ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > COP 26 ปิดฉากด้วยความหวังคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาแต่ประนีประนอมเรื่อง “ถ่านหิน”

COP 26 ปิดฉากด้วยความหวังคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาแต่ประนีประนอมเรื่อง “ถ่านหิน”

14 พฤศจิกายน 2021


หลังจากขยายเวลาการเจรจาเรื่องสภาพอากาศของ COP26 หรือ การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties ออกไปอีกหนึ่งวัน ราว 200 ประเทศที่ร่วมประชุมในเมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ได้บรรลุข้อตกลงเมื่อวันเสาร์ ซึ่งเลขาธิการสหประชาชาติชี้ว่า “สะท้อนถึงผลประโยชน์ ความขัดแย้ง และสถานะของเจตจำนงทางการเมืองใน โลกทุกวันนี้”

“มันเป็นขั้นตอนที่สำคัญแต่ยังไม่เพียงพอ เราต้องเร่งดำเนินการด้านสภาพอากาศเพื่อรักษาเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศา” นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวในแถลงการณ์ทางวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อสิ้นสุดการประชุมที่ใช้เวลาสองสัปดาห์

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “เข้าสู่โหมดฉุกเฉิน” ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล เลิกใช้ถ่านหิน กำหนดราคาคาร์บอน ปกป้องชุมชนที่เปราะบาง และส่งมอบพันธกิจทางการเงินด้านสภาพอากาศ 1 แสนล้านดอลลาร์

“เราไม่บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ในการประชุมครั้งนี้ แต่เรามีฐานรากบางด้านที่จะเดินหน้า”

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ทางวิดีโอ ที่มา: https://news.un.org/en/story/2021/11/1105792

นายกูเตอร์เรสยังได้ส่งข้อความถึงคนหนุ่มสาว ชุมชนพื้นเมือง ผู้นำสตรี และทุกคนที่เป็นผู้นำในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ

“ผมรู้ว่าคุณผิดหวัง แต่เส้นทางแห่งความก้าวหน้าไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป บางครั้งก็มีทางเบี่ยง บางครั้งก็มีคูน้ำ แต่ผมรู้ว่าเราสามารถไปถึงเป้าหมายได้ เราต่อสู้เพื่อชีวิตเรา และการต่อสู้ครั้งนี้จะต้องชนะ อย่ายอมแพ้ อย่าถอย เดินหน้าต่อไป”

มีอะไรในข้อตกลง

ผลการประชุมที่เรียกว่าข้อตกลงกลาสโกว์ Glasgow Climate Pact กำหนดให้ 197 ประเทศรายงานความคืบหน้าสู่ความมุ่งมั่นด้านสภาพอากาศในปีหน้าที่ COP27 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในอียิปต์

ผลการประชุมยังตอกย้ำข้อตกลงระดับโลกในการเร่งดำเนินการเกี่ยวกับสภาพอากาศในทศวรรษนี้

อย่างไรก็ตาม ประธาน COP26 นายอาลก ชาร์มา ที่พยายามกลั้นน้ำตาหลังจากประกาศการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในนาทีสุดท้าย โดยจีนและอินเดีย

การใช้ภาษาที่อ่อนลงจากร่างข้อตกลงที่ได้เผยแพร่ก่อนหน้านี้ที่ใช้คำว่า “การเลิกใช้ถ่านหินแบบไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพียงพอ (unabated coal) และเงินอุดหนุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ สำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล” เอกสารร่างข้อตกลงที่นำมาใช้ในวันเสาร์ ข้อความได้รับการแก้ไขเป็น “ค่อยๆลด” การใช้ถ่านหิน

นายชาร์มากล่าวขออภัยสำหรับ “สิ่งที่เกิดขึ้น” และว่าเขาเข้าใจดีว่าผู้เข้าประชุมบางคนจะ “ผิดหวังอย่างมาก” ที่ข้อความที่เข้มข้นไม่ได้อยู่ในร่างข้อตกลงฉบับท้ายสุด

