ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเตรียมทำแผนพัฒนาพลังงานปี 2021-2030

ASEAN Roundup เวียดนามเตรียมทำแผนพัฒนาพลังงานปี 2021-2030

9 พฤษภาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-8 พฤษภาคม 2564

  • เวียดนามเตรียมทำแผนพัฒนาพลังงานปี 2021-2030
  • เวียดนามระงับแผนเปิดประเทศชั่วคราว
  • มูลค่าข้าวส่งออกเวียดนามแตะ 1 พันล้านดอลลาร์หลังราคาสูงขึ้น
  • ฟิลิปปินส์เตรียมปรับภาษี-ปริมาณนำเข้าเนื้อหมู
  • สิงคโปร์ชะลอการยื่นขออนุญาตเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติ
  • เมียนมาจะสร้างตลาดประมูลปลาในมะริด
  • เวียดนามเตรียมทำแผนพัฒนาพลังงานปี 2021-2030

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/submit-energy-plan-for-next-decade-by-june-ministry-told-4273433.html
    รัฐบาลเวียดนามได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจัดทำ แผนพัฒนาพลังงานปี 2021-2030ให้แล้วเสร็จและส่งให้พิจารณาภายในกลางเดือนมิถุนายนปีนี้

    นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงฯ ประเมินความสามารถของโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Grid) ให้รอบคอบมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาพลังงานล้นตลาด และปรับเปลี่ยนในส่วนที่สำคัญในแผนแม่บทการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 8 ที่เสนอ

    ตัวอย่างเช่น แผนดังกล่าวตั้งเป้ากำลังการผลิต 167,000 เมกะวัตต์ทั่วประเทศภายในปี 2030 ในขณะที่ความต้องการสูงสุดคาดว่าจะอยู่ที่ 86,500 เมกะวัตต์

    การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนสาธารณูปโภคด้านพลังงานแห่งชาติว่า พลังงานหมุนเวียนตามแผนจำนวนมากอาจเป็นความท้าทาย หากโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายไม่ได้รับการยกระดับเช่นกัน

    EVN แนะนำว่า ในแผนควรเจาะจงให้ชัดเจนเกี่ยวกับอัตราส่วนการนำเข้าไฟฟ้าและการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวและถ่านหิน

    ด้านบริษัท Petrovietnam ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันและก๊าซได้เสนอว่า แผนดังกล่าวควรรวมถึงการวางแผนขนาดใหญ่สำหรับโรงงาน LNG และก่อสร้างไว้ใกล้กับท่าเรือที่มีอยู่

    ร่างแผนแม่บทกำหนดวงเงินพัฒนาไว้ที่ 320,000 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนาภาคพลังงานของประเทศในช่วงปี 2021-2045 และคาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 8.6%ในปี 2021-2025 และ 7.2% ในปี 2026-2030

    ในปีนี้เวียดนามตั้งเป้าลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลง 6% ให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องสายส่งที่มีจำกัดก็ตาม โดยจะลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินลง 8 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง จากที่คาดการณ์ไว้ 126 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปีนี้ ขณะที่ EVN ประมาณการการผลิตทั้งหมดจากทุกแหล่งที่ 260 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

    EVN ยังระงับกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังน้ำประมาณ 8,000 เมกะวัตต์ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึง 12.00 น. ทุกวันในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพื่อเปิดทางให้การผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งจะถึงจุดสูงสุดในตอนเที่ยง อย่างไรก็ตาม การลดปริมาณการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้นมาพร้อมกับผลที่ตามมา คือ ความถี่ที่เพิ่มขึ้นของการรีสตาร์ทเครื่องจะเพิ่มความเสี่ยงที่ระบบจะล่ม

    การรีสตาร์ทที่เกิดจากอุปทานล้นตลาดในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 2.6 เท่าจากปี 2019 เป็น 192 ครั้ง ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เพียงอย่างเดียวมีการรีสตาร์ท 334 ครั้ง

    EVN ได้ให้ความสำคัญของปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากขึ้น และยังต้องการเพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่าจากปีที่แล้วเป็น 32 กิโลวัตต์ชั่วโมงในปีนี้

    กำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมคาดว่าจะแตะ 20,000 เมกะวัตต์ในปีนี้ซึ่งคิดเป็น 30% ของอุปทานทั้งหมด

    แต่เนื่องจากสายส่งที่มีอย่างจำกัด พลังงานหมุนเวียนจึงมีสัดส่วนเพียง 12% ของการผลิตทั้งหมด แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 17% ในอีก 5 ปีข้างหน้า การผลิตส่วนที่เหลือของมาจากแหล่งดั้งเดิม เช่น พลังงานความร้อนและพลังน้ำ

    ก่อนหน้านี้ EVN ประกาศว่า จะลดกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 15-20% เพื่อลดแรงกดดันต่อโครงข่ายแห่งชาติ

    “การลดพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ EVN ไม่ต้องการเพราะเป็นการสร้างผลกระทบต่อผู้พัฒนาโครงการ” เหงียน ดุ๊ก นินญ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าแห่งชาติ แห่ง EVN กล่าว

    ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เวียดนามเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยมีพลังงานหมุนเวียนล้นตลาด แต่ขีดความสามารถของสายส่งมีจำกัด เกิดขึ้นจากการจัดการและการวางแผนที่ไม่ดี

    เวียดนามระงับแผนเปิดประเทศชั่วคราว

    ที่มาภาพ: https://www.worldhighways.com/wh10/news/new-road-and-bridge-projects-vietnam
    ความหวังของเวียดนามที่จะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องล้มเหลวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากทางการยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3 ทั่วเอเชียอาจทำให้แผนไม่เป็นไปตามเป้า

    การแพร่ระบาดในภูมิภาครวมทั้งอินเดีย ไทย และฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแผนการที่จะเปิดประเทศที่เริ่มด้วยการเดินทางแบบ travel bubble ที่เกี่ยวข้องกับรีสอร์ทริมชายหาดของเวียดนามกลาง

    กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวระบุว่า กำลังวางแผนที่จะกลับมาดำเนินการท่องเที่ยวระหว่างประเทศระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน โดยมุ่งเน้นไปที่รีสอร์ทชายหาดและสนามกอล์ฟแห่งแรกในเมืองดานังซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ในช่วงก่อน และมุ่งเน้นไปที่ผู้เดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020

    นอกเหนือจากเมืองดานัง ฮอยอัน และเมืองกว๋าง นามแล้ว ท้องถิ่นอื่นๆ บางแห่งก็ต้องการที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง โดยจังหวัด เกียน ซาง กล่าวว่า ต้องการสร้างช่องทางการเดินทางแบบ travel bubble เพื่อนำชาวรัสเซียไปยังรีสอร์ทบนเกาะฟู้โกว๊กแบบมีเงื่อนไข เช่น การจำกัดการเดินเข้าเฉพาะผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน

    เวียดนามได้รับคำชอมมากมายในการจัดการกับการแพร่ระบาดและกำลังเร่งโครงการการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลเกี่ยวการระบาดในประเทศอื่นๆ เช่น กัมพูชาและไทย อาจทำให้การเปิดพรมแดนต้องระงับลงอีกครั้ง

    ทางการไต้หวันเปิดเผยว่า กำลังวางแผนที่จะเจรจาข้อตกลงการเดินทางแบบ travel bubble กับจุดหมายปลายทาง 6 แห่งรวมถึงเวียดนามหลังจากประสบความสำเร็จของ travel bubble ท่องเที่ยวไต้หวัน–ปาเลา สำนักงานการท่องเที่ยวของไต้หวันกำลังเจรจากับเวียดนามกวม ฮาวาย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ปาเลาเป็นประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกตะวันตก

    เวียดนามระงับเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศทั้งหมดในเดือนมีนาคม 2020 ยังไม่เปิดให้ยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยว หรือข้อตกลงการเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่า เฉพาะชาวต่างชาติที่ได้รับเชิญจากหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นทางการด้วยเหตุผลทางธุรกิจเท่านั้นที่สามารถเข้าเวียดนามได้

    มูลค่าข้าวส่งออกเวียดนามแตะ 1 พันล้านดอลลาร์หลังราคาสูงขึ้น

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/rice-exports-cross-1-bln-on-higher-prices-4273875.html
    ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม รายงานว่า ส่งออกข้าวมีมูลค่า 1.01 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2021 พิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีเนื่องจากราคาข้าวสูงขึ้น ปริมาณการส่งออกข้าวลดลง 11% เมื่อเทียบเป็นรายปีมาอยู่ที่ 1.9 ล้านตัน

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13.4%เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่าการส่งออกจึงยังเป็น 534 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว

    สมาคมอาหารเวียดนามคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกข้าวของประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาขายที่สูงขึ้น

    กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม วางแผนที่จะผลิตข้าวเปลือก 43 ล้านตันและตั้งเป้าส่งออกข้าว 6.5 ล้านตันในปีนี้

    เวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกเมื่อปีที่ด้วยปริมาณ 6.25 ล้านตัน

    ฟิลิปปินส์เตรียมปรับภาษี-ปริมาณนำเข้าเนื้อหมู

    ที่มาภาพ: https://explorescm.com/philippines-imposes-temporary-ban-on-pork-imports-from-germany/

    แถลงการณ์ของกรมวิชาการเกษตร (Department of Agriculture: DA) เมื่อวันพุธที่ 5 พฤษภาคม ระบุว่า วุฒิสภายอมรับข้อเสนอแนะของทีมเศรษฐกิจที่ให้แก้ไขอัตราภาษีภายใต้คำสั่งผู้บริหาร (EO) ฉบับที่ 128 และการปรับลดปริมาณการนำเข้าขั้นต่ำหรือ Minimum Access Volume (MAV)

    DA เสนอแนะว่า อัตราภาษีนำเข้าใน EO ฉบับ 128 ที่ลงนามโดยประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ควรปรับเป็น 10% สำหรับการนำเข้าแบบมีโคว ตาและ 20% สำหรับนอกโควตาในช่วง 3 เดือนแรก และ 15% ในโควตาและ 25% สำหรับนอกโควต้า ในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี

    นอกจากนี้วุฒิสภาและทีมเศรษฐกิจยังเห็นพ้องกันว่า MAV จะลดลงจาก 404,000 ตัน เป็น 254,210 ตัน

    คำสั่งฉบับ EO 128 เดิมเพิ่มการนำเข้าเนื้อหมูเป็น 404,000 ตันจาก 54,000 ตันที่วางไว้ และยังลดอัตราภาษีนำเข้าลงจาก 30-40% เหลือเพียง 5%

    วิลเลียม ดาร์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร กล่าวว่า การแก้ไขที่แนะนำเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีผลต่อผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์หลายล้านคน เนื่องจากอุปทานหมูลดน้อยลง

    “นี่เป็นมาตรการระยะสั้นเร่งด่วน เรายังคงดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศฟื้นตัวจากโรคไข้สุกรแอฟริกัน (ASF) เราจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ทันท่วงทีเพื่อควบคุมสถานการณ์ราคาเนื้อหมูที่สูงในปัจจุบัน” ดาร์กล่าว

    ดาร์อ้างถึงมาตรการระยะสั้น เช่น “Bantay ASF sa Barangay” ของ DA และโครงการเลี้ยงหมูแฝด และยังชี้ให้เห็นว่าแม้ Land Bank of the Philippines และ Development Bank of the Philippines ได้จัดสรรเงินจำนวน 30 พันล้านเปโซและ 12 พันล้านเปโซตามลำดับ เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้เลี้ยงสุกรเชิงพาณิชย์ แต่มาตรการระยะยาวเหล่านี้ต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเพื่อวางมาตรการในทันที

    DA จะส่งภาษีนำเข้าเนื้อหมูที่แก้ไขแล้วไปยังคณะกรรมการเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (NEDA) โดย NEDA จะมีข้อเสนอแนะขั้นสุดท้ายต่อสำนักงานประธานาธิบดี

