ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าธปท. ชี้ “เศรษฐกิจ-คิดใหม่” แนะรัฐไม่ควรมุ่งแต่จะ “ซ่อมแซม” ศก.ปัจจุบัน แต่ต้องส่งเสริมศก.ในอนาคต

ผู้ว่าธปท. ชี้ “เศรษฐกิจ-คิดใหม่” แนะรัฐไม่ควรมุ่งแต่จะ “ซ่อมแซม” ศก.ปัจจุบัน แต่ต้องส่งเสริมศก.ในอนาคต

18 กันยายน 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2560 “เศรษฐกิจ คิดใหม่” (BOT Symposium 2017: Innovating Thailand) มีรายละเอียดดังนี้

“ในเดือนธันวาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินงานมาครบ 75 ปีพอดี ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้มีวิวัฒนาการก้าวหน้าในหลายมิติ ควบคู่ไปกับบทบาทและกรอบนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของคนไทยได้พลิกโฉมไปมาก ในวันนี้เรามีระบบสื่อสารและคมนาคมที่รวดเร็วและตอบโจทย์ที่หลากหลาย การเข้าถึงการศึกษาและบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นและดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรามีทางเลือกมากมายในการประกอบอาชีพ การรับชมความบันเทิง อาหารการกิน รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันพัฒนาการทั้งหมดนี้สะท้อนอยู่ในระดับรายได้ต่อหัวที่แท้จริงของคนไทยที่เพิ่มขึ้นเกือบ 15 เท่าจากเมื่อ 75 ปีก่อน”

การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าน้อยครั้งนักที่นักเศรษฐศาสตร์จะมีความเห็นพ้องตรงกัน แต่ในเรื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวนี้ นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นแทบจะเป็นเอกฉันท์ว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือผลิตภาพ เพราะผลิตภาพสะท้อนถึงความสามารถในการจัดการและพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้

เมื่อไม่นานมานี้ นิตยสาร Time ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ขึ้นเป็นผู้ส่งออกมะเขือเทศรายใหญ่ที่สุดของยุโรป มะเขือเทศต้องการแสงแดดมาก เนเธอร์แลนด์มีสภาพอากาศที่ทั้งหนาวและไม่ค่อยมีแดด แต่เนเธอร์แลนด์กลับสามารถปลูกมะเขือเทศได้ถึงปีละ 70 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกพืชในห้องควบคุมอุณหภูมิแบบเรือนกระจก

ในขณะที่กรีซซึ่งมีอากาศอบอุ่นและแรงแดดดีสามารถผลิตได้เพียงปีละ 7 กิโลกรัมต่อตารางเมตรด้วยวิธีการเกษตรแบบดั้งเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงฤดูร้อน กรีซกลับต้องนำเข้ามะเขือเทศจากเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอในช่วงที่อุณหภูมิสูงมาก  พัฒนาการนี้เป็นตัวอย่างของความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มผลิตภาพ และแสดงให้เห็นว่าธุรกิจหรือระบบเศรษฐกิจใดที่ไม่สามารถพัฒนาผลิตภาพได้เท่าทันกับคนอื่น จะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

หัวใจสำคัญของผลิตภาพ คือ นวัตกรรม เพราะนวัตกรรมคือการขยายขอบเขตของสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัตถุหรือเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ การพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือการเพิ่มปริมาณผลผลิตด้วยต้นทุนเท่าเดิม จะเห็นได้ว่า นิยามของนวัตกรรมนั้นกว้างกว่าเพียงการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เชิงวิทยาศาสตร์ แต่ครอบคลุมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ดีขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นวัตกรรมเหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า

แต่นวัตกรรมโดยลำพังอาจไม่เพียงพอ หากกระบวนการถ่ายทอดไม่สามารถส่งผลให้นวัตกรรมเหล่านั้นหยั่งรากลงในระบบเศรษฐกิจได้ในวงกว้าง การที่อัตราการขยายตัวของผลิตภาพในหลายประเทศรวมทั้งไทยชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงจากนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการถ่ายทอดนวัตกรรม

การศึกษาของ OECD ไม่นานมานี้ ได้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทระดับแนวหน้าของโลกมีผลิตภาพแรงงานสูงกว่าบริษัทอื่นถึง 10 เท่า และมีการขยายตัวของผลิตภาพที่เร็วกว่าบริษัทอื่น ๆ ด้วย เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย งานวิจัยในงานสัมมนาวิชาการปีนี้จะชี้ให้เห็นถึงระดับผลิตภาพที่แตกต่างกันมากระหว่างผู้ประกอบการไทยกลุ่มต่าง ๆ โดย ความแตกต่างนี้มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

