ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี – ไฟป่าเผาอินโดนีเซีย 7 เดือนแรกกว่า 130,000 เฮกตาร์

ASEAN Roundup สิงคโปร์ขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี – ไฟป่าเผาอินโดนีเซีย 7 เดือนแรกกว่า 130,000 เฮกตาร์

25 สิงหาคม 2019


อาเซียนรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 18-24 ส.ค. 2562

  • สิงคโปร์ขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี
  • เมียนมาเล็งอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นค้าส่งค้าปลีกถึง 35%
  • โฮจิมินห์ซิตี้ดึงเงินลงทุนต่างประเทศ 3,600 ล้านดอลล์
  • ไฟป่าเผาอินโดนีเซีย 7 เดือนแรกกว่า 130,000 เฮกตาร์
  • มาเลเซียรับนักท่องเที่ยว 13 ล้านคน

     

    สิงคโปร์ขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี

    สิงคโปร์จะขยายอายุเกษียณออกไปเป็น 65 ปีจาก 62 ปี เพื่อสนับสนุนแรงงานสูงวัย ขณะเดียวกันผู้นำก็เตรียมที่จะส่งต่อการบริหารประเทศให้กับคนรุ่นใหม่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยสิงคโปร์จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2021

    นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เปิดเผยในการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันชาติว่า รัฐบาลจะขยายอายุเกษียณออกไปจาก 62 ปีเป็น 65 ปี และจะขยายอายุของผู้สูงวัยที่ได้รับการจ้างงานให้กลับไปทำงานภายในองค์กรเดิมเป็น 70 ปีจาก 67 ปี รวมทั้งรัฐบาลจะเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนเกษียณ เพื่อให้ภายในปี 2030 แรงงานในวัย 60 ปีหรือต่ำกว่าจะได้เงินในอัตราเต็ม

    รัฐบาลจะช่วยธุรกิจปรับตัวกับภาระที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนอัตราเงินสมทบเพื่อเกษียณ เพราะนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบให้เท่ากับเงินที่ลูกจ้างจ่าย

    ปัจจุบันคนสิงคโปร์มีอายุขัยเฉลี่ยราว 85 ปี และมีผู้สูงวัยที่มีอายุร่วม 100 ปี จำนวน 1,300 คนในประเทศที่มีประชากรทั้งสิ้น 6 ล้านคน

    มาตรการช่วยเหลือผู้สูงวัยภายใต้รัฐบาล ลี เซียนลุง ผู้ซึ่งอยู่ในวัย 67 ปี ได้รวมเงินจำนวน 6.1 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ที่ตั้งไว้ในปีนี้และรวมสวัสดิการเฮลท์แคร์ผู้ที่อยู่ในอายุ 60 ปี ไว้ด้วย

    ในปีนี้รัฐบาลจะใช้เงินเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ที่ใช้สนับสนุนการศึกษาต่อปี เพื่อช่วยเหลือครอบครัวชั้นกลางและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาระดับวิทยาลัย

    นายลี เซียนลุง กล่าวว่า สิงค์โปร์กำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งทำให้ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายร่วม 100,000 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์หรือมากกว่านั้นในอีกศตวรรษหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น

    เมียนมาเล็งอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นค้าส่งค้าปลีกถึง 35%

    สมาคมค้าปลีกเมียนมาเปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะอนุญาตให้ ต่างชาติลงทุนในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกภายในประเทศถึง 35%เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับศูนย์การค้า

    แผนการเปิดเสรีต่างชาติครั้งนี้ถือว่าเป็นการขยายเพดานการถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นขึ้นเกือบ 2 เท่าจากระดับ 20% ในปัจจุบัน โดยทั่วไปแล้วต่างชาติยังถือหุ้นในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่ลงทุนโดยต่างชาติได้เต็ม 100%

    ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่ถือหุ้นเต็มโดยนักลงทุนโดยต่างชาติที่จะเปิดร้านต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 10,000 ตารางฟุต แต่ปัจจุบันธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นยังไม่แข็งแรงพอที่จะแข่งขันกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่ลงทุนโดยต่างชาติได้ แต่การขยายเพดานการถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นจะช่วยให้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกพัฒนาธุรกิจได้ดีขึ้น

    กระทรวงพาณิชย์ได้อนุญาต 4 บริษัทท้องถิ่น 4 บริษัทต่างชาติ และ 3 ธุรกิจร่วมทุนประกอบธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกได้ โดยใบอนุญาตมีอายุ 4 ปี

    เมียนมาได้เริ่มอนุญาตนักลงทุนต่างชาติให้ลงทุนในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2018 รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทต่างชาติและกิจการร่วมทุนทำธุรกิจส่งออกข้าว เนื้อ ปลา พืชผลเกษตรที่มีราคา เมล็ดพันธุ์ โลหะบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์ไม้สำเร็จรูป ที่ได้ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศ

    โฮจิมินห์ซิตี้ดึงเงินลงทุนต่างประเทศ 3,600 ล้านดอลล์

    โฮจิมินห์ซิตี้ เมืองเศรษฐกิจของเวียดนาม ดึง เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศถึง 3,600 ล้านดอลลาร์ในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 15.2% จากปีก่อน จากการเปิดเผยของคณะกรรมการประชาชนของเมือง

    เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศส่วนหนึ่งจากที่ไหลเข้ามาเป็นเงินจดทะเบียนจัดตั้งโครงการใหม่จำนวน 678 โครงการ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 688.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26.9% และหากวัดเป็นจำนวนโครงการก็เพิ่มขึ้น 18.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

