ThaiPublica > เกาะกระแส > 4 ฉากทัศน์ (Scenario) ของสงครามยูเครน รัสเซียชนะ พ่ายแพ้ ทำข้อตกลง หรือยืดเยื้อ

4 ฉากทัศน์ (Scenario) ของสงครามยูเครน รัสเซียชนะ พ่ายแพ้ ทำข้อตกลง หรือยืดเยื้อ

26 เมษายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : defenseone.com

นับจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา สงครามขยายตัวออกไปในทิศทางที่ไม่แน่นอน ในระยะแรก กองทัพรัสเซียทำการโจมตีทั่วยูเครน โดยเป็นไปในแบบขาดการประสานงาน ทำให้ไม่สามารถยึดกรุงเคียฟ ทั้ง ๆ ที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คิดว่าการโจมตีแบบสายฟ้าแลบจะสามารถยึดยูเครนได้อย่างรวดเร็ว แบบเดียวกับที่รัสเซียเคยยึดแหลมไครเมียอย่างง่ายดายมาแล้วในปี 2014

ความล้มเหลวในปฏิบัติการทางทหารทางเหนือของยูเครน ทำให้รัสเซียเปลี่ยนยุทธศาสตร์โดยหันมาทุ่มเทกำลังเพื่อโจมตีแนวรบด้านทิศตะวันออกและใต้ของยูเครนแทน พลตรี รัสทัม มินเนกาเยฟ (Rustam Minnekayev) รองผู้บัญชาการ กองทัพภาคกลางรัสเซีย กล่าวว่า เป้าหมายต่อไปของปฏิบัติการทางทหารคือ การยึดพื้นที่ทางใต้ของยูเครน เพื่อสร้างสะพานพื้นดิน (land bridge) ไปสู่แหลมไครเมีย

ฉากทัศน์ที่ 1 รัสเซียชนะ

นิตยสารForeign Affairs ที่ทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์จุดจบของสงครามยูเครนใน 4 ฉากทัศน์ (scenario) ว่าแต่ละฉากทัศน์จะมีนัยความหมายอย่างไรต่อโลกเรา

บทความแรกชื่อ What If Russia Wins? กล่าวถึงภาพจำลองที่รัสเซียเป็นผู้ชนะสงครามว่า หากสงครามทำให้รัสเซียสามารถเข้าควบคุมยูเครน หรืออยู่ในฐานะที่จะสร้างความไม่มั่นคงให้กับยูเครน ยุคใหม่ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ กับยุโรปจะปรากฏขึ้นมา ตะวันตกจะเผชิญกับปัญหาท้าทายเรื่องความมั่นคง โดยที่ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดสงครามใหญ่กับรัสเซีย

ชัยชนะของรัสเซียในสงครามยูเครนมีได้หลายรูปแบบ เช่น การตั้งรัฐบาลยูเครนที่สนับสนุนรัสเซีย การแบ่งดินแดนของยูเครนที่รัสเซียยึดครอง การพ่ายแพ้ทางทหารของยูเครน และการเจรจายอมจำนนจะทำให้ยูเครนกลายเป็นรัฐล้มเหลว ในที่สุดยูเครนจะแยกตัวออกจากฝ่ายตะวันตก

ส่วนยุโรปตะวันตกจะมีสภาพไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ภารกิจของกลุ่มอียูและนาโต้ที่เป็นหลักประกันให้เกิดสันติภาพทั้งทวีปนั้นจะกลายเป็นเรื่องอดีตไปแล้ว ความมั่นคงของยุโรปจะมีความหมายคือ การปกป้องประเทศที่เป็นแกนนำของอียูกับนาโต้เท่านั้น ในทางพฤตินัยการขยายสมาชิกของอียูและนาโต้จะสิ้นสุดลง

สหรัฐฯ และยุโรปจะตกอยู่ในภาวะที่ทำสงครามเศรษฐกิจกับรัสเซียไปตลอด และหาทางบังคับใช้การคว่ำบาตรที่กว้างขวางมากขึ้นกับรัสเซีย เนื่องจากระดับอำนาจทางเศรษฐกิจไม่สมดุลกัน รัสเซียก็จะตอบโต้ด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ และขู่คุกคามในเรื่องพลังงาน จีนอาจอยู่กับฝ่ายรัสเซียในเรื่องการตอบโต้ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย

ชัยชนะของรัสเซียในยูเครน จะทำให้สหรัฐฯ ปรับยุทธศาสตร์ต่อยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง สหรัฐฯ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับยุโรป สหรัฐฯ จะแสดงท่าทีหนักแน่นตามพันธกรณีของมาตรา 5 ตามสนธิสัญญานาโต้ ที่การโจมตีประเทศสมาชิกหนึ่งเหมือนกับตัวเองถูกโจมตีด้วย สหรัฐฯ และยุโรปมีผลประโยชน์พื้นฐานมูลค่ามหาศาล ในปี 2019 การค้าของสองฝ่ายมีมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ หากยุโรปไม่มีเสถียรภาพ สหรัฐฯ จะอยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น

ครอบครัวชาวยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ที่มาภาพ : https://www.npr.org/sections/pictureshow/2022/04/04/1090784495/[Petros Giannakouris / AP]

ฉากทัศน์ที่ 2 รัสเซียแพ้

บทความที่สองของ Foreign Affairs ชื่อ What If Russia Loses? กล่าวว่า ประธานาธิบดีปูตินอาจผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่บุกโจมตียูเครน คนยูเครนไม่ได้ออกมาต้อนรับทหารรัสเซียว่าเป็นผู้มาปลดปล่อยประเทศ ประเทศตะวันตก รวมทั้งออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์และเกาหลีใต้ โน้มเอียงไปในทางอยากเห็นรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ตะวันตกเองใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงกับรัสเซีย

สงครามทุกสงครามจะต้องหาทางเอาชนะทางประชามติด้วย แต่การที่รัสเซียโจมตีประเทศเพื่อนบ้านซึ่งไม่ได้มีพฤติกรรมไปยั่วยุ ทำให้เกิดความทุกข์ยากและความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้าง ผู้ว่าการเมืองมาริอูโปลของยูเครนให้สัมภาษณ์ว่า…

รัสเซียไม่ได้ทำสงครามระหว่างทหารกับทหาร แต่เป็นการทำลายล้างต่อประเทศ ความโกรธแค้นของคนทั่วโลกต่อสิ่งนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซียในอนาคต

นอกจากผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ ทหารรัสเซียยังผิดพลาดทางยุทธวิธี เช่น ความไม่พร้อมด้านการส่งกำลังบำรุง ทุกคนคิดว่าสงครามจะจบลงในเร็ววัน การโจมตีแบบสายฟ้าแลบจะทำให้รัฐบาลยูเครนล้มพังลงทันที หลังจากนั้น รัสเซียก็มีอำนาจเหนือยูเครน ประกาศความเป็น กลาง ถ้าหากยูเครนล้มพังทันที สิ่งที่ปูตินคิดก็จะถูกต้อง เพราะมองว่ายูเครนไม่ได้มีฐานะเป็นประเทศ แม้แต่จะป้องกันตัวเองก็ยังทำไม่ได้
แต่จากการรบที่เกิดขึ้น ปูตินไม่สามารถเอาชนะสงครามตามที่ตัวเองต้องการ นิตยสาร The Economist รายงานว่า ระยะเวลา 2 เดือนของสงครามยูเครน นายพลรัสเซียเสียชีวิตไปแล้ว 20 คน ขณะที่สงครามเวียดนามดำเนินไป 20 ปี นายพลอเมริกันจึงเสียชีวิต 20 คน

ดังนั้น มีหลายเส้นทางที่ปูตินจะแพ้สงครามนี้ เช่น รัสเซียจมปลักกับสงครามยูเครน หรือการทำสงครามยึดครองยูเครนกลายเป็นสิ่งที่ทำลายขวัญของทหาร ทรัพยากรประเทศหมดไปกับสงคราม โดยไม่ได้อะไรกลับคืนมา ประเทศเพื่อนบ้านถูกทำลาย และหมดเนื้อหมดตัว

เวลาเดียวกัน รัสเซียก็ตกอยู่ในสภาพค่อยๆ ตกต่ำทางเศรษฐกิจ ถูกประชาคมโลกโดดเดี่ยว ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งขึ้นมา ทั้งๆ ที่ประเทศมหาอำนาจจะต้องมีสิ่งนี้ ในที่สุด ปูตินอาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและคนชั้นนำ สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเองมีอำนาจ

บทเรียนทางประวัติศาสตร์ก็คือ ผู้นำเผด็จการหรืออำนาจนิยมแพ้สงครามไม่ได้ หากแพ้หมายถึงจุดจบของการมีอำนาจ

หากรัสเซียแพ้สงครามยูเครน สหรัฐฯ และยุโรปจะมีภารกิจพื้นฐาน คือ การรับยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกอียูและนาโต้ ภารกิจนี้ผิดพลาดไม่ได้ แต่หากรัสเซียยังควบคุมยูเครนได้ไม่เต็มที่ การต่อสู้ยังมีประปราย พรมแดนทางตะวันออกของนาโต้จะมีพื้นที่ที่ไม่มีความสงบ ขาดโครงสร้างของประเทศที่การปกครองมีประสิทธิผล ยุโรปก็จะยังเผชิญหน้ากับคลื่นของผู้อพยพ

สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดอีกอย่างคือ การแพ้สงครามทำให้รัสเซียอยู่ในสภาพอ่อนแอ และรู้สึกอับอายไร้ศักดิ์ศรี สภาพคล้ายกับเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หากปูตินยังมีอำนาจต่อไป หมายความว่า รัสเซียจะตกอยู่ในสภาพเป็นประเทศที่ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย แม้จะเป็นมหาอำนาจมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่กำลังทหารตามแบบแผนตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ ความรู้สึกที่ว่าตัวเองผิดพลาดจะอยู่กับการเมืองภายในรัสเซียไปอีกนาน เพราะไม่มีประเทศไหนเคยได้กำไรจากการแพ้สงคราม

ความผิดพลาดของปูติน แม้จะมีต้นทุนสูง อาจทำให้เป็นโอกาสที่ประเทศต่างๆ จะตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องระเบียบระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้กำลังทางทหารไปละเมิดอธิปไตยของประเทศอื่น

ที่มาภาพ : dw.com

ฉากทัศน์ที่ 3 จบลงที่ข้อตกลง

บทความที่สามของ Foreign Affairs ชื่อ What If Russia Make a Deal? กล่าวว่า ความสำเร็จของยูเครนที่ต่อต้านการบุกของรัสเซีย ทำให้ปูตินต้องเปลี่ยนเป้าหมายของการทำสงคราม เดิมเป้าหมายสูงสุดคือการกำจัดพวกนาซี (de-Nazify) คำนี้มีความหมายคือ เปลี่ยนระบอบการเมืองของยูเครน ความล้มเหลวทางทหารทำให้การยึดครองกรุงเคียฟ อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

มาจนถึงขณะนี้ ปูตินอาจมีเป้าหมายอยู่ 3 อย่าง คือ การผนวกดินแดนแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการ รวมทั้งดินแดนบางส่วนของโดเนตส์คและลูฮันส์ค การยึดครองดินแดนที่จะเป็นสะพานทางบกจากโมโดวามาถึงเมืองมาริอูโพล

