ThaiPublica > เกาะกระแส > ศรีลังกาประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 5.1 หมื่นล้านดอลล์ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ศรีลังกาประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 5.1 หมื่นล้านดอลล์ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

13 เมษายน 2022


ประชาชนรวมตัวที่สำนักเลขาธิการ ประธานาธิบดี เรียกร้องให้ประธานาธิบดีและรัฐบาลลาออก ที่มาภาพ: https://ceylontoday.lk/news/protesters-amass-outside-the-presidential-secretariat

ศรีลังกาประกาศเมื่อวันอังคาร(12 เม.ย.)ว่า ด้วยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ต่ำถึงขั้นวิกฤต ส่งผลให้ประเทศจะ ผิดนัดชำระหนี้สาธารณะภายนอกประเทศ ขณะที่รอแผนเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund)

นับเป็นครั้งแรกที่ศรี ลังกา ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในเอเชียใต้ประกาศผิดนัดชำระหนี้นับตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรในปี 2491

  • วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกามาถึงจุดต่ำสุด ผลพวงจากการเติบโตที่ควบคุมไม่อยู่
  • วิกฤติการณ์ที่เกิดจากการผิดนัดชำระ เห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้ของประเทศ และกับดักหนี้ ที่มาจากการกู้ยืมเงินจำนวนมากจากประเทศจีนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ยั่งยืน

    “ศรีลังกามีประวัติการชำระหนี้ภายนอกที่ไม่ด่างพร้อยตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2491” กระทรวงการคลังระบุในแถลงการณ์

    “อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ล่าสุด รวมถึงผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และผลกระทบจากการสู้รบในยูเครน ได้บั่นทอนฐานะทางการคลังของศรีลังกา ทำให้ไม่สามารถชำระภาระหนี้สาธารณะภายนอกได้ตามปกติ” แถลงการณ์ระบุ

    กระทรวงการคลังระบุ นโยบายของประเทศในการระงับการชำระหนี้ตามปกติของประเทศ จะมีผลกับพันธบัตรระหว่างประเทศทั้งหมด เงินกู้ทวิภาคีทั้งหมด ไม่รวมความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างธนาคารกลางกับธนาคารกลางต่างประเทศ และเงินกู้ทั้งหมดกับธนาคารพาณิชย์และผู้ให้กู้ สถาบัน

    ผิดนัดชำระหนี้ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์

    การประกาศผิดนัด ชำระหนี้ต่างประเทศมูลค่า 51 พันล้านดอลลาร์ มีขึ้นขณะที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์และการประท้วงที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

    การขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงแบบเฉียบพลัน รวมทั้งไฟฟ้าดับเป็นเวลานานในแต่ละวัน ได้สร้างความเดือดร้อนในวงกว้างแก่ประชาชน 22 ล้านคนของประเทศในช่วงตกต่ำที่เจ็บปวดที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2491

    รัฐบาลประสบปัญหาในการชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ และการตัดสินใจในวันอังคารเกิดขึ้นก่อนการเจรจาเพื่อขอเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการผิดสัญญาที่ร้ายแรงกว่านั้น ซึ่งจะทำให้ศรีลังกาไม่สามารถชำระหนี้สินได้อย่างสิ้นเชิง

    “เราสูญเสียความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ”
    นันดาลัล วีระสิงเห ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกา กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงโคลัมโบ

    “นี่เป็นการผิดนัดชำระหนี้ที่ได้เจรจาไว้ล่วงหน้า เราได้ประกาศ (เรื่องนี้) กับเจ้าหนี้แล้ว”

    นันดาลัล วีระสิงเห ผู้ว่าการธนาคารกลาง ศรี ลังกา ที่มาภาพ: https://www.newsfirst.lk/2022/04/12/sri-lanka-has-decided-to-go-into-pre-emptive-negotiated-default-cbsl-governor/

    เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้มีเงินตราต่างประเทศไว้เป็นเงินทุนสำหรับการนำเข้าอาหาร เชื้อเพลิง และยาที่จำเป็น หลังจากขาดแคลนสินค้าเป็นเวลาหลายเดือน

    หนี้ของศรีลังกาในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง เป็น การกู้ยืมผ่านตลาดด้วยการออกพันธบัตรระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงหนี้ก้อนหนึ่งมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ที่จะครบกำหนดในวันที่ 25 กรกฎาคม

    จีนเป็นผู้ให้กู้ทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของศรีลังกาและเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศประมาณ 10% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาคือญี่ปุ่นและอินเดีย

    รัฐบาลได้กู้ยืมเงินจำนวนมากจากปักกิ่งตั้งแต่ปี 2548 สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหลายแห่งกลายเป็นช้างเผือก

    ศรีลังกายังให้เช่าท่าเรือยุทธศาสตร์ Hambantota ให้กับบริษัทจีนในปี 2560 หลังจากที่ไม่สามารถชำระหนี้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ที่กู้จากปักกิ่ง เพื่อใช้สร้างท่าเรือดังกล่าว

