ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน: ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ธปท. 80 ปี กู้ความเชื่อมั่นและศรัทธา “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

บันทึกภาคประชาชน: ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ธปท. 80 ปี กู้ความเชื่อมั่นและศรัทธา “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

1 พฤษภาคม 2022


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยเชิญ 6 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมสนทนา (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ) โดยผู้ว่าการฯ แต่ละท่านเหลียวหลังถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และแนวการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในการแก้ปัญหาขณะนั้น พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาแลหน้า เพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอมุมมองการ เหลียวหลัง ของแต่ละอดีตผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการดำเนินแนวนโยบายในขณะนั้น ดังนี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ระบุว่า เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2544 – ตุลาคม 2549 หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งไม่นาน โจทย์สำคัญขณะนั้นคือ ความเชื่อมั่นและความศรัทธาใน ธปท. ตกต่ำลงมาก เทียบกับก่อนหน้าที่จะมีวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ผู้คนมีความเชื่อมั่นใน ธปท. อย่างเต็มที่ เชื่อว่าเป็นองค์กรที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจริง เชื่อว่าถ้าเกิดปัญหาเศรษฐกิจก็จะช่วยแก้ไขได้ แต่เหตุการณ์ต้มยำกุ้งทำให้ความเชื่อนั้นสลายไป

โดยช่วงปลายปี 2544 ได้มีการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัดความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ ธปท. ปรากฏว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาเหลือเพียง 10% เท่านั้น อีก 90% ไม่มีความเชื่อมั่น ธปท. เลย

และในการพบกับพนักงานเมื่อได้รับตำแหน่งผู้ว่าการฯ ปี 2544 พนักงานเล่าให้ฟังว่า หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง พนักงานเรียกรถแท็กซี่ พอบอกว่าไปธนาคารแห่งประเทศไทย แท็กซี่เชิญลงเลย เป็นตัวอย่างความเชื่อมั่นต่อ ธปท. ในขณะนั้น

ในวันนั้นเมื่อพนักงาน ธปท. ถามผมว่า โจทย์สำคัญ เป้าหมายสำคัญ ของผมคืออะไร ผมตอบไปว่า เป้าหมายสำคัญของผม คือ จะเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาใน ธปท. กลับให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่จะทำอย่างไรจะให้คนเชื่อถือ ศรัทธา ถ้าทำงานปกติ ดำเนินนโยบายการเงินปกติ สถาบันการเงินปกติ คงได้แค่ว่าประชาชนยังเชื่ออยู่ แต่คงไม่ได้ความศรัทธาเต็มที่ จึงต้องหาเรื่องอะไรใหญ่ๆ หาจังหวะเรื่องใหญ่ๆ แล้วทำให้สำเร็จสมบูรณ์ สำเร็จชนิดที่ว่าเกินความคาดหมายให้ได้

ปรากฏว่า เดือนมีนาคม 2545 มีรายงานจากสายตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ว่า ธนาคารศรีนคร มีฐานะการเงินแย่มาก หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงถึง 80% ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยรับ ต่ำกว่าดอกเบี้ยจ่ายมาก ขาดทุนอย่างมหาศาลทุกเดือน หากปล่อยไว้ไม่กี่เดือนธนาคารก็คงจะล้ม ถ้าธนาคารล้มก็อาจจะมีการแห่ถอนเงินฝาก และอาจลุกลามไปถึงสถาบันการเงินอื่นได้

เมื่อได้รับรายงานนี้ ก็นึกอย่างเดียวว่า นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ให้เสร็จให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ โดยต้องมีการรวมธนาคารศรีนครกับธนาคารอีกหนึ่งแห่ง ที่มีอยู่ในใจคือธนาคารนครหลวงไทย เพราะมีรัฐบาลถือหุ้น 100% เหมือนกับธนาคารศรีนคร

แต่การดำเนินการครั้งนี้คงปล่อยให้ 2 ธนาคารคุยกันเองไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้คุยกัน แค่อาทิตย์เดียว จะมีการถอนเงินฝากเหมือนเดิม จะต้องทำอะไรให้เสร็จให้เร็ว ให้คนไม่รู้ตัวให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการถอนเงินจากธนาคารออกไป ซึ่งอาจจะลามไปถึงธนาคารอื่นได้