เป้าหมายที่ 2 คือ ทำให้ยูเครนเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมนาโต้หรือพันธมิตรทางทหาร ที่ปูตินใช้คำว่า “ปลอดกำลังทหาร” อาจหมายถึงการห้ามมีฐานทัพต่างชาติในยูเครน

และประการที่ 3 ปูตินอาจจะหมายถึงการห้ามยูเครนเข้าร่วมกับกลุ่มอียู

ส่วนเซเลนสกี ผู้นำยูเครน ต้องการให้ยูเครนมีอิสระและอธิปไตยที่สมบูรณ์ ยูเครนจะได้สิ่งนี้ก็ต่อเมื่อรัสเซียแพ้สงครามเท่านั้น ดังนั้น เซเลนสกีจะต้องประเมินและชั่งใจว่า ประชาชนยูเครนจะยอมรับการประณีประนอมได้มากขนาดไหน โดยชั่งน้ำหนักระหว่าง ข้อตกลงสันติภาพที่อาจไม่เป็นธรรมทั้งหมด กับการทำสงครามของยูเครน ที่แม้จะชอบธรรม แต่ประเทศก็ถูกทำลายล้าง

แต่มีความเป็นไปได้ที่ข้อตกลงสันติภาพอาจเป็นแบบเฉพาะกาล ไม่ใช่ถาวร โดยมีการหยุดยิง รัฐบาลเซเลนสกียังอยู่ในอำนาจ และอธิปไตยกับอิสรภาพของยูเครนไม่ถูกละเมิด สันติภาพเฉพาะกาลนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ อีกไม่นานรัสเซียก็จะตระหนักว่าเป้าหมายเป็นเรื่องที่เกินกำลังของตัวเอง ข้อตกลงสันติภาพถาวรอาจต้องรอเมื่อปูตินหมดอำนาจไปแล้ว

ทหารยูเครนเดินข้างอาคารที่พักอาศัยที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักในเขตชานเมืองของเคียฟ ที่มาภาพ :https://www.npr.org/sections/pictureshow/2022/04/04/1090784495/ [Felipe Dana/AP]

ฉากทัศน์ที่ 4 สงครายยืดเยื้อ

บทความที่สี่ของ Foreign Affairs ชื่อ What If the War in Ukraine Doesn’t End? กล่าวว่า สงครามทุกสงครามล้วนมาถึงจุดสิ้นสุด แต่สงครามยูเครน มีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีฝ่ายใดบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ ฝ่ายยูเครนอาจไม่สามารถจะขับไล่กองกำลังรัสเซียออกจากพื้นที่ได้ทั้งหมด ฝ่ายรัสเซียเองก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดทางการเมือง คือควบคุมยูเครนได้ทั้งหมด สงครามอาจปรากฏออกมาในลักษณะคลื่นการโจมตีจากรัสเซียเป็นระลอก

คำถามสำคัญคือฝ่ายไหนจะได้เปรียบ หากสงครามยืดเยื้อแบบจบไม่ลง หากสงครามดำเนินไปเป็นหลายเดือนหรือเป็นปี รัสเซียอาจเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะจะสร้างความเสียหายแก่ยูเครนทั้งประเทศ สำหรับชาติตะวันตก สงครามที่ยืดเยื้อจะทำให้ยุโรปเผชิญกับความไร้เสถียรภาพนานหลายปี และความเสี่ยงที่สงครามจะกระจายออกมาเกิดขึ้นนอกยูเครน

การยืดเยื้อของสงคราม อาจทำให้การสนับสนุนของตะวันตกต่อยูเครนลดน้อยลงไป เพราะสังคมตะวันตกเคยชินกับการทำกิจกรรมปกติทางธุรกิจ และการมีชีวิตในแบบสงบสันติ แตกต่างจากความคิดของคนรัสเซีย ที่รัฐบาลปูตินปลุกระดมความคิดเรื่องสังคมในสมัยสงคราม ปูติน อาจมีเหตุผลหลายอย่างที่ยังไม่ยุติสงคราม เพราะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญใดเลย กองทัพรัสเซียเองก็ปฏิบัติการได้ไม่ดีพอที่จะทำให้ยูเครนยอมจำนน การถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ชานกรุงเคียฟ และเรือรบรัสเซีย Moskva จมลง ล้วนทำให้ภาพลักษณ์กองทัพรัสเซียตกต่ำลง

