ThaiPublica > เกาะกระแส > ร้อง กมธ.ตามเช็คบิล ปมขายที่ดิน ‘ศุภชัย ศรีศุภอักษร-พิษณุโลก เอทานอล’ 8 ปี คดีไม่คืบ

ร้อง กมธ.ตามเช็คบิล ปมขายที่ดิน ‘ศุภชัย ศรีศุภอักษร-พิษณุโลก เอทานอล’ 8 ปี คดีไม่คืบ

7 มีนาคม 2022


สหกรณ์คลองจั่นฯ ร้อง กมธ.ตามเช็คบิล ‘จนท.-ผู้ที่เกี่ยวข้อง’ ปมซื้อ-ขายที่ดินสีคิ้วระหว่าง ‘ศุภชัย ศรีศุภอักษร-บริษัท พิษณุโลก เอทานอล’ 477 ล้านบาท ใช้หนี้คืนสหกรณ์ฯแค่ 100 ล้านบาท เวลาผ่านไป 8 ปี คดีไม่มีความคืบหน้า

8 ปี หลังจากสำนักงาน ป.ป.ง.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สั่งถอนอายัดทรัพย์สินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เพื่อให้ทั้ง 2 หน่วยงาน นำที่ดินของนายศุภชัยที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 36 แปลง เนื้อที่ 1,838 ไร่ ออกขายทอดตลาด ตาม ระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ง.ว่าด้วยการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด พ.ศ. 2544 โดยอนุโลม เพื่อนำเงินมาคืนสมาชิกสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 25/2556 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556

ปรากฎในทางปฏิบัติทั้ง ป.ป.ง.และดีเอสไอ กลับให้นายศุภชัยนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายให้กับบริษัท พิษณุโลก เอทานอล (ผู้ซื้อ) โดยตรง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สีคิ้ว พรอพเพอร์ตี้ จำกัด) ทั้ง ๆที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ขายทอดตลาด ซึ่งตามระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ง.ฯ 2544 นั้น กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาด รวมทั้งออกประกาศเชิญชวน กำหนดวันเวลา สถานที่ เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปได้เข้ามายื่นซองเสนอราคา แต่กลับยินยอมให้นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวโดยตรงกับบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ซึ่งในสัญญาดังกล่าวนี้ระบุว่าให้ผู้ซื้อชำระค่าที่ดิน 477 ล้านบาท เป็นแคชเชียร์เช็ดรวม 6 ฉบับ ดังนี้

    ฉบับแรก จ่ายค่าภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนให้กระทรวงการคลัง ผ่านสำนักงานคลังจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 19,887,327 บาท
    ฉบับที่ 2 สั่งจ่ายสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด จำนวน 100,000,000 บาท
    ฉบับที่ 3 สั่งจ่าย นายธรรมนูญ โชติจุฬางกูร จำนวน 55,650,684 บาท
    ฉบับที่ 4 สั่งจ่ายนางสาวพัชรา สงวนไชยกฤษณ์ จำนวน 27,344,500 บาท
    ฉบับที่ 5 สั่งจ่ายนายสุรินทร์ ศีลพิพัฒน์ จำนวน 25,223,000 บาท
    และฉบับที่ 6 สั่งจ่ายนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 249,784,489 บาท

หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเสร็จเรียบร้อย วันที่ 8 มกราคม 2557 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งถอนอายัดทรัพย์สิน (ที่ดินทั้งหมด 36 แปลง) วันที่ 9 มกราคม 2557 เจ้าพนักงานที่ดิน สาขาอำเภอสีคิ้ว ก็มีคำสั่งถอนอายัดที่ดินทั้งหมด และรับจดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าว โดยการซื้อ-ขายที่ดินมูลค่า 477 ล้านบาทในครั้งนั้น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้รับเงินจากบริษัท พิษณุโลก เอทานอลแค่ 100 ล้านบาท ขณะที่นายศุภชัย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดียักยอกเงินสหกรณ์ฯ ได้รับแคชเชียร์เช็คจากผู้ซื้อ 249 ล้านบาท

คลิ๊กอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง

  • สรุปที่มาและการทำนิติกรรมที่ดิน 36 แปลง เนื้อที่ 1,838 ไร่ของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร
  • สัญญาซื้อ-ขายที่ดินระหว่างนายศุภชัย ศรีศุภอักษรกับบริษัท พิษณุโลก เอทานอล
  • กรณีดังกล่าวนี้ ทางกลุ่มสมาชิกของสหกรณ์ฯได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ 2 ประเด็น คือ ในการซื้อ-ขายที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 25/2556 ให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ออกขายทอดตลาด ตามระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ง.ฯ 2544 หรือไม่

    ประเด็นที่ 2 ทำไม ป.ป.ง.และดีเอสไอ จึงยินยอมให้นายศุภชัย นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายเอง รวมทั้งทำสัญญากับผู้ซื้อให้ทำแคชเชียร์สั่งจ่ายนายศุภชัย 249 ล้านบาท ทั้ง ๆที่วัตถุประสงค์ของการถอนอายัดที่ดินแปลงนี้ เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดส่งคืนสมาชิกสหกรณ์ ฯในฐานะผู้เสียหายในคดีความผิดมูลฐาน

