ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน : “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ธปท. 80 ปี ว่าด้วย 3 เสาหลักของแบงก์ชาติ

บันทึกภาคประชาชน : “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ธปท. 80 ปี ว่าด้วย 3 เสาหลักของแบงก์ชาติ

20 เมษายน 2022


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยเชิญ 6 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมสนทนา (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ) โดยผู้ว่าการฯ แต่ละท่านเหลียวหลังถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และแนวการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในการแก้ปัญหาขณะนั้น พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาแลหน้า เพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอมุมมองการ เหลียวหลัง ของแต่ละอดีตผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการดำเนินแนวนโยบายในขณะนั้น ดังนี้

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มต้นทำงานในฝ่ายวิชาการ ธปท. ก่อนไปรับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ก่อนมารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – กันยายน 2558

ดร.ประสาร เริ่มเหลียวหลังช่วง 5 ปีของการเป็นผู้ว่าการ ธปท. ถึงองค์ประกอบของคำว่าสถาบันแบงก์ชาติ ว่า ประกอบด้วยเสาหลักอย่างน้อย 3 เสาด้วยกัน คือ

เสาที่ 1 คือ การมีกรอบนโยบายในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น มีธรรมาภิบาล และมีเครื่องมือเพียงพอที่จะใช้แก้ปัญหาในขณะนั้น และมีความโปร่งใส

เสาที่ 2 คือ การมีบุคลากรที่มีความสามารถ และระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

เสาที่ 3 คือ มีประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม หมายถึงเรื่อง ระบบค่านิยมที่ดี เป็นระบบค่านิยมที่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม ที่หนีไม่พ้น คือส่วนที่ 4 ความสำเร็จของสถาบันนี้ ขึ้นกับว่าจะสามารถบริหารจัดการปัจจัยต่างๆ ที่อิงกับ 3 เสาหลักนี้ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับกาลเทศะในขณะนั้นได้ดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนที่ 4 นี้เรียกรวมๆ ว่า leadership ที่หมายถึง individual leadership ในแต่ละช่วงแต่ละยุค และอาจจะหมายถึง collective leadership ด้วย

ในเสาที่ 1 ยุคปี 2553-2558 ภาวะเศรษฐกิจไทยมีปัญหารุมเร้าพอสมควร คือ เศรษฐกิจโลกขณะนั้นไม่ค่อยดี เพราะเพิ่งผ่านวิกฤติการเงินโลกมาใหม่ๆ ตลาดการเงินมีความผันผวนค่อนข้างมาก ส่วนในไทยอาการชัดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการพูดกันมากว่า ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง มีการพูดถึงเศรษฐกิจไทยขาดการลงทุนพอสมควร ขาดการพัฒนาเทคโนโลยี ขาดแคลนแรงงาน ขาดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ทำให้การบริโภค การลงทุน ของภาคเอกชนค่อนข้างอ่อนแรง ขณะนั้น แนวนโยบายประเทศ โดยเฉพาะแนวนโยบายการเงิน จะมุ่งดูแลให้ภาวะการเงินของประเทศโดยรวมผ่อนปรน มีความคล่องตัวเพียงพอ สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมีบางส่วนที่พอทำได้และไม่ผิดหลักการของ ธปท. คือการเข้าไปประคับประคองส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เพราะด้อยโอกาสกว่า เช่น ครัวเรือนฐานราก เอสเอ็มอี ทำเท่าที่จะพอทำได้ และพยายามรักษาสมดุลเศรษฐกิจการเงิน

แต่โดยรวมพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคของไทยขณะนั้น อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมั่นคง ส่วนหนึ่งเพราะมีการทำงานหนักและพยายามแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ หลังจากเกิดวิกฤติปี 2540 แต่ความท้าทายในขณะนั้น คือ อัตราแลกเปลี่ยน สาเหตุสำคัญ คือ หลังจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ทำให้ประเทศเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ที่รวมไทยด้วยมีการฟื้นตัวไม่เท่าประเทศตะวันตก ยุคนั้น อัตราดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าอเมริกา ยุโรป เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศค่อนข้างมาก เกิดความท้าทายในเรื่องค่าเงินบาทแข็ง โดยกรอบการบริหารจัดการในขณะนั้นยืดหยุ่นพอสมควร และไม่ได้ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบเสรีสุดๆ พยายามคุมให้สมดุลทั้งด้านดุลบัญชีเดินสะพัด และหนี้ต่างประเทศ มีการจัดเตรียมเครื่องมือต่างๆ ไว้ให้พร้อม รวมถึงการจัดการด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วย ซึ่งสมัยนั้นมีข้อถกเถียงกันมาก เพราะเข้าใจดีว่า การให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรีโดยใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญ จะไปวางเป้าหมายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ แต่ในภาคปฏิบัติ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เองก็ให้ความสนใจเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนพอสมควร

ความท้าทายที่สองในเสาหลักแรก คือเรื่อง financial stability แม้ว่าคำนี้จะหานิยามที่เป็นมาตรวัดแบบแม่นยำไม่ได้ แต่พอพลิกคำถามกลับ ว่า อยากเห็น financial instability หรือไม่ ทุกคนคงไม่อยากเห็น โดยเฉพาะจุดที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาในระบบเศรษฐกิจจนเข้าขั้นวิกฤติ

“คล้ายๆ เรื่องสุขภาพคน คุณสุขภาพดีมั้ย จะวัดด้วยอะไร เราไม่อยากเห็นการล้มป่วยจนเสี่ยงเสียชีวิต แต่คำว่าสุขภาพดีมั้ย หมายถึงระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ ระดับไขมันเป็นอย่างไร ขณะนั้นเป็นเรื่องท้าทายในเชิงความคิดและการติดตาม เพราะถ้าคิดไปถึงเรื่องการพยายามหาทางป้องกันก็ยากพอสมควร”

ขณะนั้นมีการคุยกันว่า จะเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างไร ฟอร์มทีมอย่างไร จะต้องมีฝ่ายงานใหม่หรือไม่ จะกล้าออก stability report หรือไม่ ทำให้มีความพยายามเก็บข้อมูลหลายด้าน เพราะการดูอัตราเงินเฟ้ออย่างเดียวคงไม่พอ จึงมีการเก็บข้อมูลทั้งหนี้สินภาคครัวเรือน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตลาดสินทรัพย์ ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และเมื่อโจทย์มีหลายวัตถุประสงค์ ธปท. ต้องมีเครื่องมือเพียงพอ เช่น macro prudential เป็นต้น คือเอาเรื่องกำกับดูแลเข้ามา และนำมาสู่ความท้าทายต่อมา คือ แนวทางการพัฒนาระบบการเงินที่เหมาะสม วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการดูแลการพัฒนาระบบการเงินยังเหมือนเดิม เช่น การพัฒนาตลาดการเงินเพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนที่กว้าง ลึก คล่องตัว ส่วนการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้มีการแข่งขันกัน เข้าถึงง่าย ส่วนระบบชำระเงิน ก็อยากเห็น ถูก ดี ปลอดภัย

แต่ว่าขณะนั้นเริ่มเห็นสัญญาณ และมีโจทย์ใหม่ๆ ที่ต้องคิดให้ละเอียด ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่ พวกไอที ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทำให้มีคำถามว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควรจะมีหน้าตาอย่างไร ควรมีมาตรฐานกลางหรือไม่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะก้าวหน้าไปแค่ไหน ขณะที่กฎหมายกำกับดูแลมีความครอบคลุมแค่ไหน เป็นต้น

เสาหลักที่ 2 เรื่องบุคคลกับองค์กร เมื่อรับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ก็รู้ว่า เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญของความเป็นสถาบันของแบงก์ชาติ ธปท. มีความต้องการคล้ายกับหน่วยงานอื่นๆ คือ บุคลากรที่มีคุณสมบัติ เช่น มีความชัดเจนในเรื่องวิสัยทัศน์ขององค์กร ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อยากสร้าง engagement กับ stakeholder ต่างๆ อยากให้เกิดการสนับสนุนจากส่วนงานต่างๆ และต้องมองภาพกว้าง ไม่ใช่เฉพาะภายใน ธปท. ต้องมอง stakeholder อื่นด้วย เป็นคุณสมบัติที่อยากให้เกิดขึ้นทั้งสมาชิกภายใน ธปท. และภายนอกด้วย ทำให้ต้องตั้งหลักและทำงานด้วยเครื่องมือที่พอจะหยิบยืมมาใช้ได้ เช่น ภายใน ธปท. มีการนำ balance score card มาใช้เพื่อให้สมาชิกในองค์กรรู้ว่างานแต่ละคนสนับสนุนงานของ ธปท. โดยรวมอย่างไร งานที่ทำมี stakeholder สำคัญอะไรบ้าง และมีอะไรที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ส่วนภายนอกองค์กร ผู้ว่าการ ธปท. คนก่อนๆ ได้ปูทางไว้ค่อนข้างดี เช่น มีรายงานนโยบายการเงิน จากเดิมมีเรื่องนโยบายเงินเฟ้อ คนจะเข้าใจว่า ธปท. มุ่งดูแลแต่อัตราเงินเฟ้อ แต่นโยบายการเงินนั้นจะดูประเด็นอื่นๆ ด้วย และรายงานนโยบายการเงินจะออกทุกไตรมาส พยายามสื่อสารให้คนเข้าใจ รวมทั้งตัดสินใจจะมี financial stability report ที่หลายคนไม่ค่อยกล้าให้ออกรายงานนี้ เพราะยังไม่มีเครื่องวัด stabilty ที่แม่นยำ รายงานจึงออกมาว่า ธปท. กังวลในเรื่องอะไร ทั้งหมดนี้เพื่อสื่อให้คนทั่วไปทราบว่า ธปท. ไม่ได้มองแคบๆ เฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ แต่ดูในวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานข้ามคณะ เช่น กนง. กับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่มีการปรึกษาหารือกัน มีการทำงานกับ ก.ล.ต. กับสำนักงานคณะกรรมกการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

