ThaiPublica > เกาะกระแส > โดรน TB2 ผลิตในตุรกี เปลี่ยนโฉมหน้าสงครามยูเครน ช่วยจมเรือรบรัสเซีย Moskva

โดรน TB2 ผลิตในตุรกี เปลี่ยนโฉมหน้าสงครามยูเครน ช่วยจมเรือรบรัสเซีย Moskva

18 พฤษภาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เรือพิฆาต Moskva ของรัสเซีย ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Russian_cruiser_Moskva#/media/File:Russian_cruiser_Moskva.jpg

เมื่อวันที่ 14 เมษายน โลกเราตกตะลึงกับข่าวที่ทหารยูเครน สามารถจมเรือพิฆาต Moskva ของรัสเซีย ที่ถือเป็นเรือธงในทะเลดำ นิตยสาร Forbes รายงานว่าเรือ Moskva มีราคาถึง 750 ล้านดอลลาร์ ทหารยูเครนสามารถยิงจรวดต่อต้านเรือ ที่ผลิตขึ้นในยูเครนชื่อ Neptune ทั้งๆที่เรือ Moskva มีระบบป้องกันตัวมากมาย

สิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ก็คือว่า อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (Drone) รุ่น Bayraktar TB2 ที่ยูเครนซื้อจากตุรกีทั้งหมด 36 ลำ มีบทบาทสำคัญในการช่วยจมเรือ Moskva โดรน TB2 จำนวน 2 ลำ สามารถบินหลบหลีกการตรวจจับเรดาร์ของเรือ Moskva และส่งข้อมูลอย่างแม่นยำเรื่องจุดที่ตั้งของเรือ Moskva ทำให้หน่วยทหารยูเครนยิงขีปนาวุธ Neptune จมเรือ Moskva

อาวุธสังหารจากตุรกี

การช่วยจมเรือรบ Moskva ไม่ใช่ผลงานทางทหารครั้งแรกของโดรนผลิตในตุรกี ในการยับยั้งการบุกยูเครนของรัสเซีย นับตั้งแต่วันแรกของการโจมตีจากรัสเซีย

โดรน TB2 ที่ต้นทุนต่ำ แต่อำนาจการทำลายสูง เป็นอาวุธสนับสนุที่สำคัญ ในการหยุดยั้งการรุกด้วยรถถังของรัสเซีย

ในเดือนมกราคม เมื่อรัสเซียเริ่มระดมกำลังประชิดพรมแดนยูเครน ทางการยูเครนเร่งซื้อโดรน TB2 อีก 16 ลำ จากเดิมที่เคยซื้อมาแล้ว 20 ลำ

การปฏิวัติการผลิตโดรนของตุรกี เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างเงียบๆ ตัวอย่างของตุรกีแสดงให้เห็นว่า ประเทศๆหนึ่งสามารถสร้างกองทัพอากาศโดรน ขึ้นมาได้อย่างง่ายๆ โดยเลียนแบบจากโดรนของประเทศอื่น คนที่เป็นต้นคิดและเป็นบิดาของโดรนตุรกีคือ Selcuk Bayraktar วิศวกรที่ศึกษาจากสถาบัน MIT ในสหรัฐฯ

ที่มาภาพ : defensenews.com

เว็บไซด์ newyorker.com กล่าวถึงการพัฒนาโดรน TB2 ว่า ในปี 2014 Bayraktar ได้พัฒนาโดรนต้นแบบ TB2 ขึ้นมา ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะบรรทุกอาวุธ ที่มีความแม่นยำสูง ในการทดลองโดยใช้แสงเลเซอร์นำวิถีกับลูกระเบิดจำลอง ปรากฎว่าสามารถโจมตีอย่างแม่นยำกับเป้าหมาย ที่มีขนาดเท่ากับเสื่อขนาดเล็กผืนหนึ่ง ที่อยู่ห่างออกไป 5 ไมล์

