ThaiPublica > เกาะกระแส > ในทัศนะของลี เซียนลุง การเผชิญหน้า สหรัฐฯ-จีน เป็นอันตรายต่อ “ศตวรรษเอเชีย”

ในทัศนะของลี เซียนลุง การเผชิญหน้า สหรัฐฯ-จีน เป็นอันตรายต่อ “ศตวรรษเอเชีย”

7 มิถุนายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/asia/2020-06-04/lee-hsien-loong-endangered-asian-century?amp=true

ในบทความชื่อ The Endangered Asian Century ที่เพิ่งจะพิมพ์เผยแพร่ในเว็บไซต์ทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ foreignaffairs.com นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง เขียนไว้ว่า ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภายในทศวรรษ 2020 นี้ เศรษฐกิจเอเชียจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเศรษฐกิจส่วนอื่นของโลก ที่นำมารวมกัน ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

ลี เซียนลุง กล่าวว่า เอเชียมั่งคั่งขึ้นมาเพราะอาศัยเหตุปัจจัยจากฐานะนำของอเมริกา ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะสร้างบริบทเอื้ออำนวยทางยุทธศาสตร์ แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทำให้เกิดการตั้งคำถามสำคัญต่ออนาคตของเอเชีย และระเบียบระหว่างประเทศ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความกังวลต่อปัญหานี้ เพราะตั้งอยู่ในจุดที่เป็นชุมทาง ระหว่างผลประโยชน์ของมหาอำนาจสำคัญๆ และก็ยังพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นายกฯสิงคโปร์กล่าวว่า ประเทศในเอเชียมองสหรัฐฯว่าเป็นมหาอำนาจที่ดำรงอยู่และมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ ส่วนจีนคือสภาพความเป็นจริงที่อยู่ใกล้บ้าน หากมีแรงกดดันให้เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประเทศในเอเชียก็ไม่ต้องการที่จะถูกบังคับให้เลือกข้าง เช่น สหรัฐฯพยายามจำกัดการพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน หรือว่าจีนแสวงหาการสร้างเขตอิทธิพลเฉพาะขึ้นในเอเชีย

การเผชิญหน้าของ 2 มหาอำนาจนี้ จะดำรงอยู่นานหลายทศวรรษ และจะทำให้ศตวรรษแห่งเอเชีย ที่คาดหมายกันมานานนั้น ตกอยู่ในภาวะที่อันตราย

ยุคสันติสุขอเมริกา (Pax Americana)

ในยุคสมัยของสันติสุขอเมริกาในเอเชีย ในช่วงแรกระหว่างปี 1945-ทศวรรษ 1970 ประเทศในเอเชียที่มีเศรษฐกิจเสรี เริ่มต้นที่การพุ่งทะยานทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มแรกจากญี่ปุ่น และประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน เสถียรภาพและความมั่งคั่งของเอเชียเกิดขึ้นได้ เพราะสหรัฐฯสนับสนุนระเบียบโลกที่เปิดกว้าง บูรณาการ และยึดหลักเกณฑ์ บริษัทอเมริกันเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ ในด้านเทคโนโลยี เงินทุน และความคิด

นโยบายปฏิรูปแบบเปิดประเทศของจีนในปี 1978 ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มพุ่งทะยานขึ้นมา การค้าระหว่างประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศในเอเชียถือว่าสหรัฐฯและประเทศตะวันตก เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญ แต่ก็คว้าโอกาสที่มาจากการพัฒนาที่รวดเร็วของจีน การค้าและการท่องเที่ยวที่มีกับจีนเกิดการเติบโตขึ้น และห่วงโซ่การผลิตมีการเชื่อมโยงกับจีน ในเวลาไม่กี่ทศวรรษ จีนกลายเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พึงพอใจต่อสภาพที่ตัวเองสามารถแสวงหาสิ่งดีที่สุดจากความสัมพันธ์ 2 ส่วนนี้ คือ สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับสหรัฐฯและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ขณะเดียวกัน ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ร่วมมือกันมากขึ้น และสร้างองค์กรความร่วมมือที่มีรูปแบบเปิดกว้าง เรียกว่าสมาคมอาเซียนขึ้นมา รูปแบบความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ไม่มีมหาอำนาจใดมีอิทธิพลผูกขาดในอาเซียน

ลี เซียนลุงกล่าวว่า การดำเนินงานของอาเซียนตามแนวทางดังกล่าว ดำเนินไปด้วยดี จนกระทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบมูลฐาน ต่อสิ่งที่เคยเป็นรากฐานของภาวะสันติสุขอเมริกา (Pax Americana) ภายใน 40 ปี จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอิทธิพลการเมือง จีนมองว่าตัวเองคือมหาอำนาจของทวีป และก็ต้องการเป็นมหาอำนาจทางทะเล ที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง และการมีสถานะภาพในการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนสหรัฐฯก็ทำการทบทวนและประเมินยุทธศาสตร์พื้นฐานของตัวเอง ฐานะเศรษฐกิจของสหรัฐฯเทียบกับของโลก มีสัดส่วนลดลง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯจะยังแบกรับภาระการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลกต่อไปหรือไม่ หรือสหรัฐฯจะหันมาแสวงหาเป้าหมายที่แคบลง โดยใช้นโยบาย “อเมริกามาก่อน” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง

ที่มาภาพ : https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3016602/world-watches-presidents-xi-jinping-donald-trump-begin-summit

ทางเลือกของสหรัฐฯกับจีน

ลี เซียนลุงกล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างก็เผชิญทางเลือกขั้นพื้นฐาน สหรัฐฯต้องตัดสินใจว่า ตัวเองมองอย่างไรต่อการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน หากเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของสหรัฐฯ และต้องหาหนทางยับยั้งจีนในเรื่องนี้ หรือจะยอมรับว่า จีนคือประเทศมหาอำนาจ ที่เกิดขึ้นมาจากความสามารถของจีนเอง

หากสหรัฐฯเลือกแนวทางหลัง สหรัฐฯต้องมีท่าทีที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับจีน หรือหากจะแข่งขันกัน โดยที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ทั้งหมดของสองประเทศ สิ่งที่ดีที่สุดคือการแข่งขันที่อยู่ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ของสหประชาชาติ และองค์การการค้าโลก (WTO)

แต่หากสหรัฐฯเลือกที่จะปิดล้อมการพุ่งขึ้นมาของจีน ก็เสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้ และจะทำให้ทั้งสองประเทศนี้ ก้าวไปบนเส้นทางของการเผชิญหน้า ที่จะดำเนินไปเป็นเวลาหลายสิบปี สหรัฐฯไม่ใช่มหาอำนาจที่กำลังตกต่ำ แต่ยังเต็มไปด้วยความเข้มแข็ง ส่วนจีนก็มีเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยพลังพลวัตและเทคโนโลยี การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจครั้งนี้ จะไม่จบลงแบบการสิ้นสุดของสงครามเย็น ที่มหาอำนาจประเทศหนึ่งพังทะลายลงอย่างสันติ

ในส่วนของจีน ลี เซียนลุงมีทัศนะว่า จีนจะต้องประเมินตัดสินใจว่า การก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีน เป็นเพราะความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของตัวเอง ดังนั้น จึงไม่ต้องแสดงภาระรับผิดชอบ ท่าทีดังกล่าวเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบจากนานาประเทศ หรือในทางหนึ่ง จีนให้การยอมรับว่า การเป็นมหาอำนาจนั้น หมายถึงการเคารพกฎระเบียบโลก ที่จีนเองอาศัยประโยชน์มาสร้างความมั่งคั่ง รวมทั้งการที่จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น

พลวัตของเอเชียแปซิฟิก

ความขัดแย้งสหรัฐฯกับจีน จะส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของโลก แต่ที่ส่งผลมากที่สุดคือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สหรัฐฯเองมีผลประโยชน์สำคัญอยู่ในภูมิภาคนี้ ในอดีต ความมั่นคงและรุ่งเรืองของเอเชีย เคยเป็นปราการสำคัญที่ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ เอเชียแปซิฟิกยังเป็นตลาดและฐานการผลิตสำคัญของธุรกิจสหรัฐฯ

ส่วนจีนก็มีผลประโยชน์สำคัญอยู่ในภูมิภาคนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งพลังงานและวัตถุดิบ เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคม จีนเองก็เห็นว่าเส้นทางคมนาคมผ่านช่องแคบมะละกา และทะเลจีนใต้ ต้องมีลักษณะเปิดกว้าง เพื่อปกป้องความมั่นคงทางพลังงานของจีน สิ่งที่ต่างจากสหรัฐฯก็คือ จีนถือว่าเอเชียแปซิฟิกคือ ต่างประเทศที่อยู่ใกล้บ้าน จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของจีน

ช่องแคบมะละกา ที่มาภาพ : https://www.nippon-foundation.or.jp/en/what/projects/safe_passage

ลี เซียนลุง กล่าวว่า กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯมีส่วนทำให้เกิดความมั่นคงต่อเส้นทางเดินเรือที่เปิดกว้างและเสรี ทำให้การค้าและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจริญเติบโต จีนไม่สามารถมารับผิดชอบด้านความมั่นคงดังกล่าวแทนสหรัฐฯ เพราะจีนขัดแย้งกับหลายประเทศ ในการอ้างสิทธิการครอบครองดินแดนในทะเลจีนใต้

แต่ประเทศในเอเชียต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน การผลิตห่วงโซ่อุปทานโลก เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือหน้ากากอนามัย ทำให้จีนกับประเทศเอเชียเชื่อมโยงกัน เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่โต ทำให้จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่สุดของแทบทุกประเทศในเอเชีย ในจุดนี้ สหรัฐฯก็ไม่สามารถเข้ามามีบทบาทแทนที่จีนได้ ส่วนจีนเองก็ไม่สามารถมาทำหน้าที่แทนบทบาททางเศรษฐกิจสหรัฐฯในเอเชีย เช่น ระบบการเงินของโลกยังพึ่งพาสถาบันการเงินของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก บริษัทของจีนเองต้องอาศัยเวลาอีกหลายปี ก่อนที่จะมีความช่ำชองเหมือนกับการลงทุนของบริษัทข้ามชาติสหรัฐฯในเอเชีย

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์จึงกล่าวว่า จากเหตุผลดังกล่าว ประเทศในเอเชียแปซิฟิกจึงไม่ต้องการที่จะถูกบังคับให้เลือกข้าง ระหว่างสหรัฐฯกับจีน แต่ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ องค์กรความร่วมมือในภูมิภาคจึงมีลักษณะเปิดกว้าง และไม่กีดกันฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

อย่างเช่น ความตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ที่ประกอบด้วย 11 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก พร้อมที่จะเปิดรับสหรัฐฯให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ หรือความตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่ประกอบด้วย 15 ประเทศ ก็พร้อมที่จะรับอินเดียเข้ามาเป็นสมาชิก ความตกลงดังกล่าวมีความหมายมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเวที (platform) ที่ประเทศเอเชียแปซิฟิกจะร่วมมือกัน โดยแต่ละประเทศสมาชิก มีส่วนร่วมในความสำเร็จของอีกประเทศหนึ่ง

ลี เซียนลุง กล่าวสรุปว่า เป็นธรรมดาที่มหาอำนาจะแข่งขันกัน แต่ความสามารถในการร่วมมือกัน คือบททดสอบของการบริหารรัฐกิจ ประเทศต่างๆในเอเชียมีภารกิจที่เป็นงานล้นมืออยู่แล้ว เช่น การรับมือกับโรคระบาด การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และการสร้างภูมิภาคให้มั่งคั่งและมั่นคง ความสำเร็จในภารกิจดังกล่าว ต้องพึ่งพาอย่างมาก ต่อบทบาทของสหรัฐฯกับจีน ที่เอาชนะความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ เพื่อระเบียบโลกที่สงบสันติ

เอกสารประกอบ
The Endangered Asian Century, Lee Hsien Loong, June 4, 2020, foreignaffairs.com