ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > ถ้าถามว่า เมื่อนึกถึง “ประเทศไทย” ฉันนึกถึงอะไร

ถ้าถามว่า เมื่อนึกถึง “ประเทศไทย” ฉันนึกถึงอะไร

5 มกราคม 2022


ถ้าถามว่า เมื่อนึกถึง “ประเทศไทย” ฉันนึกถึงอะไร

ฉันนึกถึงการอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ในบ้านหลังเดียวกัน ซึ่งเป็นสไตล์การอยู่ร่วมกันที่คนไทยต่างคุ้นเคย ในบ้านหลังเดียวกันนี้มีปู่ย่าตายาย มีพ่อมีแม่ มีลูกมีหลาน

ฉันเห็นภาพในอดีตที่ลูกหลานยังเล็ก เห็นภาพปู่ย่าตายายเป็นเสาหลักของบ้าน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่ลูกหลานเคารพนับถือ ฉันเห็นพ่อแม่วัยหนุ่มสาวที่ขยันขันแข็ง ทำงานหนัก อุทิศตนให้กับอาชีพและองค์กรของตัวเอง และให้ความสำคัญกับการเก็บหอมรอมริบ เพื่อให้เด็กๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นทุกวันสบายในวันหน้า

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกหลานตัวเล็กๆ เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บ้านที่ในอดีตดูใหญ่โตเริ่มดูเล็กลง ลูกหลานที่เคย “ว่านอนสอนง่าย” เริ่มมีความคิดความอ่านของตัวเอง เริ่มใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น เริ่มอยากออกจากบ้าน อยากท่องโลกกว้าง เริ่มแสดงสีหน้า หรือส่ายหน้า เมื่อปู่ย่าตายายพยายาม “ปลูกฝัง” ให้เขาคิดแบบนั้นแบบนี้ หรือเมื่อปู่ย่าตายายไม่เข้าใจสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาฝัน สิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาอยากเป็น

บ้านหลังใหญ่ในอดีตที่เคยใหญ่โต นอกจากเริ่มเล็กลง ยังเริ่มรู้สึกตึงเครียดและน่าอึดอัด เริ่มเห็นความแตกต่างของสมาชิกในบ้าน ปู่ย่าตายายยังคงคาดหวังให้หลานๆ มารวมตัวกันเพื่อทานข้าวเย็น เพื่อมาฟังคุณปู่เล่าเรื่องประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต ฟังคุณย่าสั่งสอนเรื่องกิริยามารยาท สวดมนต์ก่อนนอนกับคุณยาย แต่หลานๆ ที่ต่างโตขึ้นไม่ได้อยากได้แบบแผนที่ผู้ใหญ่ในบ้านออกแบบไว้ให้อีกแล้ว พวกเขากลับอยากใช้ชีวิตของตัวเอง ไม่อยากอยู่กับ routine หรือกิจวัตรเดิมๆ อยากอยู่คนเดียว อยากมีอิสระในการใช้ชีวิต อยากออกไปเจอเพื่อน อยากย้ายออกไปอยู่ข้างนอก อยากมีชุดความคิดและกฎกติกาของตัวเอง

หลานๆ จึงเริ่มคิดว่าทุกอย่างที่คุณย่าพูดเป็นการ “เทศน์” เป็นเรื่องและน้ำเสียงที่น่าเบื่อหน่าย ทั้งๆ ที่ในอดีตน้ำเสียงของคุณย่าที่เล่านิทานให้ฟังก่อนนอนเป็นเสียงที่คุ้นเคย

เมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่เองก็เริ่มช้าลง หงุดหงิดที่ไม่สามารถคิดไว ทำไวได้เหมือนในอดีต หงุดหงิด “เด็กเมื่อวานซืน” ที่ออฟฟิศเริ่ม “ปีกกล้าขาแข็ง” ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มท้าทายสิ่งที่พ่อและแม่คุ้นชินในการทำงานมาตลอด 20 กว่าปี จากคนรุ่นใหม่ไฟแรงในอดีต เห็นได้ชัดว่าพ่อแม่เริ่ม burn out เริ่มใช้ชีวิตและทำงานด้วยความกลัว ลึกๆ แอบรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นสินค้าตกรุ่น

เป็นเครื่องจักรที่เคยมีคุณค่า มีประสิทธิภาพสูงในอดีต แต่ในปัจจุบันตามเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เด็กรุ่นใหม่ที่ออฟฟิศพูดถึงกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เงินที่เก็บหอมรอมริบมานานและแช่อยู่ในบัญชีธนาคารก็ไม่กล้าแตะ เพราะกลัวอนาคตทางการงานและการเงินของตัวเองที่ไม่แน่นอน กลัวว่าลูกหลานที่กำลังเรียนอยู่เมื่อจบมาจะว่างงาน กลัวว่าลูกหลานที่เรียนจบแล้วและประกอบ “อาชีพอิสระ” จะมีชีวิตและรายได้ที่ “ไม่มั่นคง” กลัวเรื่องค่ารักษาพยาบาลของปู่ย่าตายายและของตัวเองที่อายุมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเครียดของทุกคนในบ้านดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ทุกคนในบ้านก็ยังอยู่ด้วยกันต่อไป อาจจะเพราะความเคยชิน อาจจะเพราะยังมีความรักและความหวังดีต่อกันหลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อย อาจจะเพราะโลกนอกบ้านหรือบ้านหลังอื่นก็ไม่ได้ดีกว่ากัน

และนี่ก็คือสิ่งที่ฉันมองประเทศไทย ประเทศไทยเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีคนหลากหลายช่วงวัยอยู่ด้วยกัน เป็นบ้านที่ไม่ใหญ่ไม่เล็ก แต่ที่แน่ๆ คือสวยงามไม่แพ้บ้านหลังไหนๆ แต่ก็เหมือนบ้านทุกๆ หลัง ครอบครัวทุกๆ ครอบครัว บ้านของเราหลังนี้ก็มีปัญหาของมัน

ในอดีตบ้านหลังนี้มีโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้านที่ชัดเจน และไม่เคยมีใครในบ้านที่กล้าท้าทายโครงสร้างและความสัมพันธ์เหล่านั้น

กล่าวคือ คนอายุมากสุดหรืออาวุโสที่สุดคือเสาหลัก คือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสมาชิกทุกคนของบ้าน คือคนที่ทำให้บ้านหลังนี้มีระเบียบเรียบร้อย เป็นคนที่สร้างและควบคุมกติกาทั้งหมดของบ้าน เป็นคนที่คอยอบรมสั่งสอนและตักเตือนเมื่อสมาชิกในบ้านทะเลาะกันหรือขาดความสามัคคี สิ่งที่คนกลุ่มนี้ชอบมากที่สุดคือเมื่อสมาชิกในบ้านให้ความเคารพนับถือ เมื่อทุกคนอยู่ในโอวาท และเมื่อได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี

คนวัยตรงกลางคือคนทำงาน เป็นคนที่ถูกสอนให้ทำงานหนัก กัดฟันสู้ ถูกสอนให้เอาความมั่นคงและความแน่นอนเป็นตัวตั้งในการทำงาน การใช้ชีวิต และการตัดสินใจ สิ่งที่คนกลุ่มนี้กลัวที่สุดคือเมื่อรู้สึกว่าเขาเริ่มหมดค่า เมื่อความคิดและแรงงานของเขาเริ่มหมดความหมาย เริ่มล้าหลัง เริ่มตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนกลุ่มนี้ดูเหมือนจะมองคุณค่าในตัวของเขา (self-worth) กับงานที่เขาทำหรือฐานะ/สถานะในสังคมเป็นเรื่องเดียวกัน แยกกันไม่ออก

ดังนั้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เมื่อหลายๆ อย่างที่เคย “ทันสมัย” เริ่ม “ล้าสมัย” เมื่อสิ่งที่เคยแน่นอนกลายเป็นความไม่แน่นอน เมื่อคลื่นลูกใหม่มาพร้อมกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน คนกลุ่มนี้ จากเดิมที่เคยเป็นผู้นำ เป็นคนเซ็ตเทรนด์ เป็น “คนขับ” ก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบากไปโดยปริยาย

ส่วนคนรุ่นหลัง คนที่ “เด็กที่สุด” ในบ้าน พวกเขาโตวันโตคืน และที่สำคัญ ไม่ได้โตแบบทีละนิดทีละหน่อย แต่โตแบบก้าวกระโดด แบบข้ามคืน เป็นกลุ่มคนที่ดูจะหงุดหงิดกับโครงสร้างและความสัมพันธ์ในบ้านหลังนี้ที่สุด พวกเขาเห็นบ้านหลังนี้ในวันที่บริเวณรอบบ้านเริ่มเปลี่ยนไป เขาเห็นตึกสูงเสียดฟ้าตรงข้ามบ้าน ที่เพียงไม่กี่ปีก่อนยังเป็นที่ดินว่างเปล่า เห็นแล้วรู้สึกตื่นเต้นอยากมีโอกาสได้เห็นวิวจากมุมสูงแบบคนในตึกนั้นบ้าง เขาเห็นบ้านหลังข้างๆ มีสวนสวย ร่มรื่น น่าอยู่ เห็นบ้านอีกหลังในละแวกเดียวกันมีดีไซน์เก๋ๆ ที่เขาไม่คุ้นเคย

ในขณะเดียวกันก็เห็นคลองแถวบ้านที่น้ำเน่าและส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง เห็นกองขยะที่เพื่อนบ้านโยนออกมาจากบ้านของตัวเองที่สุมรวมกัน เห็นของเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากบ้านที่ภายนอกดูสวย และเห็นผลกระทบที่ของเสียเหล่านั้นมีต่อบ้านของเขา สิ่งเหล่านี้ที่ได้กล่าวไป เปรียบได้กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งร่วมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในละแวกใกล้เคียงกับเรา รวมไปถึงความก้าวหน้าของระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา หรือระบบสาธารณสุข ที่คนในประเทศเราได้แต่มองด้วยความอิจฉา อยากเป็นเหมือนเขา อยากมีเหมือนเขาบ้าง ส่วนคลองที่น้ำเน่า กองขยะที่ถูกโยนออกมาจากบ้านหลังต่างๆ ก็เปรียบได้กับปัญหาและผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากความเจริญทางเศรษฐกิจ ที่ทุกๆ คนต่างโยนออกมาให้ไกลจากบ้านของตัวเองให้มากที่สุด โดยที่อาจตระหนักหรือไม่ตระหนักว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งเน่าเสียเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหน โยนออกมาให้ไกลเท่าไหร่ก็ยังคงวงเวียนอยู่ในระบบนิเวศที่เขาอยู่

เวที “Youth in Charge” ครั้งที่ 1 ที่มาภาพ : https://thaipublica.org/2020/12/youth-in-charge-forum01-28-11-2563/

ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่เขาสังเกตเห็นรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เมื่อคนรุ่นใหม่เหล่านี้มองกลับมา คนในบ้านของเขาก็ยัง “โลกสวย” อยู่ในบ้านและบริเวณบ้านของตน คิดว่าอยู่ในบ้านที่คุ้นเคย ปลอดภัย ก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้ดูว่าเพื่อนบ้านเขาไปถึงไหนกันแล้ว ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหารอบตัวหรือปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่าตัว ไม่ได้มองว่าในขณะที่คนอื่นเขาปรับเปลี่ยนและเติบโตกันไปเรื่อยๆ บ้านของเรายังแทบที่จะเหมือนเดิมทุกประการ เรามองออกไปเห็นสิ่งที่เขามี ก็พยายามอยากมีบ้าง พยายามหาวิธีที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมาอย่างรวดเร็วและง่ายดายที่สุด แต่เมื่อรู้ว่าเราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง เมื่อรู้ว่าเราต้องใช้เวลา ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นและการรอคอย เราก็ยอมแพ้และทนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ที่เราเคยชินต่อไป