Bayraktar บอกกับ newyorker.com ว่า ราคาโดรน TB2 ลำหนึ่งมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ โดรน TB2 ขายแบบ “แฟลตฟอร์ม” ที่ประกอบด้วยโดรน สถานีควบคุมเคลื่อนที่ และอุปกรณ์สื่อสาร ปี 2019 ยูเครนซื้อ TB2 ทั้งหมด 6 ลำ มีรายงานข่าวว่าเป็นเงิน 69 ล้านดอลลาร์

Bayraktar บอกว่า TB2 เป็นโดรนที่ไม่เล็กไปหรือใหญ่ไป ราคาไม่ถูกไปหรือแพงไป

หลังจากซื้อโดรน TB2ไปแล้ว คนที่ใช้โดรนจะได้รับการฝึกฝนที่ตุรกีหลายเดือน มีการสนับสนุนด้านโปรแกรมเมอร์ ในแต่ละเดือนจะมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์อยู่ตลอด ประสบการณ์เรื่องการรบของโดรน TB2 ส่วนใหญ่มีกับอุปกรณ์การรบของรัสเซีย เช่นในปี 2020 อาเซอร์ไบจานใช้โดรน TB2 โจมตีรถถังผลิตในรัสเซียของอาร์เมเนีย

โครงการโดรนของตุรกีเกิดขึ้นจากความผิดหวัง ในการที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีโดรนจากสหรัฐฯและอิสราเอล รวมทั้งถูกสหรัฐฯปฏิเสธที่จะขายโดรนที่ติดอาวุธชื่อว่า MG-9 Reaper ทำให้ตุรกีตัดสินใจที่จะพัฒนาขึ้นมาเอง

ปี 2016 หน่วยงานรัฐบาลพยายามพัฒนาโดรน แต่ก็เป็นประเภทใช้บินตรวจการณ์ แต่ความก้าวหน้าอย่างแท้จริงในการผลิตโดรนติดอาวุธเกิดขึ้น เมื่อ Selcuk Bayraktar ออกแบบโดรน Bayraktar TB2 ในปี 2012

Bayraktar TB2 loaded with MAM-L ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Baykar_Bayraktar_TB2#/media/File:Bayraktar_TB2_Ground.jpg

Bayraktar TB2 เป็นโดรนประเภทที่ความสูงการบินระดับกลางและบินได้นาน 24-48 ชม. (Medium Altitude Long Endurance) แบบเดียวกับโดรนของสหรัฐฯที่เรียกว่า MQ1 Predator และ MQ-9 Reaper แต่โดรนสหรัฐฯมีเทคโนโลยีซับซ้อนมากกว่า เช่น รัศมีทำการบินมากกว่า 10 เท่า ความเร็วมากกว่า 2 เท่า และบรรทุกอาวุธได้มากกว่าเท่าตัว แต่ราคาโดรนสหรัฐฯแพงกว่า 3-4 เท่า ส่วน TB2 มีราคาลำหนึ่ง 1-2 ล้านดอลลาร์

อาวุธไฮเทคของชาติขนาดกลางและเล็ก

นอกจากจะเป็นเครื่องมือด้านความมั่นคงของตุรกี ในการต่อสู้กับกลุ่มชาวเคิร์ด โดรน Bayraktar ยังเป็นที่นิยมของประเทศขนาดกลางและเล็ก การลงทุนที่ไม่สูงทำให้ประเทศหนึ่ง สามารถมีเทคโนโลยีทางทหารที่เป็นอาวุธร้ายแรง ใช้ยับยั้งขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธ ปี 2017 ตุรกีเริ่มส่งออกโดรน TB2 และภายใน 5 ปีต่อมา ส่งออกไปหลายสิบประเทศในยุโรป เช่นยูเครน โปแลนด์ และแอลเบเนีย

