ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ผลสำรวจเอชเอสบีซีชี้บริษัทขนาดเล็กมุ่งใช้กลยุทธ์การเติบโตและการลงทุนอย่างยั่งยืน

ผลสำรวจเอชเอสบีซีชี้บริษัทขนาดเล็กมุ่งใช้กลยุทธ์การเติบโตและการลงทุนอย่างยั่งยืน

18 ธันวาคม 2017


หนึ่งในสามของบริษัทขนาดเล็กกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นเป้าประสงค์ระยะยาว 3 ลำดับแรก ขณะที่ 59% ของบริษัทเหล่านี้ ระบุว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะช่วยปรับปรุงความสามารถในการทำกำไร และอีก 27% ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจมากขึ้น

ธนาคารเอชเอสบีซี เปิดเผยผลสำรวจของธุรกิจพาณิชย์ธนกิจว่า เกือบหนึ่งในสามหรือ 30% ของบริษัทขนาดเล็กซึ่งมีพนักงานจำนวน 200-2,000 คน เห็นว่าการสร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งใน 3 ลำดับแรกของเป้าประสงค์ในระยะยาว

บริษัทขนาดเล็กที่มีโอกาสใช้กลยุทธ์ระยะยาวด้านความยั่งยืนต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด พบว่าอยู่ในประเทศอินโดนีเซียในสัดส่วน 43% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์/ซาอุดีอาระเบีย 36% และออสเตรเลีย 34% โดยเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองแร่ 42% สาธารณูปโภค 38% และการผลิต 37%

จากการสำรวจผู้บริหารกว่า 1,400 คนใน 14 ประเทศ พบว่า ครึ่งหนึ่งหรือ 50% ตระหนักว่าลูกค้ากำลังต้องการผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถช่วยให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดย 59% ของบริษัทที่สำรวจระบุว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตและมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีขึ้น

บริษัทที่ทำธุรกิจในภาคการผลิตในสัดส่วน 72% และบริษัทในอินเดีย 68% บริษัทในซาอุดีอาระเบีย 66% และบริษัทใน 66% มีโอกาสได้รับประโยชน์เชิงพาณิชย์มากที่สุด นอกจากนี้ เกือบหนึ่งในสามของบริษัททั่วโลก 30% เชื่อว่าการพัฒนาธุรกิจให้มีความยั่งยืนมากขึ้นจะนำไปสู่การมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ ผลสำรวจพบว่า กว่า 1 ใน 4 หรือ 27% ของบริษัทขนาดเล็ก ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจมากขึ้น โดยเป็นบริษัทในซาอุดีอาระเบีย 34% บริษัทในฮ่องกง 33% และบริษัทในออสเตรเลีย 33% มีโอกาสให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากที่สุด ส่วนในรายภาคธุรกิจ พบว่า ธุรกิจเหมืองแร่ 36% ธุรกิจการบริการอย่างมืออาชีพ 34% และธุรกิจสาธารณูปโภค 33% แสดงถึงความมุ่งมั่นมากที่สุดในการลงทุนอย่างยั่งยืน

นายไบรอัน พาสโค ผู้อำนวยการบริหาร หัวหน้าสายงาน Client Coverage ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “การปรับแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนเป็นกลยุทธ์แบบทันทีทันใดและกลยุทธ์ระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารธุรกิจอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้ากำลังต้องการ และเป็นวิถีการเติบโตของธุรกิจเพื่อให้แข่งขันได้ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เราเชื่อมั่นว่าบริษัทขนาดเล็กไม่ได้แค่ตระหนักว่าความยั่งยืนเข้ามาเปลี่ยนเกมธุรกิจ แต่บริษัทหลายแห่งกำลังใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และได้ลงมือปฏิบัติจริงแล้ว”

“สำหรับเอชเอสบีซี เรากำลังช่วยให้บริษัทเหล่านี้มุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนต่อไป โดยร่วมกับลูกค้าในการประเมินและศึกษาระบบสินค้าและบริการทั้งหมดอย่างครบวงจร เพื่อกำหนดประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ปรับเปลี่ยนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และช่วยให้บรรลุมาตรฐานด้านความยั่งยืนดังที่ผู้ซื้อคาดหวัง”

ผลสำรวจ

จากผลสำรวจโดยเฉลี่ย พบว่า มีเพียง 18% ของบริษัทขนาดเล็กเท่านั้นที่เห็นด้วยว่า แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่งหรือราว 46% เห็นว่า แนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนมีความสำคัญในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทเหล่านี้เห็นว่าแนวปฏิบัติที่มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต คือ การจัดตั้งทีมงานเฉพาะที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
ขณะนี้สิ่งสำคัญที่บริษัทต้องดำเนินการเพื่อพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น คือ การมองหาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริหาร 47% ระบุว่า เป็นปัจจัยที่มีผลต่อผลประกอบการของบริษัทในอีก 3 ปีข้างหน้า

ขั้นตอนปฏิบัติที่บริษัทสามารถนำไปใช้ เพื่อทำให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ ประกอบด้วย

  • มองหาประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง ทั้งในด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดต้นทุน ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ใกล้กว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน และประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง
  • ปรับเปลี่ยนแบบจำลองธุรกิจให้เข้ากับความนิยมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ลูกค้าที่ใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมักจะให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากหรือผลิตมาจากวิถีที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มรายได้แก่ธุรกิจได้
  • การลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามโดยรวมที่จะบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
  • ออกและบังคับใช้มาตรฐานทางจริยธรรมและนโยบายในเรื่องต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน และชุมชนสัมพันธ์
  • รายงานผลการดำเนินธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ [Environmental, Social and Governance (ESG) performance] ความโปร่งใสเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญเพื่อได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและนักลงทุน

ทั้งนี้ ธนาคารเอชเอสบีซีได้ทำการสำรวจประจำปี 2560 โดยสอบถามผู้บริหารของบริษัทที่มีพนักงานจำนวน 200-2,000 คนในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ธนาคารเอชเอสบีซีให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการให้กู้ยืมและการลงทุนอย่างยั่งยืน มูลค่า 100 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 เพื่อเอื้อให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้พัฒนาพลังงานสะอาดหรือติดตั้งเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

การสนับสนุนเงินลงทุนและเงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นหนึ่งในพันธกิจ 5 ประการที่ธนาคารเอชเอสบีซีมุ่งมั่นจะรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในชุมชนที่เครือข่ายสาขาของธนาคารเข้าไปดำเนินธุรกิจ

ส่วนพันธกิจอื่นๆ ของธนาคารเอชเอสบีซี มีดังนี้

  • ใช้กระแสไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด หรือ 100% ภายในปี 2573โดยตั้งเป้าหมายเฉพาะกาลไว้ที่90% ภายในปี 2568
  • ลดการให้การสนับสนุนและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมถ่านหินประเภท Themal Coal และตื่นตัวในการจัดการกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจคาร์บอนสูงประเภทอื่นๆ
  • ปรับใช้คำแนะนำของคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็น Climate Change ระดับนานาชาติ ในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของธุรกิจที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Task Force on Climate-related Financial Disclosures) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
  • จัดตั้งศูนย์พัฒนาบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน (Centre of Sustainable Finance) เพื่อขับเคลื่อนและจัดการอภิปรายเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินและการลงทุนอย่างยั่ง