ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > จีนเตรียมสร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก บนแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของทิเบต

จีนเตรียมสร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก บนแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของทิเบต

10 กุมภาพันธ์ 2021


แม่น้ำยาร์ลุง ซางโปที่มาความยาวกว่า 100 กิโลเมตร ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/2/8/china-to-build-the-worlds-biggest-dam-on-sacred-tibetan-river

จีนประกาศแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอารยธรรมโบราณยาร์ลุง จุดเริ่มต้นการก่อตั้งอาณาจักรทิเบตโบราณ

ในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา สื่อของรัฐบาลจีนได้รายงานแผนการสร้างเขื่อนยักษ์ขนาด 60 กิกะวัตต์ บนแม่น้ำยาร์ลุงซางโปในเขตปกครองตนเองทิเบต (Tibetan Autonomous Region: TAR)

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับโครงการพลังงานน้ำในทิเบตอย่างมาก เพราะมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2060 แม้ว่าโครงการเขื่อนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มเรียกร้องสิทธิของชาวทิเบตและกลุ่มนักสิ่งแวดล้อม

เทนซิน ดอลเมย์ ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยชาวทิเบตที่เติบโตในอินเดียและไม่เคยย่างเท้าเข้าไปในที่ราบสูงทิเบต แต่รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำและภูเขาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นบ้านของบรรพบุรุษ ให้ความเห็นว่า “การเคารพธรรมชาติเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมชาวทิเบต”

ปัจจุบันเทนซินเป็นครูสอนภาษาและวัฒนธรรมทิเบตในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย

“เวลาที่เราจะไปว่ายน้ำ มักมีคนบอกเราเสมอว่าอย่าทำเหมือนแม่น้ำเป็นห้องน้ำเพราะในนั้นมีเทพเจ้าแห่งแม่น้ำสถิตอยู่”

ยิ่งไปกว่านั้น แม่น้ำยาร์ลุงซางโปมีความสำคัญกว่าแม่น้ำอื่นๆ มากเป็นพิเศษ เนื่องจากเปรียบเป็นเหมือนร่างกายของเทพีดอร์เจ พักโม ร่างอวตารที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในวัฒนธรรมทิเบต

นายเท็มปา เกียลเซ็น จัมลา หัวหน้าแผนกสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สถาบันนโยบายทิเบต ระบุว่า การเคารพบูชาธรรมชาติของชาวทิเบตนั้น เกิดจากภูมิทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของที่ราบสูงทิเบต และสืบต่อมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

นับตั้งแต่จีนที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ก็ได้ผนวกทิเบตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในปี 1950 ทำให้ทิเบตไม่มีสิทธิไม่มีเสียงในแผ่นดินของตนเอง

“ก่อนที่จีนจะยึดครอง ทิเบตไม่เคยมีเขื่อนมาก่อนเนื่องจากความเคารพต่อธรรมชาติของแม่น้ำ มีขนบหนึ่งที่ชาวทิเบตให้ความสำคัญอย่างมาก คือการไม่เข้าไปทำกิจกรรมที่อาจเป็นการรบกวนแม่น้ำโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวทิเบตยึดถืออย่างเคร่งครัดโดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใดๆ” นายเท็มปากล่าว

“พวกคนจีนจะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง โดยที่ไม่มีการหารือกับชาวทิเบตแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ชาวทิเบตไม่พอใจเป็นอย่างมาก”

ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/2/8/china-to-build-the-worlds-biggest-dam-on-sacred-tibetan-river

แม่น้ำที่สูงที่สุดในโลก

จากจุดเริ่มต้นด้วยธารน้ำแข็งในทิเบตตะวันตก แม่น้ำยาร์ลุงซางโปมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 5,000 เมตร ทำให้เป็นแม่น้ำที่อยู่สูงที่สุดในโลก และหลังจากนั้นค่อยๆ ไหลต่อไปยังด้านล่างของภูเขาหิมาลัยที่ความสูง 2,700 เมตร ผ่านหุบเขายาร์ลุงซางโป (Yarlung Tsangpo Grand Canyon) ที่มีความลึกเป็นสองเท่าของแกรนด์แคนยอนในสหรัฐฯ

ด้วยทิศทางกระแสน้ำที่ลาดชันทำให้เหมาะแก่การใช้ผลิตพลังงานน้ำ แต่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนรัฐบาลจีนว่า การสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้อาจส่งผลทางด้านการเมืองและสิ่งแวดล้อมตามมา

นายเยี่ยน จื่อหยง ประธานบริษัทพาวเวอร์ คอนสตรักชัน คอร์ปอเรชัน แห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า โครงการเขื่อนขนาดยักษ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออนาคตสีเขียวของจีน

แม้ว่าจีนจะมีพลังงานเพียงพอแล้ว นายไบรอัน ไอเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแม่น้ำและเป็นผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งศูนย์วิจัยสติมสัน(Stimson Center) ชี้ว่า พลังงานที่ได้จากเขื่อนแม่น้ำยาร์ลุงซางโปจะนำมาใช้ทดแทนการพลังงานฟอสซิล ซึ่งจะสามารถผลิตพลังงานน้ำได้มากกว่าเขื่อนสามผา เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบันถึง 3 เท่า

โครงการเขื่อนสามผาบีบให้ประชาชน 1.4 ล้านคนต้องอพยพออกไปพื้นที่อื่น ในขณะที่บริเวณรอบๆ แม่น้ำยาร์ลุง ซางโปมีจำนวนประชากรเบาบางกว่าแม่น้ำแยงซี

แต่ก็ประเมินได้ว่าจะต้องมีการอพยพผู้คนออกเพื่อเปิดทางให้มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำยาร์ลุงซางโป โดยหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ภายใต้การสนับสนุนโดยรัฐบาลจีนระบุว่า เขื่อนยาร์ลุงซางโปจะสร้างที่เมืองโม่โท ที่มีจำนวนประชากรประมาณ 14,000 คน

เขื่อนสามผา ที่มาภาพ:https://www.aljazeera.com/news/2021/2/8/china-to-build-the-worlds-biggest-dam-on-sacred-tibetan-river

นัยทางภูมิรัฐศาสตร์

บริเวณที่ราบสูงทิเบตมีพื้นที่กินบริเวณกว้างถึง 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีพรมแดนติดกับหลายประเทศ

เมื่อธารน้ำแข็งจากภูเขาหิมาลัยเริ่มละลาย และเกิดเป็นแม่น้ำไหลลงตามร่องน้ำบนเทือกเขาหิมาลัย กลายเป็นแหล่งน้ำดื่มสำคัญของคนในพื้นที่ปลายน้ำ เช่น จีน อินเดีย และภูฏาน จำนวน 1.8 พันล้านคน

นายเท็มปาเชื่อว่า ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแม่น้ำยาร์ลุง ซางโปและแม่น้ำโขง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามครอบครองทิเบตตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว

ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์นี้ เป็นจุดสนใจในปีที่แล้ว หลังจากเกิดความขัดแย้งในเขตตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัยระหว่างอินเดียกับจีน และเกิดการปะทะกันบริเวณแนวชายแดนและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากทางฝั่งอินเดีย 20 คนและทางฝั่งจีนอีกบางส่วน

เมื่อเลยอาณาเขตของจีนไป แม่น้ำยาร์ลุง ซางโปจะไหลผ่านบังกลาเทศ และเข้าสู่เขตรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัมของอินเดีย โดยชาวอินเดียเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำพรหมบุตร”

จากการเสนอสร้างเขื่อนยักษ์ที่ห่างจากชายแดนที่ติดกับอินเดียเพียง 30 กิโลเมตร ทำให้นายเท็มปามองว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการใช้สิ่งนี้ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองอย่างแน่นอน

โฆษกของกระทรวงที่ดูแลทรัพยากรน้ำของอินเดียออกมาบอกว่า อินเดียจะตอบโต้ด้วยการโครงการสร้างเขื่อนขนาด 10 กิกะวัตต์ บนแม่น้ำพรหมบุตรในลำน้ำอีกสาขาหนึ่ง ทางด้านสหรัฐฯ ที่เล็งเห็นว่าประเด็นนี้อาจจนำไปสู่ขัดแย้งได้ จึงพยายามชักชวนให้สองฝ่ายทำความเข้าใจและร่วมหารือแบ่งปันทรัพยากร

ร่างกฎหมายนโยบายสนับสนุนทิเบต (Tibet Policy and Support Act) ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เขียนไว้ว่า สหรัฐฯ จะ “สนับสนุนกรอบความร่วมมือส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับความมั่นคงด้านทางน้ำ … เพื่อส่งเสริมข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง … บนพื้นที่ราบสูงทิเบต”

เช่นเดียวกัน อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ลำน้ำระหว่างประเทศที่มิใช่เพื่อการเดินเรือ ค.ศ. 1997 (UN Watercourses Convention) โดยองค์การสหประชาชาติ ก็ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำที่ไหลข้ามพรมแดน แม้บังกลาเทศ อินเดีย และจีน จะไม่ได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญานั้นก็ตาม

ทางจีนได้ออกมาระงับข้อกังวลดังกล่าว จากแถลงการณ์ของนางหวา ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า “รัฐบาลจีนจะยังคงติดต่อกับรัฐบาลของอินเดียและบังคลาเทศต่อไปผ่านช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่ จึงยังไม่จำเป็นที่จะให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาตีความปัญหาเกินกว่าความเป็นจริง (over-interpret) แต่อย่างใด”

แม่น้ำยาร์ลุง ซางโปไหลลงมาแม่น้ำพรหมบุตรอินเดีย ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/2/8/china-to-build-the-worlds-biggest-dam-on-sacred-tibetan-river

บทเรียนจากแม่น้ำโขง

นอกจากโครงการหุบเขายาร์ลุงซางโปที่เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังมีการสร้างเขื่อนขนาดเล็กและขนาดกลางอีกมากมายที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายไบรอันกล่าวและว่า โดยที่จีนมีอำนาจเหนือแม่น้ำโขง จึงกังวลว่า โครงการยาร์ลุง ซางโปจะเป็นตัวเบิกทางให้เกิดโครงการลักษณะเดียวกันอีกด้วย

บทวิเคราะห์จากข้อมูลล่าสุดที่ได้จากเขื่อนของจีนพบว่า “ปฏิบัติการเหล่านี้จะค่อยๆ ลดระดับน้ำในบริเวณปลายน้ำของแม่น้ำโขง” และการที่ไม่มีความร่วมมือเกี่ยวกับเขื่อน จะส่งผลให้เขื่อนทั้ง 11 ของจีนบนแม่น้ำโขงมีผลต่อการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำและตะกอนต่างๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพังทลายของตลิ่งและชุมชนที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำ

ในขณะที่แผนพัฒนาแม่น้ำยาร์ลุง ซางโปยังคงไม่ชัดเจน นายไบรอันสังเกตว่า สิ่งนี้เป็นความเสี่ยงอันใหญ่หลวง เนื่องจาก “แม่น้ำเป็นสิ่งที่หิวกระหายตลอดเวลา”

“เมื่อตะกอนหายไป แม่น้ำจะเริ่มมองหาสิ่งอื่นมาทดแทน และมันจะเริ่มดึงพื้นที่ตลิ่งแม่น้ำลงไป ทำให้ดินดอนสึกกร่อนลงไปเรื่อยๆ จากกระบวนการธรรมชาติที่ผิดธรรมชาติ”

สุดท้ายนี้ การสร้างเขื่อนน้ำยาร์ลุงซางโปจะส่งผลให้อัตลักษณ์ของชาวทิเบตเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล