ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน: ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี กับงานปรับโครงสร้างแบงก์ชาติ

บันทึกภาคประชาชน: ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี กับงานปรับโครงสร้างแบงก์ชาติ

15 เมษายน 2022


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยเชิญ 6 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมสนทนา (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ) โดยผู้ว่าการฯ แต่ละท่านเหลียวหลังถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และแนวการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในการแก้ปัญหาขณะนั้น พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาแลหน้า เพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอมุมมองการ เหลียวหลัง ของแต่ละอดีตผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการดำเนินแนวนโยบายในขณะนั้น ดังนี้

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

  • บันทึกภาคประชาชน: “ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี ว่าด้วยวิกฤติต้มยำกุ้ง
  • บันทึกภาคประชาชน: “ธาริษา วัฒนเกส” เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี ว่าด้วย วิกฤติเศรษฐกิจ-การเมือง
  • ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 19 จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปริญญาโทบริหารรัฐกิจ จาก Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รับราชการที่กระทรวงการคลัง จนได้เป็นปลัดกระทรวงการคลัง ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ธปท. หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งได้เพียง 9 เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2541 ถึง พฤษภาคม 2544 ตลอดระยะเวลาการเป็นผู้ว่าการ ธปท. ต้องรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ต้องเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างการทำงาน ธปท. ใหม่

    ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติต้ำยำกุ้งปี 2540 นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีคลังขณะนั้น บอกว่า คนแบงก์ชาติลงคะแนนกันให้ผมได้เป็นผู้ว่าการ ธปท. เรื่องจริงหรือไม่ คงต้องถามท่านรัฐมนตรี หรือถามคนแบงก์ชาติสมัยนั้น พอมาที่ ธปท. ไฟสนามก็ปิด แท็กซี่ก็ไม่ยอมส่งผู้โดยสาร ผมถามคนแบงก์ชาติว่าใช้อะไรเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อ ก็ได้รับคำตอบว่า อัตราดอกเบี้ย บวกด้วยอัตราแลกเปลี่ยน หารด้วยสอง อะไรทำนองนั้น ส่วนผมถูกหัดมาเป็นวิศวะ ก็ทำ dimensional analysis ให้ทันทีว่า สูตรของแบงก์ชาติบวกและหารกันไม่ได้ เพราะเป็นคนละหน่วยกัน คือ อัตราดอกเบี้ยหน่วยเป็นร้อยละต่อปี ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน หน่วยคือดอลลาร์ต่อบาท ตามหลักวิศวะมันบวกแล้วหารสองไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครตอบอะไรได้มากกว่านั้น วันหนึ่ง ผมต้องไปตามคำเชิญของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พอขึ้นเวที ก็มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามว่า “Sir what about inflation targeting?” ผมไม่เคยได้ยินมาคำ inflation targeting มาก่อน ไม่มีใครที่ ธปท. พูดถึงเลย ผู้สื่อข่าวคนนั้นดูหน้าผมก็รู้ เพราะผมหน้าเหลอ เขาคงสงสารประเทศไทย โดย ธปท. เวลานั้นมีเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินเครื่องมือเดียว คือ อัตราดอกเบี้ย

    ทั้งนี้ ถ้า ธปท. มีเป้าหมายสร้างความสงบให้เศรษฐกิจ ให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโครงสร้าง และเอกชนเป็นผู้ทำการค้าหากำไร ก็ดูจะเข้าท่าดี ตอนนั้นมีประเทศที่ใช้หลักนี้อยู่ 7 ประเทศ ก็ดูจะสงบเรียบร้อยดี จึงทำการแบ่งสายงาน ธปท. ใหม่ เป็น สายงานนโยบายการเงิน สายงานสถาบันการเงิน และสายงานระบบการชำระเงิน 2 สายแรกชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ส่วนระบบการชำระเงินตอนนั้นมี Western Union กับ Swift แต่เริ่มมีคอมพิวเตอร์เต็มไปหมด ก็เลยรู้สึกว่า อนาคตระบบชำระเงินน่าจะเป็นใหญ่ และธนาคารพาณิชย์จะเป็นเพียงติ่งที่มีไว้เก็บเงินตอนที่คนยังไม่ได้เบิกเงิน หรือได้โอนเงินกัน ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้นค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว มี SCB มี SCBX และ BITCUB เป็นกลุ่มเดียวกันเป็นต้น ก็ต้องคอยดูกันว่าจะเป็นไปอย่างไรต่อไป

    ขอกลับไปเล่าเรื่องวิกฤติต้มยำกุ้ง ไอเอ็มเอฟ ตอนนั้นประเทศไทยไม่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่เลย จะซื้อสินค้าแต่ละครั้งต้องไปขอเบิกเงินจากไอเอ็มเอฟ รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ขอทุกครั้งต้องมีหนังสือบอกไอเอ็มเอฟว่า จะทำอะไร อย่างไร เรียกว่า Letter of Intent (หนังสือแสดงเจตจำนง) ลงนามกัน 3 ฝ่าย ระหว่างไอเอ็มเอฟ กระทรวงการคลัง และผู้ว่าการ ธปท. เขียนกว้างๆ พอให้โลกรู้ว่าประเทศไทยจะทำอะไร อย่างไรต่อไป เสร็จแล้วก็จะมี Secret Letter ลงนามระหว่างไอเอ็มเอฟกับผู้ว่าการ ธปท. ว่า ตาม Letter of Intent นั้น จริงๆ แล้วจะทำอะไร เช่น กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้ เป็นต้น

    ตอนนั้น ดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร ประมาณ 20% แต่อัตราเงินเฟ้อ 2% ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครแก้ ธปท. เป็นอัมพาต ขณะที่ไอเอ็มเอฟ เองก็กลัวพลาด ประเทศไทยก็เลยเป็นอัมพาต เพราะไม่มีใครลงทุนหรือค้าขายได้ในสภาพเช่นนั้น

    “ผมก็เลยสั่งฝ่ายตลาดเงินให้เข้าไปเทรด จะซื้อ หรือขายราคาเท่าไหร่ก็ได้ ขอให้ได้ปริมาณการซื้อขายอย่างน้อย 30% ของตลาด ไม่ต้องกลัวขาดทุน ธปท. ไม่มีบทว่าด้วยล้มละลาย ซื้อเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ เป็นนโยบายการเงิน ขาดทุนหรือกำไรเท่าไหร่ จดให้ถูกก็แล้วกัน แล้วเพิ่มทุน ลดทุนให้สอดคล้อง ทำได้สักพัก ก็สั่งให้ซื้อขายพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ย 2% ตลาดตามทันทีวันนั้นเลย เอกชนไม่ได้โง่ เขาอ่านทางออก ก็เลยตามทันที ประเทศเลยเริ่มเข้าสภาพที่เป็นไปได้ วันต่อมา หัวหน้าผู้แทนไอเอ็มเอฟก็เลยให้ผมลงนามใน Secret Letter อีกฉบับ ทำให้มี Letter of Intent จำนวน 6 ฉบับ แต่ Secret Letter มี 7 ฉบับ”

    อีกเรื่อง ตอนอยู่กระทรวงการคลัง เนื่องจากระบบราชการเงินเดือนต่ำ คนเก่งก็เลยไม่อยู่ จึงคิดตั้งสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เป็นกึ่งเอกชน เงินเดือนดีพอสมควร โดยให้คนเก่งทำงานกับกระทรวงการคลังให้ได้ ทำงานกับราชการสักพักก่อนจะไปทำงานกับเอกชน วันหลังกลับเข้ามาทำงานราชการจะได้ไม่พลาด โดยกำหนดคุณสมบัติว่า ต้องสอบได้ที่ 1 ของประเทศไทย เรียนจบจากมหาวิทยาลัย เยลหรือฮาร์วาร์ด ทำงานไอเอ็มเอฟหรือธนาคารโลก ตอนนั้นมี 2 คน ผมก็ไปชวนมา ก็ได้รับคำตอบที่ดี ต่อมาทั้ง 2 คนได้ทำงานกับนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีคลัง มาเห็นอีกทีทั้ง 2 คนได้เป็นผู้ว่าการ ธปท. (นายวิรไท สันติประภพ จบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เริ่มทำงานที่ไอเอ็มเอฟ กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จบปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นทำงานที่บริษัทแมคเคนซีและธนาคารโลก ก่อนที่ทั้งสองคนจะได้รับการชักชวนจาก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ให้กลับมาทำงานที่ประเทศไทย และต่อมาทั้งสองคน ได้เป็นผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง)

    ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

    อีกเรื่อง คือ การแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดทำร่างแก้ไขไว้ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. ได้มาดำเนินการต่อจนมีผลบังคับใช้ปี 2551 ตอนร่างกฎหมาย ผู้ว่าการ ธปท. มีอิสระ แต่เมื่อร่างกฎหมายมาอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ผมเป็นกรรมการอยู่ด้วย คุณปลั่ง มีจุล อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บอกว่า อิสระได้อย่างไร ธปท. ก็เป็นส่วนหนึ่งของราชการ ฉะนั้น อิสระไม่ได้ เอาเป็นว่า หากรัฐมนตรีจะให้ผู้ว่าการ ธปท. ออกจากตำแหน่ง ต้องให้เหตุผล กฎหมายที่ออกมาจึงมีการกำหนดเทอมของผู้ว่า ธปท. และรัฐมนตรีคลังสามารถปลดผู้ว่าการ ธปท. ได้ โดยต้องมีเหตุผล โดยกฎหมายให้อำนาจแต่งตั้งผู้ว่า ธปท. เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.), ประธานคณะกรรมการสถาบันการเงิน (กนส.), ประธานคณะกรรมการระบบการชำระเงิน โดยประธานกรรมการ ธปท. มีหน้าที่เดียว คือ ไล่ผู้ว่าการ ธปท. ออก ถ้าผู้ว่าการ ธปท. ทำผิด แต่อย่าให้ขาดอิสระเลยจากรัฐบาล ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อ (Infration Targetting) ก็เหมือนกัน เขียนกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของ ธปท. แต่ถูกให้เขียนกฎหมายใหม่ว่า ทุกเดือนธันวาคม ต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

    “อย่างไรก็ตาม การบริหารของ ธปท. ค่อนข้างดี มีรายละเอียดมากมาย เดินได้ดี เป็นกฎหมายที่ออกมาคนละครึ่งทางระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. ไม่อิสระเลย แต่ก็มีความอิสระระดับหนึ่ง โดย ธปท. มีหน้าที่ดูแลด้านเสถียรภาพ รัฐบาลมีหน้าที่ลงทุน เอกชนมีหน้าที่ค้าขาย รัฐบาลลงทุนมาก ธปท. ก็ว่าได้ เพราะกฎหมายกำหนดว่า ต้องมีกรรมการ 3-4 ฝ่ายที่มีผู้ว่าการ ธปท. ด้วยมาหารือกัน เพราะฉะนั้น กฎหมายนี้ออกมาแบบประนีประนอมกันมาก แต่ที่สำคัญคือ คนปฏิบัติพยายามตั้งใจให้ดี พูดกันให้รู้เรื่องก็น่าจะเวิร์ก”

    นอกจากนี้ กฎหมาย ธปท. กำหนดให้มีกรรมการจากบุคคลภายนอก เพราะคน ธปท. อยู่ในกรอบ เรียนจบมาเข้าทำงานใน ธปท. แล้วไม่เคยไปไหน ไม่เคยเจอใคร ก็อยากให้มีการเปิดหู เปิดตา เปิดกว้าง และสมัยผมมีจัดสัมมนาประจำปี เพื่อให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเอกชน บริษัทเงินทุน กับ ธปท. ทำได้อยู่ปี 1-2 ปี แต่หลังจากออกจาก ธปท. สัมมนาที่จัดก็ไม่เวิร์ก ไม่สามารถทำให้ ธปท. ได้รับฟังความเห็นจากภาคเอกชนว่า สิ่งที่ ธปท. ทำดี หรือไม่ดี อย่างแท้จริง ไม่สามารถทำให้ ธปท. บอกได้ว่า การออกมาตรการต่างๆ เพราะมีแนวคิดอะไร มีปัญหาอะไร กลายเป็นเวทีให้เอกชนมาเอาใจ ธปท. ส่วน ธปท. ก็ไปแสดงวุฒิให้เอกชนฟัง

    “อยากขอฝากผู้ว่าการ ธปท. ให้งานสัมมนาประจำปี สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นแบบฆ่ากันตายเลย เอาอาจารย์ นักวิชาการที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า รู้มากกว่า ธปท. มาพูด แล้ว ธปท. ก็พูดว่าคิดอย่างไร เพียงเท่านี้ก็จะช่วยประเทศได้มาก ธปท. จะได้เปิดออกมารับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เพราะจะเป็นกระบวนการสร้างความคิด และแก้ความผิดพลาด”

    “เดี๋ยวนี้ผมไม่ไปงานสัมมนาประจำปีของ ธปท. เลย เพราะไม่มีประโยชน์ มันไม่ได้สร้างการโต้วาที ฝากท่านผู้ว่าการ ธปท. ให้สร้างบรรยากาศ ต่อว่า ต่อขานกัน ฆ่ากันตายไปข้างหนึ่ง เพราะจะช่วยประเทศได้มาก”