ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท.-แบงก์พาณิชย์ พร้อมรับมือกรุงเทพจมน้ำ ยันเงินสดไม่ขาดมือ

ธปท.-แบงก์พาณิชย์ พร้อมรับมือกรุงเทพจมน้ำ ยันเงินสดไม่ขาดมือ

26 ตุลาคม 2011


ดร.ประสาร ไตรรัตน์กุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์กุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัญหาน้ำท่วมที่กำลังบุกเข้าโจมตีทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร สร้างความหวั่นวิตกให้ชาวมหานครเป็นอย่างมากจนเกิดการตื่นตระหนกกักตุนอาหาร เครื่องดืม และพลังงานเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ในระดับความสูงเท่าไร และจะนานแค่ไหน ปรากฎการณ์ดังกล่าว ดร. ประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลเสถียรภาพการเงินออกมายืนยันว่า จะดูแลสภาพคล่องเงินสดไม่ให้สะดุด โดยมีธนบัตรเตรียมไว้รองรับหากธนาคารพาณิชย์ต้องการเบิกจ่ายแบบไม่อั้น

“สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดขณะนี้คือ คือ อาหาร เงินสด และพลังงาน แต่อาหารและพลังงานเริ่มขาดแคลน เพราะมีการกักตุนและการขนส่งมีปัญหา แต่ด้านเงินสดยังไม่มีข้อเรียกร้องเรื่องการกระจายเงินสดไปศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ ณ 6 ต.ค. 2554 มีธนบัตรหรือเงินสดหมุนเวียนในระบบประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท และสำรองอยู่ที่ธปท. 1.2 แสนล้านบาท

ส่วนการให้บริการกดเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม ผู้ว่าการธปท.ระบุว่า แม้ตู้เอทีเอ็มจะถูกน้ำท่วมทำให้หยุดให้บริการไปกว่า 2,000 แห่ง แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะตู้เอทีเอ็มทั้งระบบน่าจะมีมากถึงเกือบ 30,000 ตู้ และสาเหตุที่ตู้เอทีเอ็มต้องปิดบริการเป็นเพราะถูกตัดระบบไฟฟ้า ไม่ใช่จากสาเหตุไม่มีเงินหรือไม่มีสภาพคล่อง ที่สำคัญการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นมากขึ้นแม้วันหยุดก็สามารถใช้บริการได้ที่ห้างสรรพสินค้าที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่

ดร.ประสารอธิบายถึงความเตรียมพร้อมในการดูแลสภาพคล่องทางการเงินไม่ให้ติดขัดว่า ธปท.มีแผนเตรียมพร้อมที่เรียกว่า Business Continuity Plan หรือ BCP โดยมีแผนรองรับฉุกเฉิน 2 ขั้น

ขั้นแรก กรุงเทพฯท่วม แต่ไม่จม คือน้ำอยู่ระดับ 50 เซ็นติเมตร ไม่เกิน 1 เมตร เริ่มเดินทางไม่สะดวกในบางพื้นที่ รถเล็กอาจไปไม่ได้ แต่รถใหญ่ไปได้ ขั้นที่สองคือ กรุงเทพฯ จม กรณีน้ำท่วมสูงเกินระดับ 1 เมตร เดินทางไม่สะดวก ไปไหนไม่ได้ ปิดน้ำปิดไฟ

ผู้ว่าธปท.บอกว่า ขณะนี้ประเมินว่ายังอยู่ในแผนขั้นที่ 1 โดยธปท.เตรียมพร้อมสถานที่ในการบริหารจัดการไว้ 2 ที่ คือ บางขุนพรหม กับ โรงพิมพ์ธบัตรที่พุทธมนฑลสาย 7 ส่วนการระบบการชำระเงิน การหักบัญชีเช็ค ที่สาขาสุรวงศ์ถ้ามีปัญหาก็ย้ายไปโรงพิมพ์ธนบัตร ทั้งนี้กำแพงเขื่อนที่บางขุนพรหมสูง 3.50 เมตร และที่สาขาสุรวงศ์มีกำแพงกันน้ำสูง 2.40 เมตร

