โครงการก่อการครู ก่อกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของเหล่าพันธมิตรทั้งด้านการศึกษา ภาคเอกชน รวมไปถึงคุณครูของเด็กๆ โดยหมุดหมายคือจุดประกายการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ที่เริ่มจากคุณครู แม้จะเริ่มด้วยย่างก้าวเล็กๆ แต่ไม่เคยหยุด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ก่อการครูได้จัดเสวนา “ครูในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง : ครูปล่อยแสง สำแดงพลัง” เพื่อให้ครูและบุคคลากรในแวดวงทางการศึกษามาร่วมกันหาคำตอบถึงบทบาทครูในโลกอนาคตที่ “การเรียนรู้” เกิดขึ้นได้จากทุกหนแห่ง ส่งผลให้ความสนใจของผู้เรียนไม่หยุดนิ่งและเต็มไปด้วยการแสวงหารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย พร้อมทั้งเปิดเวทีให้ครูในก่อการครูรุ่นที่ 3 มาปล่อยแสง แชร์ประสบการณ์ และส่งผ่านแรงบันดาลใจของพวกเขาให้กับครู ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และนี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของพวกเขา
ครูคัตเตอร์ หรือ วิจินต์ รวมฉิมพลี จากโรงเรียนหอวัง ปทุมธานี เปิดตัวเองบนเวทีด้วยภาพถ่ายที่มีแต่รอยยิ้ม ดูร่าเริง เข้าถึงง่าย แต่ครูคัตเตอร์บอกว่า นั่นเป็นแค่ภาพที่เห็น เพราะตัวจริงใจร้อน ขี้โมโห ไม่รับฟังใคร พร้อมจะพูดแทรกได้ตลอดเวลาถ้าไม่เห็นด้วย เป็นคนเชื่อมั่นตัวเองอย่างที่สุด แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ครูคัตเตอร์มาเข้าก่อการครู
ครูคัตเตอร์ เป็นครูมาได้ 8 ปีแล้ว สอนวิชาชีววิทยา สิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ อยากให้เด็กเรียนวิชาชีววิทยา ไม่ใช่แบบท่องจำ เพื่อแค่มาสอบ แต่เรียนแล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะวิชานี้เป็นวิชาที่เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกาย กลไกการทำงานของร่างกาย ของสิ่งมีชีวิต แต่เด็กหรือคนทั่วไป ถูกสอนมาว่า เป็นวิชาที่ต้องจำแล้วไปสอบ ที่ผ่านมา ครูคัตเตอร์ จึงเน้นไปที่เทคนิคการสอนมาก เพราะอยากให้เด็กได้เรียนรู้ และเห็นได้ว่าวิชานี้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง จึงงัดเทคนิคการสอน สื่อการสอน เกม ทุกอย่างที่มี
ระยะแรก ๆ ได้ผล เด็กสนุก เป็นกันเอง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เด็กรู้สึกไม่สนุกแล้ว เด็กรู้สึกว่าเหนื่อย อยากผ่อนคลาย ไม่อยากทำกิจกรรม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ จนครูรู้สึกว่า เทคนิคเราไม่ดีเหรอ เลยคิดเข้าก่อการครู เพราะคิดว่าที่นี่มีเทคนิคการสอนใหม่ ๆ ยิ่งไปเห็นในสื่อโซเชียลที่เพื่อนครูที่เคยเข้าก่อการครูแล้วเปลี่ยนไป มีการแชร์เทคนิคการสอนแล้วเห็นว่ามันดีนะ ก็เลยคิดจะเข้าก่อการครู
“พอเข้าโครงการแล้ว ก็พบว่าไม่ได้สิ่งที่เราอยากได้ คือเทคนิคการสอน แต่กลับได้อะไรที่มากกว่านั้น แค่โมดูลแรก ครูคือมนุษย์ ก็ทำให้เราค้นพบว่า สิ่งที่มากกว่ากระบวนการเทคนิคการสอน คือ ความเป็นมนุษย์ของเรา เรามีความรู้สึกเกลียดได้ ร้องไห้ได้ เพราะเราเป็นมนุษย์ พอเข้าใจตัวเองแล้ว ก็ทำให้เข้าใจคนอื่น แม้กระทั่งนักเรียนของเราเอง”
สิ่งหนึ่งที่ก่อการครูใช้ตั้งแต่โมดูลแรกและใช้มาตลอด คือ ฟัง ฟังในสิ่งที่อีกคนจะสื่อสารก่อน แล้วทำความเข้าใจ ถ้าเราฟัง เปิดหู เปิดตา ก็จะเข้าใจว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร เขาต้องการอะไร พอจบโครงการ จึงมีความเชื่อหนึ่งเกิดขึ้นว่า คำพูดเป็นนายคน ก็เลยเปลี่ยนตัวเองมากมาย”
ครูคัตเตอร์ บอกว่า ก่อการครูมีกระบวนการที่ทำให้รู้จัก ฟัง เป็นการฟังแบบไม่ตัดสินใด ๆ ทำให้จากคนที่เคยขี้โมโห โกรธง่าย มีกรอบความคิดให้เด็กทำตามความคิด โดยไม่มีการประเมินหรือรับฟังเสียงเด็กว่าเขาต้องการอะไร หรือเขาต้องการหรือเปล่า เพราะเทคนิคที่เรียนรู้มาแต่เดิมไม่มีเรื่องความต้องการของเด็ก เป็นการใส่วิชาความรู้เข้าไป แต่ตอนนี้ คือ ถ้าครูจะทำแบบนี้เธอคิดว่าอย่างไร เด็กก็ตอบกลับมา ทำให้ช่องว่างระหว่างครูคัตเตอร์กับเด็กที่แม้จะใกล้กันอยู่แล้วยิ่งใกล้กันมากขึ้น เป็นผลจากการฟังมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกับเด็ก แต่กับผู้บริหารและเพื่อนครูด้วยกัน ช่องว่างลดลงมาก แม้จะรับฟังแล้วยังมีอาการโมโหอยู่ข้างในเพราะเป็นมนุษย์ แต่ท่าทีที่อ่อนลงมาก จนผู้บริหารบอกว่า ดูนิ่งขึ้นนะ เพื่อนสนิทในโรงเรียนก็บอกว่า คำพูดคำจาเปลี่ยนไป จากปกติที่เพื่อนพูดปุ๊บ เราพูดแทรกทันที แต่ตอนนี้จะฟัง แล้วถ้าจะแสดงความเห็น ก็จะบอกว่า นี่เป็นความคิดของฉัน อย่าเอาไปตัดสินความคิดของเธอ เธอต้องตัดสินใจเอง เทียบกับแต่ก่อน บอกแล้วไงว่าเราคิดแบบนี้ เห็นมั้ยเราคิดถูกต้อง ก็กลายเป็นให้เพื่อนคิดเอง มันเป็นผลพวงจากการเข้าก่อการครู
แต่กว่าจะมาเป็นคนที่รับฟัง และนิ่งขึ้นได้ ครูคัตเตอร์ บอกว่า ได้ผ่านกระบวนการในก่อการครูมามากมาย วิทยากรแต่ละกิจกรรมจะบอกว่า อย่าลืมนะครับ คุณภาพของการฟัง เช่น นั่งกัน 4 คน เอ้า เอพูดก่อนนะ แล้วบีค่อยพูด ทีนี้บีจะพูดอย่างไรก็ได้แต่ต้องไม่ใส่ความรู้สึกของตัวเองลงไป กระบวนการแรกฟังก่อน ในกระบวนการนั้น ต้องไม่พูดแทรก ไม่ใส่ความเห็นส่วนตัว และฟังอย่างตั้งใจ ส่วนตัวคิดเองว่า ต้องมองตา eye contact แล้วดูปฏิกิริยาของเขา ถ้า eye contact ได้ เขาก็จะโฟกัสที่เรา เชื่อว่าเรารับฟัง
สำหรับเด็กนักเรียนทำให้เขาอาจจะเข้าใจเรามากขึ้น จะบอกกับเด็กว่า สิ่งที่เด็กพูดมา เราฟังแล้วรู้สึกอย่างไร แต่จะไม่ได้ตัดสินเนื้อหาว่าถูกไม่ถูก ตรงนั้นให้เขาคิดเอง พอทำอย่างนี้กับเด็กนักเรียน ทุกอย่างมันดูซอฟท์ลง เด็กพูดกันว่า “ครูคัตเตอร์…ฟังว่ะ คุยกันได้”
อย่างไรก็ตาม ครูคัตเตอร์บอกว่า ในช่วงเวลาที่ไม่พร้อมจะฟังเด็ก อย่าฟัง เช่นเด็กนักเรียนอยากมาเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง ถ้าไม่พร้อม จะบอกเด็กว่า ขออนุญาต ครูยังไม่พร้อมนะลูก บอกตรง ๆ เพราะการฟังเด็กแบบไม่พร้อม จะทำให้ไม่โฟกัสในสิ่งที่เด็กจะพูด ไม่เอาใจ ไปใส่ เพราะในหัวมีสิ่งอื่นกังวลอยู่ พอไม่โฟกัส เด็กจะไม่เชื่อว่าเราฟังเขาจริง ๆ ต่อไปก็อาจจะไม่คุยกัน ซึ่งพอบอกไปว่าไม่พร้อม ก็ไม่มีเด็กคนไหนปฏิเสธ หรือไม่อยากคุยกันอีก และพอมีความพร้อมแล้วก็จะเดินไปหาเด็กเอง ว่ามีอะไรจะเล่าให้ฟัง เขาก็เล่า บางคนบอกว่าไม่มีแล้วค่ะครู เพราะบางครั้ง เวลาที่ผ่านมา ทำให้เขาแก้ปัญหานั้นได้ จัดการปัญหานั้นได้ แสดงว่าเด็กก็มีวิธีจัดการของเขา มีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันเด็กก็รับรู้ว่า เราเป็นมนุษย์มีช่วงเวลาที่ไม่พร้อมจะรับฟังด้วย
ครูคัตเตอร์บอกว่า เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของการเป็นผู้รับฟัง ตั้งแต่วันแรกที่จบโครงการก่อการครู เพราะวันนั้น ครูถูกแฟนบอกเลิก ถ้าเป็นครูคัตเตอร์คนเดิมจะเฮิร์ต เสียใจมาก แต่วันนั้น ครูใช้ทักษะ การฟัง ฟังเหตุผลของแฟนที่บอกเลิก แม้เหตุผลจะดีไม่ดี แต่ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เขาสื่อสาร และเข้าใจจริง ๆ ว่าจุดประสงค์ของเขา คือต้องการจะห่างจากเราแล้วนะ ฉะนั้น เราต้องทำใจยอมรับ ไม่ใช่จะดึง ดึง ไว้ตลอด จะไม่เบี่ยงประเด็นไปว่า คุณมีคนอื่นหรือเปล่า เขาอาจจะมี แต่คำสำคัญที่เขาพูดมีไม่กี่คำ พอเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนบอกว่า เธอดูปกป้องแฟนเธอนะ ก็บอกว่าไม่ได้ปกป้องแต่เข้าใจมุมมอง เพื่อนบอกว่า ฟังแล้ว คนนั้นก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าเป็นคัตเตอร์คนเดิม ก็คงเล่าแบบใช้อารมณ์ เพื่อนก็คงช่วยซ้ำ
กระบวนการของก่อการครูน่าจะปลดล็อกอะไรในใจผมบางอย่าง แต่ยังหาไม่เจอและไม่อยากจะหา แค่รู้สึกตัวเองว่า ฉันเปลี่ยนไปแล้ว ฉันเปลี่ยน mindset ไปแล้ว
“แค่ 3 วันที่อยู่ด้วยก็เปลี่ยนวิธีคิดได้ และแม้ว่าจะฟังมากขึ้น แต่การฟังที่ดีมาก ๆ ก็ยังต้องใช้เวลา ตอนนี้ฟังแล้วมีอารมณ์ก็พอจะเก็บได้แม้จะไม่ทั้งหมด และประโยชน์ของการรับฟังไม่ได้แค่มีกับเด็ก แต่มีประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย”
ในสังคมที่เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนไม่พอใจ ไม่เข้าใจ คิดว่าเด็กไม่รับฟัง ครูคัตเตอร์ ยอมรับว่า จริง ที่เด็กไม่ค่อยรับฟัง เพราะต้องยอมรับว่า เด็กมีช่องทางการสื่อสาร สื่อออนไลน์ เยอะมาก ไม่ได้มีแค่พ่อ แม่ ครู เพื่อน แต่มียูทูป หรือช่องทางติดต่อเยอะมาก แต่ถ้าจะเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนที่ตัวเรา ในฐานะครู หรือ เป็นพ่อ แม่ เพื่อน ต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน คือ รับฟังเขาก่อน การรับฟังสำคัญมาก
การจะเปลี่ยนใครได้ เราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ๆ ก็ตาม ถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยน เด็กก็เปลี่ยน และถ้าเด็กได้รับอะไรก็ตาม ที่เขาต้องเริ่มฟัง ไม่ใช่เอาแต่ใจตัวเอง รวมทั้งต้องมีสิ่งที่ปลอดภัยสำหรับเขาด้วย ให้เขารู้สึกโอเคนะ มันไม่ใช่แค่เรื่องการฟังอย่างเดียว ในบ้านพื้นที่ปลอดภัยจริงหรือไม่ที่เขาจะพูดออกมา หรือฟังจริง ๆ
ฉะนั้นสำหรับผู้ใหญ่ รับฟังอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กแสดงความเห็น โดยไม่ถูกดุ ไม่ถูกตีตราว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานั้นผิด ถูก แต่จะเป็นรูปแบบที่ว่า โอเคที่คิด ถูกแล้ว แต่ขอเสริมหน่อยนะ ความเห็นเราคิดว่าแบบนี้ คุณคิดว่าอย่างไร หรือถ้าเด็กผิด เป็นเรื่ององค์ความรู้ที่ผิดไป ก็จะบอกว่า โอเค ไม่เป็นไร เข้าใจถูกแล้วในข้อความนั้น แต่ขอเสริมเพื่อให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แค่เปลี่ยนคำพูด เด็กก็จะอ๋อ ค่ะ ครับ แต่ไม่ใช่บอกว่าอันนั้นถูก อันนี้ผิด
สำหรับในห้องเรียน ่ครูคัตเตอร์จะขอเด็ก 2 อย่าง หนึ่งเรื่องโทรศัพท์ สองฟังครูให้จบก่อน ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ไม่ถามก็ได้ แต่ถ้ามีปัญหา อยากจะพูดอะไร ขอให้พูดหลังจากครูพูดจบ และกิจกรรมทุกคาบ จะออกแบบให้นักเรียนมีการคุยกันสัก 5 นาที แล้วจะบอกว่า ระหว่างที่เพื่อนพูด คนอื่นต้องรับฟังก่อน จะเน้นตลอด เพื่อให้เขาฟัง พอฟัง เด็กจะเข้าใจกันเองด้วย และเข้าใจสิ่งที่ครูสื่อสาร ทีเดียวจบ หรือบางคนไม่ฟัง ก็จะบอก เห็นมั้ย ตัวอย่างของการไม่ฟังครู เพื่อนตอบซิ เขาก็จะอ๋อ และปรับปรุง เรื่องพวกนี้เป็นเทคนิคของแต่ละคน
“คือ เทคนิคเรามีอยู่แล้ว แต่ก่อการครูมันทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ว่ามีความแตกต่างหลากหลาย เราไม่สามารถเข้าใจทุกคน แต่เมื่อคุยกัน แค่ไม่สร้างช่องว่างมากเกินไป เขาก็จะรับฟังเรา แม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้เนื้อหาสาระจากสิ่งที่เราสอน แต่อย่างน้อยก็ควบคุมชั้นเรียนที่ดี และได้อะไรบ้างจากกิจกรรมที่เราจัดไป เขาอาจจะไม่ได้เนื้อหาทฤษฎีที่เราสอน แต่ก็ไม่โฟกัสจุดนั้นแล้ว เทียบกับแต่ก่อน ที่เด็กต้องทำข้อสอบได้ แต่ในขณะเดียว เราก็จะปล่อยเด็กของเราไม่ได้ ก็ให้เด็กเปิดหนังสือสอบ หาความรู้ข้อมูลมาสอบ มีตัวอย่างข้อสอบว่า มีองค์ความรู้ข้อมูลที่ต้องใช้อะไรบ้าง มีการเปลี่ยนจากสอบทุกหน่วย เป็นสอบปลายภาคทีเดียว แต่ก่อน ถ้าเด็กมีเกรด ศูนย์ ต้องทำให้ได้ 4 แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าบอกว่า เธอมี 100 คะแนน ทำยังไงให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80 ก็ได้เกรด 4 แล้ว เป็นต้น”
สำหรับก่อการครู ครูคัตเตอร์บอกว่า อยากให้ทำโครงการนี้ต่อไป และขอบคุณที่ทำให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แม้ก่อการครูจะบอกว่า ไม่ใช่เพราะโครงการหรอก แต่เพราะตัวเราเองคิดจะเปลี่ยนแปลง แต่ก็อยากขอบคุณและให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก่อการครูเป็นเหมือนบ้านของเราที่พักใจได้ มีพื้นที่ ที่แม้ไม่อยู่ร่วมกัน แต่เจอกันในเฟซบุ๊ก มีความคิดเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
โดยเฉพาะโมดูลแรกของก่อการครู คือโมดูลครูคือมนุษย์ เพราะโมดูลอื่นหาที่ไหนก็ได้ เช่น ตลาดวิชา หรือ Real World (การใช้เทคนิคการเรียนแบบพื้นที่จริง) แต่โมดูลแรกยากที่ใครจะจัดได้ พราะบางคนไม่รู้เท่าทันตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นมนุษย์ ร้องไห้เป็น เสียใจเป็น ดีใจได้ มีอำนาจ มีสภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง เรารู้แต่ว่า เป็นครู เป็นครู แต่วันหนึ่งที่ไม่เป็นครูล่ะ เราเป็นอะไร มันเป็นอะไรที่ลึกมาก ขอบคุณโมดูลแรกนี้มาก เพราะเอามาใช้ได้ตลอด ทำให้เรารู้เท่าทันตัวเองว่าต้องการอะไร ทำอะไรอยู่ รู้ว่าตัวเองคิดยังไง เติบโตขึ้น
ครูคัตเตอร์ บอกว่า สิ่งที่ได้จากก่อการครู นอกจากจะเปลี่ยนตัวเองแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างของการศึกษาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสอน วิธีคิด โดยจุดหมายของทุกคน คือ อยากให้มันดีขึ้น คำว่าอยากให้ทุกอย่างดีขึ้น เป้าหมาย ก็คือ เด็ก
ก่อการครูอยากให้สังคมเปลี่ยน มีความยอมรับกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน สุดท้ายก็เพื่อเด็ก โดยให้มีความหมายกับเด็ก มีความหมายกับตัวเราด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อเด็ก แต่เราไม่มีความหมาย โมดูลแรกจึงสำคัญ ไม่ว่ากับคนที่อยู่ในระบบ หรือออกจากระบบไปแล้ว
สำหรับครูที่ไม่เคยเข้าโครงการก่อการครู ครูคัตเตอร์อยากจะบอกว่า จุดสำคัญของครูที่จะมาเข้าโครงการ ควรมีจิตใจที่อยากจะเปลี่ยนก่อน ถ้ามีใจ ทุกอย่างจะตามมา ไม่มีเงินก็จะมา เพราะอยากทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น ฝากบอกทุกคน อยากให้เปิดใจตัวเอง เอาคำว่า ครู ออกไป แล้วถามว่าต้องการอะไร หรือต้องการอะไรจากนักเรียนจริง ๆ ไม่ต้องเข้าโครงการก่อการครูก็ได้ แต่มองให้รู้ว่า เราต้องการอะไร นักเรียนต้องการอะไรมากกว่าความรู้ เพราะมันมีอะไรมากกว่านั้น ต้องใช้ใจแล้วมอง แล้วถ้าอยากจะเข้าก่อการครูก็มา เพราะจะได้อะไรมากมาย พอเปลี่ยนอะไรได้อย่างหนึ่งที่ใช่ ก็เปลี่ยนได้หมด