ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียขยายมาตรการ RMCO ล็อกดาวน์ทั่วประเทศถึง 31 มี.ค.

ASEAN Roundup มาเลเซียขยายมาตรการ RMCO ล็อกดาวน์ทั่วประเทศถึง 31 มี.ค.

3 มกราคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2563-2 มกราคม 2564

  • มาเลเซียขยายมาตรการ RMCO ล็อกดาวน์ทั่วประเทศถึง 31 มี.ค.
  • เวียดนามเตรียมสร้างท่าเรือมาตรฐานสากล
  • กฎหมายแรงงานฉบับใหม่เวียดนามมีผล 1 มกราคม
  • กัมพูชาเริ่มผลิตน้ำมันดิบครั้งแรก
  • เมียนมาเปิดศูนย์เครดิตบูโร
  • มาเลเซียขยายล็อกดาวน์ทั่วประเทศถึง 31 มี.ค.

    ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/article/rmco-throughout-malaysia-extended-until-march-31-says-ismail-sabri

    มาเลเซียขยายการใช้มาตรการการการควบคุมการสัญจรในระยะฟื้นฟู (Recovery Control Movement Control Order: RMCO)ทั่วประเทศ ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2021 รัฐมนตรีอาวุโสว่าการกระทรวงกลาโหม อิสมาลอิล ซาบรี ยาคอบ ประกาศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021

    ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี กล่าวว่า การตัดสินใจขยายการบังคับใช้มาตรการ RMCO มีขึ้นหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และมีอัตราติดเชื้อสูงขึ้น

    “คำสั่งนี้ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น มาจากการตรวจคัดกรองแรงงานต่างชาติจำนวนมากในวงกว้าง รวมทั้งการแพร่ระบาดภายในชุมชน โดยเฉพาะในคลังเวลเลย์ (ศูนย์กลางการพัฒนาของเซลังงอร์) และในอีกหลายรัฐ” ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี ระบุในแถลงการณ์

    มาตรการ CMCO เดิมมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2020

    ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี ระบุอีกว่า แนวปฏิบัติมาตรฐาน หรือ SOP (standard operating procedures) ภายใต้มาตรการ RMCO ยังมีผลบังคับใช้ตลอดระยะเวลาล็อกดาวน์และหากมีการเปลี่ยนแปลงจะประกาศเป็นระยะ

    นอกจากนี้ ผับ ไนต์คลับ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ ยกเว้นร้านอาหาร รวมทั้งห้ามทำกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกันเพราะยากต่อการรักษาระยะห่างทางสังคม

    “ส่วนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับข้อปฏิบัติของกระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรมที่ได้ประกาศไว้แล้ว แต่ต้องปฏิบัติตาม SOP อย่างเคร่งครัด”

    ภายใต้การปฏิบัติการ Bengteng เจ้าหน้าที่ได้จับกุมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย 31 คนและยึดรถยนต์ได้ 5 คัน รวมทั้งปิดถนน 110 จุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ส่วนการตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างจากวันที่ 20 เมษายนจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2020 ได้มีการตรวจสอบไปแล้ว 14,124 ครั้งในสถานที่ก่อสร้าง 8,029 แห่ง

    เวียดนามจะสร้างท่าเรือมาตรฐานสากล

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/840401/viet-nam-to-develop-international-standard-ports.html

    แผนแม่บทการพัฒนาระบบเท่าเรือของประเทศปี 2021–2030 จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือและกลุ่มท่าเรือเป็นอันดับแรก จากการเปิดเผยของนาย เหงียน เญิ้ต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

    ในเวทีสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสำนักงานบริหารการเดินเรือในเมืองไฮ ฟอง นายเหงียน เญิ้ต กล่าวว่า การพัฒนาเครือข่ายท่าเรือให้เป็นระบบเดียวกันมีความสำคัญในการตอบสนองความต้องการส่งออก และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

    อีกทั้งเวียดนามยังขาดท่าเรือขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานสากล ขณะที่ท่าเรือขนาดเล็กจำนวนหนึ่งยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลต่อการจัดการท่าเรือที่ไม่มีประสิทธิภาพ

    แผนแม่บทยังครอบคลุมการเพิ่มประสิทธิภาพของการลงทุนในท่าเรือ ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการเดินเรือ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมอื่น และลดต้นทุนโลจิสติกส์