ครั้งนั้น คุณเกริก วณิกกุล อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. มาบอกว่า การที่ธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารศรีนครเป็นของรัฐบาลนั้น เท่ากับว่าคำอนุมัติของรัฐมนตรีคลังเป็นเสมือนมติผู้ถือหุ้นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เลย พอได้คำแนะนำนี้ก็คิดโจทย์ออก โดยต้องรวม 2 ธนาคารนี้ให้เสร็จภายใน 1 วันให้ได้ ถ้าทำได้ตลาดจะไม่รู้ และจะไม่มีการถอนเงิน ทุกอย่างราบรื่น คิดแล้วก็แอบคุยกับคณะกรรมการของทั้งสองธนาคาร เพื่อขอความร่วมมือให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น

โดยคณะกรรมการ 2 ธนาคารให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ก่อนที่จะถึงวันดีเดย์ คือ วันที่ 1 เมษายน 2545 ได้มีการส่งคนของ ธปท. ประมาณ 4-5 คนเข้าไปในธนาคารนครหลวง พอถึงวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันศุกร์ เวลา 08.00 น. คณะกรรมการศรีนครเริ่มประชุมและมีมติให้ขายลูกหนี้ขายสินทรัพย์ถาวร โอนเงินฝากให้ธนาคารนครหลวงไทยหมด ประชุมเสร็จ 09.00 น. เวลา 09.30 น. คณะกรรมการธนาคารนครหลวงไทยประชุมรับซื้อลูกหนี้ สาขา สินทรัพย์ถาวร รับโอนเงินฝาก จากธนาคารศรีนคร เมื่อได้มติเรียบร้อยแล้ว โดยมติมีการเขียนไว้ให้ถูกกฎหมายไว้ก่อน ก็ให้ส่งมาให้ผู้ว่าการ ธปท. ภายใน 11.00 น. เมื่อได้รับมติของ 2 ธนาคารแล้ว ผู้ว่าการ ธปท. ก็ทำใบปะหน้าเรียนเสนอรัฐมนตรีคลังขออนุมัติให้เป็นตามมติคณะกรรมการ 2 ธนาคาร รัฐมนตรีคลังก็เซ็นอนุมัติและส่งกลับมาที่ผู้ว่าการ ธปท. เวลา 13.00 น. และนัดแถลงข่าวเลา 15.00 น.

“ยังจำได้ว่า นักข่าวมาเต็มไปหมด แถลงเรื่องการรวมกิจการที่ทำเสร็จภายในเวลา 1 วัน นักข่าวงงและบ่นกันใหญ่ว่าทำไมไม่ทราบ หลังจากการรวมธนาคารเสร็จแล้ว วันเสาร์ ผู้ว่าการฯ ก็ไปธนาคารศรีนครเพื่อประชุมกับพนักงาน เล่าให้ฟังว่าทำไมถึงต้องทำ เพราะถ้าปล่อยไว้ธนาคารจะล้ม พนักงานจะตกงาน แต่การทำครั้งนี้ไม่มีใครตกงาน ถ้าพนักงานพร้อมจะลาออกและไปสมัครงานที่ธนาคารนครหลวงไทย ทำให้พนักงานพอใจ การรวมธนาคารก็สำเร็จได้ เปิดมาวันจันทร์ สาขาธนาคารศรีนครก็กลายเป็นธนาคารนครหลวงไทย โดยยังไม่ต้องเปลี่ยนป้าย มาเปลี่ยนเอาทีหลัง เงินฝากของธนาคารศรีนครก็เป็นเงินฝากของธนาคารนครหลวงไทย ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น”

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถรวมธนาคารได้ภายใน 1 วัน ไม่มีการถอนเงินฝากแม้แต่บาทเดียว พนักงานทุกคนมีงานทำ โดยมีการเตรียมการอนุมัติไว้ให้เรียบร้อยหมด

