ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > Reverse Brain Drain หน้าต่างแห่งโอกาสของกระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำ ที่ต้องรีบคว้า

Reverse Brain Drain หน้าต่างแห่งโอกาสของกระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำ ที่ต้องรีบคว้า

17 กุมภาพันธ์ 2022


ในวิกฤตการณ์โควิด-19 มี “โอกาส” หลายอย่างซ่อนไว้ บางโอกาสฉายวาบให้เห็นเพียงครู่และอาจหายวับไปในเวลาไม่นาน หากไม่สามารถไขว่คว้าไว้ได้ทัน

ในการระบาดระลอกแรกซึ่งกินเวลาราว 7 เดือนของปี 2563 โควิด-19 ได้ทำให้ตลาดแรงงานพิกลพิการ และเป็นอัมพาตไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง แม้จะไม่ถึงขนาดล่มสลาย แต่ก็มีงานหลายประเภทที่จะไม่กลับมาให้เห็นอีก หรือถ้ากลับมาก็จะเป็นไปในรูปแบบใหม่ที่ทำให้ต้องมีการปรับตัวแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ในคราวนั้นมีคนหนุ่มสาววัยกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว และสร้างอนาคตจำนวนมากที่เคยเดินทางจากบ้านเกิดในท้องถิ่นห่างไกลเข้ามาในเมืองเพื่อการศึกษาที่ดี และเลยปักหลักใช้ชีวิตหลังเรียนจบในเมืองหลวง หรือหัวเมืองใหญ่ แต่งงานและมีลูกเล็ก ๆ แต่เมื่อโควิด-19 ทำให้งานหายไปหรือเปลี่ยนรูปแบบให้สามารถทำงานออนไลน์และลดจำนวนวันในการทำงานลง รวมไปจนถึงการลดรายได้ลงถึงระดับ “ฮวบฮาบ” ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้จำนวนไม่น้อยขนข้าวขนของกลับสู่บ้านเกิดและอ้อมอกของพ่อแม่ญาติพี่น้องที่บ้านนอก

การกลับบ้านครั้งนี้ไม่เหมือนการกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ตามเทศกาลทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะขณะนั้นอนาคตและทางทำมาหากินในวันข้างหน้าดูไม่มีอะไรที่แน่นอนเลย และการกลับบ้านครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่หลาย ๆ คนเริ่มสำรวจ “ทุนเดิม” ของครอบครัวไม่ว่าจะเป็น ที่ดินผืนเล็ก ๆ ที่นาทิ้งร้าง สินค้าท้องถิ่น รวมทั้งเครือข่ายเพื่อนโรงเรียนเก่าและเครือญาติที่ห่างเหินไปนานเพราะการงานและชีวิตในเมือง ทุนเดิมเหล่านี้กำลังจะเป็น “แผนสอง” ที่เป็นความหวังและทางรอดของหลาย ๆ คน

“หนุ่ม” ชายชาวขอนแก่นวัย 40 ปี ได้แบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกให้กับคณะผู้วิจัยโครงการ “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” เกี่ยวกับการอพยพครอบครัวหนีโควิด-19 จากกรุงเทพฯ กลับมาตั้งหลักที่หมู่บ้านหินร่อง อำเภอภูเวียง และกำลังมองหาลู่ทางที่จะสร้างอนาคตใหม่ให้กับครอบครัวที่มีภรรยา และลูกเล็ก ๆ 2 คนที่นี่ อนาคตที่จะได้อยู่พร้อมหน้ากันและได้ดูแลพ่อแม่ที่ล่วงเข้าวัยชราแล้วอย่างไม่ต้องมีพะวง อนาคตที่ไม่ต้องรอวันหยุดยาวช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญทางศาสนาหรือวันหยุดพิเศษที่ต้องรอรัฐบาลประกาศเป็นครั้ง ๆ เพื่อจะได้กลับมาหาพ่อแม่และญาติพี่น้องปีละไม่กี่หน

หนุ่มเดินทางจากบ้านหินร่องตั้งแต่ที่ตัวเองสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ และตั้งแต่เมื่อยังเรียนไม่จบหนุ่มก็ถูกจองตัวโดยบริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่ง และกลายเป็นดาวรุ่งของบริษัทฯ พอเริ่มทำงานได้ไม่นานก็ถูกส่งตัวไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งสำคัญและก้าวหน้าเป็นลำดับ “ปีโควิด” เป็นปีที่ 10 ที่หนุ่มทำงานอย่างทุ่มเทกับบริษัทแห่งนี้

สถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ทำให้บริษัทต้องปรับลดเงินเดือนของหนุ่มลง 50% จากเดิมเกือบหกหลักเหลือเพียงห้าหลักกลางๆ และอนุญาตให้หนุ่มทำงานจากที่บ้านได้ หนุ่มจึงตัดสินใจเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่จะกลับมาที่บ้านหินร่องและจะ “work from เถียงนา”

ชีวิตการทำงานของหนุ่มพลิกแบบ “พลิกผัน” จากเดิมตื่นตี 5 นั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน วัน ๆ ห่างมือถือไม่ได้เลย มาถึงตอนนี้หนุ่มขี่รถจักรยานคันเก่าสมัยเรียนมัธยม เอาไอแพดและโน้ตบุ๊กไปนั่งทำงานที่เถียงนา ตอนเที่ยงกลับไปทานข้าวที่บ้าน ตอนเย็นเลิกงานแล้วไปเตะบอลที่วัดกับเพื่อนสมัยประถมมัธยม ลูก ๆ ก็เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านและเรียนเพิ่มเติมจากสื่อในอินเทอร์เน็ต แม้ไม่ดีอย่างที่ได้ไปโรงเรียนแต่อย่างน้อยการเรียนก็ไม่หยุดชะงัก หนุ่มบอกว่า “ค่าความสุขเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง” และเริ่มคิดว่าถึงได้กลับไปกรุงเทพฯ งานและชีวิตในเมืองก็คงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

หนุ่มจึงเริ่มมองหาธุรกิจที่ตัวเองจะสามารถใช้ทุนเดิมของที่บ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร พอจะมีที่เล็ก ๆ อยู่บ้าง อาจจะเกี่ยวกับการเกษตรหรือไม่ก็ได้ และเริ่มสำรวจสินค้าท้องถิ่นที่น่าจะทำตลาดได้ แต่ที่แน่ ๆ เขาคิดว่าสามารถใช้ช่องทางออนไลน์เป็นแพลตฟอร์ม ร่วมกับโลจิสติกส์สมัยใหม่ในการสร้างธุรกิจที่ว่านี้ และถ้าจะให้ธุรกิจนี้เวิร์กอย่างยั่งยืน เขาคงต้องกระชับเครือข่ายกับคนในท้องถิ่น รวมถึงหัวหน้าชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหลายคนเป็นเพื่อนกันอยู่แล้วหรือไม่ก็เป็นคนที่สมาชิกในครอบครัวรู้จัก คนในชนบทไล่ไปไล่มาก็เป็นเพื่อนพี่น้องกันทั้งนั้น

ที่สำคัญคือ หนุ่มรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนเพราะมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ มีการศึกษาที่ดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ สังเกตได้จากเวลามีอะไรสำคัญ ๆ ในชุมชนที่ต้องแก้ปัญหา เพื่อนๆ และคนในชุมชนก็จะมาชวนหนุ่มไปหารือและขอความคิดเห็น

เรื่องราวของหนุ่มเป็นปรากฏการณ์เล็ก ๆ อันหนึ่งของ “สมองไหลกลับ” หรือ reverse brain drain โดยมีการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้น หลังจากที่มันสมองของพลังหนุ่มสาวหลั่งไหลออกนอกพื้นที่ชนบทจากพลังสูบของความศิวิไลซ์ การศึกษา การงาน และอนาคตที่สดใสกว่าของเมืองกรุงและเขตเมืองมาเป็นเวลานาน จนพื้นที่ชนบทที่เคยอุดมไปด้วยทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางวัฒนธรรม และทุนทางสังคม เหี่ยวแห้งและรกร้าง เหลือเพียงคนแก่เฝ้าบ้านและบางบ้านก็อาจมีหลานเล็ก ๆ ที่ปู่ย่าตายายต้องช่วยเลี้ยงดู เพราะถึงแม้รายได้ในเมืองจะสูงยังไง แต่ก็ไม่สูงพอที่จะเลี้ยงดูเด็กเล็ก ๆ ให้อยู่กับพ่อแม่ได้ เป็นความจริงที่แปลกและย้อนแย้งอย่างน่าอนาถ ความเจริญที่ไม่เสมอกันในเชิงพื้นและความอัตคัตแร้นแค้นในบางมุมของชีวิตในเมือง พรากทุกเจเนอเรชันในครอบครัวชนบท ตั้งแต่เมื่อลูกลาพ่อแม่ไปเรียนหนังสือในเมือง จนถึงเมื่อลูกต้องส่งลูกของตัวเองมาให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงที่บ้านนอก

การกลับมาของหนุ่ม ไม่เพียงแต่จะทำให้สายสัมพันธ์และการเกื้อหนุนของคนในครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดของสังคมมีความแข็งแรงและแน่นแฟ้นเท่านั้น แต่หนุ่มยังได้นำเอาความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยี และแนวคิดใหม่ๆ กลับมาสู่ชนบทอีกด้วย เป็นความรู้ที่จะทำงานเพื่อเสริมสร้างท้องถิ่นไปนาน ๆ

ไม่ใช่ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิต่างถิ่นที่มาสร้างความหวังเป็นครั้งเป็นคราวตามวาระการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าหน่วยงานในท้องถิ่นก่อนจะย้ายไปที่อื่น หรือความรู้และความหวังที่มักมาเป็น “โพรเจกต์” ของสารพัดหน่วยงานพัฒนาชนบท ที่หลายหน่วยงาน “เท” คนในท้องถิ่นเมื่อหมดโครงการหรือหมดงบ

โครงการและความฝันแบบที่หนุ่มกำลังจะทำ จึงเป็นโครงการที่มีโอกาสจะยั่งยืน สร้างกลุ่มก้อนการทำงานในพื้นที่ให้มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดเป็นกลไกที่เดินหน้าต่อไปด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่รองบประมาณจากภายนอกซึ่งสุดท้ายก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจาก “การรวมศูนย์อำนาจ” ได้อยู่ดี

เมื่อถามว่าหนุ่มอยากให้ช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง หนุ่มตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า “อยากให้กลไกในท้องถิ่นเปิดกว้าง รับไอเดียใหม่ๆ วิธีการใหม่ ๆ ” เขาบอกว่าการประสานความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่า พลังของคนในพื้นที่กับหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญมากต่อการก้าวในขั้นต่อไป

การสนับสนุนความฝันและความพยายามของหนุ่ม ไม่เพียงแต่จะทำให้แผนธุรกิจที่หนุ่มคิดฝันสำเร็จและครอบครัวของหนุ่มอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และไม่เพียงแต่เป็นการกระจายความเจริญออกมาจากการกระจุกตัวของเมืองกรุงและเขตเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญต่อการกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม เพราะหากมีคนอย่างหนุ่มมากเพียงพอในท้องถิ่น กลไกในท้องถิ่นย่อมปรับตัวแข็งแรงขึ้น สามารถแบ่งเบาและต่อรองอำนาจจากส่วนกลาง ซึ่งจะเป็นความหวังที่จะทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่เป็นแต่เพียงวาทกรรมพร่ำเพ้ออีกต่อไป

นอกจากนี้หากมีโครงการแบบที่หนุ่มฝันไว้นี้กระจายอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ มากเพียงพอ ก็จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต คนระดับล่างมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลง

การฉวยโอกาสนี้เสริมแรงให้กับคนอย่างหนุ่ม ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่กลับมาสู่วิถีชีวิตกรรมาชีพในเมือง และตั้งใจจะเป็นผู้ประกอบการในชนบท (rural entrepreneur) ไม่เพียงแต่เป็นมันสมองที่ไหลกลับ (reverse brain drain)แต่ยังเป็นการกลับทิศของกระบวนการ กรรมาชีพภิวัตน์ (reverse proletarianization) ซึ่งเป็นกระบวนการทิ้งความเป็นเจ้าของทุนหรือการเป็นนายจ้างตัวเองไปสู่การเป็นลูกจ้างรับเงินเดือนให้กลับมาเป็นนายของตัวเองอีกครั้ง ซึ่งคาร์ล มาร์กซ์ มองว่าเป็นการเลื่อนชั้นขึ้นทางสังคมอีกด้วย

ไม่ใช่ทำแต่เพียงปลุกสำนึกให้รักบ้านเกิด กลับสู่บ้านเกิดโดยไม่มีการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม เป็นระบบ สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และมีความต่อเนื่อง ซึ่งควรต้องทำอย่างเร่งด่วนก่อนที่คนอย่างหนุ่มจะสู้จนหมดแรง และพาลูกเมียขนข้าวขนของกลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…