ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน: “วิรไท สันติประภพ” ธปท. 80 ปี กับงาน “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน”

บันทึกภาคประชาชน: “วิรไท สันติประภพ” ธปท. 80 ปี กับงาน “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน”

25 เมษายน 2022


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยเชิญ 6 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมสนทนา (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ) โดยผู้ว่าการฯ แต่ละท่านเหลียวหลังถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และแนวการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในการแก้ปัญหาขณะนั้น พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาแลหน้า เพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอมุมมองการ เหลียวหลัง ของแต่ละอดีตผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการดำเนินแนวนโยบายในขณะนั้น ดังนี้

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จบปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้กลับมาทำงานในไทย เป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จากนั้นได้ไปทำงานในองค์กรหลายแห่ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนรับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ในเดือนตุลาคม 2558 – กันยายน 2563

ดร.วิรไท กล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงหนึ่งของการเดินทางของชีวิตที่มีความสำคัญมาก และขอบคุณผู้ว่าการ ธปท. ทุกท่านที่ได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทยและระบบสถาบันการเงินไทย ทำให้ไม่ต้องเผชิญปัญหาความอ่อนแอของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วง 5 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ธปท. เสถียรภาพด้านต่างประเทศก็ดีมาก แม้จะเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลก หรือวิกฤติแฮมเบอเกอร์ ประเทศไทยก็สามารถรับแรงปะทะได้ค่อนข้างดี มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ปัญหาในช่วง 5 ปีที่เป็นผู้ว่าการ ธปท. จึงเป็นเรื่อง เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเป็นส่วนใหญ่

แต่ปัญหาที่ต้องเผชิญในช่วง 5 ปีนั้น 1. เป็นโลกที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงมาก เป็นโลกที่มีความซับซ้อน และคลุมเครือขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ บนโลกที่เรียกว่า VUCA (V-Volatility ความผันผวน, U-Uncertainty ความไม่แน่นอน, C-Complexity ความซับซ้อน, A-Ambiguity ความคลุมเครือ) 2. อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกอยู่ในระดับต่ำมากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในไทยอยู่ในระดับต่ำด้วย อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่อง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทุกคนพยายามแสวงหาผลตอบแทนสูง หรือ Search for Yield การแสวงหาผลตอบแทนสูงไม่ใช่เรื่องผิด แต่มักจะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร หรือ Under Pricing Risk ซึ่งเกิดขึ้นในระบบการเงินของไทยค่อนข้างมากตลอดช่วง 5 ปี นอกจากนี้ การเผชิญกับความไม่แน่นอนก็มาจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ประเทศใหญ่ๆ มีปัญหาเศรษฐกิจ และดำเนินมาตรการหลายอย่างที่มากระทบไทยโดยไม่ตั้งใจ

ความท้าทายกลุ่มแรกของการทำงานของธนาคารกลางคือเรื่องเสถียรภาพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่เรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศ หรือเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ กลุ่มผู้บริหาร ธปท. ต้องมาดูกันว่า ความท้าทายด้านเสถียรภาพอยู่ตรงไหน ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้มีความกังวลในระบบการเงินเงา หรือ Shadow Bankig หรือ Nonbank เพราะเห็นปรากฏการณ์การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำค่อนข้างมาก จากกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของ Nonbank ไม่เข้มเท่าระบบการกำกับดูแลของธนาคารพาณิชย์ และเงินเหมือนน้ำที่จะไหลไปในที่มีอุปสรรคน้อยกว่า มีกฎเกณฑ์กติกาน้อยกว่า หรือให้ผลตอบแทนมากกว่า

เราพบว่ามีอย่างน้อย 3 จุดที่มีโอกาสในการสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินได้ในส่วนของ Nonbank คือ

1. ตลาดทุน คงจำได้ว่าช่วงแรกมีปัญหาเรื่องหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Non Rated Corperate Bond ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ออกช่วงสั้นๆ เวลา 3-6 เดือน ทุกคนไปซื้อเพราะคิดว่าจะหมุนได้ตลอดเวลา ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะเป็นคนแรกที่ออกได้ ไม่เสียหายอะไร แต่เมื่อบริษัทที่ออกตราหนี้เหล่านี้บางแห่งมีปัญหา ไม่สามารถชำระได้ และมีโอกาสที่จะลามได้ เพราะนักลงทุนจะลงทุนในตราสารลักษณะนี้ในหลายบริษัท

ขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลต้องทำมาตรการล็อกดาวน์แรงๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะงัก และกระทบต่อความมั่นใจในตลาดทุน ตลาดเงิน จนตลาดบอนด์มีปัญหา แม้กระทั่งพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำสุด นักลงทุนยังขายทิ้งออกมา ธปท. ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในคืนวันศุกร์ และต้องทำมาตรการเพิ่มอีกมาก เพราะเห็นว่าหากไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาเหล่านี้ได้ ไฟจะลามทุ่งมาสู่เสถียรภาพระบบการเงินทั้งหมด นี่เป็นกลุ่มแรก คือ Nonbank ที่เป็นความท้าทาย

2. สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่เริ่มเป็นแหล่งดึงดูดเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ในระดับสูง แต่กฎเกณฑ์การกำกับมีปัญหาอย่างที่ทราบ ทั้งเรื่องการทุจริต และบริหารความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ธปท. ได้ร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และ 3. เป็นความกังวลที่อาจจะจุดปัญหาระบบสถาบันการเงินได้ คือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีการทำนโยบายกึ่งประชานิยมที่อาศัยสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นกลไก ทำให้มีความเสียหายต่างๆ ที่อาจถูกบันทึกไม่ตรงไปตรงมา ธปท. เข้าไปมีบทบาทในการกำกับดูแล สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องออกเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

สำหรับความท้าทายในกลุ่มที่สอง เรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน หากปล่อยไว้วันข้างหน้าจะเป็นระเบิดเวลาในอนาคตได้ เรื่องแรก คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก่อนหน้านี้ธปท.ได้เพียงแค่ยกธงเตือนเท่านั้น และคาดหวังว่าจะมีการออกนโยบายหลายๆ ด้านเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่เวลานั้นก็คิดกันว่า ธปท. ควรมีบทบาทในการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง มีการออกกฎเกณฑ์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ ธปท. เป็นผู้กำกับดูแล รวมทั้งเมื่อผนวกกับเรื่องการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ก็เริ่มเห็นบทบาทการทำธุรกิจที่ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้มากจนเกินควร จึงมีมาตรการ Macro Prudential เช่น มาตรการกำกับดูแลบัตรเครดิต มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เพราะเกิดปรากฏการณ์สินเชื่อเงินทอน คือประเมินราคาบ้านสูงเกินจริง รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ก็ปล่อยสินเชื่อท็อปอัพไปอีก เช่น ราคาบ้าน 100 บาท แต่ให้สินเชื่อ 120 บาท ทั้งที่ราคาบ้านก็มีการเก็งกำไรกันอยู่แล้ว ปัจจัยเหล่านี้เป็นระเบิดเวลา ถ้าไม่เข้าไปจัดการและสะสมไว้ หากเกิดระเบิดขึ้นมาก็จะเป็นปัญหากับเสถียรภาพระบบการเงินจะมีต้นทุนสูงมากหากเข้าไปจัดการทีหลัง

เรื่องต่อมา กรณีนี้ไม่ใช่ระเบิดเวลา แต่เป็นระเบิดที่เกิดขึ้นบ่อยมาก คือภัยจากไซเบอร์ เกิดขึ้นบ่อยมากจนคิดว่าต้องทำงานกันอย่างจริงจังกับธนาคารพาณิชย์ในการสร้างเกราะคุ้มภัยในเรื่องของ Cyber Resilience ภาคการธนาคารเป็นภาคแรกของระบบเศรษฐกิจไทยที่มีการจัดตั้ง Computer Emergency Response Team (CERT หรือ ทีมสำหรับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) ขึ้น และเป็นต้นแบบให้กับหลายอุตสาหกรรม

“ในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โจทย์ท้าทายที่แตกต่างไปจากเดิม แต่หลักการจะคล้ายๆ กัน และเป็นสิ่งที่พูดกันมากในแบงก์ชาติช่วง 5 ปีที่ผมเป็นผู้ว่าการฯ คือ เราจะต้องจับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม เป็นหลักการทำงานของเรา”

กลุ่มที่สองที่สำคัญต่อการทำงาน คือ ด้านพัฒนา ประเทศไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างมานาน ถ้า ธปท. ไม่จัดการ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบือนอยู่จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต่อผลิตภาพ และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธปท. พยายามทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ขึ้น

เรื่องแรก คือ การพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเทคโนโลยี แต่โจทย์สำคัญ คือ การสร้างระบบนิเวศที่จะทำให้เกิดการใช้ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ตอบโจทย์ของคนไทยโดยรวม โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ถูกมองข้าม นอกจากนี้ โครงสร้างค่าธรรมเนียมที่มีการบิดเบือน เมื่อก่อนนี้ เวลาไปสาขาธนาคารพาณิชย์ การฝากเงิน ถอนเงิน ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ทั้งที่ต้นทุนการบริหารเงินสดของระบบธนาคารพาณิชย์สูงมากอยู่ที่ 120-130 บาทต่อรายการ กดเอทีเอ็ม มีต้นทุนครั้งละ 27-30 บาทต่อรายการ เป็นต้นทุนของระบบที่ต้องแบกไว้ และไม่สามารถคิดค่าบริการได้