“การทำสิ่งที่ยากให้เสร็จในเวลาอันสั้น และเสร็จแบบสมบูรณ์แบบ ความรู้สึกของวงการธนาคารเปลี่ยนไปอย่างทันทีเลย วงการธนาคารเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยทำอะไร ทำเป็น ทำได้ผล ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง และไม่มีผลเสียต่อวงการธนาคาร ผู้ฝากเงินก็พอใจ คนทั่วไปก็พอใจ เป็นการเรียกความเชื่อมั่นศรัทธากลับมาได้ส่วนหนึ่ง”

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2545 กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้สรุปยอดทางการเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ล้มลง พบว่าใช้ไปกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนั้นมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วส่วนหนึ่ง นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตรัฐมนตรีคลัง ได้ออกพันธบัตรมาล้างหนี้แล้วกว่า 5 แสนล้านบาท โดยทยอยขายพันธบัตรครั้งละ 3-5 หมื่นล้านบาท ใช้หนี้ไป 5 แสนล้านบาท ธปท. ออกพันธบัตรอีก 1.12 แสนล้านบาทก็ล้างหนี้ไปอีกส่วน

แต่ยังเหลืออีก 7.8 แสนล้านบาท ที่ยังเป็นหนี้ที่ยังหมกอยู่ วิธีการของ ธปท. ขณะนั้นคือหมุนเงินระยะสั้น ด้วยการออกตั๋วเงินคลังระยะเวลา 3 เดือนหมุนไปเรื่อยๆ ดูแล้วก็เข้าข่ายหมกหนี้ชัด ๆ และใน 7.8 แสนล้านบาทนั้น เท่าที่คำนวณมีโอกาสเป็นหนี้เสียแน่นอนแล้ว 3 แสนล้านบาท แต่ยังไม่ได้ล้าง หากต่างชาติรู้ข่าวการหมุนหนี้ครั้งละ 3 เดือน รวมทั้งการหมกหนี้เสียอีก 3 แสนล้านบาทไว้ เครดิตประเทศไทยจะเสียอย่างมากมาย

เมื่อรู้เรื่องเข้า ก็นำเรื่องไปปรึกษารัฐมนตรีคลัง ให้เสนอนายกรัฐมนตรีว่า ประเทศไทยต้องออกพันธบัตรอีก 3 แสนล้านบาทเพื่อมาล้างหนี้ก่อน จะออกทั้ง 7 แสนล้านบาทไม่ได้ ออกได้เฉพาะหนี้ที่คำนวณว่าเสียหายแล้ว การเสนอครั้งนั้น มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังคนหนึ่งค้านว่า ออกพันธบัตรทีเดียว 3 แสนล้านบาท ไม่มีทางทำได้สำเร็จ เพราะกระทรวงการคลังออกพันธบัตรครั้งละ 3 หมื่นล้านบาทก็ขายยากแล้ว ผมบอกว่า จะไม่ออกเป็น investent bond แต่จะออกเป็น saving bond หรือพันธบัตรออมทรัพย์ เพราะตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพอสมควร ถ้าออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ รับรองว่าขายได้แน่นอน นายกรัฐมนตรีต้องตัดสิน เผอิญว่า นายกรัฐมนตรีคนนั้นใจถึง บอกว่า ผมเชื่อผู้ว่าการฯ เชื่อว่าทำได้ แล้วโยนเรื่องให้ผู้ว่าการ ธปท. รับไปทำ ตอนนั้นยังปิดเป็นความลับอยู่

เมื่อผมรับเรื่องมา สิ่งที่ทำประการแรก คือไปหาหลวงตามหาบัว เพราะเวลานั้นมีเรื่องอยู่กับหลวงตามหาบัวเยอะ เผอิญผมบวชวัดป่าบ้านตาด เป็นลูกศิษย์วัดนั้น ไปเล่าให้หลวงตามหาบัวฟังว่า จำเป็นต้องออกพันธบัตรมาช่วยชาติ และขอใช้ชื่อ “พันธบัตรช่วยชาติ” แล้วท่านก็ไปเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง

หลังจากนั้น ผมในฐานะผู้ว่าฯ ก็แอบไปหาผู้จัดการสาขาธนาคารพาณิชย์ ถามว่า พันบัตรระยะยาว ดอกเบี้ย 6% ขณะที่เงินฝากดอกเบี้ย 4% ถ้าผมออกพันธบัตร 6% และให้ค่านายหน้าขายพันธบัตรอัตราปกติ คือ 1 สลึง คิดว่าจะขายได้หรือไม่ เพราะดอกเบี้ยเงินฝาก 4% ผู้จัดการสาขาแบงก์ทุกคนที่มาวันนั้นบอกว่า ขายได้หมด ขายง่ายมาก ดูลูกค้าคนไหนมีเงินฝากเยอะ วิ่งไปหาก็ขายได้แล้ว ได้ค่านายหน้าด้วย

ผมยังไปคุยกับกรรมการผู้จัดการธนาคารทุกแห่ง เล่าเรื่องให้ฟัง ขอความร่วมมือให้เขาเป็นนายหน้าในการขาย ต้องใช้สาขาที่มี 4,000 สาขาทั่วประเทศมาขายพันธบัตรช่วยชาติ

ก็ปรากฏว่า ครั้งแรกกรรมการผู้จัดการธนาคารยังไม่แน่ใจว่าจะขายได้หรือไม่ หายไป 2 อาทิตย์ ผมก็ไปหาอีก ทุกคนบอกว่าตกลงขายได้ แต่ขอเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง จะขายแบบทีเดียวไม่ได้

ผมก็มาเตรียมการ กำหนดวันขาย คือ วันที่ 2 กันยายน ซึ่งก็กลัวเหมือนกันว่า พันธบัตร 3 แสนล้านบาท ถ้าขายไม่หมด ตำแหน่งผมจะแขวนบนเส้นด้ายทันที เพราะรับปากเขามาแล้ว แต่ถ้าทำได้ คนจะเชื่อมั่นใน ธปท. ขึ้นทันที

“ก็คิดว่า ต้องให้หนังสือพิมพ์ช่วย วันจันทร์จะออกพันธบัตรช่วยชาติ ในวันพฤหัสบดี ผมนัดบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับ เล่าให้เขาฟัง ซึ่งเขาไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยว่า กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นหนี้อะไร เท่าไหร่ พอเล่าให้ฟัง รวมถึงสาเหตุที่ต้องออกพันธบัตร ถ้าออกพันธบัตรช่วยชาติและขายสำเร็จ 3 แสนล้านบาท เครดิตประเทศจะดีขึ้นทันที ขอให้หนังสือพิมพ์ช่วยเขียนสนับสนุนให้หน่อย โดยขอให้เขียนพร้อมกันในวันเสาร์ ทุกคนรับปาก เพราะรู้ว่าจะช่วยชาติ พอถึงวันเสาร์ หนังสือพิมพ์ 6 ฉบับก็เขียนข่าวออกมาหมด ทำให้ใจชื้น”

“พอวันจันทร์ เปิดมา ผมก็นั่งตามด้วยใจระทึก พอสิ้นวัน ตกใจเลย สมาคมธนาคารรายงานมาว่า ขายพันธบัตรไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ผมดีใจมาก พอถึงวันพุธ เวลา 11.00 น. หรือ 2 วันครึ่ง คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย โทรศัพท์มาบอกว่า ขณะนี้ขายหมดแล้วครับ ผมตกใจที่สามารถขายได้หมดภายในเวลา 2 วันครึ่ง ทั้งที่ตั้งใจว่าจะใช้เวลาขายประมาณ 3 เดือน เราทำสำเร็จ สำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ สำเร็จเกินความคาดหมาย แล้วเรื่องนี้รู้กันทั่วประเทศ”