ดังนั้น ข้อตกลงสันติภาพ ที่ฝ่ายยูเครนไม่ได้ประนีประนอมในเรื่องสำคัญ คือสิ่งที่ไม่คุ้มกับต้นทุนการทำสงครามและกับการที่รัสเซียถูกนานาชาติโดดเดี่ยว นอกจากนี้ ปูตินทำสงครามกับยูเครนเพื่อไม่ให้รัสเซียถูกปิดล้อมทางทหาร แต่สงครามยูเครนกลับทำให้นาโต้เข้มแข็งมากขึ้น ในที่สุด ฟินแลนด์และสวีเดนก็อาจเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ สิ่งนี้ยิ่งทำให้ปูตินยากที่จะยอมตัดการขาดทุน ที่มาจากการทำสงครามยูเครน

ฝ่ายยูเครนเองมีเหตุผลหลายอย่างที่จะยังไม่ยุติสงคราม หรือการหยุดยิงที่เป็นไปตามเงื่อนไงของรัสเซีย กองทัพยูเครนปฏิบัติการทางทหารได้ดีเยี่ยม สามารถขับไล่รัสเซียจากทางเหนือของประเทศ ยูเครนกลายเป็นแบบอย่างในการรบที่เป็นฝ่ายตั้งรับโดยอาศัยยานไร้คนขับและอาวุธต่อต้านรถถังสมัยใหม่ จนทำให้รัสเซียมีโอกาสจะแพ้สงคราม และทำให้ยูเครนอาจอยู่ในฐานะทำความตกลงหยุดยิง โดยไม่ต้องแลกกับการยอมตามข้อเสนอที่สำคัญของรัสเซีย

เนื่องจากกลายเป็นสัญลักษณ์การรวมพลังของคนยูเครน ในการต่อสู้กับรัสเซีย เซเลนสกีจึงอยู่ในฐานะที่จะทำให้คนยูเครนยอมรับข้อตกลงกับรัสเซียได้ แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่ยูเครนสามารถรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของตัวเองได้มากที่สุด ส่วนข้อตกลงที่ยอมรับเงื่อนไขของรัสเซีย ก็เป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของยูเครนอย่างประเทศที่มีอิสระ

สงครามยูเครนที่ดำเนินไปเป็นระยะยาวนาน จะมีนัยและผลกระทบต่อทั่วโลก หากภาวะการสู้รบยังดำเนินต่อไป ก็จะทำให้ภาวะความอดยากของโลกรุนแรงขึ้น เพราะยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลก โดยเฉพาะข้าวสาลี

ความเห็นที่แตกต่างกันของนานาชาติต่อสงครามยูเครนเริ่มปรากฏขึ้นมาแล้ว หลายประเทศมองว่าตะวันตกมีสองมาตรฐาน ในเมื่อสหรัฐฯ เองก็ทำสงครามแบบเดียวกันนี้มาหลายครั้ง มี 37 ประเทศที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่วนในที่ประชุมสหประชาติ มี 141 ประเทศที่ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

เอกสารประกอบ

What If Russia Wins? Liana Fix and Michael Kimmage, February 2022, foreignaffairs.com
What If Russia Loses? Liana Fix and Michael Kimmage, March 4, 2022, foreignaffairs.com
What If Russia Makes a Deal? Liana Fix and Michael Kimmage, March 23, 2022, foreighaffairs.com
What If the War in Ukraine Doesn’t End? Liana Fix and Michael Kimmage, April 22, 2022, foreignaffairs.com