การชะลอลงของผลิตภาพในภาพรวมจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการพัฒนาผลิตภาพที่ช้าลงของบริษัทระดับแนวหน้า แต่สะท้อนความล้มเหลวของผู้ประกอบการอื่น ๆ ในการก้าวตามบริษัทแนวหน้าเหล่านี้  กล่าวคือ ผลิตภาพในระดับประเทศขยายตัวได้ช้า เพราะนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปยังเศรษฐกิจในวงกว้าง

โจทย์ใหญ่ที่หลายประเทศรวมทั้งไทยเผชิญ จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหันมาปรับโครงสร้าง ยกระดับกระบวนการผลิตให้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งสนับสนุนการถ่ายโอนทรัพยากรจากธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปยังธุรกิจที่มีผลิตภาพสูงกว่า ความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการจัดสรรทรัพยากรเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจและของคนในสังคม  นวัตกรรมที่ทรงพลังจึงต้องเกิดขึ้นควบคู่กับกระบวนการถ่ายทอดนวัตกรรมและระบบการจัดสรรทรัพยากรที่ดี

นวัตกรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร – ต้องอดทนรอเก็บเกี่ยวผลระยะยาว

แล้วเราจะสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่ทรงพลังได้อย่างไร ก่อนที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว เราต้องเข้าใจว่านวัตกรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งผมอยากเน้นคุณลักษณะสำคัญของนวัตกรรมสองประการ

ประการแรก นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเพียงประกายความคิดหรืออัจฉริยภาพชั่วครู่ชั่วขณะ แต่นวัตกรรมเป็นกระบวนการที่อาศัยการรวบรวมและต่อยอดองค์ความรู้ โดยความสำเร็จขั้นหนึ่งจะนำไปสู่การค้นพบขั้นต่อ ๆ ไป เหมือนคลื่นที่ค่อย ๆ ก่อตัวไปสะสมพลังรวมกับคลื่นลูกอื่นและรวมกันเป็นก้อนคลื่นที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นวัตกรรมเป็นผลลัพธ์ของความเพียรและความพร้อมที่จะเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกครั้งแล้วครั้งเล่า การสร้างนวัตกรรมไม่ใช่กระบวนการที่คาดคะเนโอกาสความสำเร็จได้ ต่างจากการลงทุนชนิดอื่น ๆ เช่นใน หุ้น ตราสารหนี้ หรือเครื่องจักร ที่สามารถคำนวณผลตอบแทนที่คาดหวังได้ ผู้ลงทุนในนวัตกรรมมิได้เผชิญกับความเสี่ยง แต่เผชิญกับความไม่แน่นอน เส้นทางแห่งนวัตกรรมจึงต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะ ความอดทน และการมองการณ์ไกล

ประการที่สอง นวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเงิน แต่เกิดขึ้นจากโอกาส แรงบันดาลใจ และความมุ่งมั่นสู่จุดหมายที่ชัดเจน เมื่อใดที่ภาคเอกชนเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจจากนวัตกรรม เมื่อนั้นเงินลงทุนจะหลั่งไหลเข้ามา แต่หากภาคเอกชนขาดแรงบันดาลใจ หรือมองไม่เห็นโอกาสเหล่านี้ ไม่ว่าจะใช้เงินทุนหรือมาตรการจูงใจทางภาษีเท่าไร ย่อมไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนสร้างนวัตกรรมได้  Steve Jobs ไม่ได้สร้าง Apple Macintosh ขึ้นมาเพราะมีเงินทุน แต่ทุ่มเททุกอย่างจากแรงบันดาลใจที่อยากจะเห็นคนทั่วไปมีคอมพิวเตอร์ใช้  และในช่วงแรก เริ่มต้นโดยแทบจะไม่มีทุนทรัพย์เลยด้วยซ้ำ

การขับเคลื่อนนวัตกรรมจึงต้องอาศัยปัจจัยเกื้อกูลสองประการ ได้แก่ 1) พลวัตของการเปลี่ยนแปลง (dynamism) และ 2) ความอดทนอดกลั้นเพื่อหวังผลในระยะยาว ปัจจัยทั้งสองนี้จะมีบทบาทมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและทัศนคติของเรา

ในด้านของระบบเศรษฐกิจ กฎ กติกา และโครงสร้างของตลาดต้องเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ การแข่งขันทางธุรกิจควรนำไปสู่การถ่ายโอนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทดแทนผู้เล่นรายเดิมที่ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเท่าทัน ผู้เล่นรายเล็กต้องมีโอกาสที่จะแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่อย่างเป็นธรรม ในขณะเดียวกัน ระบบการเงินต้องเกื้อหนุนการลงทุนในระยะยาว โดยมีแหล่งเงินทุนที่มุ่งผลตอบแทนจากความสำเร็จที่อาจจะอยู่อีกยาวไกล

แต่ระบบที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงโดยลำพังจะมีผลไม่มากนัก หากมุมมองและทัศนคติของคนในระบบเศรษฐกิจไม่ได้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกันด้วย พลวัตของความเปลี่ยนแปลงมีพื้นฐานจากทัศนคติเชิงบวก ต้องมองความบกพร่องเป็นโอกาส มองอุปสรรคเป็นความท้าทาย และมองความล้มเหลวเป็นบทเรียน จิตวิญญาณของนวัตกรรมตั้งอยู่บนเป้าประสงค์ ปรารถนาที่จะสร้างความแตกต่างและแสวงหาสิ่งที่แปลกใหม่ 

ในขณะเดียวกัน งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความสามารถในการอดทนรอคอยผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในช่วงทศวรรษที่ 1960 Walter Mischel นักจิตวิทยาชั้นนำคนหนึ่งของโลก ได้ทำการทดสอบที่เรียกว่า marshmallow test โดยให้เด็กเลือกระหว่างการได้ทานขนม marshmallow ในทันที หรืออดทนรอชั่วขณะเพื่อได้ทานขนมในปริมาณที่มากขึ้น งานวิจัยได้บันทึกผลการตัดสินใจและติดตามเด็ก ๆ เหล่านี้ในอีกหลายสิบปีถัดมา โดยพบว่าเด็กที่อดทนรอเพื่อได้ขนมมากขึ้น ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพ และมีรายได้สูงกว่าเด็กที่เลือกทานขนมทันที เราจึงควรมีความพร้อมที่จะอดทนยอมเสียสละผลประโยชน์เฉพาะหน้า เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่กว่าในระยะยาว

ทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าเราเผชิญกับความท้าทายในทั้งสองมิตินี้ พลวัตของการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจไทยถูกฉุดรั้งด้วยกฎระเบียบที่ล้าสมัย ซับซ้อน และไม่ชัดเจน การแข่งขันในหลายตลาด โดยเฉพาะภาคบริการ ยังอยู่ในระดับจำกัดและไม่เป็นธรรม เอื้อต่อการครองตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดิม มากกว่าการบุกเบิกของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีความสามารถ นอกจากนี้ บ่อยครั้งเรามองโลกในแง่ร้ายมากกว่าในแง่ดี ติติงการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ หรือการเปลี่ยนแปลง มากกว่าให้กำลังใจ จ้องที่จะจับผิดมากกว่าที่จะช่วยแก้ไข โดยเฉพาะในด้านการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

ในขณะเดียวกัน แรงจูงใจทั้งในภาคประชาชน ธุรกิจ และภาครัฐเอียงเอนไปในการหวังผลระยะสั้น เด็กนักเรียนเรียนหนังสือกวดวิชาเพื่อให้สอบผ่านมากกว่าได้ความรู้จริง แรงกดดันจากผู้ถือหุ้นที่ต้องการได้รับเงินปันผลและเห็นราคาหุ้นดีขึ้นในระยะสั้น ส่งผลให้ผู้บริหารบริษัทมุ่งเน้นผลประกอบการรายไตรมาสมากกว่าการลงทุนที่จะเกิดผลดีต่อองค์กรในระยะยาว ในภาคเกษตร การมุ่งเพิ่มผลผลิตในแต่ละฤดูกาล นำไปสู่การใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงที่สูงเกินควร ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคแล้วยังสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในระยะยาว  การใช้จ่ายของภาครัฐในอดีตส่วนใหญ่เน้นที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าการวางโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวเพื่อเสริมศักยภาพหรือสร้าง platform ใหม่ให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย

ที่สำคัญพัฒนาการทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่เป็นรากฐานสำคัญของนวัตกรรมหลายเรื่องในปัจจุบันอาจกลายเป็นตัวทำลายความอดทนอดกลั้นของเราทุกคน ในโลกที่ข้อมูลล่าสุดจำนวนมหาศาลอยู่เพียงปลายนิ้วมือ การรอคอยกลายเป็นเหมือนต้นทุนของเรา ความอดกลั้นจึงไม่ได้รับการฝึกฝน และความอดทนนับวันจะหายากขึ้นเรื่อย ๆ ในการใช้ชีวิตของเรา โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน Herbert Simon ได้เคยกล่าวไว้อย่างเฉียบคมว่า “ข้อมูลดึงดูดความสนใจของผู้ที่ได้รับมัน ดังนั้นความร่ำรวยของข้อมูลย่อมนำไปสู่ความยากไร้ของสมาธิและความสนใจ” (… information consumes the attention of its recipients. Hence a wealth of information creates a poverty of attention.)

ภายใต้บริบทนี้ ภาครัฐควรทำอะไร

ในขั้นพื้นฐานภาครัฐรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยควรสนับสนุนพลวัตของการเปลี่ยนแปลงโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรม ภาครัฐควรสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ป้องกันการผูกขาดหรือการรักษาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่สืบเนื่องกันมานาน รวมทั้งกระตุ้นการแข่งขันเพื่อผลักดันให้การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

ที่สำคัญ ภาครัฐเองต้องมีประสิทธิภาพ กฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย ซับซ้อน ยุ่งยาก หรือเปิดช่องในการตีความมากเกินไป เป็นต้นทุนสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนไทยและเป็นต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่พึ่งเทคโนโลยีสูง เราควรมีกระบวนการทบทวนและประเมินผลกระทบของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันและที่คาดว่าจะออกใหม่ ให้สอดคล้องกับบริบทและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรม โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีลักษณะบุกเบิก มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินทุนที่มีความต่อเนื่องแน่นอนในระยะยาว ภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยในการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้ การลงทุนของภาครัฐในลักษณะนี้ จะช่วยให้ภาคธุรกิจเห็นโอกาสที่สามารถเกิดขึ้นได้จากนวัตกรรมต่าง ๆ 

จริงอยู่ที่นวัตกรรมต้องพึ่งการลงทุน แต่ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับการมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น ภาคธุรกิจจะลงทุนก็ต่อเมื่อมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจากเทคโนโลยีต่าง ๆ  การลงทุนของภาครัฐสามารถช่วยให้ภาคเอกชนเห็นว่าโอกาสนั้นมีอยู่จริง 

ดังนั้นโจทย์สำคัญสำหรับภาครัฐจึงไม่ได้อยู่ที่การลดต้นทุนทางการเงินหรือภาษีของการลงทุนของภาคเอกชนแต่เพียงอย่างเดียว  แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจกล้าที่จะลงทุน และมีความต้องการที่จะลงทุนใหม่ ดังที่ John Maynard Keynes ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการกระตุ้น “animal spirits” ของผู้ประกอบการ มิเช่นนั้น มาตรการต่าง ๆ จะเป็นเพียงการ “ผลักดันด้วยเส้นด้าย” (pushing on a string) ซึ่งจะไม่เกิดผลที่คาดหวัง

ดังนั้น นอกจากการแก้ไขกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์แล้ว ภาครัฐสามารถมีบทบาทช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการลงทุนที่ส่งเสริมนวัตกรรมระดับแนวหน้า และเพิ่มพูนศักยภาพของเอกชน

ภาครัฐไม่ควรมุ่งแต่จะ “ซ่อมแซม” เศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ควรมุ่งที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจในอนาคตโดยการเพิ่มความสามารถของกลไกตลาดที่จะขับเคลื่อนการลงทุนระยะยาว เราต้องไม่ลืมว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโอกาสทางธุรกิจที่ตามมา

แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือ โทรศัพท์ iPhone ที่หลายท่านใช้อยู่นั้น ใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ไมโครชิพ คลื่นการสื่อสารเคลื่อนที่ ระบบนำทาง GPS หน้าจอสัมผัส หรือแม้กระทั่งเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ก็ล้วนมีต้นแบบมาจากงานวิจัยค้นคว้าภายใต้โครงการลงทุนภาครัฐทั้งสิ้น ก่อนจะได้รับการพัฒนาต่อยอดมาตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยภาคธุรกิจ

นอกจากบทบาทในการลงทุน สร้างสภาพแวดล้อม บุกเบิก และผลักดันกลไกตลาดแล้ว ภาครัฐอาจเพิ่มบทบาทในการแก้ปัญหาการกระจุกตัวของโอกาสทางธุรกิจด้วย ผ่านการถ่ายทอดนวัตกรรมเพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจเกิดใหม่ ๆ และประชาชนฐานราก มีส่วนร่วมมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักถึงบทบาทในการสนับสนุนพลวัตของการเปลี่ยนแปลงโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรม และได้ริเริ่มดำเนินงานหลายด้านที่อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย อาทิ การร่วมมือกับกระทรวงการคลังขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมให้ประชาชนยอมรับนวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ การใช้กรอบ regulatory sandbox เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน หรือ Fintech การนำเสนอพระราชบัญญัติระบบการชำระเงินที่เท่าทันต่อพัฒนาการของบริการชำระเงินใหม่ ๆ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว การปฏิรูปกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนของภาคธุรกิจและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินประเภทใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data เพื่อให้การทำนโยบายตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย งานเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีงานอีกมากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยด้วยการสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรม

งานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีที่เราจะมีอายุครบ 75 ปีในปีนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ “เศรษฐกิจ คิดใหม่” เพื่อหวังที่จะตอกย้ำความสำคัญและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพในประเทศไทย โดยมุ่งที่จะตอบโจทย์ในหลากหลายมิติ อาทิ นวัตกรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยสำคัญต่อการถ่ายทอดนวัตกรรม นโยบายการแข่งขันมีผลต่อการสร้างนวัตกรรมมากน้อยเพียงใด และรูปแบบเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปควรเป็นอย่างไร

“ผมขอขอบคุณคณะผู้วิจัย ผู้วิจารณ์บทความ ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์ปาฐก ที่ให้เกียรติมาร่วมนำเสนอและแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ และขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมงานสัมมนากับเรา ผมหวังว่างานสัมมนาในครั้งนี้จะนำเสนอแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมของประเทศ และส่งเสริมกรอบความคิดที่สอดรับกับการเรียนรู้เทคโนโลยี ตลอดจนวิธีการทำงานใหม่ ๆ  เพราะการ “คิดใหม่” จะสร้างความแตกต่างได้ ก็ต่อเมื่อครอบคลุมถึงการปรับวิธีการคิดและทัศนคติให้เปิดกว้างยอมรับการเปลี่ยนแปลงในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม”

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอเชิญท่านผู้มีเกียรติทุกท่านร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของการสร้างนวัตกรรมที่สะท้อนจิตวิญญาณของการเปลี่ยนแปลงอย่างทรงพลัง ด้วยพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล และพระวิริยะอุตสาหะ พระองค์ท่านทรงนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์เข้ากับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการและบริบทของสังคมไทยที่หลากหลาย เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเมืองและชนบท ผ่านโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ  พระองค์ท่านได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า นวัตกรรมที่สร้างสรรค์จากความคิดที่เรียบง่าย ประหยัด ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแกล้งดิน หรือกังหันน้ำชัยพัฒนา สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และมีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากได้

งานวิจัยและพัฒนาของพระองค์ท่านเน้นที่การบูรณาการความรู้จากหลายศาสตร์วิชา และทรงทดลองนำร่องให้เห็นผลก่อนที่จะนำไปขยายผล ทรงสร้างสนามทดลองในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและใช้ได้จริงในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทรงสร้างต้นแบบของความสำเร็จที่เป็นแนวทางให้พื้นที่อื่น ๆ  สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เร็ว

จะเห็นได้ว่ากระบวนการสร้างนวัตกรรมของพระองค์ท่านนั้นครบวงจร เริ่มจากพระราชปณิธานที่ชัดเจน พระวิริยะอุตสาหะที่ทรงทดลองปรับปรุงจนได้ผลสำเร็จ และทรงถ่ายทอดสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลจริงในวงกว้าง คงจะดีไม่น้อยหากทุกภาคส่วนของสังคมไทยน้อมนำหลักคิดและหลักการทรงงานของพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างใน การคิดใหม่เพื่อส่งเสริมการสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรม เพื่อให้การพัฒนาประเทศของเราสมดังพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่คนไทย