ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตรวจอาการสหกรณ์ 8 พันแห่ง พบ 1,103 ทุจริต – บกพร่อง เสียหาย 3 หมื่นล้าน – ต่ำกว่ามาตรฐาน 838 แห่ง

ตรวจอาการสหกรณ์ 8 พันแห่ง พบ 1,103 ทุจริต – บกพร่อง เสียหาย 3 หมื่นล้าน – ต่ำกว่ามาตรฐาน 838 แห่ง

4 สิงหาคม 2016


จากกรณีคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ร่วมกันยักยอกทรัพย์ โดยสั่งจ่ายเช็ค 878 ฉบับ มูลค่า 12,000 ล้านบาท ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จนเป็นเหตุให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นประสบปัญหาวิกฤติ สมาชิกผู้ฝากเงินไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ตั้งแต่ปี 2556 ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับระบบการกำกับดูแลและตรวจสอบ

หลังจากคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กลายเป็นข่าวใหญ่ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะหน่วยกำกับดูแลสหกรณ์ได้เคยกล่าวกับสำนักข่าวออนไลน์ไทบพับลิก้าว่า “กฎหมายสหกรณ์มีช่องโหว่ ที่ผ่านมากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตรวจงบการเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น พบความผิดปกติมานานถึง 5 ปี และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ทำหนังสือแจ้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแก้ไขปรับปรุงทุกปี แต่ไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องใดๆ”

ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายประเภทส่งเสริมและสนับสนุนกิจการสหกรณ์ จึงบัญญัติบทลงโทษผู้กระทำความผิดเอาไว้เบามาก

อย่างไรก็ตามกรณีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งกับอดีตผู้บริหารสหกรณ์แล้ว พร้อมแจ้งความร้องทุกข์กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย

ต่อเรื่องนี้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความเป็นห่วงว่า “เนื่องจากปัจจุบันสหกรณ์ทั้งระบบรับฝากเงินจากประชาชนและสมาชิก ยอดเงินฝากรวมหลายล้านบาท หากมีปัญหา เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน” ดังนั้นการประชุม ครม. วันที่ 14 มิถุนายน 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จึงสั่งให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมสหกรณ์, กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งศึกษาระบบกำกับดูแลสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพให้ได้ข้อยุติภายใน 3 เดือน (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ภาพรวมสหกรณ์ปี 2558(1)

สำหรับผลการตรวจสอบสหกรณ์ทั้งระบบในปี 2558 (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558) โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยแพร่บนเว็บไซต์ พบสหกรณ์ที่มีปัญหาทุจริตและบกพร่อง 1,103 แห่ง มีมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 29,580 ล้านบาท ประกอบด้วย สหกรณ์ที่มีปัญหาทุจริต 277 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 18,763 ล้านบาท บกพร่องทางการเงิน 728 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 2,105 ล้านบาท ทำกิจกรรมนอกกรอบวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ 107 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 5,327 ล้านบาท บกพร่องทางบัญชี 67 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 35 ล้านบาท และมีพฤติกรรมอาจเกิดความเสียหายอีก 74 แห่ง วงเงิน 3,349 ล้านบาท ทั้งนี้ สหกรณ์หนึ่งแห่งอาจมีข้อบกพร่องหลายประเภท

หลังตรวจพบข้อบกพร่อง กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปแก้ไขจนเสร็จสมบูรณ์ 568 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 31.47% ของจำนวนสหกรณ์ที่แก้ไขข้อบกพร่อง แก้ไขเสร็จแต่ยังต้องติดตาม 889 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 49.25% และอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข 348 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 19.28% (สรุปภาพรวมการแก้ไขปัญหาสหกรณ์ที่มีข้อบกพร่อง)

