ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน IMF ระบุเงินหยวนมีเสถียรภาพ ธนาคารกลางแทรกแซงน้อย แนะปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นมากขึ้น

รายงาน IMF ระบุเงินหยวนมีเสถียรภาพ ธนาคารกลางแทรกแซงน้อย แนะปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นมากขึ้น

11 สิงหาคม 2019


ที่มาภาพ: http://global.chinadaily.com.cn/a/201908/10/WS5d4e050fa310cf3e35564f05.html

รายงานเศรษฐกิจจีนประจำปี 2562 โดย IMF ระบุเงินหยวนมีเสถียรภาพ อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงอ่อนค่าลง 2.5% พร้อมแนะนำให้ปรับนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคและปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ตอบรับกับความตึงเครียดทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2562 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้เผยแพร่รายงานภาวะเศรษฐกิจจีนประจำปี หลังคณะกรรมการบริการ IMF จัดทำข้อสรุปซึ่งได้จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจประจำปี 2562 (Article IV Consulation) ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562

โดยในส่วนหนึ่งของรายงานนั้น IMF ระบุว่า ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากรวดเร็วจากกลางเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2018 จีนจึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อหยุดยั้งการอ่อนค่าของเงิน โดยสั่งให้มีการสำรองสำหรับตราสารอนุพันธ์สกุลเงินต่างประเทศ (ซึ่งจัดเป็น capital flow management measure) และการดำเนินนโยบายที่สวนทางกับวัฏจักรด้วยการนำการกำหนดกรอบความเคลื่อนไหวขึ้นลงจากอัตรากลางประจำวันกลับมาใช้อีกครั้ง

แม้เงินหยวนจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แต่ในภาพกว้างเงินหยวนมีเสถียรภาพ เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินแล้วอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงอ่อนค่าลง 2.5% นับตั้งแต่การประเมินภาวะเศรษฐกิจในครั้งที่แล้ว รายงาน IMF ประเมินว่า ธนาคารกลางจีน (People Bank of China: PBOC) มีการเข้าแทรกแซงเพียงเล็กน้อย

ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/Countries/CHN

จีนมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวน 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากเกินพอที่จะรองรับช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว

สัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีจีนให้เป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน หลังจากที่เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ธนาคารกลางจีนได้ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าทะลุระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยาลงไปที่ 7.05 ต่อดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งการปรับท่าทีในการดำเนินนโนยายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนมีสาเหตุจากการที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน วงเงิน 300 พันล้านในอัตรา 10% ซึ่งจะผลในวันที่ 1 กันยายนนี้

ในเอกสารข่าว IMF ที่เผยแพร่ในวันเดียวได้นำเสนอความเห็นจากคณะกรรมการบริหาร IMF เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของจีนไว้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น กับตลาดเงินตราต่างประเทศที่มีความลึกมากขึ้นและทำงานได้ดีมากขึ้น จะช่วยให้ระบบการเงินมีความพร้อมในการรับมือกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และความโปร่งใสของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้นก็มีความสำคัญเช่นกัน

เกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง

รายงานเศรษฐกิจจีนประจำปี IMF ระบุว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลของจีนมีแนวโน้มลดลงและกระแสเงินทุนไหลเข้ามีจำนวนไม่มากนักหลังจากที่ไหลเข้ามากในต้นปี 2018

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงอย่างมากจากระดับสูงสุด 10% ของ GDP ในปี 2017 สะท้อนถึงการขยายตัวของการลงทุนที่แข็งแกร่ง ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (real effective exchange rate: REER) แข็งค่า ความต้องการจากประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่อ่อนตัวลง การยกระดับเทคโนโลยีในการผลิต และดุลบริการที่ขาดดุลมากขึ้น

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2018 ราว 0.1% มาอยู่ที่ 0.4% ของ GDP เป็นผลจากการนำเข้าที่เพิ่มสูง การส่งออกและการนำเข้าในปี 2018 ยังขยายตัวเกือบตลอดทั้งปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ขนสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ก่อนที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษี ซึ่งทำให้การส่งออกหดตัวนับตั้งแต่เดือนธันวาคม

การค้าต่างประเทศในปี 2019 มีความผันผวน เนื่องจากความคาดการณ์เกี่ยวกับผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้การเติบโตของการส่งออกในรูปตัวเงิน (nominal) เกือบเป็นศูนย์ ขณะที่การนำเข้าหดตัว 4% ในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้จากระยะเดียวกันของปีก่อน

ทางด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย รายงาน IMF ระบุว่า กระแสเงินทุนไหลเข้าในช่วงต้นปี 2018 มีมาก แต่จากนั้นได้ไหลเข้าจำนวนน้อยตลอดทั้งปี จนกลายเป็นเงินไหลออกสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2018 อย่างไรก็ตาม ไม่มีแรงกดดันต่อกระแสเงินทุนไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ

กระแสเงินทุนไหลเข้าได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ หุ้น A Shares ได้ถูกนำไปรวมใน ดัชนี MSCI ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินท้องถิ่นรวมทั้งพันธบัตรธนาคารเฉพาะกิจได้นำเข้าไปอยู่ในดัชนี Bloomberg Barclays Global Aggregate ซึ่งคาดว่าจะดึงเงินไหลเข้าราว 450 พันล้านดอลลาร์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/Countries/CHN

เศรษฐกิจเจอความแปรปรวนจากภายนอก

ในเอกสารข่าวได้สรุปผลภาวะเศรษฐกิจจีนประจำปี 2562 ว่า จีนยังคงประสบกับความแปรปรวนจากภายนอก (external headwind) และภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอน GDP ในปี 2018 ชะลอตัวลงมาที่ 6.6% ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปหลักเกณฑ์ทางการเงินและความต้องการจากภายนอกที่อ่อนตัวลง

ความขัดแย้งทางการค้าที่ร้าวลึกของทั้งสองประเทศมีผลกระทบต่อประเด็นเชิงโครงสร้างของจีน เช่น นโยบายการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการถ่ายโอนเทคโนโลยี รวมทั้งมีผลทางลบต่อการค้าระหว่างประเทศ นำไปสู่ความไม่แน่นอนและภาวการณ์ที่ท้าทาย ในกรณีที่ไม่สามารถทำข้อตกลงการค้าแบบครอบคลุมและเป็นข้อตกลงที่ถาวรแล้ว ความไม่แน่นอนจะยังคงอยู่ และมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของจีนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะการเข้าถึงตลาดต่างประเทศและเทคโนโลยีของจีนอาจจะลดลงมาก

เศรษฐกิจในปี 2019 คาดว่าจะเติบโตปานกลางที่ 6.2% เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่งถูกจำกัดจากผลกระทบทางลบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าวงเงิน 200 พันล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากราคาอาหารที่สูงขึ้น และคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 2.5%

IMF ระบุว่า การปฏิรูปของจีนมีความก้าวหน้าในหลายด้าน กฎเกณฑ์ด้านการเงินที่เข้มแข็งขึ้นและการควบคุมการลงทุนนอกงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นทำให้ชะลอการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ ช่วยลดความเสี่ยงในภาคการเงิน

นอกจากนี้ จีนยังได้เปิดเสรีมากขึ้น มีการลดภาษี ผ่านกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่ และมีการทบทวนบัญชีธุรกิจสาขาที่สงวนไว้ไม่เปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน รวมทั้งมีความก้าวหน้าในการปฏิรูปกลุ่มรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ยังคละกันไป

ปี 2018 ทั้งปี สินเชื่อชะลอตัวแต่มาเริ่มดีขึ้นในปี 2019 การทยอยชำระหนี้ของภาคธุรกิจส่วนหนึ่งช่วยลดการเพิ่มขึ้นของหนี้จากหนี้ภาครัฐและภาคครัวเรือน โดยหนี้ของภาคที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยังคงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของ GDP ซึ่งเป็นผลจากมาตรการที่ผ่อนคลาย

ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/News/Articles/2019/08/09/na080919-chinas-economic-outlook-in-six-charts

การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลโดยรวม (รวมการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนนอกงบประมาณ) คาดไว้ที่ราว 11% ของ GDP ในปี 2018

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง 0.1% มาที่ 0.4% ของ GDP ในปี 2018 และคาดว่าจะทรงตัวที่ 0.5% ในปี 2019 ส่วนฐานะด้านต่างประเทศในปี 2018 โดยรวมสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานระยะปานกลางและนโยบายที่พึงประสงค์

เงินทุนไหลออกสุทธิลดลงอย่างมากจาก 650 พันล้านดอลลาร์ของปี 2015 และ 2016 ลงมาที่ 30 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018

แนะปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นมากขึ้น

คณะกรรมการบริหาร IMF ยกย่องทางการจีนที่มีความคืบหน้าในการปฏิรูป โดยเฉพาะการลดความเปราะบางของภาคการเงินและยังคงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ

คณะกรรมการยังชี้ว่า การที่จะประสบความสำเร็จในการมุ่งสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพจากเป้าหมายการเติบโตสูง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวการณ์จากภายนอกที่มีสูงนั้น ต้องอาศัยการลดภาระหนี้ต่อเนื่องและการสร้างความสมดุลอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยต้องดำเนินการในด้านหลักๆ คือ

ต้องปรับนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคและปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ตอบรับกับความตึงเครียดทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่ามาตรการเชิงนโยบายที่ประกาศออกมาเพียงพอต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในปี 2019 ภายใต้เงื่อนไขว่าไม่มีการเก็บภาษีเพิ่มเติม และไม่ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งสินเชื่อไม่ควรขยายตัวสูงเกินไป

ต้องปรับกรอบนโยบายภายนอก ร่วมมือกับประเทศคู่ค้า เพื่อทำให้ข้อบกพร่องของระบบการค้าระหว่างประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งคณะกรรมการชื่นชมที่ทางการจีนให้ความสำคัญกับระบบการค้าแบบพหุภาคีและอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ แต่การแก้ไขข้อบกพร่องของระบบการค้าจะช่วยให้ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี เสถียรภาพ และความโปร่งใส ระบบการค้าโลกที่อยู่บนกติกา และจีนจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีและการปฏิรูปโครงสร้างที่ช่วยให้แข่งขันได้ดีขึ้น

เสริมความเข้มแข็งภาคการเงินด้วยการปฏิรูปกฎระเบียบ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก รวมทั้งใช้เครื่องมือดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential tools) เพื่อแก้ไขความเปราะบางที่มาจากหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น การพัฒนาระบอบการแก้ปัญหาที่ชัดเจนสำหรับธนาคารจะช่วยทำให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับการกระจายสินเชื่อให้ดีขึ้น ต้องมีแผนที่จะลดการค้ำประกันโดยนัยที่ให้กับรัฐวิสาหกิจลง และจำกัดข้อได้เปรียบของรัฐวิสาหกิจในการเข้าถึงสินเชื่อ

คณะกรรมการบริหาร IMF ย้ำถึงความสำคัญของการลดภาระหนี้และลดความเสี่ยงของภาคการเงินอย่างต่อเนื่อง

เพิ่มการแข่งขันด้วยการเปิดเสรีภาคธุรกิจที่ไม่สำคัญ โดยเฉพาะภาคบริการ ให้กับภาคเอกชนและธุรกิจต่างประเทศ และรวมตลาดสินค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ในประเทศ

พัฒนากรอบนโยบายให้มีความก้าวหน้าทันสมัย รวมไปถึงการเข้าไปสู่กรอบนโยบายการเงินที่อิงกับพื้นฐานระดับราคามากขึ้น ตลอดจนการแก้ไขการบิดเบี้ยวของความรับผิดชอบต่องบประมาณในระดับท้องถิ่น อีกทั้งต้องแก้ไขปัญหาการขาดข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลและการจัดทำนโยบาย

ในด้านนี้ กรรมการบางรายย้ำว่า จีนควรลดการมุ่งเน้นเป้าหมายการเติบโต และเห็นพ้องว่าหากความตึงเครียดทางการค้ารุนแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการทางการคลัง ก็มีความจำเป็น แต่ต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมายชัดเจน

คณะกรรมการย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างทางการคลัง เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะปานกลาง

ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/News/Articles/2019/08/09/na080919-chinas-economic-outlook-in-six-charts

เร่งแก้ไขความขัดแย้งการค้าด่วน

สำหรับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คณะกรรมการบริหาร IMF เห็นว่าต้องมีการแก้ไขโดยเร็ว ด้วยการทำข้อตกลงที่ครอบคลุมเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งย้ำว่าจีนมีบทบาทสำคัญ และจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีเศรษฐกิจต่อเนื่อง รวมทั้งการปฏิรูปที่จะเสริมการแข่งขัน

ในรอบหลายปีนี้จีนมีความก้าวหน้าในการลดความไม่สมดุลจากภายนอกลง ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี และฐานะต่างประเทศในปี 2018 ในภาพกว้างสอดคล้องกับพื้นฐานและนโยบายพึงประสงค์ แต่ก็ย้ำว่า การที่จะทำให้ฐานะต่างประเทศสมดุลอย่างถาวรยังคงต้องมีความก้าวหน้าในการแก้ไขความบิดเบือนที่ทำให้ภาคครัวเรือนมีเงินออมมหาศาล ซึ่งในแง่นี้ คณะกรรมการสนับสนุนให้เดินหน้าปฏิรูปและเสริมความแข็งแกร่งของระบบสวัสดิการสังคม รวมทั้งพัฒนาระบบภาษีให้ก้าวหน้าเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคและลดความเหลื่อมล้ำ

คณะกรรมการยังย้ำว่า การปฏิรูปในวงกว้างมีความจำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิผลและการสร้างรายได้ระยาว และเน้นว่าต้องมีการเพิ่มบทบาทของตลาดและลดการกำหนดทิศทางของตลาดจากภาครัฐลงในหลายภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การเปิดเสรีให้กับภาคเอกชนต่อเนื่อง และการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มากขึ้น

คณะกรรมการเห็นว่า จีนควรที่จะยกระดับกรอบการให้สินเชื่อภายนอกเพื่อให้มีความร่วมมือ การประสานงานที่ดีขึ้น เพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืนของภาระหนี้