ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ใช้มาตรการร้านอาหารแยกสำหรับคนฉีดวัคซีนครบ

ASEAN Roundup สิงคโปร์ใช้มาตรการร้านอาหารแยกสำหรับคนฉีดวัคซีนครบ

18 กรกฎาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2564

  • สิงคโปร์ใช้มาตรการร้านอาหารแยกสำหรับคนฉีดวัคซีน
  • เวียดนามจะเก็บภาษีส่งออกเหล็กแท่ง 5%
  • สมาคมธุรกิจเวียดนามประกาศมาตรฐานวัฒนธรรมธุรกิจ
  • อินโดนีเซียมุ่งผู้นำรถยนต์ไฟฟ้า
  • ฟิลิปปินส์-บรูไนดารุสซาลาม ลงนามข้อตกลงกันเก็บภาษีซ้อน
  • สิงคโปร์ใช้มาตรการร้านอาหารแยกสำหรับคนฉีดวัคซีนครบ

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/health/dine-in-group-size-cut-to-2-from-july-19-as-spore-tightens-covid-19-rules-but-up-to
    สิงคโปร์ได้ใช้มาตรการโควิดสำหรับการรับประทานอาหาร แยกระหว่างผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว กับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วจะสามารถรับประทานอาหารนอกบ้านได้เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน แต่ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและไม่มีผลการทดสอบโควิด-19 จะได้รับอนุญาตให้รับประทานอาหารนอกบ้านเพียงคนเดียวหรือสองคน ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม

    อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแต่มีผลการตรวจหาเชื้อก่อนเข้าร่วม (pre-event test PET) เป็นลบ อาจเข้าร่วมกลุ่ม 5 คนได้ กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ประกาศเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม

    ส่วนผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำเช่นกัน และสามารถรับประทานอาหารเป็นกลุ่มได้ถึง 5 คนเช่นกัน

    กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุว่า การที่ต้องปรับมาตรการการรับประทานอาหารในร้านอาหารที่ปัจจุบันอนุญาตให้ร่วมรับประทานอาหารได้ 5 คน เพราะเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนอีกครั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

    กระทรวงกล่าวในแถลงการณ์ว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วจะสามารถรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นกลุ่มได้ถึง 5 คนในสถานประกอบการอาหารและเครื่องดื่มที่มีระบบตรวจสอบสถานะ เนื่องจากผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสามารถป้องกันการติดเชื้อและการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ดี และมีโอกาสน้อยที่จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น เมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่ได้รับวัคซีน

    ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบหมายถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 2 โดสมาแล้ว 2 สัปดาห์

    ในระหว่างการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและประธานร่วมคณะทำงานเฉพาะกิจโควิด-19 นายลอว์เรนซ์ หว่อง กล่าวว่า การอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนรับประทานอาหารร่วมกันได้ 5 คนมีผลกับสถานประกอบการที่มีระบบตรวจสอบก่อนเข้าร้านเท่านั้น เพื่อให้สถานประกอบการเหล่านี้สามารถตรวจสอบสถานะการฉีดวัคซีนของลูกค้าได้

    สมาชิกในครอบครัวเดียวกันจะได้รับอนุญาตให้รับประทานอาหารนอกบ้านกับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนซึ่งมีอายุไม่เกิน 12 ปี โดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อก่อนเข้าร่วม แต่ทั้งกลุ่มต้องไม่ควรเกิน 5 คน

    หากเด็กไม่ได้มาจากครอบครัวเดียวกัน ก็ควรมีจำนวนไม่เกินครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่รับประทานอาหารในร้านอาหาร

    กระทรวงฯ ระบุอีกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปียังไม่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในโครงการฉีดวัคซีนของประเทศของสิงคโปร์ และการตรวจหาเชื้อในเด็กก่อนร่วมกิจกรรมยังเป็นความท้าทาย

    สถานประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มสามารถตัดสินใจได้เองว่า จะกำหนดขนาดของกลุ่มที่รับวัคซีนให้ต่างกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินงานและลูกค้า รวมทั้งความสามารถในการตรวจสอบสถานะของผู้ที่รับประทานอาหารในร้าน แต่ขนาดของกลุ่มจะจำกัดให้เหลือเพียง 2 คนสำหรับศูนย์หาบเร่ ศูนย์อาหาร และร้านกาแฟ เนื่องจากสถานที่เหล่านี้มีสภาพแวดล้อมที่มีช่องโหว่มากขึ้น และโดยทั่วไปไม่ได้บังคับให้มีการตรวจสอบก่อนเข้าร้าน ดังนั้นการตรวจสอบสถานะของลูกค้าก่อนจะนั่งลงที่โต๊ะเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

    ส่วนการแสดงสด การเปิดเพลงและเปิดวิดีโอ หรือเปิดโทรทัศน์ จะยังคงไม่ได้รับอนุญาตในสถานประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เพราะการรับประทานอาหารในร้านยังคงเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจะถอดหน้ากากและอยู่ใกล้กัน

    เจ้าของสถานประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ยังคงตระหนักว่าต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งหมดและสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเมื่อรับประทานอาหารหรือดื่ม

    เวียดนามจะเก็บภาษีส่งออกเหล็กแท่ง 5%

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/717568/hoa-phat-to-export-120000-tonnes-of-steel-billets-to-china.html
    รัฐบาลเวียดนามวางแผนที่จะจัดเก็บภาษีส่งออก 5% สำหรับเหล็กแท่ง และลดภาษีนำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กบางชนิด

    รัฐบาลระบุในแถลงการณ์ว่า การดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดราคาเหล็กในประเทศ และช่วยลดต้นทุนให้บริษัท และราคาเหล็กในประเทศที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้ทำให้หลายโครงการหยุดชะงัก

    ภาษีนำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กบางชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์เหล็กสำหรับก่อสร้าง จะลดลงเหลือ 10-15% จาก 15-25% แถลงการณ์ระบุ

    ข้อมูลศุลกากรระบุว่า การส่งออกเหล็กของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อนหน้าเป็น 5.88 ล้านตัน ขณะที่การนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้น 5.9% ในปริมาณ 7.09 ล้านตัน

    สมาคมธุรกิจเวียดนามประกาศมาตรฐานวัฒนธรรมธุรกิจ

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/business/item/10142602-vietnam-business-culture-criteria-announced.html
    สมาคมพัฒนาวัฒนธรรมธุรกิจเวียดนาม (Vietnam Association of Business Culture Development หรือ VABCD) ได้ประกาศมาตรฐานวัฒนธรรมธุรกิจของเวียดนามในการแถลงข่าวที่กรุงฮานอยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม

    โฮ อันห์ ตวน ประธาน VABCD กล่าวว่า กระบวนการพัฒนามาตรฐานนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกระทรวง ภาคธุรกิจต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กร และสื่อ

    มาตรฐานที่จัดทำเสร็จสมบูรณ์ได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาและได้รับการอนุมัติแล้วนี้ จะเป็นรากฐานให้องค์กรมีมาตรฐานวัฒนธรรมธุรกิจของเวียดนาม

    มาตรฐานนี้ประกอบด้วยสองส่วน โดยส่วนแรกมีเงื่อนไขบังคับ รวมถึงการไม่ลักลอบนำเข้าหรือเลี่ยงภาษี ไม่ผลิตหรือซื้อขายผลิตภัณฑ์ปลอมหรือเป็นอันตราย ไม่ค้างการจ่ายค่าจ้างหรือเบี้ยประกันสังคม ไม่หลอกลวง ฉ้อฉล หรือทำลายองค์กรและบุคคลอื่น และไม่ละเมิดกฎหมาย ธุรกิจต้องผ่านเงื่อนไขเหล่านี้จึงจะมีสิทธิ์พิจารณาในรอบต่อไป

    ส่วนที่สองประกอบด้วยเกณฑ์การประเมิน 5 กลุ่ม รวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน การสร้างและการนำวัฒนธรรมองค์กรไปใช้ ส่งเสริมหลักนิติธรรม จริยธรรมทางธุรกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคม ในแต่ละกลุ่มมีเกณฑ์เฉพาะและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง โดยรวมมี 19 เกณฑ์เฉพาะและ 51 ตัวชี้วัด

    ในการแถลงข่าว VABCD ยังได้เปิดตัวกฎระเบียบ (ประกอบด้วย 6 บทและ 14 มาตรา) การรับรองธุรกิจว่าเป็นไปตามมาตรฐานวัฒนธรรมธุรกิจของเวียดนาม