    ในรอบ 7 เดือนนักลงทุนต่างชาติ 2,668 รายได้ซื้อหุ้นและลงทุนในธุรกิจท้องถิ่นที่มีเงินทุนจดทะเบียนรวมกันสูงถึง 2,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 28.3% และ 16.7% จากระยะเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

    โฮจิมินห์ซิตี้ได้ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้กับกิจการท้องถิ่นจำนวน 24,529 ราย มีมูลค่าลงทุนรวม 396 ล้านล้านด่องหรือมากกว่า 17 พันล้านดอลลาร์

    คณะกรรมการประชาชนของเมืองจะยังคงเดินหน้าปรับกระบวนการบริหารให้ง่ายขึ้นและลดอุปสรรคในการลงทุนให้ผู้ประกอบการ เพื่อสนับสนุนการผลิตและธุรกิจในท้องถิ่น

    7 เดือนแรกไฟป่าเผาอินโดนีเซียกว่า 130,000 เฮกตาร์

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/academia/2019/08/23/many-fires-less-water.html
    กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ อินโดนีเซียเปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ไฟป่าที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียได้เผาไหม้ที่ดินไปแล้วเป็นเนื้อที่ 135,747 เฮกตาร์ โดยพื้นที่เสียหายมากสุดคือ นูซา เต็งการา ตะวันออกที่เสียหาย 71,712 เฮกตาร์ รองลงมาคือ รีเยา กะลิมันตันตอนใต้ และกะลิมันตันตะวันออก

    การดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับ ภัยแล้งและผลกระทบที่เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องปกติของอินโดนีเซีย แต่การปฏิบัตินั้นยังไม่ได้ผลมากนัก เพราะยังคงมีไฟป่าเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ประสบกับภัยแล้ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่มีสาเหตุจากภัยลแ้งแต่มาจากการกระทำของมนุษย์

    สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศ และภูมิศาสตร์ Meteorology, Climatology and Geophysics Agency – BMKG) คาดว่า ภาวะแห้งแล้งยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือตุลาคม เพราะอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลผิดปกติ และพบว่าเกิดเอลนีโญอย่างอ่อน แต่ก็คาดว่ายังจะมีจุดความร้อนกระจายไปทั่วสุมาตราและผืนป่ากะลิมันตันในเดือนนี้

    ในช่วงหน้าแล้งที่กินเวลานาน ภัยจากไฟป่ามักจะมาพร้อมกับวิกฤติน้ำ จึงมีผลกระทบกับความมั่นคงทางอาหารเพราะขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตร และมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อีกทั้งการขาดน้ำสะอาดเป็นบ่อเกิดของโรคภัยต่างๆ

    หลายหน่วยงานได้รายงานภาวะน้ำลดน้อยลง ขณะที่ BMKG เตือนว่าจาการ์ตาและเบนเตนจะประสบกับวิกฤติน้ำ นอกเหนือไปจากมลภาวะทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น

    มาเลเซียรับนักท่องเที่ยว 13 ล้านคน

    ที่มาภาพ: https://www.malaymail.com/news/malaysia/2019/08/23/tourism-contributes-rm41.69b-to-malaysian-economy-in-first-half-2019/1783597
    มาเลเซียต้อนรับ นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศจำนวน 13.15 ล้านคน ในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 6.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 41,690 ล้านริงกิต

    การท่องเที่ยวมาเลเซียเปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายต่อหัวมีจำนวน 3,121.6 ริงกิต เพิ่มขึ้น 1.9% ส่วนระยะเวลากรเข้าพักเพิ่มขึ้นเป็น 6.2 คืน

    สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามามีจำนวนสูงสุดคือ สิงคโปร์ 5,381,566 คนอันดับสองคือ อินโดนีเซีย 1,857,864 คน อันดับสาม จีน 1,558,782 คน อันดับสี่ ไทย 990,565 คน อันดับห้า บรูไน 627,112 คน อันดับหก อินเดีย 354,486 คน อันดับเจ็ด เกาหลีใต้ 323,952 คน อันดับแปด ฟิลิปปินส์ 210,974 คน อันดับเก้า เวียดนาม 200,314 คน และอันดับสิบญี่ปุ่น 196,561 คน

    นักท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับมาเลเซียสูงสุดอันดับหนึ่งคือ สิงคโปร์ 11.56 พันล้านริงกิต รองลงมาคือ จีน 7.09 พันล้านริงกิต อันดับสาม คือ อินโดนีเซีย 5.71 พันล้านริงกิต อันดับสี่ ไทย 1.70 พันล้านริงกิต และอันดับห้า บรูไน 1.52 พันล้านริงกิต

    นักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายต่อคนสูงเป็นอันดับหนึ่งคือ ซาอุดิอาระเบีย 11,376.90 ริงกิต อันดับสองอังกฤษ 5,241.5 อันดับสาม แคนาดา 4,593.1 อันดับสี่ จีน 4,546 และอันดับหน้าสหรัฐอเมริกา 4,537.90

    นักท่องเที่ยวที่เข้าพักนานที่สุดคือ ซาอุดีอาระเบีย 10.5 คืน รองลมาคือฝรั่งเศส 8.7 คืน เยอรมนี 8.3 คืน เนเธอร์แลนด์ 8.1 คืน แคนาดา 7.7 คืน

    ปี 2018 มาเลเซียมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 25.8 ล้านคน ทำรายได้ถึง 84.1 พันล้านริงกิต กลายเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญหนึ่งของโลก