ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน CSIS เรื่อง 3 เดือนของสงครามยูเครน ความล้มเหลวทางทหารที่สำคัญของรัสเซีย

รายงาน CSIS เรื่อง 3 เดือนของสงครามยูเครน ความล้มเหลวทางทหารที่สำคัญของรัสเซีย

6 มิถุนายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

รายงาน CSIS เรื่อง 3 เดือนของสงครามยูเครน ความล้มเหลวทางทหารที่สำคัญของรัสเซีย

ที่มาภาพ : bbc.com

ในช่วงที่สงครามยูเครนดำเนินมาครบ 100 วัน ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ (Center for Strategic & International Studies – CSIS) ที่มีชื่อเสียง ได้เผยแพร่รายงานชื่อ Russia’s Ill-Fated Invasion of Ukraine (การบุกยูเครนของรัสเซีย ที่อาจจบลงแบบล้มเหลว) รายงานนี้เขียนโดย Seth G. Jones ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงนานาชาติของ CSIS

รายงานนี้วิเคราะห์บทเรียนจากการบุกยูเครนของรัสเซีย ในช่วง 3 เดือนนับจากกุมภาพันธ์ 2022 โดยตั้งคำถามว่า อะไรคือบทเรียนสำคัญสุดในระยะ 3 เดือนของสงคราม และบทเรียนจะช่วยชี้ทิศทางอนาคตของสงครามยูเครนอย่างไร การวิเคราะห์ของบทรายงาน มองที่ปฏิบัติการทางทหาร ระบบโลจิสติกส์ ระบบข่าวกรอง การควบคุมบังคับบัญชา และการวางแผน ว่ามีส่วนเชื่อมโยงอย่างไรกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

แนวรบหลักที่เปลี่ยนแปลง

ในช่วงแรกของสงครามยูเครน กองทัพบกรัสเซียเปิดแนวรบใหญ่ 4 ด้านต่อยูเครน (1) ด้านเหนือ เป็นกองกำลังบุกมาจากประเทศเบลารุส มุ่งเข้าโจมตีกรุงเคียฟ (2) ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังพลข้ามพรมแดนรัสเซีย เพื่อโจมตีเคียฟ (3) ด้านตะวันออก กองทหารรัสเซียบุกออกมาจากพื้นที่ดอนบาส ไปยังเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv) และ (4) ด้านทางใต้ กองทัพรัสเซียบุกจากแหลมไครเมียร์ มุ่งไปเมืองท่าเรือโอเดสซ่าและมาริอูโพล

หลังจากประสบกับปัญหาการรุกทางทหารไม่คืบหน้า และการรบชะงักงัน เดือนเมษายน กองทัพรัสเซียเริ่มถอนตัวจากกรุงเคียฟ และหันมาทุ่มกำลังพลทางด้านตะวันออกและด้านใต้ของยูเครน ทุกวันนี้ การสู้รบเกิดขึ้นตามเส้นแนวรบ ที่ยาวประมาณ 960 กม. เริ่มจากตะวันตกของเมืองเคอร์สัน (Kherson) ทางใต้ยูเครน มาตามเส้นทางเรียบทะเลดำ ต่อไปทางตะวันออก ผ่านเมืองเมลิโทโพล (Melitopol) มาริอูโพล เขตดอนบาส ทางตะวันออกยูเครน ถึงเมืองอิเซียม (Izyum) และเมืองคาร์คีฟ ใกล้พรมแดนรัสเซีย

รัสเซียใช้กำลังทหารประมาณ 110 กองพลรบ หรือ 142,000 คน การยึดครองเมืองของแต่ละฝ่าย ตามแนวรบ 960 กม. นี้ คงจะมีสภาพแบบผลัดกันรุกและรับ ส่วนกองทัพเรือรัสเซียได้ปิดล้อมยูเครนทางทะเล ทำให้การค้าทางทะเลของยูเครนหยุดชะงักลง และยังโจมตีเมืองต่างๆของยูเครน จากจรวดครุสที่ยิงจากเรือรบรัสเซีย

แนวรบสงครามยูเครน ที่ยาว 960 กม. ที่มาภาพ : https://www.csis.org/analysis/russias-ill-fated-invasion-ukraine-lessons-modern-warfare

รัสเซียยังพยายามผนวกดินแดนยึดครอง โดยใช้วิธีการการสร้างรัฐ (state-building) เช่น แต่งตั้งผู้นำท้องถิ่นที่สนับสนุนรัสเซีย Volodymyr Saldo อดีตเทศมนตรีเมือง เคอร์สัน ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้า ฝ่ายทหารพลเรือนภูมิภาคเคอร์สัน เดือนพฤษภาคม เขาประกาศว่า “พื้นที่นี้จะเป็นภูมิภาคเคอร์สันของสหพันธ์รัสเซีย”

โครงการสร้างรัฐของรัสเซียในพื้นที่ยึดครอง ประกอบด้วยมาตรการหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การปกครอง และความมั่นคง รัสเซียนำเงินสกุลรูเปิ้ลมาใช้แทนเงินสกุล hryvnia ของยูเครน อย่างเช่นในเมืองเมลิโทโพล รัสเซียเข้าไปดำเนินงานในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงงานเหล็กกล้า และเปลี่ยนอินเทอร์เนตให้ไปผ่านรัสเซีย

ความล้มเหลวทางทหาร

รัสเซียล้มเหลวที่จะบรรลุเป้าหมายหลักการเมือง คือการโค่นล้มรัฐบาลยูเครน จากปฏิบัติการทางทหารแบบสายฟ้าแลบ และทหารรัสเซียยังเผชิญปัญหาการยึดครองพื้นที่ ปัญหาเหล่านี้ทำให้มีการสั่งปลดนายทหารระดับสูงหลายคน เช่น นายทหารที่ไม่สามารถยึดเมืองคาร์คีฟ ผู้บัญชาการกองเรือทะเลดำ เนื่องจากเรือรบ Moskva จมลง นอกจากนี้ นายพลและนายทหารระดับสูงหลายคน เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ การปลดและเสียชีวิตของนายทหารระดับสูง อาจทำให้การควบคุมบังคับบัญชามีปัญหามากขึ้น ในความพยายามที่จะปรับปรุงระบบการควบคุมบังคับบัญชา โดยเฉพาะการบูรณาการระหว่าง การรบทางพื้นดินกับอากาศ ประธานาธิบดีวราดิเมียร์ ปูตินได้แต่งตั้งนายพล Aleksandr Dvornikov เป็นผู้บัญชาการหน่วยรบทั้งหมด

รายงานของ CSIS กล่าวว่า กองทัพบกรัสเซียประสบปัญหาสำคัญคือ การส่งกำลังบำรุง ท่ามกลางการสู้รบ กองทัพรัสเซียปฏิบัติการรบ โดยมีกำลังพลที่สนับสนุนน้อยกว่า กองทัพของประเทศอื่น กองพลรบรัสเซียมีกำลังพล 600-800 คน เป็นกำลังพลสนับสนุน 150 คน ขณะที่กองทับกสหรัฐฯใช้พลสนับสนุน 10 คนต่อทหารที่เป็นพลรบ 1 คน

ตัวอย่างของปัญหานี้สะท้อนออกมาให้เห็น เมื่อทหารรัสเซียบุกเข้าใกล้กรุงเคียฟ จะเกิดความเสียหายอย่างหนัก ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อทหารรัสเซียเข้ายึดสนามบิน Hostomel และอยู่ในตำแหน่งที่จะบุกโจมตีกรุงเคียฟ ทหารรัสเซียก็ขาดกำลังรบที่จะเข้ายึดเมืองหลวงยูเครน และทหารรัสเซียยังเคลื่อนเข้ามาอยู่ในรัศมีการยิงปืนใหญ่ของฝ่ายยูเครน

  • โดรน TB2 ผลิตในตุรกี เปลี่ยนโฉมหน้าสงครามยูเครน ช่วยจมเรือรบรัสเซีย Moskva
  • 4 ฉากทัศน์ (Scenario) ของสงครามยูเครน รัสเซียชนะ พ่ายแพ้ ทำข้อตกลง หรือยืดเยื้อ
  • ข้อสรุปเบื้องต้น 3 ประการ

    แม้ว่าสงครารมยูเครนจะยังไม่จบลงในเร็ววัน แต่บทรายงานของ CSIS มีข้อสรูปเบื้องต้นหลายประการ

    ประการแรก กองทหารรัสเซียเผชิญปัญหาท้าทายอย่างมากด้านโลจิสติกส์ ส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝนและการวางแผน ช่วงแรกของสงครามที่รัสเซียบุกไปกรุงเคียฟ กองกำลังพื้นดินรัสเซียประสบปัญหา ทั้งการส่งกำลังบำรุง และการบังคับบัญชา ในสภาพที่ไม่สามารถใช้เส้นทางรถไฟในการขนส่ง ส่วนเส้นทางบกก็เกิดปัญหาติดขัดจากขบวนรถยนต์รัสเซีย รัสเซียจึงล้มเหลวที่จะลำเลียงน้ำมัน อาวุธ และยุทธปัจจัยอื่นๆ ไปยังทหารหน่วยหน้า ได้อย่างรวดเร็ว เส้นทางลำเลียงจึงไม่สามารถก้าวตามการบุกโจมตี ที่ลึกเข้าไปในยูเครน ส่วนการโจมตีจากระยะไกล หัวใจสำคัญของปฏิบัติการทางทหารรัสเซีย ก็มีข้อจำกัด เนื่องจากปริมาณอาวุธแบบแม่นยำสูง ก็มีปริมาณไม่พอ

    ประการที่ 2 ปฏิบัติการภาคพื้นดินของรัสเซีย ดูเหมือนจะมีการวางแผนและดำเนินการบนสมมุติฐานที่ผิดพลาด ในเรื่องที่ว่าทหารยูเครนและชาวยูเครนจะปฏิกริยาตอบโต้อย่างไร รวมทั้งปฏิกิริยาจากฝ่ายตะวันตก ผู้นำรัสเซียมีเป้าหมายสำคัญคือการยึดครองยูเครน แต่การยึดครองประเทศ ที่ประชาชนมีการต่อต้าน จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อทางทหารรัสเซีย เพราะความขัดแย้งมีสภาพคล้าย “สงครามประชาชน”

    นอกจากนี้ รัสเซียยังล้มเหลวในการประสานงานการรบภาคพื้นดิน ทางอากาศ และการโจมตีระยะไกล จำนวนทหารที่บุกยูเครนก็ไม่มากพอ ที่จะบรรลุเป้าหมาย และรัสเซียเองก็มองข้ามการปิดพรมแดนทางตะวันตกยูเครน เพื่อป้องกันการสนับสนุนด้านอาวุธจากตะวันตก

    ประการที่ 3 การโจมตีทางไซเบอร์และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของรัสเซีย ไม่สามารถทำลายศูนย์บังคับบัญชาของยูเครน หรือทำลายโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน และไม่มีผลกระทบสำคัญต่อความมุ่งมั่นของคนยูเครนที่จะต่อสู้ หรือการสื่อสารกันและกัน บริษัทเอกชนและรัฐบาลตะวันตก มีส่วนช่วยยูเครนให้สามารถรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ บริษัท SpaceX ของอิลอน มัสก์ ให้บริการอินเทอร์เนตกับยูเครนผ่านดาวเทียม Starlink ส่งจานรับสัญญาณ 10,000 จานแก่ยูเครน

    ที่มาภาพ : https://www.csis.org/analysis/russias-ill-fated-invasion-ukraine-lessons-modern-warfare

    นัยยะต่อสงครามระยะต่อไป

    รายงานของ CSIS กล่าวถึงบทเรียนดังกล่าว ที่จะมีผลต่ออนาคตระยะต่อไปของสงครามยูเครนว่า บทวิเคราะห์นี้มองว่า รัสเซียเกิดความผิดพลาดสำคัญ ในช่วงการวางแผนและปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถแก้ไขความผิดพลาดนี้ได้รวดเร็ว แต่รัสเซียคงจะมีการปรับปรุง ในช่วงที่ปฏิบัติการทางทหารยังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์

    อย่างเช่นในระยะที่ 2 ของสงครามยูเครน รัสเซียระดมกำลังมาที่ทุ่มเทที่แนวรบด้านใต้และตะวันออกของยูเครน มีการปรับปรุงเรื่องเส้นทางส่งกำลังบำรุง กองเรือรัสเซียสามารถส่งปัจจัยสนับสนุนกำลังพลในแนวหน้า เช่น อาวุธ น้ำมัน และปัจจัยอื่นๆ แต่ความล้มเหลวหลายอย่าง ต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับปรุง และจะทำให้กองทัพรัสเซียต้องคิดใหม่ในเรื่องการฝึกฝน โครงสร้างทางทหาร และการวางแผนเพื่อความพร้อมรบ เป็นต้น

    รายงาน CSIS สรุปว่า สงครามยูเครนคงจะยืดเยื้อ รัสเซียคงไม่สามารถยอมรับ สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ (status quo) นอกจากปฏิบัติการทางทหาร ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลักแล้ว ยูเครนยังมุ่งไปในทางที่ใกล้ชิดตะวันตกมากขึ้น ทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง ที่เลวร้ายต่อรัสเซียก็คือ นาโต้จะขยายสมาชิกไปยังฟินแลนด์และสวีเดน

    ส่วนยูเครนก็ไม่ยอมรับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่เหมือนกัน ผู้นำยูเครนประกาศว่าจะไม่ยอมเสียมีดินแดนมากขึ้นแก่รัสเซีย เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในการสำรวจความเห็นคนยูเครน 82% บอกว่า ยูเครนไม่ควรเสียดินแดนให้รัสเซีย ในการทำความตกลงสันติภาพ แต่การจะเอาชนะดินแดนกลับคืนมาก็เป็นเรื่องยากสำหรับยูเครน เพราะรัสเซียเริ่มสร้างระบบที่มั่นทางใต้ ที่ยากต่อยูเครนจะตอบโต้รุกกลับ

    ตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงสันติภาพ เป้าหมายทางทหารของสหรัฐฯและตะวันตก คงจะอยู่ที่การให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน เพื่อที่จะยึดพื้นที่ทางใต้และตะวันออกกลับคืนมา และถ้าหากตะวันตกต้องการให้ยูเครนได้เปรียบในการสู้รบ ก็ต้องจัดหาอาวุธที่จะทำให้ยูเครน สามารถปฏิบัติการรุกกลับทางทหาร สามารถโจมตีกำลังทหารรัสเซีย ที่ขณะนี้ มีการสร้างจุดที่ตั้งอย่างเข้มแข็ง

    เอกสารประกอบ
    Russia’s Ill-Fated Invasion of Ukraine. Seth G. Jones, June 2022, csis.org