ด้านเงื่อนไขอื่น ๆ ของการตัดสินใจ มติ และแถลงการณ์ที่หลากหลายที่เป็นผลลัพธ์ของ COP26 รัฐบาลต่าง ๆ ได้รับการร้องขอให้กำหนดเส้นตายที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับการปรับปรุงแผนการลดการปล่อยมลพิษ

สำหรับประเด็นปัญหาด้านการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพอากาศในประเทศกำลังพัฒนา เนื้อหาในข้อตกลงเน้นถึงความจำเป็นในการระดมเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ “จากทุกแหล่งไปถึงระดับที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส รวมถึงการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับภาคีประเทศกำลังพัฒนา เกินกว่า 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี”

นางแพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการ UNFCC และนายอาลก ชาร์มา ประธานCOP
ในการปิดการประชุม ที่มาภาพ https://news.un.org/en/story/2021/11/1105792

ตกลงคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศา แต่สัญญานอ่อนแรง

นางแพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการบริหารของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กล่าวว่า “การเจรจาไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย…นี่คือลักษณะของฉันทามติและพหุภาคีนิยม” และเน้นว่าทุกการประกาศในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ความคาดหวังก็คือ การดำเนินการ “แผนและแผนที่ดี” จะตามมา

“ขอให้เราสนุกกับสิ่งที่เราทำได้สำเร็จ แต่ยังเตรียมตัวสำหรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย” นางเอสปิโนซากล่าว หลังจากการยอมรับถึงความก้าวหน้าในการปรับตัว และอื่นๆ

ในขณะเดียวกัน นายชาร์มา ประธาน COP26 กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถพูดได้ว่า “อย่างน่าเชื่อถือ” ว่าพวกเขาสามารถคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาได้ตามเป้าหมาย

“แต่สัญญานชีพอ่อนแอ และจะไปรอดได้ก็ต่อเมื่อเรารักษาสัญญาของเรา หากเราแปลงคำมั่นสัญญาเป็นการดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากเราทำตามความคาดหวังที่กำหนดไว้ในข้อตกลง Glasgow Climate Pact เพื่อเพิ่มเป้าหมายให้สูงขึ้นไปจนถึงปี 2030 และปีต่อๆ ไป และถ้าเราปิดช่องว่างอันกว้างใหญ่ที่ยังมีอยู่ อย่างที่เราต้องทำ” นายชาร์มากล่าวกับผู้ร่วมประชุม

จากนั้นนายชาร์มาได้อ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรี มีอา มอตต์ลีย์ ซึ่งได้กล่าวก่อนหน้านี้ในการประชุมว่าสำหรับบาร์เบโดสและรัฐที่เป็นเกาะเล็กๆ อื่นๆ ‘2 องศาคือโทษประหารชีวิต’ และโดยที่คำพูดนี้ฝังอยู่ในความคิด นายชาร์มาจึงขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมพยายามหาเงินทุนอย่างต่อเนื่องและเพิ่มการปรับตัว

นายชาร์มาสรุปโดยบอกว่ามีการสร้างประวัติศาสตร์ในกลาสโกว์

“ตอนนี้เราต้องทำให้แน่ใจว่า บทต่อไปแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของคำมั่นสัญญาที่เราได้ทำร่วมกันอย่างจริงจังในข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศของกลาสโกว์”

ผลลัพธ์ที่ ‘แย่น้อยที่สุด’

ก่อนหน้านั้น หลายประเทศบ่นว่าการตัดสินใจที่ตกลงร่วมกันนั้นไม่เพียงพอ บางคนชี้ว่า “น่าผิดหวัง” แต่โดยรวมแล้ว พวกเขายอมรับว่า ข้อตกลงมีความสมดุลสำหรับสิ่งที่สามารถตกลงกันได้ในเวลานี้และเมื่อคำนึงถึงความแตกต่าง

ประเทศต่างๆ เช่น ไนจีเรีย ปาเลา ฟิลิปปินส์ ชิลี และตุรกี ต่างกล่าวว่า ถึงแม้จะมีความไม่สมบูรณ์ แต่ก็สนับสนุนข้อความในวงกว้าง

“มันเป็น (หนึ่ง) ก้าวไปข้างหน้า แต่ไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าที่ควรเป็น มันจะสายเกินไปสำหรับมัลดีฟส์ ข้อตกลงนี้ไม่ได้นำความหวังมาสู่ใจเรา” นักเจรจาระดับสูงของมัลดีฟส์กล่าวด้วยสุนทรพจน์ที่หวานอมขมกลืน

จอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อความดังกล่าว “เป็นคำแถลงที่ทรงพลัง” และให้คำมั่นกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า สหรัฐฯจะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการเจรจาเรื่อง “การสูญเสียและความเสียหาย” และการปรับตัว ซึ่งเป็นสองประเด็นที่ยากที่สุดสำหรับผู้เจรจาจะตกลงกันได้

“ข้อความแสดงถึงผลลัพธ์ที่ ‘แย่น้อยที่สุด’” ผู้เจรจาระดับสูงจากนิวซีแลนด์สรุป

อะไรอีกที่ COP26 ทำสำเร็จ

นอกเหนือจากการเจรจาทางการเมืองและการประชุมสุดยอดผู้นำแล้ว COP26 ยังมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50,000 คนทางออนไลน์และแบบเจอตัว เพื่อแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ แนวทางแก้ไข เข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม และสร้างความร่วมมือและพันธมิตร

ในการประชุมได้มีการประกาศให้กำลังใจมากมาย หนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือผู้นำจากกว่า 120 ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าประมาณ 90% ของโลก ให้คำมั่นที่จะหยุดและฟื้นฟูการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อขจัดความยากจนและสร้างความมั่นคงให้กับโลกในอนาคต น่าจะบรรลุแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการให้คำมั่นเรื่องก๊าซมีเทนซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยกว่า 100 ประเทศตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030

ในขณะเดียวกัน กว่า 40 ประเทศ รวมถึงผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ เช่น โปแลนด์ เวียดนาม และชิลี ตกลงที่จะเลิกใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมที่แข็งแกร่งกับบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินทั่วโลกเกือบ 500 แห่ง ซึ่งตกลงที่จะจัดสรรเงิน 130 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 40% ของสินทรัพย์ทางการเงินของโลก เพื่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส ซึ่งรวมถึงการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

ที่น่าประหลาดใจสำหรับหลาย ๆ คน สหรัฐฯ และจีนให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านสภาพอากาศในทศวรรษหน้า ในแถลงการณ์ร่วม ทั้งสองประเทศระบุว่า ได้ตกลงที่จะดำเนินการในประเด็นต่างๆ รวมถึงการปล่อยก๊าซมีเทน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด และการลดคาร์บอน และยังย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำตามเป้าหมาย 1.5 องศาให้ได้

ด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาล เมือง รัฐ และบริษัทรถยนต์รายใหญ่กว่า 100 แห่งได้ลงนามในปฏิญญากลาสโกว์ว่าด้วยรถยนต์ปลอดมลพิษ Glasgow Declaration on Zero-Emission Cars and Vans ยุติการขายเครื่องยนต์สันดาปภายในภายในปี 2035 ในตลาดชั้นนำ และภายในปี 2040 ทั่วโลก อีกทั้งอย่างน้อย 13 ประเทศให้คำมั่นที่จะยุติการขายรถยนต์ที่ใช้งานหนักที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2040

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีความมุ่งมั่นที่ “เล็กกว่า” แต่สร้างแรงบันดาลใจอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงประเทศจาก 11 ประเทศที่จัดทำ Beyond Oil and Gas Alliance (BOGA) ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และคอสตาริกา รวมถึงรัฐบาลย่อยบางแห่งได้จัดตั้งพันธมิตรกลุ่มแรกเพื่อกำหนดวันสิ้นสุดการสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซของประเทศ

ทวนเร็วๆอีกครั้งว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น COP26 เป็นขั้นตอนล่าสุดและเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในความพยายามนานหลายทศวรรษ ที่องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนและอำนวยการพื่อช่วยป้องกันภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศที่ใกล้จะเกิดขึ้น

ในปี 1992 องค์การสหประชาชาติได้จัดงานสำคัญในเมืองริโอเดจาเนโรที่ชื่อว่า Earth Summit ซึ่งเป็นการนำกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) มาใช้

ในสนธิสัญญาฉบับนี้ นานาประเทศตกลงที่จะ “คงระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ” เพื่อป้องกันอันตรายจากกิจกรรมของมนุษย์ที่อาจแทรกเข้ามาในระบบภูมิอากาศ ปัจจุบัน สนธิสัญญามีผู้ลงนาม 197 ราย

ตั้งแต่ปี 1994 เมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ ทุกๆ ปีองค์การสหประชาชาติ ได้ดึงเกือบทุกประเทศบนโลกเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศโลกหรือ “COPs” ซึ่งย่อมาจาก ‘Conference of the Parties’

ปีนี้ควรจะเป็นการประชุมสุดยอดประจำปีครั้งที่ 27 แต่การระบาดของโควิด -19 การประชุมจึงได้ล่าช้าไปหนึ่งปีจากการเลื่อนออกไปเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นการประชุม COP26

สมดุลผลประโยชน์กับความมุ่งมั่นของภาคีเกือบ 200 ประเทศ

เว็บไซต์ของ UNFCCC รายงานว่า COP26 บรรลุฉันทามติในการดำเนินการหลักเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อตกลงที่ยอมรับในวันนี้เป็นการประนีประนอมระดับโลกที่สะท้อนถึงความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างผลประโยชน์และความมุ่งมั่นของภาคีองค์กรระหว่างประเทศราว 200 ราย ต่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เว็บไซต์รายงานว่า การประชุม COP 26 ได้ปิดฉากเมื่อวันเสาร์นี้ที่กลาสโกว์ หลังจากที่ได้ขยายเวลาออกมาหนึ่งวัน เพื่อทุ่มเทให้กับการหารือและการบรรลุข้อตกลง การตัดสินใจ มติ และคำแถลงที่หลากหลายที่เป็นผลลัพธ์ของ COP26 เป็นผลจากการเจรจาที่เข้มข้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา การทำงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่ต้องใช้กำลังมากในช่วงหลายเดือน และการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องทั้งแบบตัวต่อตัวและผ่านระบบออนไลน์ในช่วงราว 2 ปีที่ผ่านมา

ได้มีการหารือเกี่ยวกับการเงินอย่างกว้างขวางตลอดช่วงการประชุม และมีมติเห็นชอบว่ามีความจำเป็นในการเพิ่มการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาต่อไป ข้อเรียกร้องให้มีการปรับการเงินอย่างน้อยสองเท่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม หน้าที่ในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าจะให้เงิน 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง และได้มีการเปิดตัวกระบวนการกำหนดเป้าหมายใหม่ทางการเงิน

ด้านการบรรเทาผลกระทบ มีการระบุความแตกต่างที่มีอยู่ในการปล่อยมลพิษ และภาคีตกลงร่วมกันที่จะทำงานเพื่อลดความแตกต่างนี้ และเพื่อประกันว่าโลกจะยังเดินหน้าต่อไปในช่วงทศวรรษปัจจุบัน เพื่อคุมอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สนับสนุนให้ภาคีเสริมสร้างความเข้มแข็งในการลดการปล่อยมลพิษและปฏิบัติตามคำมั่นในการดำเนินการด้านสภาพอากาศของประเทศกับข้อตกลงปารีส

นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่สำคัญคือบทสรุปของแนวทางในการดำเนินงานตามความตกลงปารีส หรือที่เรียกกันว่า Paris Rulebook มีการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับบรรทัดฐานที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 6 เรื่องตลาดคาร์บอน ซึ่งจะทำให้ข้อตกลงปารีสดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งนี้จะให้ความแน่นอนและความสามารถในการคาดการณ์แก่แนวทางทั้งแบบตลาดและนอกตลาด เพื่อสนับสนุนการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัว และการเจรจารอบความโปร่งใสในการดำเนินงานและการสนับสนุน (Enhanced Transparency Framework) ก็ได้ข้อสรุปด้วย โดยจัดให้มีตารางและรูปแบบที่ตกลงกันไว้ เพื่อพิจารณาและรายงานเป้าหมายและการปล่อยมลพิษ