ภาพรวมสหกรณ์ปี 2558_2

นอกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจพบทุจริตในระบบสหกรณ์แล้ว ยังมอบหมายให้กองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า ประเมินมาตรฐานสหกรณ์ทั้งหมด 8,230 แห่ง ในจำนวนนี้มีสหกรณ์ 2,109 แห่ง ไม่ได้ถูกตรวจสอบมาตรฐาน เนื่องจากสหกรณ์กลุ่มนี้เป็นสหกรณ์ที่จัดตั้งใหม่ไม่ถึง 2 ปี อีกส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างชำระบัญชีและไม่ได้ดำเนินธุรกิจ จึงเหลือสหกรณ์ที่ถูกกรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจวัดมาตรฐาน 6,121 แห่ง ข้อมูลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2558 ปรากฏว่า มีสหกรณ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ 5,263 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 86.31% ของจำนวนสหกรณ์ที่ถูกตรวจสอบ ส่วนที่เหลือ 838 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 13.69% ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกรมส่งเสริมสหกรณ์

สำหรับผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของสหกรณ์ในปี 2558 จัดทำโดยกลุ่มวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ระบุว่า ในปี 2558 มีสหกรณ์ที่จดทะเบียนกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทั้งหมด 8,074 แห่ง เปรียบเทียบปีก่อนเพิ่มขึ้น 43 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 0.54% และมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 11.87 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อน 295,509 คน หรือเพิ่มขึ้น 2.55% โดยสมาชิกทั้งหมดนี้ถือหุ้นสหกรณ์ คิดเป็นมูลค่ารวม 8.81 แสนล้านบาท

ฐานะการเงินของสหกรณ์ทั้งระบบ มีสินทรัพย์รวม 2.37 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 1.33 ล้านล้านบาท และส่วนของทุน 1.04 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของทุนประกอบด้วยทุนเรือนหุ้น 8.81 แสนล้านบาท ทุนสำรองทั้งระบบมี 94,022 ล้านบาท ทุนสำรองตามระเบียบข้อบังคับอื่นๆ 16,443 ล้านบาท มีกำไรจากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น 4,525 ล้านบาท ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 388 ล้านบาท กำไรสุทธิรอการจัดสรร 42 ล้านบาท โดยมียอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ 20,595.41 ล้านบาท แต่ถ้าดูเฉพาะปี 2558 สหกรณ์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิ 67,155 ล้านบาท

สำหรับแหล่งเงินทุน (Source Of Fund) ที่สหกรณ์นำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจในปี 2558 วงเงิน 2.37 ล้านล้านบาท หลักๆ จะมาจาก 2 แหล่งใหญ่ ดังนี้

1. แหล่งทุนภายในสหกรณ์วงเงิน 1.77 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยการรับฝากเงินจากสมาชิก 6.97 แสนล้านบาท ทุนของสหกรณ์ 1.04 ล้านล้านบาท และอื่นๆ 27,723 ล้านบาท

2. แหล่งทุนภายนอกวงเงิน 6.05 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมและเครดิตจากการขายสินค้า 5.49 แสนล้านบาท รับฝากเงินจากประชาชนและหนี้สินอื่นๆ 56,569 ล้านบาท

โดยสหกรณ์ได้นำเงินจากแหล่งทุนดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินธุรกิจดังนี้

1. ปล่อยสินเชื่อมียอดคงค้าง 1.89 ล้านล้านบาท โดยสหกรณ์ได้กันเงินมาตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญแล้ว 18,120 ล้านบาท

2. เงินลงทุน 2.37 แสนล้านบาท

3. เงินสดฝากธนาคาร 90,045 ล้านบาท

4. ฝากสหกรณ์อื่น 76,915 ล้านบาท

5. ให้ลูกหนี้อื่นกู้ยืม 43,026 ล้านบาท ในส่วนนี้ได้ตั้งสำรองค่าหนี้สงสัยจะสูญอีก 17,501 ล้านบาท

6. ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง 35,849 ล้านบาท

7. สินค้าคงเหลือ 10,396 ล้านบาท

8. ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน 2,240 ล้านบาท

9. อื่นๆ 22,977 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม: ซีรีย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น