ThaiPublica > คอลัมน์ > อ่าวเบงกอล จุดยุทธศาสตร์ล่อแหลมใหม่

อ่าวเบงกอล จุดยุทธศาสตร์ล่อแหลมใหม่

18 มิถุนายน 2022


กวี จงกิจถาวร

ภาพเรือสหรัฐที่เข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเล Malabar 2007เรือลาดตระเวน Aegis จากกองทัพเรือของญี่ปุ่นและออสเตรเลีย และเรือสนับสนุนด้านโลจิสติกส์จากสิงคโปร์และอินเดียเข้าร่วมด้วย ในอ่าวเบงกอล ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Bay_of_Bengal#/media/File:Malabar_07-2_exercise.jpg

ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกให้ความสนใจสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เสียส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าเกิดมีการปิดกั้นการขนส่งทางเรือในทะเลจีนใต้จะสร้างความหายนะให้กับเศรษฐกิจของโลก ความเชื่อมโยงและห่วงโซ่อุปทาน ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์แทบทั้งสิ้น

ขณะนี้มหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนพยายามหาความเชื่อมโยงที่เป็นพรรคพวกเดียวกัน( friend shoring) เพราะสองปีที่ผ่านมาโรคระบาดโควิดได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้กับสภาพยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ต้องแสวงหาพันธมิตรและเพื่อนใหม่ๆ รวมทั้งกระชับสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าแก่ นี่เป็นแนวโน้มท่ีอันตรายมาก เพราะเริ่มแสดงให้เห็นว่าโลกกำลังแบ่งออกออกเป็นสองขั้วใหญ่

เนื่องจากไทยมีที่ตั้งอยู่ในใจกลางของอินโดแปซิฟิก จึงไม่น่าแปลกใจที่มหาอำนาจทั้งคู่ต่างให้ความสนใจในท่าทีและนโยบายของไทยว่าจะมาทางแนวไหนในภูมิภาคนี้ ในปีนี้ ไทยเราค่อนข้างกระตือรือร้นในเรื่องการต่างประเทศ โดยเป็นเจ้าภาพเอเปกและ BIMSTEC (The Bay of Bengal Initiatives for Multisectoral, Technical and Economic Cooperation) ถึงแม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายเมียนมา ที่หลายๆ ฝ่ายต้องการเห็นไทยมีท่าทีเชิงรุกมากกว่านี้

ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งจะพบว่า สถานภาพการต่างประเทศของไทยดีขึ้นมาก มีหลายประเทศมาจีบหลังการฟื้นฟูสัมพันธ์มิตรภาพไทยกับซาอุดีอาระเบียเมื่อต้นมกราคม เข็มหมุดไทยในเวทีการเมืองโลกโตใหญ่ขึ้นเยอะทันที เพราะไทยตอนนี้ไม่มีศัตรูแล้วในตะวันออกกลาง ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาการทูตไทยกับซาอุดีอาระเบียได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าจะมีการแลกเปลี่ยนทูตกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมาไทยจะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของกลุ่มความร่วมมือ BIMSTEC ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือการพัฒนาทุกมิติระหว่างเอเชียอาคเนย์และเอเชียใต้ ปีนี้ไทยรับช่วงต่อจากศรีลังกาในการเป็นประธาน BIMSTEC (สมาชิกมีไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน บังกลาเทศ)

อ่าวเบงกอลจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา อินเดีย และจีน ให้ความสนใจอ่าวเบงกอลในฐานะเป็นพื้นที่ทางด้านยุทธศาสตร์ จีนได้สร้างเส้นทางเชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับท่าเรือจอพลิวที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเมียนมาค่อนมาทางอ่าวเบงกอล

ที่มาภาพ:
https://www.worldatlas.com/bays/bay-of-bengal.html

ถ้าดูแผนที่ จะเห็นว่าอ่าวเบงกอลเป็นพื้นที่ซึ่งอินเดียเป็นตัวเล่นหลัก ไม่น่าแปลกใจที่ได้พยายามเพิ่มบทบาทความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC มากขึ้น ส่วนทางจีนถือว่าทางออกทะเลผ่านเมียนมาเป็นเส้นทางลอจิสติกส์ยุทธศาสตร์ที่สำคคัญ สามารถทำให้ประหยัดพลังงานและค่าขนส่งสินค้าได้

ช่วงสองปีที่ผ่านมา อินเดียได้กระชับสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เคยมีมาก่อน ถึงกับตัดสินใจเข้าร่วมพันธมิตรที่สหรัฐอเมริการิเริ่มใหม่คือ Quad (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้มาคานอิทธิพลจีนในภูมิภาค สองปีก่อน อินเดียได้ปะทะกันทางชายแดนตอนเหนือแถวเทือกเขาหิมาลัย

เพื่อเป็นการสร้างฐานยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งใหม่และเก่า สามปีที่แล้วอินเดียได้มีข้อริเริ่มที่เรียกว่า Indo Pacific Ocean’s Initiatives ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นกรอบความร่วมมือเพื่อรักษาบทบาทนำของอินเดียได้

ในฐานะเจ้าภาพ BIMSTEC ไทยพยายามเพิ่มพลังการพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณอ่าวเบงกอล เพราะเห็นว่าภูมิภาคนี้สามารถ “ใหญ่ โตไว ใกล้ คล้าย สนใจเรา” กล่าวคือมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าไทยแปดเท่าตัว มีผลผลิตประชาชาติหรือ GDP ประมาณ 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีแรงงานและนักวิชาชีพเป็นจำนวนมาก และยังมีความใกล้ชิดกับอาเซียนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ระหว่างกัน

ภาระกิจหลักไทยในฐานะประธาน BIMSTEC ครั้งนี้ต้องยอมรับว่าหนักมาก เนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งการขาดอาหารและสิ่งของบริโภคในศรีลังกา ไทยต้องจัดการความร่วมมือทางด้านนี้ให้ดี เป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนประเด็นอื่นๆ ต้องดูแลคือฟื้นตัวเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ก็ยังดำเนินอยู่ รวมทั้งเรื่องความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขและพลังงาน

ผู้กำหนดนโยบายไทยทั้งพลเรือนและทหารต้องติดตามการเคลื่อนไหวของมหาอำนาจเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ไทยต้องปรับตัวและท่าทีตามสถานการณ์เพื่อรักษาดุลยภาพที่คนไทยได้หล่อเลี้ยงกันมาเป็นศตวรรษ