“ตั้งแต่น้ำเริ่มเข้ากรุงเทพฯ ธปท.มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์อยู่ตลอดเวลา ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับธนาคารพาณิชย์ และในกรณีกรุงเทพจมน้ำ ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งไว้แล้วว่า จะมีการจัดรถขนาดใหญ่เพื่อเป็นจุดรับเช็คเพื่อขนย้ายไปโรงพิมพ์ธนบัตรสาย 7 เพื่อเคลียริ่งเช็ค และถ้าจำเป็นอาจต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขนย้ายเช็คแทนรถขนาดใหญ่ เพื่อดูแลระบบการเงินไม่ให้ติดขัด และกระทบต่อธุรกรรมการค้า การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

สำหรับการช่วยเหลือสภาพคล่องระบบสถาบันการเงินเพื่อให้ดูแลภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมนั้น ดร.ประสารกล่าวว่า ธปท.กับธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกันเตรียมกระบวนการรองรับการใช้หลักทรัพย์รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหลักประกันในการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท โดยธนาคารญี่ปุ่นและธนาคารต่างประเทศอื่นๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ไทย หากมีปัญหาสภาพคล่องสามารถนำหลักทรัพย์พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมาขอสินเชื่อกับธปท.ได้ โดยธปท.ไม่จำกัดวงเงิน

แนวทางดังกล่าวดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ตลาดการเงินมีการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพ และขยายช่องทางการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท เนื่องจากในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม เป็นลูกค้าธนาคารญี่ปุ่นค่อนข้างมาก และจะเริ่มดำเนินการได้ภาย 1-2 สัปดาห์นี้ (ข่าวธปท. เรื่องความร่วมมือระหว่างธปท.กับธนาคารกลางญี่ปุ่น)

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหรรม 7 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ สหรัตนนคร โรจนะ ไฮเทค บางประอิน แฟคเตอรี่ แลนด์ บางกะดี และนวนคร มีทั้งหมด 731 บริษัท มียอดคงค้างสินเชื่อ ณ สิงหาคม 2554 จำนวน 66,130 ล้านบาท เป็นยอดคงค้างของธนาคารญี่ปุ่น 26,903 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนสินเชื่อจากสาขาธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น 41 %

ขณะที่โรงงานในจังหวันนครสวรรค์ และโรงงานในจังหวัดลพบุรี (โรงงานอุตสาหรรมมีเงินทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป) รวม 163 บริษัท มียอดคงค้างสินเชื่อ 55,475 ล้านบาท เป็นยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารญีปุ่น 2,017 ล้านบาท หรือคิดเป็นสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น 4 %

“แนวทางดังกล่าวจะทำให้การฟื้นฟูกิจการของอุตสาหกรรมมีนัยโดยตรงต่อการจ้างงาน เพราะโรงงานในนิคมต่างๆ มีการจ้างงานสูง และอาจไม่จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์ญี่ปุ่น แต่กำลังเจรจากับธนาคารกลางอีก 3 แห่ง ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ และเยรมัน”

นอกจากนั้น ผู้ว่าธปท. ยืนยันว่า ในขณะนี้ธปท.ได้ผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดูแลช่วยเหลือลูกค้าหรือลูกหนี้ที่ถูกระทบจากน้ำท่วมได้โดยไม่ติดอุปสรรคเรื่องเกณฑ์แบงก์ชาติแล้ว (ประกาศธปท. เกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย)

“ธปท.หารือกับธนาคารพาณิชย์ ประเมินว่าภาวะน้ำท่วมจะเกิดในระยะสั้น ประมาณ 1-2 เดือนน่าจะคลี่คลาย และจะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจทำให้ขยายตัวลดลงกว่า 1 % หรือต่ำกว่า 3 % จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 4.1 % แต่ถ้าภาวะน้ำท่วมยืดเยื้อกว่านั้นต้องประเมินใหม่อีกครั้ง” ดร.ประสารกล่าว

นอกจากนี้ธปท.ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ไทย และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 มีความเห็นร่วมกันว่า ควรรักษาระบบสถาบันการเงินให้ทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้นานที่สุด จึงไม่มีการประกาศวันหยุดทำการสถาบันการเงินเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด