ThaiPublica > เกาะกระแส > RCEP โอกาสหรือกับดักของประเทศไทย?

RCEP โอกาสหรือกับดักของประเทศไทย?

19 ธันวาคม 2012


การประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 21 ณ ประเทศกัมพูชา วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 - ภาพจาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
การประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 21 ณ ประเทศกัมพูชา วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 – ภาพจาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) คือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

การรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่เรียกว่า RCEP เป็นชื่อเรียกใหม่ที่หลายคนอาจไม่คุ้น แต่หากบอกว่าเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่เรียกว่า อาเซียนบวก 6 (ASEAN +6) น่าจะคุ้นชินมากขึ้น เพราะในกระแสการพูดเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) มักจะมีการเชื่อมโยงพูดถึงตลาดนอกอาเซียนที่มีขนาดใหญ่่ขึ้น กว้างขึ้นอย่าง ASEAN +6 อยู่เสมอ

แต่การตื่นตัวเรื่อง RCEP มีมากขึ้นหลังจากการประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ผู้นำของทั้ง 16 ประเทศ ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเจรจาความตกลง RCEP ในต้นปี 2556 และมุ่งหมายให้การเจรจาแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558

โดยความตกลง RCEP พัฒนามาจากความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนมีอยู่แล้ว 5 ฉบับ กับ 6 ประเทศ คือ อาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

จุดมุ่งหมายเพื่อให้ RCEP เป็นความตกลงที่มีคุณภาพและทันสมัย บนผลประโยชน์ร่วมกันอย่างรอบด้านในการสนับสนุนการขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน เป็นระบบการค้าเสรีที่ใช้กฎระเบียบเดียวกันของภาคีทั้งหมด 16 ประเทศ

นอกจากนี้ ยังเป็นไปเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain) ครอบคลุมทุกมิติการค้า ทั้งด้านสินค้า บริการ ลงทุน มาตรการการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้าและการลงทุน ให้สอดคล้องและมีความสะดวกทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น

กลุ่มประเทศ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ภาพจาก - china briefing.com
กลุ่มประเทศ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ภาพจาก – china briefing.com

โดยเป้าหมายของ RCEP มีกรอบการเจรจา คือ

1. ครอบคลุมทุกมิติที่กว้างขึ้น เช่น รายการสินค้า จากที่เคยลดรวม 95% ต้องลดมากกว่า 95%

2. กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) มีความจำเป็นจะต้องสะท้อนให้สมาชิกเป็น Global Supply Chain ให้ได้

3. ลดกฎระเบียบการค้าและบริการให้มากที่สุด

4. การลงทุนเปิดเสรี อำนวยความสะดวก ต้องทำให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันทางการลงทุน การส่งเสริมและคุ้มครองการเปิดเสรีจะต้องมี Capacity Building ผลักดัน FTAs ที่จะเกิดขึ้นก้าวต่อไปได้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

5. RCEP ต้องไกลกว่า ASEAN +1 สิ่งที่จะทำต้องมีประโยชน์ต่อทุกประเทศ (ประเทศกำลังพัฒนาด้วย) เป็นความตกลงรวมกลุ่มทางภูมิภาค เทียบเคียงกับกลุ่มอื่นๆ ได้ มุ่งหวังให้ใกล้เคียงกับ TPP

หากการเจรจากลุ่มการค้าเสรีนี้สำเร็จ ประเทศในความตกลง RCEP จะกลายเป็นกลุ่มการค้าเสรีใหญ่ที่สุด และมีตลาดรองรับมากที่สุดในโลก เนื่องจากประเทศในกลุ่มสมาชิก RCEP มีจีดีพีรวมกว่า 16,761 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยประชากรรวมกว่า 3,358 ล้านคน

โดยมีสมาชิกที่สำคัญเป็น 2 ประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ (BRICS) คือ จีนและอินเดีย ที่ประกอบไปด้วยประชากรกว่า 3,000 ล้านคน ขนาด GDP ประมาณ 50 % ของ GDP โลก และเป็นเขตเศรษฐกิจที่ส่งออกสินค้าเป็นอันดับ 1 ของโลก มีกำลังซื้อของผู้บริโภคมาจากชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบจะถือว่า RCEP มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 48 เท่า

ในด้านการค้า RCEP มีสัดส่วนการค้าในระดับโลกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ไทยค้าขายกับประเทศในกลุ่ม RCEP กว่า 2.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 56% ของยอดรวมการค้าของไทย RCEP จึงเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่จากลักษณะเฉพาะของประเทศไทย ที่เป็นประเทศขนาดกลาง การรวมกลุ่มทางการค้าที่มีฐานร่วมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ยังคงมีความแตกต่างด้านขนาดและศักยภาพของประเทศสมาชิก การรวมกลุ่มข้อตกลงในระดับภูมิภาคนี้จึงถูกตั้งคำถามว่า จะเป็น “โอกาส” หรือ “กับดัก” ของประเทศไทยกันแน่

ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทีดีอาร์ไอ
ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทีดีอาร์ไอ

จากผลการศึกษาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ โดย “ดร.วิศาล บุปผเวส” ที่ปรึกษาอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศของทีดีอาร์ไอ ที่มีการตั้งคำถามสำคัญต่อ RCEP ว่าไม่ได้อยู่ที่ความได้เปรียบหรือเสียเปรียบของข้อตกลง แต่อยู่ที่ว่า ประเทศโดยรวมจะดีขึ้นหรือไม่

เมื่อมีเรื่องการทำข้อตกลงทางการค้า คนส่วนใหญ่มักตั้งคำถามที่ความได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือการที่สินค้าต่างชาติจะเข้ามาตีตลาดในประเทศ ซึ่งความหมายที่ชัดเจนของคำว่า “ได้เปรียบ เสียเปรียบ” จะเปรียบเทียบกับคนกลุ่มใดในประเทศ ซึ่งในข้อตกลงหนึ่งอาจมีทั้งผู้ที่ได้เปรียบและเสียเปรียบอยู่รวมกันในประเทศ และถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เสียเปรียบแล้วไม่ควรจะมีการเจรจาใช่หรือไม่

การจะวัดหรือนิยามเรื่องความได้เปรียบ เสียเปรียบ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่การถามว่าประเทศไทยโดยรวมจะดีขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า

โจทย์ที่สำคัญของ ดร.วิศาลจึงอยู่ที่การดูว่า โดยรวมแล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเจรจาหรือไม่ หากดูโดยภาพรวมและพบว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และสวัสดิการของสังคมดีขึ้น ก็ควรมีการเจรจา โดยการที่มีคนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ และคนอีกกลุ่มที่เสียประโยชน์ ประเทศจะต้องมีกลไกในการกระจายผลประโยชน์ที่ยั่งยืน

เหตุผลสำคัญในการจัดทำ RCEP เนื่องจาก AEC มีจุดอ่อนที่ต้องกำจัด จากการที่ AEC ยังมีความหลากหลายของตลาดไม่มากนัก ทั้งชนิดสินค้า ความต้องการ ทรัพยากรธรรมชาติ และทักษะฝีมือแรงงาน โครงสร้างสินค้าและบริการของตลาดที่เหมือนๆ กัน AEC จึงต้องแข่งขันกันเอง เป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะไม่เกื้อกูลกัน แต่ข้อเท็จจริงที่ขนาดตลาดนอก AEC มีขนาดใหญ่กว่า และมีอัตราการขยายตัวของตลาดที่ที่สูงกว่ามาก ตลาดนอก AEC จึงมีลักษณะเกื้อกูลกับ AEC และเติมเต็มโครงข่ายการผลิต

ดังนั้น สำหรับประเทศไทย การมี AEC อย่างเดียวจึงไม่พอ

สำหรับประเทศไทย RCEP ที่ประกอบด้วยประเทศที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าตลาดในภูมิภาคอื่นๆ จึงกลายเป็นตลาดที่ต้องรักษา และเพิ่มความเข้มข้นทางการค้าให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในฐานะที่เป็นตลาดผู้บริโภคและแหล่งผลิตสินค้าและบริการต่างๆ สนองความต้องการของไทย