หลังจากสองเรื่องนี้เสร็จ ปลายปี 2545 มีการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำรวจความเชื่อมั่นและศรัทธาใน ธปท. อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า จากที่เคยไม่เชื่อมั่น ธปท. 90% ลดเหลือ 30% จากที่เชื่อมั่น 10% เพิ่มเป็น 70% จากสองเหตุการณ์นี้ แต่ก็ยังไม่เพิ่มเต็มที่ จนกระทั่ง เกิดกรณีธนาคารกรุงไทย ที่เริ่มช่วงปลายปี 2546 ผู้ตรวจสอบของ ธปท. ที่ตรวจสอบธนาคารกรุงไทย พบว่ามีการปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากล สินเชื่อที่ปล่อยมีการยักยอกออกไปจากบริษัทที่กู้เงินไปใช้ที่อื่นด้วย ก็มีการดำเนินการหลายอย่าง หลายขั้นตอน จนในที่สุด ธปท. ตัดสินใจที่จะฟ้องคณะกรรมการบริหารธนาคาร ที่มีประธานคณะกรรมการเป็นพี่ชายรัฐมนตรี และกรรมการผู้จัดการนั้น ได้รับการสนับสนุนจากการเมืองเต็มที่

เมื่อมีการตัดสินใจฟ้องนั้น ปรากฏว่า เกิดวิบากรรมพอสมควร มีกระบวนการที่จะล้มผู้ว่าการ ธปท. ให้ได้ กระบวนการนั้นเริ่มวันที่ 11 สิงหาคม มีการปล่อยข่าวในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผู้ว่าการ ธปท. สั่งให้กองทุนฟื้นฟูฯ ขายหุ้นของธนาคารกรุงไทย คนก็เชื่อและแห่กันขายหุ้นกรุงไทย ราคาหุ้นกรุงไทยตกอย่างรวดเร็ว และตกไม่หยุด จนตลาดปิดทำการ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันหยุด ผมรู้ว่า 13 สิงหาคม เปิดมา ตลาดหุ้นถล่มธนาคารกรุงไทยอีก แล้วฝ่ายที่เดินเรื่องนี้เตรียมแผนว่า เป็นความผิดของผู้ว่าการ ธปท. เพื่อใช้สาเหตุนี้ปลดผู้ว่าการฯ

“ผมสืบจนรู้แผน ก็เตรียมการเต็มที่ มีทางเดียว คือ สู้ และต้องสู้แบบเอาตัวเองเข้าสู้ อย่าไปหวังใคร ผมนั่งร่างแถลงการณ์ที่จะอ่านให้นักข่าวในวันที่ 12 สิงหาคม เช้าวันที่ 13 สิงหาคม ผมสั่งเจ้าหน้าที่ให้แจ้งนักข่าวว่าผู้ว่าการ ธปท. จะแถลงการณ์เรื่องธนาคารกรุงไทย เวลา 10.00 น. นักข่าวมาหมด ถึงเวลา ผมแถลงว่า ตามที่มีข่าวว่า ผู้ว่าการ ธปท.สั่งกองทุนฟื้นฟูฯ ขายหุ้นธนาคารกรุงไทยนั้น ไม่เป็นความจริง และบอกว่า กองทุนฟื้นฟูฯ มีหุ้นจำนวนเท่าไหร่ บัดนี้ก็ยังมีจำนวนหุ้นเท่าเดิม และกล่าวถึงฐานะธนาคารกรุงไทย ที่มีความแข็งแรงมาก อ่านข้อมูลต่างๆ ให้เห็นชัด ทั้งเงินกองทุนแข็งแรง มีการตั้งสำรองหนี้สูญอย่างไร ธนาคารแข็งแรงอย่างไร พอแถลงข่าวอย่างขึงขังเต็มที่ สู้อย่างเต็มที่แล้ว ปรากฏว่า มีการหยุดขายหุ้นของกรุงไทยทันที แล้วภายในเที่ยงวันนั้นก็เอาอยู่ หุ้นกลับมาที่เดิมได้ พอเราสู้ชนะ”

“หลังจากนั้นมา ความน่าเชื่อของ ธปท. เพิ่มขึ้นทันที พอถึงสิ้นปี มีการสำรวจอีกครั้ง พบว่าความเชื่อมั่นเพิ่มจาก 70% เป็น 90% ความไม่เชื่อมั่นลดจาก 30% เหลือ 10% ผมก็รู้ว่า โจทย์สำคัญ ผมทำเสร็จแล้ว”