    ข้อตกลงระหว่างวุฒิสภาและทีมเศรษฐกิจได้รับการตอบรับจากกลุ่มอุตสาหกรรมหมูหลายกลุ่ม รวมถึง Samahang Industriya ng Agrikultura (Sinag) และ Philippine Association of Meat Processors Inc. (Pampi)

    สิงคโปร์ชะลอการยื่นขออนุญาตเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติ

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/work-pass-holders-entry-curbs-singapore-stops-new-applications-14764108

    สิงคโปร์จะไม่รับการยื่นขอเข้าประเทศใหม่สำหรับผู้ถือบัตรอนุญาตทำงานจากประเทศและภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงโดยให้มีผลทันที เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก

    ข้อจำกัดใหม่นี้ไม่รวมถึงคนงานที่จำเป็นสำหรับโครงการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญและงานโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ จาการประกาศของกระทรวงแรงงาน (Manpower Ministry)ในวันที่ 7 พฤษภาคม

    ประเทศและภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงหมายถึงสถานที่ทุกแห่ง ยกเว้น ออสเตรเลีย บรูไน จีนแผ่นดินใหญ่ นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า

    ผู้ถือบัตรอนุญาตทำงาน (work pass) จากสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติให้เข้าสิงคโปร์ก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้า ยกเว้นคนงานข้ามชาติที่ทำงานบ้าน และผู้ที่ทำงานในภาคการก่อสร้าง อู่ต่อเรือเดินทะเล และอุตสาหกรรมแปรรูป

    “เราจะแจ้งให้นายจ้างทราบว่าเมื่อใดที่จะต้องยื่นได้อีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นและทรงตัว และจะจัดลำดับความสำคัญสำหรับการอนุมัติการเข้าทำงานในเวลานั้น” กระทรวงระบุ สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้าน ผู้ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจะได้รับอนุญาตให้เข้าสิงคโปร์ได้ยกเว้นบางคนที่มีแผนเดินทางมาถึงก่อนวันที่ 7 มิถุนายน โดยจะต้องกำหนดเวลาการเดินทางมาถึงใหม่ในสัปดาห์ต่อๆ ไป

    ในทำนองเดียวกันคนงานในการก่อสร้าง อู่ต่อเรือทางทะเลและอุตสาหกรรมแปรรูปที่ได้รับการอนุมัติจะได้รับอนุญาตให้เข้า อย่างไรก็ตามกลุ่มเล็กๆ ที่วางแผนไว้ว่าจะมาถึงในเดือนมิถุนายนจะต้องออกไปให้มาถึงในสัปดาห์ต่อๆ ไป

    “ในช่วงของการแจ้งเตือนที่สูงขึ้นนี้ ตั้งแต่วันอังคารที่ 11 พฤษภาคมเป็นต้นไปเรากำลังปรับเปลี่ยนการเข้าทำงานของผู้ถือบัตรอนุญาตทำงานที่ได้รับการอนุมัติให้เดินทางมาจากประเทศและภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงก่อนหน้านี้”

    “ด้วยความจำเป็นในการกำหนดเวลาการเดินทางมาถึงของผู้ถือบัตรอนุญาตทำงานที่ได้รับการอนุมัติเสียใหม่แล้ว เราจะไม่เปิดการยื่นขอเข้าประเทศใหม่จากประเทศ/ภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูง โดยจะมีผลในทันทียกเว้นคนงานที่จำเป็นสำหรับโครงการเชิงกลยุทธ์และงานโครงสร้างพื้นฐานที่เราจะอนุญาตให้เข้าต่อไป”

    การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือบัตรอนุญาตทำงานที่ได้รับการอนุมัติแล้ว หรือกำลังรอการอนุมัติให้เข้าสิงคโปร์ จากประเทศและภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าภายใต้การจัดระเบียบการเดินทางเป็นระยะ (PCA), Reciprocal Green Lane (RGL) และช่องทางการเดินทางอื่นๆ

    กระทรวงจะติดต่อผู้ถือบัตรอนุญาตทำงานและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวันเข้าทำงาน

    สิงคโปร์ยกระดับมาตรการสกัดโควิดบริเวณพรมแดน ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

    เมื่อวันที่ 22 เมษายนได้มีการประกาศว่าผู้ถือบัตรระยะยาวและนักท่องเที่ยวระยะสั้นทั้งหมดที่มีประวัติการเดินทางไปอินเดียล่าสุดจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อินเดียเลวร้ายลง ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคมได้ขยายมาตรการให้ครอบคลุมผู้ที่มีประวัติการเดินทางล่าสุดไปยังบังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา

    เนื่องจากมาตรการและข้อจำกัดนี้ บริษัทต่างๆ ที่เคยพึ่งพาแรงงานอพยพจากอินเดียและบังกลาเทศ ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนคนงานและกำลังมองหาทางเลือกอื่น และคาดว่าโครงการจะเกิดความล่าช้าและการหยุดชะงักในขณะนี้ ขณะที่หน่วยงานด้านควบคุมอาคารและการก่อสร้าง (Building and Construction Authority) จะมีมาตรการสนับสนุน เช่น การให้ความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับบริษัทที่นำคนงานเข้ามาจากประเทศจีน

    เมียนมาจะสร้างตลาดประมูลปลาในมะริด


    เจ้าหน้าที่จากมะริดคอร์ปอเรชัน (Myeik Corporation) เปิดเผยว่า จะมีการก่อสร้างตลาดประมูลปลา โดยโครงการมีมูลค่าเงินลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะดำเนินการโดยเร็วที่สุดในมะริด เขตตะนาวศรี

    ตลาดจะตั้งอยู่บนพื้นที่ 700 เอเคอร์ริมแม่น้ำเจ้าพยา(Kyaukphya) ในเมืองมะริด โครงการตลาดปลายังรวมถึงเขตอุตสาหกรรมท่าเทียบเรือสำหรับจัดการสต็อกปลาและที่อยู่อาศัย

    ประธานสภาบริหารภาคตะนาวศรี ทิน อ่อง ได้ประชุมกับผู้ประกอบการในพื้นที่เมื่อวันที่ 27 เมษายนและหารือเกี่ยวกับโครงการ ในระหว่างการประชุมประธานได้เรียกร้องให้ดำเนินโครงการโดยเร็ว

    “เราได้ยื่นเรื่องภายใต้รัฐบาลที่แล้ว ตอนนี้เราส่งอีกครั้ง เขา (ประธาน) กล่าวว่าโครงการควรดำเนินการโดยเร็วที่สุด เราได้รับแจ้งว่าโครงการนี้สามารถดำเนินการได้บนพื้นที่ 700 เอเคอร์ เรายังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่เจ้าหน้าที่กำลังทำการสำรวจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์จะลงพื้นที่ในเร็วๆ นี้” หละ ตาน ประธานบริษัทมะริดคอร์ปอเรชันกล่าว

    ประธานสภาภูมิภาคอ้างคำพูดของสภาบริหารแห่งรัฐว่า โครงการตลาดประมูลปลาจะได้รับอนุญาตบนที่ดิน 700 เอเคอร์จากพื้นที่ทั้งหมด 2,000 เอเคอร์ที่ส่งไปก่อนหน้า และยังเน้นว่าโครงการควรอยู่นอกพื้นที่โครงการเกษตรของมะริดซึ่งมีพื้นที่การเกษตร 64%

    กรรมการบริษัทรายหนึ่งกล่าวว่า โครงการมีระยะเวลา 7 ปีมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะสร้างงานได้หลายหมื่นตำแหน่ง

    โครงการประกอบด้วยท่าเทียบเรือ ห้องเย็นในเฟส 1, โรงงานแปรรูปในเฟส 2, บ้านพักพนักงานในเฟส 3 และขยายพื้นที่ในเฟส 4

    “หากเราได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามโครงการนี้สำเร็จ เราจะสามารถลดการพึ่งพาตลาดไทยที่มีมากว่า 20 ปี เราจะอยู่ในสถานะที่จะแข่งขันกับตลาดมหาชัยของประเทศไทย เราจะสามารถผลิตสินค้าได้มากกว่า 2 ล้านตันทุกปี อุตสาหกรรมประมงของเมียนมาจะพัฒนาขึ้น” ผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านให้ความเห็น