นอกจากนี้ การที่ประเทศในกลุ่มได้มีความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกันอยู่แล้วหลายความตกลง มีขอบเขตครอบคลุมและความลึกในการเปิดเสระหว่างกันไม่เท่าเทียมกัน มีความยุ่งเหยิง และมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น การเบี่ยงเบนการค้า ต้นทุนทางธุรกรรมทางการค้าที่สูง หรือแม้กระทั่งการใช้สิทธิประโยชน์ตามความตกลงที่มีอยู่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ทำให้ความตกลง RCEP ได้กลายเป็นการบูรณาการความตกลงต่างๆ ทั้งหลายในภูมิภาค ที่เคยได้ตกลงและพบว่ามีความยุ่งเหยิงซับซ้อน มาเป็นความตกลงใหม่ที่มีความชัดเจนและครอบคลุม ไม่ซ้ำกันไปมา เพราะใช้กฎระเบียบเดียวกันทั้งหมด

การทำความตกลง RCEP จึงเป็นการขยายวงของการเปิดเสรีการค้าของไทยให้กว้างขึ้นกว่า AEC เป็นก้าวสำคัญไปสู่การค้าเสรีพหุภาคี (Multilateral Trade Liberlization)

จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคตามความตกลง RCEP ของ ดร.วิศาล พบว่าการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรเป็น 0% หากมีการยกเว้นสินค้าอ่อนไหว จะทำให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้น 3.55% (2.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) แต่ถ้าไม่มีการยกเว้นสินค้าอ่อนไหว GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 4.03% (3.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

โดยสวัสดิการดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากข้อตกลง RCEP ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร (Allocative Efficiency) เพิ่มมากขึ้น และข้อตกลง RCEP ยังส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนการค้า (Terms of Trade) ดีขึ้น 1.87 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ – สินค้าไทยแลกสินค้าได้มากขึ้นในการค้าขาย

ขณะที่การลดภาษี ทำให้การนำเข้าสินค้าขั้นกลางในการผลิต (Intermediate Goods) ทำได้ถูกลง สินค้าไทยจึงแข่งขันได้มากขึ้น และมีสินค้าที่ถูกนำเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้นอีกด้วย

แต่ขณะเดียวกัน การลดภาษีก็ทำให้มีสินค้าราคาถูกเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย ดร.วิศาลมองว่า การมีสินค้าราคาถูกไหลเข้ามา เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างในการผลิตของประเทศที่มีอุตสาหกรรมไม่มีประสิทธิภาพ ผลิตสินค้าแพง จะต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยี ลดต้นทุนในการผลิต ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือหันไปผลิตสินค้าอื่นที่ผลิตได้ถูกกว่าต่างประเทศ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ถูกลง แต่ในกระบวนการปรับปรุงการผลิต รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับตัว

บทสรุปในมุมมองของ ดร. วิศาล ข้อตกลง RCEP จึงเป็น “โอกาส” ของประเทศไทย เพราะเป็นข้อตกลงที่มีอาเซียนอยู่ตรงกลาง และไทยก็อยู่กลางอาเซียน ถนนทุกสายจึงมุ่งสู่ประเทศไทย แต่หากขั้นตอนการเจรจาประเทศสมาชิกไม่มีความชัดเจน ไปเพิ่มอัตราภาษี เพิ่มกฎที่ไปซ้ำซ้อนกับของเก่าขึ้นมาอีกหลายข้อ ทำให้เกิดความยุ่งยาก RCEP ก็จะกลายเป็น “กับดัก” ทันที

ดังนั้น การตกลง RCEP ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องสลายความตกลงเก่าที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้กลายเป็นความตกลงใหม่ที่ครอบจักรวาลแทน

ข้อมูลเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก - ภาพจาก รอยเตอร์
ข้อมูลเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก – ภาพจาก รอยเตอร์