ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ที่ 1 เอเชียอันดับ 3 ของโลกด้านฝีมือรัฐบาล

ASEAN Roundup สิงคโปร์ที่ 1 เอเชียอันดับ 3 ของโลกด้านฝีมือรัฐบาล

1 พฤษภาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-30 เมษายน 2565

  • สิงคโปร์ที่ 1 เอเชียอันดับ 3 ของโลกด้านฝีมือรัฐบาล
  • อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ
  • เวียดนามมีกำลังแรงงานคุณภาพมากขึ้น
  • เวียดนามเปิดท่าเรือใหม่ 10 ท่า
  • ปตท.สผ.-เปโตรนาสยุติการลงทุนในโครงการเยตากุน
  • สิงคโปร์ที่ 1 เอเชีย อันดับ 3 ของโลกด้านฝีมือรัฐบาล

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/
    สิงคโปร์ติดอันดับสามของโลกและอันดับหนึ่งในเอเชีย ในการจัดอันดับระดับโลกด้านประสิทธิผลของรัฐบาล และเป็นประเทศในเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ติดใน 10 อันดับแรกของ Chandler Good Government Index ที่ส่วนใหญ่ถูกจับจองโดยประเทศในยุโรป เช่น ฟินแลนด์ที่คว้าอันดับหนึ่ง และสวิตเซอร์แลนด์อันดับสอง

    Chandler Good Government Index จัดอันดับเป็นปีที่สองและเผยแพร่โดยสถาบัน Chandler Institute of Governance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสิงคโปร์ ที่ประเมินความสามารถและผลลัพธ์ของรัฐบาลจาก 104 ประเทศ โดยใช้ตัวชี้วัด 35 ตัว นำมาจัดแบ่งเป็น 7 เสาหลัก ได้แก่ ความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล(leadership and foresight) กฎหมายและนโยบายที่เข้มแข็ง(robust laws and policies) สถาบันที่แข็งแกร่ง(strong institutions) การดูแลทางการเงิน(financial stewardship) ตลาดที่น่าสนใจ(attractive marketplace) อิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก(global influence and reputation) และช่วยให้คนมีสถานะที่ดีขึ้น(helping people rise) ที่มาจากแหล่งข้อมูลทั่วโลกที่เปิดเผยต่อสาธารณะมากกว่า 50 แหล่ง รวมถึงองค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก และ World Justice Project

    ในปีนี้ สิงคโปร์คว้าอันดับสูงสุดในการช่วยคนให้เติบโตขึ้นได้

    สถาบัน Chandler ที่เผยแพร่ดัชนีเมื่อวันพฤหัสบดี (28 เมษายน) กล่าวว่า รัฐบาลต่างๆ ถือว่าได้ช่วยเหลือคนให้กลับฟื้นตัวได้ ด้วยการใช้ความสามารถในการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อคนจากทุกสาขาอาชีพได้ใช้ศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่

    ภายใต้เสาหลักนี้ ดัชนีจะวัดผลลัพธ์ในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การเลื่อนชั้นทางสังคม และความปลอดภัยส่วนบุคคล เป็นต้น

    สถาบันชี้ว่า สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 7 ในตัวชี้วัด การเลื่อนชั้นทางสังคม เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 21 เมื่อปีที่แล้ว โดยเสริมว่า ธรรมาภิบาลมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการเลื่อนชั้นทางสังคมและความก้าวหน้าทางสังคม

    ประเทศอื่นที่มีอันดับสูงในดัชนีก็ทำได้ดีในด้านเหล่านี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างดัชนีและดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม ซึ่งเป็นการวัดความก้าวหน้าทางสังคมทั่วโลกที่ครอบคลุมโดยพิจารณาจากตัวชี้วัด 53 ตัว เพื่อประเมินว่า สังคมได้ให้สิ่งที่ผู้คนให้ความใส่ใจได้ดีเพียงใด

    “ผลการวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่าธรรมาภิบาลที่ดี ไม่ใช่อุดมการณ์ ระดับรายได้ หรือภูมิศาสตร์ คือสิ่งที่กำหนดว่า ประเทศต่างๆ จะสร้างโอกาสให้ประชาชนของตนเติบโตขึ้นบนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ จริยธรรมในการทำงาน และการมีส่วนร่วมได้มากเพียงใด” สถาบันกล่าว

    สิงคโปร์ยังครองอันดับหนึ่งในด้านการดูแลทางการเงินและตลาดที่น่าดึงดูดในปีนี้ เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

    “นี่แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่แข็งแกร่งของรัฐบาลสิงคโปร์ในด้านนโยบายการคลัง การจัดการการเงินสาธารณะ และการจัดทำงบประมาณ ตลอดจนเน้นย้ำถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนที่เอื้ออำนวยในประเทศ”

    สถาบันยังชี้ว่า การดูแลทางการเงินอย่างเข้มแข็งหลายทศวรรษช่วยให้สิงคโปร์มีช่องทางในการบรรเทาผลกระทบจากการการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อธุรกิจและครัวเรือนผ่านโครงการความช่วยเหลือที่หลากหลาย

    ประเทศต่างๆ ที่มีความรอบคอบด้านการเงินสาธารณะสามารถควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดใหญ่ได้ ในขณะเดียวกันก็คงดำเนินโครงการลงทุนเชิงนวัตกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนไว้ได้

    ซึ่งช่วยสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย สนับสนุนให้ผู้มีความสามารถและนักลงทุนยังคงอยู่ แม้จะมีความปั่นป่วนจากการระบาดใหญ่ และได้ช่วยให้ประเทศที่ประสบความสำเร็จเพิ่มความน่าสนใจในฐานะตลาดที่น่าดึงดูด

    สถาบันระบุว่า จากการจัดอันดับ ธรรมาภิบาลเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมากกว่าความมั่งคั่งในการประเมินว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งตอบสนองต่อการแพร่ระบาดได้ดีเพียงใด

    ตัวอย่างเช่น มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบดัชนีกับ Prevent Epidemics ReadyScore การประเมินที่พัฒนาโดยVital Strategies องค์กรสุขภาพระดับโลก และGlobal Health Security Index ซึ่งเป็นการประเมินที่พัฒนาโดย Johns Hopkins Center for Health Security รวมทั้ง Nuclear Threat Initiative และ Economist Intelligence Unit

    โดยรวมแล้ว ประมาณ 33 ประเทศ หรือประมาณหนึ่งในสาม ยังมีอันดับเดิมโดยรวมทั้ง 7 ด้านในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงฟินแลนด์ที่ได้อันดับหนึ่งในทุกด้าน และเวเนซุเอลาที่ติดอันดับสุดท้าย

    ประเทศอื่นๆ ที่ติดใน 10 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร

    ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 15, ออสเตรเลียที่ 17 และเกาหลีใต้ที่ 19 และเป็นประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกติดอยู่ใน 20 อันดับแรก

    สถาบันระบุว่า การทรงตัวของอันดับในดัชนีส่วนหนึ่งเกิดจากการมุ่งเน้นไปที่ความสามารถ เช่น ระบบ สถาบัน กระบวนการและทักษะ มากกว่าผลลัพธ์ โดยเสริมว่า ความสามารถต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างและพัฒนา และ “มีแนวโน้มที่จะค่อยๆบั่นทอนลงมากกว่าจะพังทะลายอย่างฉับพลัน” ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่คาดว่าการจัดอันดับประเทศจะพุ่งสูงขึ้นหรือลดลงทุกปี

    สถาบันยังกล่าวอีกว่าระเบียบวิธีจัดอันดับของสถาบันพัฒนาขึ้นจากการหารือกับหลายภาคส่วนทั้ง ข้าราชการ ผู้นำรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านดัชนี และนักวิจัยด้านธรรมาภิบาล

    “กระบวนการดำเนินการไปอย่างอิสระ ไม่มีการหารือหรือการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสิงคโปร์”

    อู๋ เว่ย เหนิง กรรมการบริหารของ Chandler Institute of Governance กล่าวว่า “ขีดความสามารถของรัฐบาลเป็นแหล่งความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนสำหรับประเทศต่างๆ ความสามารถเหล่านี้รวมถึงระบบ สถาบัน กระบวนการ และทักษะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงและสร้างขึ้น

    “เมื่อพัฒนาและเสริมความแข็งแกร่งแล้ว ความสามารถของรัฐบาลจะไม่ถูกลดทอนลงอย่างง่ายดายในระยะสั้น และสามารถสนับสนุนรัฐบาลให้ผ่านช่วงสั้นๆ ของความไม่มั่นคงหรือวิกฤติ”

    สำหรับ ประเทศไทยติดอันดับที่ 46ลดลง 2 อันดับจากปีก่อน โดยมีคะแนนรวม 0.535 ส่วนอันดับแต่ละเสาหลัก พบว่าความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล ไทยอยู่อันดับที่ 75 กฎหมายและนโยบายที่เข้มแข็งไทยอยู่ที่ 43 สถาบันที่แข็งแกร่งอยู่อันดับ 68 การดูแลทางการเงินอันดับ 30 ตลาดที่น่าสนใจอันดับ 47 อิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลกอันดับ 55และช่วยให้คนมีสถานะที่ดีขึ้นอันดับ 46

    เวียดนามติดอันดับ 56 ด้วยคะแนน 0.498 จาก อันดับที่ดีขึ้นในด้านความเหลื่อมล้ำของรายได้และความน่าสนใจในการลงทุน โดยเลื่อนขึ้น 33 อันดับและ 18 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 42 และ 39 ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ยังมีอันดับเพิ่มขึ้นในด้านตลาดที่น่าดึงดูด (34) และช่วยให้คนเติบโตขึ้น (43) สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งเน้นของรัฐบาลเวียดนามในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและสร้างความเชื่อมั่นในสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น

    อินโดนีเซียติดอันดับ 49 ด้วยคะแนน 0.525 มาเลเซียติดอันดับ 32 ด้วยคะแนน 0.622 ฟิลิปปินส์ติดอันดับ 63 ด้วยคะแนน 0.484

    อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/business/2022/04/26/crude-palm-oil-excluded-from-indonesia-export-ban.html

    อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันบริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ขยายการห้ามส่งออกให้ครอบคลุมน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งส่งผลให้ความไม่แน่นอนในตลาดที่ราคาผันผวนอยู่แล้วสูงขึ้น และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกที่มาจากอาหารเลวร้ายลง

    การห้ามจะขยายไปสู่น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มที่ผ่านการขจัดกัม ฟอกสี ขจัดกลิ่น ลดกรดไขมันอิสระแล้วหรือ RBD(refined, bleached, deodorized) และน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รัฐมนตรีประสานงานฝ่ายเศรษฐกิจ Airlangga Hartarto กล่าวในการบรรยายสรุป ซึ่งก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เขากล่าวว่า การห้ามส่งออกจะมีผลเฉพาะนำ้มันปาล์มโอเลอินเท่านั้น นโยบายการห้ามส่งออกใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน และจะบังคับใช้ไปจนกว่าราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารในประเทศจะลดลง

    นโยบายการส่งออกของอินโดนีเซียได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปั่นป่วน ราคาผันผวน โดยปรับตัวขึ้นช่วงหนึ่งเพราะแถลงการณ์ไม่มีรายละเอียด ทำให้ผู้ค้ากังวลว่าการห้ามส่งออกจะครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นราคาตกลงต่อเนื่องเมื่อมีรายละเอียดว่าจะจำกัดเฉพาะน้ำมันบางประเภท ขณะที่สัญญาซือขายล่วงหน้า(futures)พุ่งขึ้น 10% ก่อนการประกาศล่าสุด

    รายงานข่าวของอัลจาซีราชี้ว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนโยบายที่กลับไปกลับมาทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ทางธุรกิจของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่และที่ผ่านมาเคยจำกัดการส่งออกนิกเกิลและถ่านหิน การที่คอยเก็งว่าอินโดนีเซียจะดำเนินการอย่างไรต่อไปอาจทำต่อไปทำให้อุตสาหกรรมต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา

    น้ำมันปาล์มที่ผ่านการแปรรูปจะมีการส่งออกในรูปแบบต่างๆ ผลเนื้อสีแดงของต้นปาล์มน้ำมันถูกบดเพื่อผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ที่สามารถกลั่น ฟอก และดับกลิ่นเพื่อขจัดสิ่งสกปรก ขณะที่การแปรรูปต่อเเนื่องอีกขั้น จะได้น้ำมันปาล์มโอเลอีน ซึ่งเป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก น้ำมันที่บริโภคไม่ได้นั้นใช้ทำไบโอดีเซลและสบู่

    การดำเนินการของอินโดนีเซีย ซึ่งมีการส่งออกน้ำมันบริโภค 1 ใน 3 ของทั่วโลก ได้ทำให้การกีดกันพืชผลทั่วโลกเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สงครามในยูเครนปะทุขึ้น ขณะที่รัฐบาลพยายามปกป้องแหล่งอาหารของตนเองจากราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้น การห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความเสี่ยงของวิกฤติความอดยาก

    “ตอนนี้ เราจะเข้าสู่ยุคตกต่ำที่การขาดแคลนน้ำมันบริโภคจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก” อับดุล ฮามีด ผู้อำนวยการฝ่ายขายของ Manzoor Trading ในปากีสถานกล่าว “หลายประเทศจะต้องพึ่งพาพืชผลของตนเองและใช้ทรัพยากรภายในประเทศ อาจมีการกีดกันพืชผลเกิดขึ้นอีก”

    การขาดแคลนน้ำมันบริโภคในท้องถิ่นส่งผลกระทบต่ออินโดนีเซีย นำไปสู่การประท้วงตามท้องถนนจากราคาอาหารที่สูงขึ้น และการจับกุมและกักขังเจ้าหน้าที่การค้าในคดีทุจริต ความปั่นป่วนได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญสำหรับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เนื่องจากต้นทุนน้ำมันปรุงอาหารที่ดันราคาอาหารอื่นๆ ให้สูงขึ้นก่อนวันหยุดอีดิลฟิฏร์

    “เมื่อตอบสนองความต้องการในประเทศได้แล้ว แน่นอนว่าผมจะยกเลิกการห้ามส่งออกเพราะเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการภาษี ต้องการรายได้จากต่างประเทศ และต้องการการเกินดุลการค้า” ประธานาธิบดีโจโควีกล่าว “ความต้องการของประชาชนมีความสำคัญกว่า”

    เวียดนามมีกำลังแรงงานคุณภาพมากขึ้น

    ที่มาภาพ: https://vietnaminsider.vn/the-lack-of-highly-skilled-workforce-in-vietnam-amidst-the-us-china-trade-war-reuters/
    สำนักงานสถิติทั่วไป (General Statistics Office:GSO) เปิดเผยว่า กำลังแรงงานเวียดนามอายุตั้งแต่ 15 ปี มีจำนวนถึง 51.2 ล้านคนในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 200,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ทั้งนี้ มีแรงงานที่มีงานทำ 50 ล้านคน เพิ่มขึ้น 132,200 รายเมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีกำลังแรงงานในภาคบริการมีสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 38.7) รองลงมาคืออุตสาหกรรมและการก่อสร้าง (ร้อยละ 33.5) และเกษตรป่าไม้- ประมง (ร้อยละ 27.8)

    สำนักงานกล่าวว่า โครงการฟื้นฟูและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมติที่ 11/NQ-CP พร้อมมาตรการเฉพาะได้ทำให้ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นในช่วงสามเดือนแรก

    ในขณะเดียวกัน มีผู้ว่างงานราว 1.3 ล้านคน ลดลง 135,200 คนจากไตรมาสก่อนหน้า มาตรฐานการครองชีพของแรงงานดีขึ้นและรายได้เฉลี่ยฟื้นตัวอย่างมีนัยสาคัญ

    สำนักงานจดทะเบียนธุรกิจภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนระบุว่า แม้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดใหญ่ของโคงิด-19 การดำเนินธุรกิจก็ฟื้นตัวกลับมาดีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นของรัฐบาลในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่

    วาเลนติน่า บาร์รุชชี่ นักเศรษฐศาสตร์แรงงานขององค์กรแรงงาน ILO เวียดนามกล่าวว่าในปี 2543 แรงงานมีการจ้างงาน 65.3% อยู่ในภาคเกษตรกรรม ยี่สิบปีต่อมา สองในสามลดลงเหลือมากกว่าหนึ่งในสามเล็กน้อย (ร้อยละ 37.2) ส่วนที่สามนั้นแบ่งคร่าวๆ ระหว่างบริการและอุตสาหกรรม

    ในปี 2543 เกษตรกรรมมีกำลังแรงงานมากที่สุดในประเทศ ปัจจุบันภาคบริการและการเกษตรมีสัดส่วนเท่ากัน (มีสัดส่วน37.3% และ 37.2%) รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม (25.5% ของการจ้างงาน)

    การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ใน FDI ปัจจุบันเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ต้องมีอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่ใช้นวัตกรรมมากขึ้นและกำลังแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น

    เวียดนามจะต้องมีรูปแบบการเติบโตใหม่เพื่อขจัดความเสี่ยงจากกับดักรายได้ต่ำปานกลาง และบรรลุความทันสมัย ​​มีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม และการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้จะมีกดดันผลให้มีตลาดแรงงานที่ทันสมัย

    ผลิตภาพแรงงานของเศรษฐกิจทั้งหมดในราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 171.3 ล้านด่อง (7,398 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อคนงานหนึ่งคน สูงกว่า 538 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ผลิตภาพแรงงานในปี 2564 เพิ่มขึ้น 4.71% เนื่องจากคุณสมบัติของคนงานดีขึ้นโดยมีสัดส่วนของ พนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมที่มีวุฒิการศึกษาและประกาศนียบัตรในปี 2564 ถึง 26.1% สูงขึ้นจาก 25.3% ของปี 2020

    Bui Quang Tuan ผู้อำนวยการสถาบันVietnam Institute of Economics กล่าวว่า ผลิตภาพแรงงานเวียดนามยังคงต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซียอย่างมาก

    จากข้อมูลของธนาคารโลก (WB) ระหว่างปี 2010 ถึง 2020 ค่าดัชนีทุนมนุษย์ (HCI) เวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 0.66 เป็น 0.69 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีรายได้เท่ากันกับเวียดนาม และเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิกที่มี HCI สูงสุด ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จอย่างมากในด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

    เวียดนามเปิดท่าเรือใหม่ 10 ท่า

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/business/item/11436802-ministry-of-transport-announces-10-new-ports.html

    เวียดนามได้เพิ่มท่าเรือใหม่อีก 10 แห่งส่งผลให้จำนวนท่าเรือทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 296 แห่ง

    กระทรวงคมนาคมออกประกาศรายชื่อท่าเรือที่เป็นของท่าเรือเวียดนาม

    ท่าเรือที่เพิ่มเข้ามาใหม่คือท่าเรือ Nosco ในเมืองท่ากว๋าง นิญ, ท่าเรือ Long Son ของหงิเซิน, ท่าเรือ Hai Ha ซึ่งเป็นท่าเรือปิโตรเลียมกว๋าง จิ, ท่าเรือปิโตรเลียมระหว่างประเทศของ Pacific Petro ในจังหวัดเตี่ยน ซาง, ท่าเรือ Giao Long ในจังหวัดเบ๊น แจ๋, ท่าเรือโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Duyen Hai 2 ในจังหวัดจ่าวิญ

    นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มท่าเรือสองแห่งของท่าเรือหวุงเต่า ได้แก่ ท่าเรือ Cai Mep Gemadept ซึ่งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า และท่าเรือทั่วไป Cai Mep

    ในไฮ ฟอง Hai Phong มีการเพิ่มท่าเรือ VIMC Dinh Vu และท่าเรือเฉพาะทางของ FGG เข้ามาด้วย ท่าเรือบางแห่งมีท่าเทียบเรือจำนวนมาก รวมถึงท่าเรือไฮ ฟองที่มีท่าเทียบเรือ 52 ท่าและหวุงเตาที่มีท่าเทียบเรือ 48 ท่า

    สำนักงานการบริหารการเดินเรือเวียดนามกล่าวว่า ระบบท่าเรือที่ทอดยาวจากเหนือจรดใต้ได้สร้างเสริมบทบาทของท่าเรือเวียดนามในฐานะศูนย์กลางการค้าสินค้า

    ข้อมูลจากสำนักงานบริหารการเดินเรือเวียดนามที่เผยแพร่ล่าสุด แสดงให้เห็นว่า ปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ แตะที่ระดับเกือบ 180 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 6% จากช่วงเดียวกัน แตะระดับ 6.2 ล้าน TEU (หน่วยเทียบเท่าตัน)

    ปตท.สผ.-เปโตรนาสยุติการลงทุนในโครงการเยตากุน

    ที่มาภาพ:https://www.offshore-energy.biz/malaysian-operator-and-thai-partner-pull-out-of-myanmars-yetagun-field/
    วันที่ 29 เมษายน 2565 ปตท.สผ. ออกแถลงการณ์ปรับแผนการบริหารจัดการโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ยุติการลงทุนในโครงการเยตากุน และโครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติของแหล่งเยตากุน ในเมียนมา

    นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทได้แจ้งต่อผู้ร่วมทุนในโครงการเยตากุน เพื่อขอถอนการลงทุนในโครงการ รวมทั้ง ยุติการลงทุนในบริษัท ทะนินทะยี ไพพ์ไลน์ จำกัด (Taninthayi Pipeline Company LLC หรือ TPC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุนมายังประเทศไทย โดยสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดร้อยละ 19.31 ของ ปตท.สผ. ในโครงการเยตากุน จะถูกถ่ายโอนให้กับผู้ร่วมทุนที่เหลืออยู่ในโครงการโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อได้รับอนุมัติจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป

    การยุติการลงทุนดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารจัดการโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เพื่อมุ่งเน้นโครงการที่มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

    ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า อันเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อความเป็นอยู่และการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้ง เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย

    โครงการเยตากุน ตั้งอยู่นอกชายฝั่งอ่าวเมาะตะมะ โดยในปี 2564 โครงการเยตากุนมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยประมาณ 17 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทประมาณ 560 บาร์เรลต่อวัน

    ด้าน เปโตรนาสพันธมิตรของปตท.สผ.ได้ออกแถลงการณ์ยุติการลงทุนในโครงการเยตากุนเช่นกัน

    โดยระบุว่า บริษัทปิโตรนาสซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซของมาเลเซียและบริษัท PTTEP ของไทยได้ตัดสินใจถอนตัวจากแหล่งเยตากุนที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งเมียนมา

    แถลงของเปโตรนาส ระบุว่า การตัดสินใจเกิดขึ้นหลังจากการตรวจสอบ ข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐอย่างละเอียดเทียบกับกลยุทธ์การจัดหาสินทรัพย์เข้าพอร์ตโฟลิโอให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานที่เร่งขึ้น

    ปีที่แล้วเปโตรนาสประสบปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการ Yetagun ประการแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีคนงานกว่าร้อยคนติดอยู่ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันเยตากุน ภายหลังการรัฐประหารในประเทศเมื่อต้นเดือน ผู้รับเหมาและเปโตรนาสได้จ้างงานคนงานต่อด้วยความจำเป็นด้านความปลอดภัยคนงาน

    ต่อมาในเดือนเมษายน2564 ปิโตรนาสได้ประกาศเหตุสุดวิสัยในโครงการเยตากุนเนื่องจากผลผลิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การตัดสินใจเกิดขึ้นหลังจากมีปัญหาในการส่งมอบบ่อน้ำมันซึ่งส่งผลให้อัตราการผลิตลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ทางเทคนิคของโรงงานแปรรูปก๊าซนอกชายฝั่ง