แต่การมีประสิทธิผลสูงของโดรน TB2 ในยูเครน ทำให้เกิดความเสี่ยงแก่ตุรกี ยูเครนซื้อโดรน TB2 ในปี 2019 เพื่อนำมาใช้รบกับพวกแบ่งแยกดินแดนในเขตดอนบาส เมื่อรัสเซียบุกยูเครน โดรน TB2 ถูกนำมาใช้กับทหารรัสเซียโดยตรง มีรายงานว่า การรบระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่วนใหญ่เป็นการรบด้วยรถถัง และการยิงปืนใหญ่ แต่การโจมตีด้วยโดรน TB2 ของยูเครน ประสบความสำเร็จมากกว่า 60 ครั้ง

ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของโดรน TB2 ที่ไปเสริมการตอบโต้ทางทหารของยูเครนต่อการบุกของรัสเซีย ก็มีนัยยะความหมายสำคัญต่อความสัมพันธ์ ระหว่างตุรกีกับชาติตะวันตก เพราะช่วยยกฐานะของตุรกีในองค์การนาโต้ให้สูงขึ้น แต่ตุรกีเองก็พยายามทำให้บทบาทในการสนับสนุนด้านอาวุธแก่ยูเครน เป็นเรื่องไม่สำคัญ โดยบอกว่าบริษัทเอกชนไม่ใช่รัฐบาล ที่เป็นฝ่ายจัดหาโดรน TB2 ให้แก่ยูเครน

ยูเครนชนะสงครามเพราะโดรนหรือไม่

Bayraktar TB2 ของกองทัพอากาศยูเครน ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki

บทความของ theguardian.com ชื่อ War-enabling, not war-winningกล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ กองทัพยูเครนได้เผยแพร่วีดิโอ ฐานยิงจรวจพื้นดินสู่อากาศ หรือ SAM ของรัสเซียตั้งอยู่ที่เกาะ Snake Island ห่างจากชายฝั่งของยูเครน 35 กม. ฐานยิงจรวดของรัสเซียแห่งนี้ ถูกทำลายโดยอาวุธที่ยิงจากโดรน Bayraktar TB2 ผลิตในตุรกี

ก่อนหน้านี้ บทบาทของโดรน TB2 ของยูเครน ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว เพราะนักวิเคราะห์คิดว่า โดรนหลายสิบลำอาจถูกยิงตก ทางตุรกีก็ปฏิเสธที่จะส่งมอบโดรน TB2 ใหม่ให้กับยูเครน เพราะไม่ต้องการทำให้รัสเซียเกิดความไม่พอใจ แต่นักวิเคราะห์คนหนึ่งบอกว่า จากวีดิโอที่ทหารยูเครนเผยแพร่ออกมา ทำให้เห็นว่า ยูเครนมีโดรนรุ่นใหม่แบบ T252 ที่โรงงานในตุรกี เพิ่งจะทำการบินทดสอบเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา

บทความของ theguardian.com บอกว่า โดรน TB2 พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นอาวุธที่ใช้ได้ผลในสงครามยูเครน แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นอาวุธ ที่เป็นตัวชี้ขาดทางทหารหรือไม่ นักวิเคราะห์ก็กล่าวว่า โดรนไม่ใช่เทคโนโลยีทำให้ชนะสงคราม แต่เป็นเทคโนโลยีช่วยให้มีโอกาสชนะสงคราม

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน เคยชื่นชมโดรน แต่ในเดือนเมษายน ก็พูดลดความสำคัญของโดรนลงว่า “แม้จะเห็นต่างกับคนอื่น ในเรื่องโดรน Bayraktar แต่อยากบอกพวกคุณว่า นี่คือสงครามอีกแบบหนึ่งที่ต่างออกไป โดรนอาจมีส่วนช่วย แต่ก็ไม่ทำให้สงครามนี้แตกต่างออกไป”

เอกสารประกอบ
Turkey’s Lethal Weapon, Soner Cagaptay and Rich Outzen, April 27, 2022, foreignaffairs.com
War-enabling, not war-winning: how are drones affecting the Ukraine war, 15 May 2022, theguardian.com
The Turkish Drone That Changes the Nature of Warfare, Stephen Witt, May 9, 2022, newyorker.com