกินดุลการค้า และได้มีการลงนามข้อตกลง