  • กรณีท่าเรือ Hambantota ของศรีลังกา คือนิทานโกหก (Myth) เรื่อง “การทูตกับดักหนี้สิน” ของจีน
  • ซึ่งทำให้เกิดความกังวลจากประเทศตะวันตกและอินเดีย ประเทศเพื่อนบ้านว่า ศรี ลังกา ที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เอเชียใต้กำลังตกเป็นเหยื่อของกับดักหนี้

    จ้าว ลี่เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า การผิดนัดในวันอังคารจะไม่ส่งผลให้ปักกิ่งไม่ให้ให้การสนับสนุนเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาของศรีลังกา

    “จีนพยายามอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา เราจะทำต่อไปในอนาคต”

    ที่มาภาพ: https://www.dailymirror.lk/opinion/Sri-Lanka-Now-over-the-brink-into-Disaster/231-234908

    วิตกอนาคต

    วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกา ที่กำลังลุกลามเกิดขึ้นหลังจากการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ที่มีผลกระทบต่อรายรับที่สำคัญจากการท่องเที่ยวและการส่งเงินกลับประเทศ

    รัฐบาลได้สั่งห้ามนำเข้าในวงกว้าง เพื่อสงวนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดน้อยลงและใช้เพื่อชำระหนี้ที่ผิดนัด

    แต่ปัญหาการขาดแคลนที่เกิดขึ้นได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายระหว่างรอคิวเติมน้ำมันตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม และมีรายงานผู้เสียชีวิตอีก 2 รายรายงานวันจันทร์

    “มันเป็นเรื่องน่าหดหู่ที่ทำให้วิตกต่ออนาคต ว่าจะไปทางไหน” วาสี สมุทรา เทวี ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าว AFP ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในกรุงโคลัมโบเมื่อวันจันทร์

    “มีคนเดือดร้อนลำบากอยู่แล้ว… เราทุกคนมาที่นี่เพราะเรากำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ”

    ฝูงชนได้พยายามที่จะบุกโจมตีที่พักของผู้นำรัฐบาลและกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้สลายผู้ประท้วงด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง

    ผู้คนหลายพันคนปักหลักนอกสำนักงานริมทะเลของประธานาธิบดีโกตภยา ราชปักษา ในเมืองหลวงโคลัมโบ ในการประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่สี่ที่เรียกร้องให้เขาลาออก

    นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าวิกฤติครั้งนี้เลวร้ายลงจากการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เงินกู้ยืมที่สะสมมานานหลายปี และการลดหย่อนภาษีที่ไม่ได้รับคำปรึกษาที่ดี

    สถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศยังปรับลดอันดับประเทศศรีลังกาลงเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ศรี ลังกาไม่สามารถเข้าถึงตลาดทุนต่างประเทศเพื่อจัดหาเงินกู้ใหม่

    ที่มาภาพ: https://freshgooglenews.com/sri-lanka-crisis-bullet-tear-gas-is-not-going-to-suppress-the-protesters-president-withdraws-emergency-under-pressure-sri-lanka-president-revokes-state-of-emergency-as-protests-spread-fgn-news/

    ทางเลือกสุดท้าย

    กระทรวงการคลังของศรีลังการะบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ในวันอังคารเป็น “ทางเลือกสุดท้ายที่จะป้องกันไม่ให้สถานะทางการเงินของประเทศแย่ลงไปอีก”

    เจ้าหนี้มีสามารถที่จะใช้อะไรก็ได้สำหรับการจ่ายดอกเบี้ย หรือเลือกที่จะรับทุนคืนในสกุลเงินรูปีศรีลังกา

    อาลี ซาบรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังชี้แจงต่อรัฐสภาเมื่อวันศุกร์ว่า รัฐบาลกำลังแสวงหาเงินช่วยเหลือไอเอ็มเอฟราว 3 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

    เจ้าหน้าที่กระทรวงบอกกับ AFP เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลกำลังเตรียมโครงการให้ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลและเจ้าหนี้รายอื่นๆ ลดหนี้และหลีกเลี่ยงการผิดนัดอย่างร้ายแรง

    ศรีลังกาพยายามปลดหนี้จากอินเดียและจีนในปีนี้ แต่ทั้งสองประเทศกลับเสนอวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อสินค้าจากพวกเขาแทน

    การประมาณการแสดงให้เห็นว่าศรีลังกาต้องใช้เงิน 7 พันล้านดอลลาร์เพื่อชำระหนี้ในปีนี้ เทียบกับเงินสำรองที่มีเพียง 1.9 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม

    แคลร์ ดิสโซ นักวิเคราะห์จาก AXA Investment Managers ใ้ห้ความเห็นกับ AFP ว่า ตลาดรับรู้การผิดนัดชำระหนี้ที่คาดการณ์ไว้แล้ว แม้รัฐบาลจะพยายามรักษาสถานะการเงินไม่ให้ตกอยู่ในภาวะล้มละลาย

    “ศรี ลังกาแสดงความเต็มใจที่จะจ่ายจนถึงนาทีสุดท้าย แม้กระทั่งความเสียหาย ต้นทุนของประชาชน” เธอกล่าว

    นายมหินทะ ราชปักษานายกรัฐมนตรีศรี ลังกาที่มาภาพ: https://ceylontoday.lk/news/country-in-extremely-volatile-situation-pm-1

    รู้จัก ศรี ลังกา

    ศรีลังกาเป็น ประเทศที่เป็นเกาะในเอเชียใต้ประสบกับสงครามกลางเมืองที่โหดร้ายในปี 2552

    ศรีลังกา เป็นเกาะรูปหยดน้ำที่อยู่ปลายสุด ทางตอนใต้ของอินเดีย ที่มีร่องน้ำทะเลตื้นที่มีความกว้างประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุดคั่นกับอนุทวีปอินเดีย เกาะนี้มีประชากร 21.9 ล้านคนตามข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2563 โดยประชากรร้อยละเจ็ดสิบเป็นชาวพุทธ ส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล ประมาณร้อยละ 12 เป็นชาวฮินดู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวทมิฬ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ ส่วนชาวมุสลิมคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรและคริสเตียนประมาณร้อยละ 7

    ที่ตั้งของศรีลังกา เป็นจุดยุทธศาสตร์ของเส้นทางการค้าทางทะเลในยุคแรก ศรี ลังกาถูกปกครองโดยโปรตุเกส (ค.ศ.1505-1656) ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ.1656-1796) ก่อนที่จะกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษที่เรียกว่า Ceylon ในปี ค.ศ. 1815

    กษัตริย์สิงหลองค์สุดท้ายครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2341 ถึง พ.ศ. 2358

    หลังจากที่อังกฤษปกครองของอังกฤษมากกว่า 130 ปี ศรี ลังก่ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1948 หรือพ.ศ. 2491 ในปี พ.ศ. 2515 ได้กลายเป็นสาธารณรัฐและได้ใช้ชื่อศรีลังกา

    ในปีพ.ศ. 2515 กบฏทมิฬได้เริ่มการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อแยกดินแดนซึ่งก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองยาวนาน 37 ปี และคาดว่าคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วถึง 100,000 คน

    มือระเบิดพลีชีพจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลักคือ Liberation Tigers of Tamil Eelam ส่งผลให้นายราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียในปี 1991 และประธานาธิบดี รณสิงห์ เปรมทาสา ของศรีลังกาในปี 1993 เสียชีวิต

    หลังจากการหยุดยิงล้มเหลว รัฐบาลได้จัดการกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬด้วยกำลังทางทหารอย่างที่ในปี 2552 สังหาร เวฬุพิลัย ประภาการัน ผู้ก่อตั้งและผู้นำ

    ปฏิบัติการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ความรุนแรง โดยกองทหารถูกกล่าวหาว่าสังหารพลเรือนชาวทมิฬอย่างน้อย 40,000 คน

    ประธานาธิบดีโกตภยา ราชปักษา คนปัจจุบัน เป็นเจ้าหน้าที่กลาโหมระดับสูงเมื่อฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ภายใต้พี่ชายของเขา คือ อดีตประธานาธิบดีมหินทา ราชปักษา ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี

    คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้น แต่รัฐบาลศรีลังกาปฏิเสธ

    ศรีลังกากำลังจะครบรอบสิบปีนับตั้งแต่การสิ้นสุดของความขัดแย้ง จากเหตุการณ์การโจมตีเมืองหลวงของประเทศของผู้ก่อการร้ายครั้งใหม่ในวันอาทิตย์อีสเตอร์ในปี 2552

    เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายครั้งในโบสถ์ 3 แห่งที่คับคั่ง และโรงแรมหรู 3 แห่ง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552 คร่าชีวิตผู้คนไป 279 คน รวมถึงชาวต่างชาติอย่างน้อย 45 คน และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 500 คน

    กลุ่มนักรบญิฮาดกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างความรับผิดชอบต่อการโจมตีดังกล่าว ซึ่งตอกย้ำความไม่พอใจต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมบนเกาะนี้

    เหตุระเบิดวันอีสเตอร์ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของศรี ลังกาและการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้หลายสิ่งแย่ลง การส่งเงินกลับจากต่างประเทศลดลงมาก

    รัฐบาลได้กำหนดข้อจำกัดเงินตราที่รุนแรงและห้ามการนำเข้าจำนวนมากเพื่อพยายามสงวนเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดน้อยลงและใช้เพื่อชำระหนี้

    แต่ผลจากการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง ประกอบกับไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ประท้วงออกไปที่ถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

    เมื่อวันอังคาร กระทรวงการคลังประกาศว่าจะระงับการจ่ายหนี้ต่างประเทศจำนวน 51 พันล้านดอลลาร์เพื่อเป็น “ทางเลือกสุดท้าย” ก่อนการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