    แผนแม่บทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถของคลังสินค้าต่อปีเป็น 1.14–1.42 พันล้าตัน และเพิ่มการรับรองผู้โดยสารเป็น 10.1–10.3 ล้านคนภายในปี 2030 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การเป็นเกตเวย์สู่การเดินเรือระหว่างประเทศทางตอนเหนือของเมืองไฮฟอง และทางใต้ของเมืองบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า และจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่และกลุ่มท่าเรือในเขตเศรษฐกิจทางตอนกลางที่รองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่

    นายเหงียน เญิ้ต ยังขอให้เน้นไปที่การพัฒนาท่าเรือไฮฟอง ท่าเรือก๊ายแม๊บ และยกระดับเป็นท่าเรือมาตรฐานสากล เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านมาท่าเรือของประเทศดึงดูดการลงทุนจำนวนมาก ส่งผลให้ขีดความสามารถของคลังสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    การพัฒนาระบบท่าเรือคาดว่ามีมูลค่าราว 150–200 ล้านล้านด่อง (6.4–8.6 พันล้านดอลลาร์)ในอีกกว่า 10 ปี แต่ไม่รวมการก่อสร้างท่าเรือและท่าเทียบเรือเฉพาะด้าน

    แม้มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่าเรือของเวียดนามยังมีปริมาณสินค้าถึงกว่า 689 ล้านตันในปี 2020 เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน

    ในปี 2019 เวียดนามมีท่าเรือ 34 แห่ง และมีท่าเทียบเรือ 588 ท่า และมีขีดความสามารถคลังสินค้า 664.6 ล้านตันต่อปี

    กฎหมายแรงงานฉบับใหม่เวียดนามมีผล 1 มกราคม

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/society/840319/ilo-welcomes-new-labour-code.html
    เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021 กฎหมายแรงงานฉบับแก้ไขที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีผลบังคับใช้แล้ว

    นายชาง ฮี ลี ผู้อำนวยการ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) ประจำเวียดนาม ให้ความเห็นว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่จะส่งผลให้แรงงานทั้งหญิงและชายมีการทำงานที่ดี เพราะมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์แรงงานและมีประโยชน์ต่อนายจ้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงงานเองต้องตระหนักถึงสิทธิของตัวเองและใช้สิทธิอย่างเหมาะสม

    สำหรับสิ่งที่มีการแก้ไขในกฎหมายแรงงาน ได้แก่

    การปรับปรุงที่สำคัญด้านแรกคือ การขยายการดูแลแรงงานให้ครอบคลุมถึงแรงงานที่มีสัญญาจ้างงานและไม่มีสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษร มีการคุ้มครองภายใต้กฎหมายให้กับแรงงาน 55 ล้านคนจากเดิมที่คุ้มครองเพียง 20 ล้านคนที่มีการจ้างงาน

    ด้านที่สอง กฎหมายมีความคุ้มครองการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทางเพศ และการคุกคามทางเพศเข้มงวดมากขึ้น นายจ้างต้องมีการดำเนินการให้มีการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเดียวกันโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ และจัดให้มีการดูแลการคลอดบุตร นอกจากนี้ การคุกคามทางเพศยังถูกจัดว่ามีความผิดทางกฎหมายเป็นครั้งแรก และนายจ้างต้องมีการวางกฎระเบียบภายในรวมทั้งมีแนวทางในการป้องกันการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

    อายุเกษียณยังทยอยขยายปีละ 3 เดือนไปจนถึงอายุ 62 ปีสำหรับผู้ชาย และขยายปีละ 4 เดือนไปจนถึงอายุ 60 ปีสำหรับผู้หญิง ซึ่งลดช่องว่างทางเพศลงจาก 5 ปี เป็น 2 ปี และปรับระบบเกษียณให้มีความยั่งยืนทางการเงินมากขึ้น และสอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่มีคนสูงวัยเพิ่มขึ้น

    ด้านที่สาม ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ได้เปิดให้นายจ้างและแรงงานกำหนดอัตราค่าจ้างและเงื่อนไขการทำงานด้วยการเจรจาและต่อรอง โดยที่รัฐมีบทบาทเฉพาะการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ และเพดานการทำงานล่วงเวลาหรือโอที ตัวอย่าง นายจ้างไม่ต้องรายงานขั้นเงินเดือน แต่ต้องหารือกับองค์กรตัวแทนแรงงาน