ตามประสาของเด็กรุ่นใหม่ของบ้าน พวกเขาขี้สงสัย ช่างตั้งคำถาม พวกเขาจึงไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่ในบ้านทนอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้อย่างไร ทนเห็นปัญหาเกิดขึ้นรอบตัวโดยไม่เคยคิดแก้ปัญหาอย่างจริงจังหรือยั่งยืน ในขณะเดียวกันทนเห็นความเจริญก้าวหน้าของเพื่อนบ้าน เห็นการเปลี่ยนแปลงรอบตัว แต่ไม่คิดจะทำอะไรที่แตกต่าง ทั้งๆ ที่หวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงและอนาคตที่ดีกว่า

เขาสงสัยว่าทำไมเด็กๆ ในบ้านอื่นๆ มีของเล่นใหม่ๆ มีอิสระในการใช้ชีวิต มีสิทธิ มีเสียง มีโอกาสเข้ามาถึงหน้าบ้าน แต่ในบ้านของเขา พวกเขายังถูกอบรมสั่งสอนแบบเดิมๆ ยังถูกปลูกฝังกรอบความคิดและความเชื่อแบบเดิมๆ ทำไมพวกเขายังถูกมองว่าเป็น “เด็ก” ทั้งที่ในความคิดของเขา พวกเขาเห็นและเข้าใจหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ในบ้านมองไม่เห็นด้วยซ้ำ

ยิ่งโลกข้างนอกเปิดกว้างขึ้นเท่าไหร่ พวกเขายิ่งเห็นความหลากหลาย ยิ่งเห็นความเป็นไปได้ในการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และการทำงาน บ้านของเขาที่เคยใหญ่กว่าตัว ก็ยิ่งคับแคบลงเรื่อยๆ ยิ่งอยู่ยิ่งหงุดหงิดรำคาญใจ ยิ่งอยู่ยิ่งมีปัญหากับผู้ใหญ่ในบ้าน

ประเทศไทยที่ฉันและคนรุ่นใหม่คนอื่นๆ คงอยากเห็น คือบ้านที่เปิดกว้างมากขึ้น เป็นบ้านที่ทุกคน ทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ ทุกพื้นเพ รู้สึกสบายใจที่อยู่ในบ้านหลังนี้ เป็นบ้านที่ไม่ได้จัดให้ใครอยู่ตำแหน่งไหนบนโต๊ะทานข้าว กล่าวคือคนที่มีอายุ มีตำแหน่งใหญ่โต มีอำนาจบารมี ไม่จำเป็นที่จะต้องนั่งอยู่หัวโต๊ะอยู่เสมอ หรือเป็นคนที่กำหนดและตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นบ้านที่มีอิสระให้กับทุกๆ คน เป็นบ้านที่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกันทุกเรื่อง แต่สามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันได้ทุกเรื่อง เป็นบ้านที่ทุกคนมีห้องของตัวเอง มีพื้นที่ให้หายใจ ให้ปลดปล่อย ให้เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็มีพื้นที่ตรงกลางให้ทุกคนได้มาเจอกัน ได้ใช้เวลาร่วมกัน

เวที “Youth in Charge” ครั้งที่ 1 ที่มาภาพ : https://thaipublica.org/2020/12/youth-in-charge-forum01-28-11-2563/

ฉันอยากเห็นคนในบ้านพูดคุยกันมากขึ้น อยากเห็นเด็กๆ สอนผู้ใหญ่เล่นไลน์ ช่วยผู้ใหญ่สร้างบัญชีเฟซบุ๊ก โดยที่ใจเย็นๆ เพราะผู้ใหญ่อาจใช้เวลาสักพักในการค่อยๆ ทำความเข้าใจและค่อยๆ เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เด็กๆ นำเสนอ หรืออาจเอ็ดว่าเราพูดเร็วไป ใช้ภาษาที่เข้าใจยากและตามไม่ทัน

ในขณะเดียวกัน ก็อยากเห็นผู้ใหญ่ที่เปิดรับคนรุ่นใหม่และสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น แทนที่ผู้ใหญ่จะเป็นคนนั่งหัวโต๊ะของโต๊ะทานข้าวทุกครั้ง และเป็นผู้นำบทสนทนาทุกครั้ง อยากเห็นผู้ใหญ่ที่รับฟังมากขึ้น ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ความคิดเห็น ความต้องการ และปัญหาของลูกหลาน อยากเห็นผู้ใหญ่ที่ชวนลูกๆ หลานๆ มานั่งบนโซฟาร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากพวกเขา

ในขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยตรงกลาง เคยผ่านทั้งประสบการณ์การเป็นคนรุ่นใหม่ และเพิ่งเปลี่ยนผ่านมาเป็นคนรุ่นใหญ่ เป็นสะพานเชื่อมของทุกๆ ฝ่าย อยากให้คนกลุ่มนี้ ซึ่งในปัจจุบันอาจเป็นผู้บริหาร อาจเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งในบริบทขององค์กรและในครอบครัว เปิดใจรับบทบาท แนวคิด และแนวทางของคนรุ่นหลัง และอย่า “กลัว” ว่าคนรุ่นใหม่ตั้งใจมาทำลายล้าง มาแย่งบทบาท หน้าที่ หรือแม้กระทั่งอาชีพของผู้ใหญ่

ที่สำคัญที่สุด อยากให้ผู้ใหญ่รุ่นกลางมองว่าการเปลี่ยนผ่านและการเปลี่ยนแปลงในโลกภายนอกเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาที่จะต้องคิด ต้องทำ และต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่นิ่งเฉยกับกระแสหรือการเปลี่ยนแปลงรอบตัว

ฉันเข้าใจว่าบ้านทุกหลังใช้เวลานานในการสร้าง และใช้เวลานานยิ่งกว่าในการสร้างวัฒนธรรม กติกา หรือความเข้าใจร่วม แต่ทุกคนในบ้าน ไม่ว่าจะอีกกี่ยุคกี่สมัย จะเปลี่ยนผ่านไปอีกกี่รุ่น หากจะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน จะต้องให้เกียรติ เข้าใจ และปรับตัวเข้าหากันและกันอยู่เสมอ ไม่ติดยึดกับตำแหน่งหรือสถานะของตนเอง ไม่ดูถูก ไม่กดขี่ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

ทุกคนต้องรู้หน้าที่และบทบาทส่วนตัว แต่ไม่ติดยึดกับมัน เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นสมาชิกในบ้านที่อยู่ห้องที่ใหญ่ที่สุดหรือเล็กที่สุด หรืออยู่ในสถานะที่แทบจะขอเขาอยู่ จะต้องร่วมมือร่วมใจและพร้อมใจกันมาช่วยแก้ไขปัญหา คนละไม้คนละมือ ในขณะเดียวกันต้องรู้จักหน้าที่และบทบาทในบ้าน มีส่วนร่วมในการทำให้บ้านของเราดีขึ้น

สุดท้ายแล้ว พวกเราทุกคนต้องมองออกไปนอกบ้านของเราบ้าง ไม่ใช่เพื่อเปรียบเทียบกับบ้านหลังอื่นที่ใหญ่กว่า สวยกว่า ทันสมัยกว่า หรูหรากว่า หรือเพื่อด้อยค่าบ้านของเรา หรือบ้านที่สภาพแย่กว่าเรา แต่เพื่อเรียนรู้จากพวกเขา นำสิ่งดีๆ ที่เขามีหรือสิ่งที่น่าสนใจที่เขากำลังทำมาปรับใช้ แต่ไม่ลืมที่จะภูมิใจในบ้านของเราเอง สร้างการเปลี่ยนแปลง และเติบโตในรูปแบบที่เป็นเรา เราต้องร่วมใจกันเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของบ้านหลังอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันต้องสามัคคีกันและร่วมกันปกป้องบ้านของเรา อย่าปล่อยให้บ้านอื่นสร้างปัญหาหรือผลกระทบที่ส่งผลต่อบ้านและคนในบ้านของเรา

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…