    เนื้อหาของทั้ง 6 บทมุ่งเน้นไปที่ประเด็นหลักบางประเด็น เช่น บทบัญญัติทั่วไป มาตรฐานบังคับและเฉพาะตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ข้างต้น เกณฑ์มาตรฐานสำหรับการรับรู้ รูปแบบและเวลาของหน่วยงานที่ได้รับการยกย่องและการยอมรับ ลำดับการลงทะเบียน การพิจารณาและการยอมรับ ตลอดจนข้อกำหนดเกี่ยวกับบันทึกการลงทะเบียนเข้าร่วม สิทธิและข้อบังคับในการจัดการกับการละเมิด และเงื่อนไขการบังคับใช้

    การยอมรับและการยกย่องธุรกิจที่ได้มาตรฐานวัฒนธรรมธุรกิจของเวียดนามจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมทางธุรกิจในประชาคมธุรกิจเวียดนามทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจะก่อตัวเป็นลักษณะทั่วไปของวัฒนธรรมทางธุรกิจของเวียดนาม ตลอดจนเป็นไปตามข้อกำหนดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบูรณาการระหว่างประเทศ

    อินโดนีเซียมุ่งผู้นำรถยนต์ไฟฟ้า

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/toyota-to-make-10-types-of-ev-in-indonesia-as-part-of-its-2b-investment-push-until-2025/
    อินโดนีเซียได้กำหนดแนวทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ตามระเบียบรัฐมนตรีอุตสาหกรรมฉบับที่ 27 ปี 2563

    อินโดนีเซียเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านการจัดทำแผนงานการพัฒนา EV การมอบสิทธิประโยชน์จูงใจ และการสร้างระบบนิเวศ EV ในประเทศ นายอากัส กูมิวาง คาร์ตาซัสมิตา รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียกล่าว

    “อินโดนีเซียได้กำหนดแนวทางสำหรับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าผ่านระเบียบรัฐมนตรีอุตสาหกรรมฉบับที่ 27 ปี 2563 ที่ครอบคลุมข้อกำหนดทางเทคนิค โรดแมป EV และการคำนวณวัตถุดิบในประเทศ”

    โรดแมปได้วางไว้จนถึงปี 2573 โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์ 4 ล้อให้ได้จำนวน 600 คันและรถจักรยานยนต์ จำนวน 2.45 ล้านคัน และคาดว่าการซื้อรถยนต์ล้อ 4 ล้อหรือขนาดใหญ่กว่านี้ขึ้นไปจะแตะ 132,983 คัน ขณะที่รถจักรยานยนต์จะมีจำนวนถึง 398,530 คัน

    “การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถสี่ล้อขึ้นไปในปริมาณ 2.7 ล้านตัน และรถสองล้อ 1.1 ล้านตัน”

    เพื่อส่งเสริมการใช้ EV รัฐบาลจะกำหนดกฎระเบียบสำหรับผู้บริโภคในการซื้อรถ EV ผ่านหน่วยงานของรัฐ

    รัฐบาลยังให้สิทธิประโยชน์จูงใจทั้งทางการเงินและที่ไม่ใช่ทางการเงินแก่ผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 0 สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยผ่านระเบียบของรัฐบาลฉบับที่ 74/2021 อัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าผ่านระเบียบธนาคารอินโดนีเซียฉบับที่ 2213/PBI/2020 รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลหลายจังหวัด

    “ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิยกเว้นภาษี สิทธิยกเว้นภาษีระดับย่อย การลดหย่อนภาษีอย่างมากสำหรับกิจกรรม R&D และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ”

    จากการทำข้อตกลงที่กระทรวงฯ ทำไว้กับผู้นำของอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2564 แสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซียยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์

    กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับคำมั่นในการลงทุนครั้งใหม่ที่ปรับเป็นมูลค่า 28.3 ล้านรูเปียะห์สำหรับปี 2565 จากโตโยต้ามอเตอร์คอร์ปอเรชัน ขณะเดียวกัน บริษัทฮอนด้ามอเตอร์ได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุน 5.2 ล้านล้านรูเปียะห์ ซูซูกิมอเตอร์คอร์ปอเรชั่นลงทุน 1.2 ล้านล้านรูเปียะห์ และมิตซูบิชิมอเตอร์คอร์ปอเรชัน 11.2 ล้านล้านรูเปียะห์ จนถึงปี 2567

    ฟิลิปปินส์-บรูไนดารุสซาลามลงนามข้อตกลงกันเก็บภาษีซ้อน

    ที่มาภาพ: https://borneobulletin.com.bn/brunei-signs-agreement-with-the-philippines-on-double-taxation-2/

    ฟิลิปปินส์-บรูไนดารุสซาลามได้ลงนามในข้อตกลงที่มีเป้าหมายเพื่อขจัดการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงภาษีจากรายได้ที่เกิดจากการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ นายคาร์ลอส โดมิงเกซ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจที่ 2 ของบรูไน (Yang Berhormat Dato Seri Setia Dr. Awang Haji Mohd Amin Liew bin Abdullah) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลของแต่ละประเทศ

    นายโดมิงเกซกล่าวว่า ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีจากรายได้ (ข้อตกลงการเก็บภาษีซ้อนหรือ DTA) และคาดว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและส่งเสริมกระแสการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเท

    นายโดมิงเกซย้ำความมุ่งมั่นของฟิลิปปินส์ในการดำเนินการต่อและกระชับการประสานงานกับหน่วยงานด้านภาษีของบรูไน เพื่อให้มั่นใจว่าการนำ DTA ไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมและการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้อง

    “ข้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเราเมื่อเราฟื้นจากความเสียหายจากวิกฤติสุขภาพโลก เพราะจะทำให้การค้าสินค้าและบริการระหว่างสองประเทศของเราง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ และเพิ่มกระแสการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน”

    นายโดมิงเกซกล่าวว่า การลงนาม DTA จะช่วยยกระดับความเป็นหุ้นส่วนที่ “ใกล้ชิด อบอุ่น และเป็นประโยชน์ร่วมกัน” ระหว่างสองประเทศที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นตั้งแต่ทั้งสองได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตอย่างเต็มรูปแบบในปี 2527

    DTA จะเสริมสร้างความมุ่งมั่นของฟิลิปปินส์ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเก็บภาษี Asean Forum on Taxation (AFT) เพื่อสร้างเครือข่ายข้อตกลงการเก็บภาษีซ้อนระหว่างสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

    นอกเหนือจากการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีกับบรูไนแล้ว DTA ยังคาดว่าจะสร้างงานมากขึ้นให้กับชาวฟิลิปปินส์ในทั้งสองประเทศ เนื่องจากการจัดการกับผลกระทบด้านลบของการเก็บภาษีซ้ำซ้อนสามารถช่วยเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากบรูไนไปยังฟิลิปปินส์ หรือจ้างคนงานฟิลิปปินส์ในบรูไน

    นอกจากนี้ คาดว่า DTA จะส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะระหว่างสองประเทศ

    ฟิลิปปินส์และบรูไนเริ่มการเจรจาเกี่ยวกับ DTA ในปี 2544 ในบรูไน และเริ่มการเจรจาอีกครั้งในกรุงมะนิลาในปี 2553 หลังจากการเจรจาหลายครั้ง ข้อตกลงได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2560 กระทรวงการต่างประเทศเห็นชอบกับการลงนาม DTA เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 และรับรองต่อทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้อำนาจลงนามในข้อตกลง

    กระทรวงการคลังบรูไนแถลงการณ์ว่า “ข้อตกลงการเก็บภาษีซ้อน (DTA) ส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังภาคเอกชนของเราว่า เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและน่าดึงดูดใจในการทำธุรกิจในประเทศของกันและกัน โดยให้ความแน่นอนด้านภาษีมากขึ้น ชี้แจงสิทธิการเก็บภาษี และกำจัดการเก็บภาษีซ้อน”

    “โดยรวมแล้ว ข้อตกลงนี้เป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคีของเราอย่างแท้จริง ข้อตกลงนี้เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากการลดภาระภาษีจากกฎหมายของแต่ละประเทศ”

    ปัจจุบันบรูไนได้มีข้อตกลงเพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน (Avoidance of Double Taxation Agreements หรือ ADTAs) กับ 20 ประเทศและเขตปกครอง ได้แก่ สหราชอาณาจักร จีน สิงคโปร์ เวียดนาม โอมาน บาห์เรน ญี่ปุ่น ปากีสถาน มาเลเซีย สปป.ลาว ฮ่องกง คูเวต ทาจิกิสถาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลักเซมเบิร์ก กัมพูชา และฟิลิปปินส์