    ด้านที่สี่ กฎหมายอนุญาตให้แรงงานจัดตั้งและเข้าร่วมองค์กรตัวแทนแรงงานได้ตามที่ต้องการ โดยที่เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานแห่งเวียดนาม (Việt Nam General Confederation of Labour: VGCL) ก็ได้ องค์กรตัวแทนแรงงานที่ไม่เป็นสมาชิกของ VGCL สามารถจัดตั้งได้ในระดับของสถานประกอบการและมีสิทธิและภาระผูกพันเท่าเทียมกับสหภาพแรงงานฐานรากภายใต้ VGCL

    กฎหมายฉบับแก้ไข ยังช่วยให้มั่นใจได้ถึงการคุ้มครององค์กรของนายจ้างและองค์กรของแรงงานจากการกระทำที่เป็นการแทรกแซงซึ่งกันและกัน และแรงงานจะได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการเลือกปฏิบัติของสหภาพ ปัจจุบันนายจ้างมีภาระหน้าที่ชัดเจนขึ้นในการหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติของสหภาพแรงงาน และการแทรกแซงในหน้าที่และกิจกรรมขององค์กรตัวแทนของแรงงานก่อนและหลังการจดทะเบียน

    พนักงานระดับบริหารไม่สามารถมีส่วนร่วมในองค์กรของแรงงานเดียวกันกับพนักงานระดับปฏิบัติการ ซึ่งสิ่งนี้จะค่อยๆสลายสถานการณ์ที่ผู้บริหารระดับสูงหรือระดับกลางครอบงำองค์กรตัวแทนของคนงานในระดับสถานประกอบการ

    ภายใต้กฎหมายใหม่ กลไกในการแก้ไขข้อพิพาทแรงงานได้รับปรับปรุงให้ความคล่องตัวมากขึ้น หากการไกล่เกลี่ยไม่สามารถแก้ไขข้อพิพาทได้ แรงงานสามารถเลือกได้ว่าจะนัดหยุดงานตามกฎหมายหรือเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ ขณะที่ก่อนหน้านี้ต้องมีขั้นตอนหลายอย่างก่อนที่คนงานจะนัดหยุดงานได้ตามกฎหมาย

    “การเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับรัฐบาล องค์กรตัวแทนของแรงงานและนายจ้างในการก้าวไปสู่ความรุ่งเรืองร่วมกันที่ยั่งยืนขึ้น โดยหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง และจะเร่งยกระดับสังคมและเศรษฐกิจของเวียดนาม” นายชาง ฮี ลีกล่าว

    รัฐบาลได้ออกกฎหมายฉบับ 135 เรื่องอายุเกษียณและกฎหมายฉบับใหม่ที่ 145 เกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมโดยมีผลบังคับใช้กับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนองค์กรตัวแทนของแรงงานและกฎหมายการเจรจาต่อรองร่วมกันอีกฉบับ หากไม่มีกฎหมายเหล่านี้ แรงงานและนายจ้างจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใหม่ที่บัญญัตขึ้นโดยประมวลกฎหมายแรงงานปี 2019

    “รัฐบาลควรประกาศใช้กฎหมายการจดทะเบียนองค์กรตัวแทนของคนงานและการเจรจาต่อรองร่วมกันโดยเร็วที่สุด เพื่อให้แรงงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิของตนได้” นางคาเรน เคอร์ติส ผู้บริหารฝ่าย าเสรีภาพในการสมาคมของ ILO ให้ความเห็น

    “ต้องมีเครื่องมือทางกฎหมายทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่า แรงงานที่ริเริ่มใช้สิทธิที่บัญญัติใหม่ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ รวมถึงการตอบโต้ในรูปแบบใดๆ ด้วย”

    การตรวจแรงงานเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับประกันว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานได้อย่างเต็มที่

    “ในท้ายที่สุดแล้วเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่เพียงแต่รัฐบาล องค์กรตัวแทนของแรงงานและนายจ้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสื่อ องค์กรพัฒนาเอกชน และศาล เพื่อให้สมาชิกทุกคนในสังคมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากกฎหมายแรงงานฉบับใหม่” นายชาง ฮี ลีกล่าว

    กัมพูชาเริ่มผลิตน้ำมันดิบครั้งแรก

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50731796/cambodia-block-a-a-cornerstone-for-krisenergys-future-prospects/
    กัมพูชาได้เริ่มสกัดน้ำมันดิบแห่งแรกจากแหล่งในอ่าวไทย โดยการร่วมทุนระหว่างคริสเอ็นเนอร์จีของสิงคโปร์กับรัฐบาล จากการแถลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายกล่าวเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2020 หลงจากที่ล่าช้ามาหลายปี

    นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้ประกาศข่าวนี้บนโซเชียลมีเดีย ขณะที่คริสเอนเนอร์จีเปิดเผยว่า การผลิตได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2020 และจะดำเนินการเป็นระยะ หลังเริ่มขุดเจาะหลุมใหม่และเสร็จสมบูรณ์

    “ข้าพเจ้า… ยินดีที่จะแจ้งให้ชาวกัมพูชาทุกคนทราบเกี่ยวกับการเริ่มต้นการผลิตน้ำมันแห่งแรกของกัมพูชาในบล็อก A ที่รอคอยมานาน” นายกฮุน เซน โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว

    นายเคลวิน ตัง ซีอีโอของคริสเอนเนอร์จี ระบุว่า เหตุการณ์นี้เป็น “ก้าวสำคัญเชิงกลยุทธ์” ของบริษัท และเป็นการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

    กัมพูชาและคริสเอนเนอร์จีซึ่งจดทะเบียนในสิงคโปร์ได้ลงนามในสัญญาปี 2017 เพื่อพัฒนาเนื้อที่ 3,083 ตารางกิโลเมตร (1,190 ตารางไมล์) ในน่านน้ำกัมพูชา บริเวณอ่าวไทย ในพื้นที่บล็อก A

    กัมพูชาพยายามที่จะพัฒนาแหล่งน้ำมัน เนื่องจากมี บริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่เต็มใจที่จะลงทุนในพื้นที่นี้หลังจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำในปี 2014

    คริสเอนเนอร์จีซึ่งเป็นพันธมิตรในโครงการมานานกว่าทศวรรษ ได้ซื้อการดำเนินงานของเชฟรอนคอร์ปในบล็อก A ในปี 2014 ด้วยมูลค่า 65 ล้านดอลลาร์

    เชฟรอนพบน้ำมันในบล็อกในปี 2004 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำข้อตกลงการพัฒนากับกัมพูชา ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น 5% ในกิจการร่วมทุนกับคริสเอนเนอร์จี

    ก่อนหน้านี้คริสเอนเนอร์จีคาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันจากแหล่งอัปสราจะเริ่มขึ้นในปีที่แล้ว

    เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาคริสเอนเนอร์จีระบุว่า การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะดำเนินการเป็นระยะ โดยให้เวลาในการลดความเสี่ยง รวมทั้งรวบรวมและประเมินข้อมูล เนื่องจากการผลิตในน่านน้ำนี้ยังไม่มีผลที่ชัดเจน

    บริษัทคาดการณ์การผลิตสูงสุดที่ 7,500 บาร์เรลต่อวันจากทั้งหมด 5 หลุมที่วางแผนจะขุดเจาะและผลิตในการพัฒนาขั้นต้น 1A

    เมียนมาเปิดศูนย์เครดิตบูโร

    ที่มาภาพ: http://www.thaibizmyanmar.com/th/news/detail.php?ID=1733
    เครดิตบูโรเอเชีย (Credit Bureau Asia Limited: CBA) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และบริษัทในเครือ ผู้เล่นชั้นนำในตลาดโซลูชัน ข้อมูลเครดิต และความเสี่ยงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวเครดิตบูโรแห่งแรกและแห่งเดียวในเมียนมา Myanmar Credit Bureau Limited (MMCB) อย่างเป็นทางการ

    MMCB ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตที่ออกโดยธนาคารกลางแห่งเมียนมา และเป็นการร่วมทุนสัดส่วน 60:40 ระหว่าง MB Investment Limited ซึ่งก่อตั้งโดยธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารเมียนมา(Myanmar Banks Association) และ NSP Asia Investment Holding Pte Ltd. ซึ่งเป็น บริษัทย่อยที่ถือหุ้นเต็มของ CBA

    “การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งเมียนมาถือเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ เรมั่นใจได้ว่าความเสี่ยงในการกู้ยืมของลูกค้าได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ผ่านการแบ่งปันข้อมูลเครดิตระหว่างสถาบันการเงิน ด้วยการเสริมสร้างความซื่อตรงและความโปร่งใสของภาคการเงินของเมียนมา เราไม่เพียงสนับสนุนเป้าหมายของธนาคารกลางพม่าในการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของธนาคารเท่านั้น แต่ยังขยายการเข้าถึงการเงินในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กทั่วประเทศ” อู ซอว์ ลิน อ่อง ประธาน MMCB กล่าว

    นายเควิน คู ประธานบริหารและซีอีโอของ CBA กล่าวว่า “เราเห็นศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในเมียนมาโดย GDP ต่อหัวที่แท้จริงคาดว่าจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5.0% ต่อปีระหว่างปี 2019 ถึง 2024 และสัดส่วนประชากรที่มีการเติบโตในระดับนี้มีประมาณ 26% ณ ปี 2017 ก็คาดว่าจะเติบโตเช่นกัน จากข้อมูลของฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนขนาดตลาดของ MMCB คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 69.2% จากปี 2020 ถึง 2024 เป็น 16.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ จากการประเมินประชากรประมาณ 54.7 ล้านคนภายในปี 2024 และคาดว่าประชากรในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 32.5% ของประชากรทั้งหมด”

    MMCB จะสนับสนุนสถาบันการเงิน ผู้บริโภคและการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาผ่านการใช้ระบบรายงานเครดิตที่ทันสมัย เพื่อส่งเสริมการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบในเมียนมา และขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับบุคคลและธุรกิจ

    MMCB กำลังรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกปัจจุบันซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเมียนมา และจะขยายการเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวมสถาบันการเงินรายย่อย สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร ข้อมูลที่รวบรวมจะรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลติดต่อของผู้กู้บัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ตลอดจนข้อมูลหลักประกันเงินกู้ แต่จะไม่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความมั่งคั่งส่วนบุคคล มูลค่าทรัพย์สินหรือจำนวนเงินฝากธนาคารของผู้กู้และไม่ได้มีการตัดสินใจให้กู้ยืมสำหรับหรือในนามของสถาบันการเงิน แต่ช่วยให้สมาชิกสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่มีศักยภาพก่อนที่จะอนุมัติสินเชื่อ หรือตัดสินใจว่าจะยังคงให้วงเงินสินเชื่อจากเงินกู้เดิมที่มีอยู่หรือไม่

    รายงานข้อมูลประวัติสินเชื่อขอบุคคลหรือองค์กร ที่ MMCB จัดทำจะช่วยให้สมาชิกจัดการความเสี่ยงในการให้กู้ยืมและตัดสินใจในการปล่อยสินเชื่อได้ดีขึ้น นอกจากนี้การเข้าถึงการรายงานเครดิตจะทำให้ตลาดสินเชื่อในเมียนมามีความปลอดภัยมากขึ้น และป้องกันการฉ้อโกงและผู้กู้ยังสามารถคาดหวังการแข่งขันการให้บริการที่มากขึ้นจากผู้ให้กู้ เนื่องจากรายงานจาก MMCB สนับสนุนการตรวจสอบการประเมินเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ

    นอกเหนือจากการรายงานประวัติเครดิตผู้บริโภคและธุรกิจแล้ว MMCB ยังมีบริการเสริม เช่น บริการตรวจสอบเครดิตเพื่อติดตามรายงานเครดิตของแต่ละบุคคลหรือบริษัทอย่างสม่ำเสมอในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการความเสี่ยงและเพื่อป้องกันการฉ้อโกง

    นอกจากนี้ MMCB จะให้บริการแก่สมาชิกในอุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถปรับปรุงกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อ เปรียบเทียบประสิทธิภาพกับอุตสาหกรรมทั้งระบบ และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ด้วยความร่วมมือกับสมาชิก MMCB จะส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนและส่งเสริมวัฒนธรรมการกู้ยืมที่ดี

    “ในปีแรกของการดำเนินงาน MMCB จะให้บริการผลิตภัณฑ์หลัก เช่น รายงานข้อมูลเครดิตและบริการตรวจสอบให้กับสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาต และในช่วง 2 ปีต่อจากนั้นจะขยายการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่รวมคะแนนเครดิต (score) และรายงานการวิเคราะห์ข้อมูล” นายคูกล่าว