ขณะเดียวกัน มีบริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เกิดขึ้นต้นทุนถูกมากเป็นเศษสตางค์ แต่ธนาคารพาณิชย์ต้องคิดค่าบริการ 15-20 บาท และคนที่ต้องเสียมากที่สุด คือประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เพราะถ้าเป็นตัวใหญ่มักจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม และถ้าคิดว่า ระบบเศรษฐกิจไทยต้องไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การทำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นหัวใจขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ปัญหาความบิดเบือนของโครงสร้างค่าธรรมเนียม จึงเป็นเรื่องสำคัญ

จึงเกิดระบบการชำระเงินใหม่ๆ ที่ต้องเปิดกว้าง และเป็นฐานให้เกิดการพัฒนาฟินเทคใหม่ กลายเป็นระบบพร้อมเพย์ไทย คิวอาร์โค้ดสแตนดาร์ดสำหรับเพย์เมนท์ เกิดแซนด์บอกซ์ใหม่ๆ และเกิดความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่เป็นคู่แข่งกันมาทำสิ่งดีๆ ให้กับระบบการเงินไทย

ไม่ว่าจะเป็น NDID (National Digital ID: บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล) การใช้บล็อกเชน ทำ L/G หรือแม้กระทั่งการทำ Central Bank Digital Currency ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญอีกเรื่องคือการเชื่อมโยงระบบชำระเงินกับต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยมีต้นทุนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในการทำธุรกรรมโอนเงินไปต่างประเทศ ก็สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาแก้เรื่องเหล่านี้ได้

การพัฒนากลุ่มที่สอง ที่ทำต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนที่มาใช้บริการทางการเงิน เช่น ขายประกัน ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ในสาขาแบงก์ จึงทำ Market Conduct มีการออกกฎกติกาเพื่อสร้างความธรรมให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน ปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การเข้าไปดูแลกำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท ที่เมื่อก่อนเคยคิดว่าไม่ใช่ขอบเขตการดำเนินงานของ ธปท. เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่มีผลกระทบต่อประชาชนมาก การพัฒนาที่สำคัญอีกเรื่อง คือ ธปท. มีกฎระเบียบหลายอย่างที่ออกมาตั้งแต่ปี 2540 หลายเรื่องออกมาก่อนหน้านั้นอีก และไม่ค่อยได้เลิกกฎเกณฑ์กติกา ทำให้ ธปท. ต้องทำเรื่อง Regulatory Guillotine ปรับกฎเกณฑ์กติกาให้เท่าทันกับความเสี่ยง ความท้าทายและลดต้นทุนที่เกิดกับระบบทั้งหมด

กลุ่มที่สาม ที่ถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญ คือ การสร้างความเป็นเลิศให้กับองค์กร ธปท. ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ต้องได้รับความยอมรับ บุคลากรของ ธปท. ต้องเป็นผู้ชี้นำทิศทางให้อุตสาหกรรม ความเป็นเลิศจึงต้องมาทั้งในบุคลากรของ ธปท. เอง จุดไหนที่ขาดคนก็ต้องเอาคนข้างนอกเข้ามา และทำอย่างไรให้คน ธปท. รอบรู้และรอบด้านด้วย มีการตั้งฝ่ายงานใหม่ๆ ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสถียรภาพการเงิน ฝ่ายฟินเทค ฝ่ายตรวจสอบเทคโนโลยีสถาบันการเงิน รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

และที่สำคัญมาก คือด้าน Data Analytic ทำให้การทำนโยบายของ ธปท. สามารถจับชีพจรเศรษฐกิจได้ทันท่วงเวลา โดยอาศัยข้อมูลใหม่ๆ ทำให้นโยบายของ ธปท. มี Evidence based คือมีประจักษ์พยาน ไม่ใช่เป็นการทำนโยบายตามกรอบเดิม ตามความรู้สึก ความเชื่อเท่านั้น มีการส่งเสริมให้ระบบการเงินของประเทศไทยเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น Digital Transformation จะมีความสำคัญมากขึ้น มีการใช้กลไกใหม่ๆ เข้ามาทำงานใน ธปท. เช่น Robotic Processing Automation หรือ RPA มาทำงานที่เมื่อก่อนใช้คนค่อนข้างเยอะ หรือการปรับเปลี่ยน Mindset ต่างๆ ให้เปิดรับเรื่องดิจิทัลมากขึ้น ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก

  • โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่ : “The Journey of Thai Payment” คว้าที่ 1 เจาะลึกระบบการชำระเงินไทย
  • โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่: ถอดรหัสสินเชื่อผ่าน “Soft Loan Dashboard”
  • โครงการ BOT Data Viz Art สื่อสารแบบใหม่: “Corporate Convergence” เปิดภาพโครงสร้างธุรกิจไทย “กระจุก-กระจาย” รายภูมิภาค
  • “ท้ายสุดที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ธปท. มีบุคคลากรที่เก่งแล้ว เรื่องหัวใจของบุคลากรก็เป็นเรื่องที่สำคัญด้วย ธปท. จะประสบความสำเร็จ บุคลากรต้องมีฐานคิด ฐานทำ และฐานใจ ฐานคิดเรามีคนเก่งๆ มีนักวิชาการที่ใช้ความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ค่อนข้างมาก ไม่เป็นปัญหา ฐานทำในอดีตบางช่วงอาจจะให้น้ำหนักค่อนข้างน้อย แต่ถ้าต้องการให้งานเกิดผลจับต้องได้ จะเป็นเรื่องฐานทำ แต่สิ่งสำคัญ คือฐานใจ เพราะว่า การทำงานของธนาคารกลางต้องเผชิญแรงกดดันหลากหลายด้าน และทุกอย่างที่ทำอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์ก็มักจะนั่งเฉยๆ แต่ผู้เสียประโยชน์มักจะรวมกลุ่มกันและมากดดัน ธปท. พนักงานจึงต้องมีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่สำคัญ และมีหลายอย่างที่ได้ร่วมกันทำในช่วง 5 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.”

    นอกจากนี้ ในเรื่อง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มักจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนพอสมควร เกี่ยวกับความเป็นอิสระของ ธปท. จนคนคิดว่า ธปท. เป็นอิสระถึงขนาดว่าจะทำอะไรตามอำเภอใจได้ ซึ่งไม่จริงเลย ในโครงสร้าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีคณะกรรมการ ธปท. มีประธานคณะกรรมการกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้มาผ่านกรรมการสรรหา โดยรัฐมนตรีคลังจะแต่งตั้งกรรมการสรรหา ผู้ว่าการ ธปท. มีสิทธิ์เสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมเป็นกรรมการ ธปท. ปลัดกระทรวงการคลังก็สามารถเสนอชื่อได้ แต่ที่ผ่านมา ถ้าเสนอชื่อไม่ตรงกัน คนที่ผู้ว่าการ ธปท. เสนอมักจะไม่ได้รับเลือก มักจะเป็นคนที่กระทรวงการคลังเสนอชื่อเป็นส่วนใหญ่ จึงเห็นได้ว่ามีกลไกในการคานอำนาจซึ่งกันและกันอยู่ นอกจากนี้ ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เสียงส่วนใหญ่มาจากกรรมการภายนอก คน ธปท. ผู้บริหาร ธปท. เป็นเสียงส่วนน้อย เป็นความแตกต่างจากในอดีตที่นโยบายหลายอย่างอาจจะบอกว่าผู้บริหารแบงก์ชาติคิดเอง ทำเอง แต่ในโครงสร้างกรอบการทำนโยบายภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ได้เขียนในลักษณะการคานอำนาจ เขียนในลักษณะการเปิดโอกาสให้มุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิข้างนอกค่อนข้างมาก

    ช่วงที่เป็นผู้ว่าการ ธปท. มีผู้ว่าการธนาคารกลางหลายประเทศที่มาจาก Small open economy หรือเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก สนใจกฎหมายของไทย และบอกว่ากฎหมาย ธปท. ถือว่าเป็นกฎหมายที่ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดเล็ก มีประเด็นที่อาจจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กฎหมายเอื้อมากขึ้น คือ เรื่องการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินนอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ เพราะเสถียรภาพระบบการเงินในภาพใหญ่ จะโยงกับตลาดทุน กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำกับในปัจจุบันยังดูแลแยกกัน แต่เวลาเกิดปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน มันเชื่อมโยงกันหมด ครั้งที่ ธปท. ต้องทำกองทุน BSF (Bond Stabilization Fund หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ขึ้น ก็ต้องออกเป็นพระราชกำหนดเป็นพิเศษ โชคดีที่รัฐบาล รัฐมนตรีคลัง เห็นความสำคัญ และเชื่อใน ธปท. จึงเร่งออกพระราชกำหนดได้ทัน แต่ถ้าเกิดความไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ ขึ้นมา เรื่องพวกนี้จะขาดกรอบกฎหมายที่จะไปหยุดหรือดับไฟให้ทัน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดกันต่อไป