ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > Climate Action : เอชเอสบีซี ตั้ง ESG Solution Unit สู่เป้าหมาย NET ZERO 2050 เคลื่อนองค์กร-ซัพพลายเชน-ลูกค้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว

Climate Action : เอชเอสบีซี ตั้ง ESG Solution Unit สู่เป้าหมาย NET ZERO 2050 เคลื่อนองค์กร-ซัพพลายเชน-ลูกค้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว

4 มกราคม 2022


สถาบันการเงินตระหนักถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ(Climate change)หรือสภาวะโลกร้อนมากขึ้น ธนาคารเอชเอสบีซี(HSBC) จึงประกาศเจตนารมณ์และตั้งเป้าหมายเดียวกันในการช่วยสนับสนุนจัดหาเงินทุนทั่วทุกภูมิภาค และส่งเสริมการลงทุนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงสนธิสัญญาปารีส(Paris Agreement) ในการควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยอัดฉีดงบลงทุน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สนับสนุนลูกค้าในทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าหรือภายในปี พ.ศ. 2573

ธนาคารเอชเอสบี ได้ประกาศเจตนารมณ์เมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2563 โดยมุ่งจะเป็น NET ZERO ในส่วนการดำเนินงานของธนาคาร ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030 และในส่วนของกลุ่มลูกค้าของธนาคาร ภายในปีพ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ.2050

“รสกมล วงศ์เชาวนาถ” Head of Corporate Sustainability ธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทย เล่าว่า นโยบายการดำเนินงานของธนาคารสอดคล้องตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนเหมือนกันทั่วโลก และเป็นองค์กรที่ยั่งยืนมากว่า 150 ปี ประกอบกับธนาคารได้เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Digital Banking ให้อยู่ในระดับแนวหน้า มีการลงทุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีระบบการบริหารจัดการและการดำเนินงานต่างๆที่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า ตลอดจนการสื่อสารภายในองค์กรที่คล่องตัวอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์และการบริการด้านการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ HSBC Group แต่จะมีความแตกต่างกันไปตามสภาวะและความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศนั้นๆ โดยธนาคารมีทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ESG ที่คอยให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ (Low carbon) และ Net Zero ได้ในที่สุด

“เป้าหมายของธนาคารฯสอดคล้องกับ Paris Agreement ในการควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เจตนารมณ์ของธนาคารที่ได้ประกาศไป แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าของเราในทุกภาคส่วน ให้เติบโตและพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon economy)” รสกมล กล่าว

รสกมล วงศ์เชาวนาถ Head of Corporate Sustainability ธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทย

เดินหน้าขับเคลื่อน 3 แผนสู่ Net Zero เน้น Climate Action บรรลุเป้าหมายหลัก

รสกมล บอกว่า เจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถูกขับเคลื่อนด้วย 3 แผนหลัก แผนแรก คือส่วนของการปฏิบัติงานภายในองค์กรและการบริหารจัดการ Supply Chain ของธนาคารที่ตั้งเป้าเป็นNet Zero ภายในปี 2573 รวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 (Scope 1 emission) หรือการปลดปล่อยมลพิษ โดยตรงขององค์กรเองที่สามารถควบคุมได้ เช่น เรื่องของยานพาหนะ น้ำมันของยานพาหนะที่องค์กรใช้เป็นต้น และขอบเขตที่ 2 (Scope 2 emission) หมายถึงพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ

ส่วนแผนที่ 2 คือ แผนการที่สนับสนุนลูกค้าในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารเอชเอสบีซีทั่วโลกให้เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ.2050 หรือพ.ศ.2593 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ(UN) ตาม Paris Agreement ที่ตั้งเป้าให้ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น Net Zero ภายในปีเดียวกัน เอชเอสบีซีเตรียมจะอัดฉีดงบประมาณถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 เพื่อช่วยสนับสนุนลูกค้าของธนาคารในภาคธุรกิจต่างๆ เร่งการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งมีการจัดตั้ง ESG Solution Unit ที่ช่วยให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าทางด้านการเงินและการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ low carbon หรือ Net Zero โดยเฉพาะ

“การจัดตั้ง ESG Solution Unit เป็นความร่วมมือในระดับโกลบอลและภูมิภาคต่างๆ โดยในเอเชียแปซิฟิกมีทีมงานอยู่ที่ฮ่องกง ทำงานประสานกับสาขาของธนาคารในประเทศต่างๆ ซึ่งจะคอยช่วยให้คำแนะนำปรึกษา(advisory)ด้านผลิตภัณฑ์การเงิน ตลอดจนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยอาศัยเนตเวิร์คที่แข็งแกร่งของเราที่มีอยู่ทั่วโลก”

สำหรับแผนที่ 3 คือการลงทุนและพัฒนาโซลูชั่นต่างๆเพื่อจะช่วยสนับสนุนและเร่งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่เรียกว่า Climate Solution มีการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ HSBC Pollination Climate Asset management โดยมีเป้าหมายจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพัฒนาการเกษตรและป่าไม้ยั่งยืน ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และทรัพยากรทางทะเลตลอดจนโครงการที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกโดยอาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติ (Nature-based solutions) โดยกองทุนนี้เริ่มจัดตั้งตั้งแต่ต้นปี 2021

“ธนาคารมีโครงการที่เรียกว่า Reduce เพื่อลดคาร์บอนฟุตปรินท์จากการปฏิบัติงานภายในองค์กรมาตั้งแต่ปีค.ศ.2012 มุ่งเน้นการลดก๊าซคาร์บอน โดยลดปริมาณขยะ ลดการใช้น้ำ การใช้กระดาษ รวมถึงการประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งแผนระยะแรกในช่วงปีค.ศ.2012 ถึง 2020 นั้นนับว่าประสบผลสำเร็จเกินเป้าหมายในหลายด้าน เช่น การใช้น้ำอย่างประหยัดทำได้เกิน 100% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนการลดขยะและการใช้กระดาษภายในองค์กร หรือโครงการอาคารสีเขียวในหลายประเทศ ส่วนเป้าหมายด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นตัวหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราตั้งเป้าไว้ว่า จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 100% ภายในปีค.ศ. 2030”

รสกมล กล่าวต่อว่า Climate Change ถือเป็นปัญหาสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนส่วนใหญ่ยังมีค่อนข้างจำกัดและต้องพัฒนากันต่อไปอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการทำสิ่งที่ดีให้แก่โลก แต่คือความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมดำเนินและพัฒนาต่อไปได้ในระยะยาว โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การดำเนินธุรกิจตามหลักการของ ESG ยังกลายเป็นประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ผลสำรวจเรื่อง ESG จากนักลงทุน

ผลการสำรวจโดยธนาคารเอชเอสบีซีSustainable Financing and Investment Survey 2021 จากการสอบถามไปยังนักลงทุนประเภทสถาบันและผู้ออกตราสารและพันธบัตรต่างๆจำนวน 2,000 คน ในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2564 เกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของ ESG ในภาคการลงทุน พบว่านักลงทุนมากถึง 89% ให้ความสำคัญต่อเรื่อง ESG performance ขององค์กร/ธุรกิจที่เขาจะตัดสินใจนำเงินไปลงทุนและยังเชื่อว่า ESG มีผลต่อผลประกอบการของธุรกิจ เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ โดย 51% ยังเชื่อว่า การนำ ESG มาเป็นตัวชี้วัด จะสามารถเพิ่มผลตอบแทนด้านการลงทุนและลดระดับความเสี่ยงของธุรกิจลงได้ ซึ่งนับเป็นเปอร์เซนต์ที่สูงสุดในรอบสามปี

“ผลกระทบของ Climate Change นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และส่วนมากเป็นปัญหาที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ปัญหาน้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง หรือการเกิดพายุต่างๆที่รุนแรงหนักขึ้นและถี่ขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งสิ้น หากเราไม่ร่วมมือกันพยายามให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกินระดับที่สหประชาชาติตั้งเป้าหมายไว้ คือ 2.0 องศาเซลเซียส หรือดีกว่านั้นที่ 1.5 องศา ภายในปีพ.ศ. 2593 เมื่อถึงเวลานั้น ตัวเราเองก็คงไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข ธุรกิจก็คงจะดำเนินต่อไปไม่ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก” รสกมล กล่าว

การแก้ปัญหา Climate change อันดับแรก ควรให้ผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน อันที่สอง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เป็นผู้ออกนโยบายกำกับดูแลด้านการเงินและการลงทุน หรือภาคเอกชน สถาบันการเงิน ตลอดจนภาคธุรกิจต่างๆ ที่มีความสำคัญในการระดมเงินทุนหรือนำเงินมาลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นต่างๆนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ

ธนาคารนับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงิน การลงทุนที่ยั่งยืนและรับผิดชอบให้แก่ลูกค้า ส่วนเอ็นจีโอนับเป็นเป็นคลังสมองและกระบอกเสียงของสังคม รวมถึงสื่อมวลชนที่เป็นกลุ่มสำคัญที่จะถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ให้มีข้อมูลที่อัพเดทถูกต้อง

หนุนลูกค้า-ซัพพลายเชนเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

สำหรับกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้าของเราเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero คือ Sustainable Finance หรือการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในแง่ของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ซัพพลายเชนในส่วนที่เป็นต้นน้ำ(upstream) หรือซัพพลายเออร์ที่ธนาคารไปซื้อผลิตภัณฑ์และบริการมาเพื่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารเอง และส่วนที่เป็นปลายน้ำ(downstream) คือลูกค้าของธนาคาร ซึ่งเราเรียกว่า financed emission หมายถึงพอร์ตโฟลิโอของลูกค้าที่ธนาคารให้การสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจ

“เรามีผลิตภัณฑ์ ด้านการเงินสีเขียวที่ค่อนข้างครบวงจรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละเซกเมนท์ได้ เช่น บัญชีเงินฝากสีเขียว (Green Deposit) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เพิ่งเปิดให้บริการในปีนี้ เปิดตัวไปแล้วใน 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทย เอชเอสบีซีเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการเงินฝากสีเขียวแก่ลูกค้าประเภทองค์กร โดยปัจจุบันมีลูกค้าระดับองค์กรรายใหญ่เข้ามาใช้บริการนี้แล้ว”

ผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากสีเขียวหรือ Green Deposit มีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนโครงการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลหรือ ESG ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และช่วยให้ลูกค้าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนของธุรกิจ โดยธนาคารจะนำเงินฝากจากส่วนนี้ไปลงทุนสนับสนุนโครงการต่างๆที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือโครงการที่จะช่วยลดปัจจัยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน การสร้างอาคารสีเขียว โครงการการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นต้น โดยเอชเอสบีซีจะมีรายงานจัดส่งให้ลูกค้าได้ทราบเป็นระยะว่า เงินฝากนำไปใช้ในโครงการอะไรบ้าง ส่วนอัตราดอกเบี้ยและการบริการส่วนอื่นๆจะเหมือนกับบัญชีเงินฝากปกติ แต่คุณค่าที่เพิ่มขึ้นคือได้ช่วยแก้ปัญหา Climate Change และสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ประเด็นความยั่งยืนที่นักลงทุนสนใจ

เอชเอสบีซีเป็นธนาคารแห่งแรกของโลกที่ออก SDG Bond เมื่อปี 2017 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ส่วนในมาเลเซียก็มีการออก Green Bond ที่เรียกว่า Green Sukuk เป็น พันธบัตรสีเขียวรายแรกที่ออกโดยรัฐบาลมาเลเซีย โดยมีเอชเอสบีซีทำหน้าที่อันเดอร์ไรท์บอนด์ เอชเอสบีซียังมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ที่สามารถตอบสนองความต้องการและเป้าหมายของลูกค้าที่ใส่ใจด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อสีเขียว (Green Loan), สินเชื่อด้านพัฒนาสังคม (Social Bond) สินเชื่อที่เกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability-linked loan) หรือแม้แต่การลงทุนด้านบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) จากสายงาน Global Private Banking ก็ได้รวบรวมเอาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจากทั่วโลกในทุกภูมิภาคมาร่วมกันออกแบบสร้างผลิตภัณฑ์ด้านESG สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และ Paris Agreement ด้วย

พนักงานภายในองค์กรเองก็เป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กรไปสู่ความยั่งยืนเช่นกัน เอชเอสบีซีมีโครงการพัฒนาทางด้านสังคม (Social) มากมาย ภายใต้คอนเซปต์ Future Skills Pillar ซึ่งธนาคารมีโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทั้งด้าน soft skill และhard skill ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกปกติใหม่ (New normal) ที่กำลังเปลี่ยนไปหลังจากโควิด-19 ทำให้ธนาคารเร่งเครื่องที่จะพัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่างเต็มที่ให้แก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นด้าน Digitization ความรู้เกี่ยวกับ Sustainability รวมถึงsoft skills ต่างๆ อาทิ Creativity, Growth mindset, communication and presentation skills เป็นต้น

รสกมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางด้านสังคม ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ยังดำเนินโครงการ 5-6 โครงการเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาทักษะความรู้ด้านการเงิน การเพิ่มรายได้ และทักษะอาชีพให้แก่เยาวชนและชุมชนด้อยโอกาส เช่น โครงการ Digital Tech for Vulnerable Youths ที่ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตพัฒนาไทย และมูลนิธิเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไทยตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ โดยมุ่งใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าไปเป็นสื่อในการเรียนการสอนให้เด็กๆในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 10 โรงเรียนในหลากหลายภูมิภาค และเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองภายใต้กระทรวงยุติธรรมอีก 5 แห่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกับเด็กในชุมชนเมือง โดยเฉพาะด้านไอที ดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคต โดยธนาคารให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 2.2 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ เอชเอสบีซีสานฝัน เยาวชนก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ให้การฝึกอบรมทักษะอาชีพ ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ ตามความถนัดและสนใจรวมถึงการสร้างธุรกิจออนไลน์ ให้แก่เยาวชนจำนวนกว่า 300 คน ซึ่งครอบครัวได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดการว่างงาน ขาดรายได้ ใน 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และชัยภูมิ ซึ่งเยาวชนบางคนทำงานแล้ว เช่น เป็นช่างผม พนักงานเสิร์ฟ แต่พอกิจการปิดทำให้ตกงานและขาดรายได้

จับมือ WWF พัฒนาการเกษตรและป่าไม้ยั่งยืน เสริมความรู้ชุมชนตามศาสตร์ในหลวงร.๙

ธนาคารเอชเอสบีซีให้การสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใน 14 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนิเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม และประเทศไทย โดยเน้นไปที่โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพลังงานสะอาด โครงการที่อาศัยกลไกธรรมชาติในการแก้ไขปัญหา และโครงการที่นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทย ธนาคารเอชเอสบีซี ได้ให้การสนับสนุน WWF ประเทศไทย ในการดำเนินโครงการ “FLR349, Forest Landscape Restoration through agroecology: A Nature-based solution for ecosystem restoration and a resilient community” หรือ โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน FLR 349 โดยเลือกพื้นที่ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ในการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยในการสร้างป่าเพื่อการฟื้นฟูดิน น้ำและอากาศ สร้างระบบอาหารปลอดภัย สร้างอาชีพยั่งยืนให้ชุมชน โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา “ป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง” หรือการปลูกไม้ป่ายืนต้น ผลไม้ และพืชผักพื้นถิ่นด้วยวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ 142 ไร่ ให้เกษตรกรมีผลิตผลหมุนเวียนและมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ที่มาภาพ :Jittrapon Kaicom

“ความร่วมมือระหว่างธนาคารเอชเอสบีซีและ WWF เป็นหนึ่งในแนวทางของการส่งแรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยโครงการในประเทศไทยได้น้อมนำศาสตร์พระราชา เพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่า สร้างอาชีพยั่งยืน ระบบอาหารปลอดภัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในลดการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการสร้างความยืดหยุ่นปรับตัวได้ของชุมชน (Community Resilience) และเศรษฐกิจชุมชนสีเขียว (Green Economy) ความจริงไม่ง่ายกับการที่จะให้เกษตรกรรายย่อยที่มีวิถีชีวิตในแบบของเขาอยู่แล้วหันมาสนใจเรื่องสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน โครงการนี้จึงเป็นโครงการนำร่องซึ่งมีเป้าหมายที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน มีความรู้ด้านการทำเกษตรแบบยั่งยืน ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่เขาจะสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต นอกจากการปลูกพืชหมุนเวียนบนผืนป่า และการงดใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว ยังให้ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตเพื่อสร้างรายได้เพิ่มได้อีกด้วย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ว่า ป่าไม้ที่เขาปลูกขึ้นมาเป็นทั้งแหล่งกักเก็บคาร์บอน และปล่อยคาร์บอน ถ้าดูแลดีๆจะมีคุณค่ามหาศาล แต่หากต้องตัดป่าไม้เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ก็สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากได้เช่นเดียวกัน”

ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของธนาคารเอชเอสบีซี ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์การเป็นธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ.2593 หรือก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ ธนาคารฯได้ตั้งเป้าใช้เงินลงทุนจำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนลูกค้าของธนาคารในการเปลี่ยนถ่ายของธุรกิจที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ธนาคารฯยังให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาคการเงินและภาคธุรกิจอื่น ๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่จะก่อให้เกิดภัยพิบัติตามมา โครงการ FLR 349 นี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของธนาคาร