ThaiPublica > เกาะกระแส > ร้อง ‘น้ำตาล ลิน’ รุกป่าสงวน-สหกรณ์คลองจั่นฯจี้สอบปมซื้อ-ขายที่ดิน ‘สีคิ้ว’477 ล้าน

ร้อง ‘น้ำตาล ลิน’ รุกป่าสงวน-สหกรณ์คลองจั่นฯจี้สอบปมซื้อ-ขายที่ดิน ‘สีคิ้ว’477 ล้าน

2 มีนาคม 2022


เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565
เวลา 8.30 น. พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องร้องเรียน ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา

ร้อง ‘เสรีพิศุทธ์’ สอบกรมที่ดิน ฐานละเว้น-ไม่เพิกถอนกรรมสิทธิ์ใช้ประโยชน์ที่ดินโรงงานน้ำตาลบ้านไร่ รุกที่ป่าสงวน ขณะที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจี้สอบ ‘ปปง.-ดีเอสไอ’ ปมซื้อ-ขายที่ดิน ‘สีคิ้ว’ 1,838 ไร่ กว่า 477 ล้านบาท ใช้หนี้คืนสหกรณ์ฯแค่ 100 ล้านบาท ขณะที่‘ศุภชัย ศรีศุภอักษร’ รับส่วนแบ่งกว่า 249 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 เวลา 8.30 น. พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) พร้อมด้วยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลงมารับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนที่สำคัญๆมี 2 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก กรณีนายธนารัตน์ น้ำคำ ในฐานะผู้บริโภค มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตช่วยเหลือบริษัทเอกชน โดยนายธนารัตน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย ในคดีคนงานตกรางส่งอ้อยเสียชีวิต อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี แต่หลังจากที่ตนได้ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลและหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่าที่ตั้งของ บริษัท อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3230 เล่ม 33 ก หน้า 30 เลขที่ดิน 55 ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 328 ไร่ (โดยการรวม น.ส.3ก หลายฉบับเข้าด้วยกัน) ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1174 พ.ศ. 2529 ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชติ พ.ศ. 2507 ซึ่งได้ประกาศให้ป่าเขาพุวันดี , ป่าห้วยกระเสียว และป่าเขาราวเทียน ในท้องที่ตำบลบ้านไร่ ตำบลหนองจอก และตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นป่าสงวนแห่งชาติทั้งตำบล

นายธนารัตน์ น้ำคำ ในฐานะผู้บริโภค (ขวามือ)

ถึงแม้ว่าเจ้าของที่ดินจะถือครองเอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 ก มาก่อนที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 จะประกาศใช้ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวรเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2513 ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดิน หรือ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้าม

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ตนเชื่อได้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ ประกอบกิจการอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อาจเป็นความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่เกี่ยวข้อง ย่อมมีความผิด กรณีไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต่อมา ทางกรมป่าไม้ ได้ทำหนังสือที่ กษ 0705.05/8786 ลงวันที่ 12 เมษายน 2544 ถึงกรมที่ดิน ขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ปัจจุบันกรมที่ดินก็ยังไม่ได้พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่อย่าง อาจถือเป็นการปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ดังนั้น ตนจึงรวบรวมพยานเอกสารหลักฐานต่างๆพร้อมหนังสือร้องเรียนมายื่นต่อคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนโฉนดที่ดิน หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ของบริษัท ให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติและแผ่นดินต่อไป

เรื่องที่ 2 กรณีนายจิรพัฒน์ ปิ่นแคน ผู้รับมอบอำนาจจากสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ขอให้เร่งรัดตรวจสอบการฉ้อโกงประชาชน นายจิรพัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากกรณีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในขณะดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ได้นำเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นออกไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้สหกรณ์ฯขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินคืนให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ฯ ทาง สมาชิกของสหกรณ์ฯ จึงได้ไปร้องเรียนต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่ง ต่อมาหน่วยงานราชการทั้ง 2 แห่ง ได้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษรไว้ และจากการติดตามข่าวจากสื่อมวลชน พบว่ามีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เพียงผู้เดียว ทั้ง ๆที่พฤติการณ์ในการกระทำนั้น ไม่สามารถจะกระทำได้ด้วยบุคคลคนเดียวเพียงลำพัง แต่ต้องได้รับความร่วมมือ หรือ ช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนทราบว่า สำนักงาน ปปง.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวน แต่ปัจจุบันเรื่องยังคงเงียบ และไม่ปรากฎความคืบหน้าของการดำเนินการว่าผลคดีเป็นประการใด

นายจิรพัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในขณะดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้นำเงินของสหกรณ์ฯไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นจำนวนหลายหมี่นล้านบาท ส่งผลให้สหกรณ์ ฯ ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินเงินคืนให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ ฯ ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 สำนักงาน ปปง. ก็ได้มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ไว้ชั่วคราวนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2556 โดย ปปง.ได้หนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้วรับทราบ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 ให้อายัดที่ดินที่มีชื่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิครอบครองไว้จำนวน 36 แปลง เนื้อที่ 1,838 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อนำออกประมูลขายทอดตลาดตามกฎหมายและระเบียบ และนำเงินมาชำระคือแก่สหกรณ์ฯต่อไป อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน

นายจิรพัฒน์ ปิ่นแคน ผู้รับมอบอำนาจจากสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (คนกลาง)

และเนื่องจากเป็นคดีที่เข้าข่ายคดีอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จึงมีมติรับคดีอาญานี้ไว้ดำเนินการสอบสวน และดำเนินคดีกับ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก และมีคำสั่งอายัดที่ดินดังกล่าว

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ผู้แทนของ ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวมทั้งนายศุภชัย ศรีอักษร ผู้ต้องหา และสมาชิกสหกรณ์ ผู้ร้องเรียน ได้ร่วมกันประชุม โดยมีมติให้นำทรัพย์สิน (ที่ดินที่อายัดไว้) ออกขายทอดตลาดตามระเบียบ ปปง. 2544 โดยอนุโลม เพื่อนำเงินที่ได้นำมาคืนให้แก่สหกรณ์ ฯ

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 หลังจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ถูกอายัดทรัพย์สินแล้ว นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่ บริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด ในราคาเหมารวม 477.88 ล้านบาท โดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้จะขาย และบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด ผู้จะซื้อ ตกลงกันในสัญญาจะจัดทำแคชเชียร์เช็คชำระเงินค่าที่ดิน ดังนี้

    1. กระทรวงการคลัง ผ่านสำนักงานคลังจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 19,887,327 บาท
    2. สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด จำนวน 100,000,000 บาท
    3. นายธรรมนูญ โชติจุฬางกูร จำนวน 55,650,684 บาท
    4. นางสาวพัชรา สงวนไชยกฤษณ์ จำนวน 27,344,500 บาท
    5. นายสุรินทร์ ศีลพิพัฒน์ จำนวน 25,223,000 บาท
    6.นายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 249,784,489 บาท

หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงนี้เสร็จเรียบร้อย วันที่ 8 มกราคม 2557 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ได้มีหนังสือถอนการอายัดที่ดินทั้งหมด (ทุกแปลง) ต่อมาในวันที่ 9 มกราคม 2557 เจ้าหน้าที่ที่ดินเพิกถอนการอายัดที่ดินดังกล่าวทั้งหมด ในวันเดียวกันกับวันที่เจ้าหน้าที่ที่ดินเพิกถอนการอายัดที่ดิน และได้จดทะเบียนการซื้อขายที่ดินต่อสำนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 โดยบริษัทฯผู้ซื้อได้ชำระเงินคืนให้แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจำนวน 100 ล้านบาท เท่านั้น ไม่ชำระค่าที่ดินให้กับสหกรณ์ฯทั้งหมด แต่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กลับได้รับเงินจากการขายที่ดินดังกล่าวไปเป็นจำนวน 249,784,489 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้เอกชนผู้ทำสัญญาจะซื้อ สมควรต้องนำไปชดใช้คืนให้สหกรณ์ทั้งหมด เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ฯที่ได้รับความเสียหาย

ดังนั้น พฤติกรรมของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร , ปปง. , ดีเอสไอ ทำให้เห็นได้ว่า “อาจมีพฤติกรรมร่วมมือกันหรือสนับสนุนกับเอกชน ในการกระทำดังกล่าวและก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกสหกรณ์ ซึ่งหากสำนักงาน ปปง. และ ดีเอสไอ ร่วมมือ หรือ สนับสนุน ก็อาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์

“การกระทำของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และเจ้าหน้าที่ของสองหน่วยงานดังกล่าวที่เกี่ยวข้อง อาจเป็นการร่วมกัน หรือ สนับสนุนให้นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้รับเงินคืนจำนวน 249,784,489 บาท ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ทุจริต และ มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สหกรณ์ ฯ ไม่ได้รับเงินคืน เพื่อนำเงินมาเยียวยาให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ ฯ ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นประธานรากหญ้าได้รับความเสียหาย”

นายจิรพัฒน์ กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันการสอบสวนยังไม่ปรากฏความคืบหน้า และไม่ปรากฎข่าวว่ามีการดำเนินคดีกับผู้ใด หรือ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่มีการดำเนินคดีดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานผู้หนึ่งผู้ใด หรือ เอกชนผู้ให้ความร่วมมือ หรือ สนับสนุนการกระทำความผิดแต่อย่างใด วันนี้ตนจึงมาร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และเรียกเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย , กรรมการสหกรณ์ฯ , สมาชิกสหกรณ์ฯ และกรรมการ บริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท สีคิ้ว พรอพเพอร์ตี้ จำกัด) มาขี้แจง เรื่องการซื้อขายที่ดินดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมต่อสมาชิกของสหกรณ์ฯ หากพบว่าการกระทำของเจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้อง หรือ เอกชนผู้หนึ่งผู้ใดเป็นความผิดอาญา ขอแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่จะกระทำความผิดในลักษณะฉ้อโกงประชาชนอีกต่อไป