    ทั้งหมดก็ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

    หลังจากเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา ทางสำนักงาน ป.ป.ง.ได้ออกคำสั่ง 265/2559 ลงวันที่ 28 เมษายน 2559 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เข้าไปตรวจธุรกรรมการซื้อ-ขายที่ดินแปลงดังกล่าว พบว่านายศุภชัยได้นำเช็คแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำนวน 249 ล้านบาท ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองก่อนที่จะสั่งจ่ายแคชเชียร์ไปให้เครือข่ายของนายศุภชัยอีกหลายราย ในจำนวนนี้พบว่ามีการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็ค 3 ฉบับ รวม 60 ล้านบาทให้กับนายณฐพล โตประยูร อดีตที่ปรึกษากฎหมายประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็น ค่านายหน้าซื้อ-ขายที่ดิน ไม่แน่ใจว่าในระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ง.ว่าด้วยการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด พ.ศ. 2544 กำหนดให้จ่ายค่านายหน้าได้หรือไม่

    ต่อมา สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอข่าวผู้บริหารระดับสูงของกรมสอบสวนคดีพิเศษอาจจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายที่ดินดังกล่าว จนกระทั่งได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ 2 ราย คือ พ.ต.หญิง นาฏยา มุตตามระ ผู้อำนวยการส่วนช่วยอำนวยการและประชาสัมพันธ์ และ พ.ท.อมร มุตตามระ (เคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการสมัยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีดีเอสไอ) โดยทำการตรวจสอบเส้นทางการเงินจากเช็คที่นายศุภชัยสั่งจ่ายไป ปรากฏไปเข้าบัญชีของข้าราชการทั้ง 2 ราย กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ รวมทั้งรับทำคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ และแจ้งข้อกล่าวหานายศุภชัยกับพวกรวม 14 ราย ในความผิดฐานฟอกเงิน

    จากนั้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของ ป.ป.ง.อีก 2 ราย คือ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ง.และที่ปรึกษาประจำ ป.ป.ง. ให้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว และนายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงาน ปปง. ให้ไปดำรงตำแหน่ผู้อำนวยการ (พิเศษ) ระดับสูง สำนักคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างเต็มที่

    ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของข้าราชการที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษไล่ออกจากราชการทั้ง 2 ราย จำนวน 84 รายการ รวมราคาประเมินทรัพย์สินทั้งหมด 38 ล้านบาท เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 24 ธันวาคม 2560

    ปรากฎว่าคดีนี้ไม่มีความคืบหน้า โดยรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศรา ระบุว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นสั่งฟ้อง และได้ส่งให้อัยการพิจารณาตั้งแต่ปี 2560 แต่จนถึงปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากอัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม รวมทั้งหมด 7 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดดีเอสไอได้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมตามที่อัยการสั่งไปเมื่อกลางปี 2563 และจนถึงปัจจุบันพนักงานอัยการยังไม่มีความเห็นในคดีนี้แต่อย่างใด โดยผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้มีทั้งหมด 14 ราย ประกอบด้วย 1.นายศุภชัย ศรีศุภอักษร (ไปแจ้งข้อกล่าวหาที่เรือนจำ) 2.นายณฐพร โตประยูร (อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน) 3. พันตรีหญิงนาฏยา มุตตามระ 4.พันโท อมร มุตตามระ 5.น.ส.อุมาดาห์ จำนงค์เขตต์ 6.นายรัฐสิทธิ์ โตประยูร (กรรมการบริษัท อินเตอร์อลายซ์ฯ ของนายณฐพร) 7.นายโชคอนันต์ ช้อยสุชาติ 8.นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล 9.บริษัท เอส ดับบลิว โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (นายสถาพรเป็นกรรมการ) 10.น.ส.พรพิมล คัทธมารถ 11.บริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีนายศุภชัยเป็นอดีตกรรมการ 12.นาย Kumar Latchman Sigh 13.นายสุลสิด ทะนะโสด 14.นางโบนาลิน ตระกูลทอง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะคดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของอัยการ

    ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้กลุ่มสมาชิกของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มอบหมายให้นายจิรพัฒน์ ปิ่นแคน ทนายความ ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.-ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ขอให้คณะกรรมาธิการฯติดตามความคืบหน้าของคดีนี้ และเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กรรรมการสหกรณ์ฯในขณะนั้น และกรรมการบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สีคิ้ว พรอพเพอร์ตี้ จำกัด หรือ “ผู้ซื้อ” มาชี้แจง และตรวจสอบการซื้อ-ขายที่ดินแปลงดังกล่าว หากพบว่ามีการกระทำความผิด ก็ขอให้คณะกรรมาธิการฯดำเนินคดีตามกฎหมายแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่จะกระทำความผิดในลักษณะฉ้อโกงประชาชนอีกต่อไป

  • ร้อง ‘น้ำตาล ลิน’ รุกป่าสงวน-สหกรณ์คลองจั่นฯจี้สอบปมซื้อ-ขายที่ดิน ‘สีคิ้ว’477 ล้าน
  • ป้ายคำ :