และที่มีความท้าทายมากขึ้นคือ talent management (การเฟ้นหาบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น มีผลการปฏิบัติงานสูง) เพราะโลกภายนอกมีความก้าวหน้าพัฒนาไปมาก และคงไม่เหมาะที่จะไปปิดกั้นการไล่ล่าตามฝันหรือความกล้าที่จะทำเรื่องที่แตกต่าง talent management ของ ธปท. จึงยังเป็นความท้าทายในเสาหลักที่ 2 นี้ แม้ ธปท. จะยังมีการให้ทุนและมีคนเก่งๆ มาร่วมทำงานก็ตาม

เสาหลักที่ 3 ประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม มีความสำคัญสำหรับองค์กรที่มีอายุ 80 ปี ระยะเวลาที่นานทำให้ค่านิยมบางอย่างตกผลึกเป็นรากฝังเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กรขึ้น และมีส่วนสำคัญในการนำพาสมาชิกในการประพฤติ ปฏิบัติ แม้กระทั่งชุดความคิดต่างๆ ค่านิยมเหล่านี้มีส่วนต่อความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ ช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ในสายตาคนนอก เห็นว่า คน ธปท. มีหลักการ รอบคอบ ซื่อสัตย์ สุจริต ก็ไม่ผิดเท่าไหร่ ถ้าดูจากพนักงานส่วนใหญ่ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นว่า คน ธปท. ทำงานบนหอคอยงาช้าง สะท้อนคุณสมบัติ ว่า พออยู่สูงก็ไม่ติดดิน ไม่แตะคนอื่น

ฉะนั้น ในส่วนค่านิยมที่ดีก็ส่งเสริมต่อไป แต่ค่านิยมบางอย่างที่เป็นจุดอ่อน ก็เป็นความท้าทายว่าจะกระตุ้นหรือรณรงค์อย่างไร จึงมีความพยายามสร้างค่านิยม เรื่อง ยื่นมือ กับ ติดดิน หรือบางช่วงที่อาจจะเกิดจากความเข้าใจผิด เช่น มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ จำนวนมากมาย ควรนำทุนสำรองฯ ไปตั้ง Sovereign Wealth Fund ทำไมไม่ยอมตั้ง ทำตัวเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์แห่งวังบางขุนพรหม เป็นต้น ก็เป็นความท้าทายในเสาที่ 3

แต่ในเสาที่ 3 ก็มีส่วนที่จะยกระดับขึ้นและส่งเสริมได้ เช่น การประเมินภาพเศรษฐกิจ ที่นอกจากจะวิเคราะห์จากข้อมูลต่างๆ ก็มีการลงพื้นที่ คุยกับผู้ประกอบการ คุยกับชาวบ้าน เพื่อนำข้อมูลมาประเมินภาวะเศรษฐกิจด้วย มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) มีฮอตไลน์ มาจากภาพที่ว่า ธปท. ดูแลแต่ธนาคารพาณิชย์ โดยเริ่มจากกรณีชาวบ้านถูกหลอก ถูกโกง ถูกเอาเปรียบ แล้วขยายมาเป็นเรื่องหนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้ที่ ธปท. พอจะยื่นมือไปทำในบางเรื่อง

นอกจากนี้ ก็มีการให้ความรู้ทางการเงิน หรือ financial literacy รวมไปถึงการจัดตั้งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เป็นการเปิดประตู ในการสร้างองค์ความรู้ ชุดความคิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการทำงานของ ธปท. ด้วย ขณะนั้นมีการคุยกันขนาดที่ว่า งานวิจัยของสถาบันป๋วยฯ สามารถที่จะออกมาเป็นข้อแนะนำหรือข้อสรุปที่แตกต่างจากความเชื่อ หรือสิ่งที่ ธปท. ทำอยู่ก็ได้

ใน 3 เสาหลักนี้ ท้ายที่สุดแล้ว แต่ละช่วงจะสามารถบริหารจัดการได้ดีแค่ไหน ขึ้นกับ leadership ส่วนหนึ่งอาจะเป็นคุณสมบัติทางเทคนิค แต่ที่สำคัญ คือ integrity, honesty และ reliability ซึ่งสำคัญมากเวลาจะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐบาล ตลอด 5 ปีที่เป็นผู้ว่าการ ธปท. จะเลี่ยงคำว่า อิสระ อยู่เสมอ เพราะธนาคารกลางจะไปอิสระจากรัฐบาลกลางที่มาจากประชาชนไม่ได้ แต่ก็ต้องให้เครดิตกับอดีตผู้ว่าการ ธปท. ก่อนหน้าที่พยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า protocol ที่ชัดเจนขึ้นกว่าในอดีต เช่น การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นอำนาจของรัฐบาล แต่หลังจากนั้น ธปท. ขอความอิสระในการเลือกเครื่องมือและระยะเวลาในการดำเนินการ พอสมควร แต่หัวใจของ protocol เหล่านี้อยู่ที่ความโปร่งใส (transparency) และความรับผิดชอบ (accountability)