ThaiPublica > Sustainability > Headline > Climate Action สไตล์อินเดีย-โคลอมเบีย

Climate Action สไตล์อินเดีย-โคลอมเบีย

5 ตุลาคม 2021


สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โลกได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วทุกภูมิภาคของโลก ในหลายภาคส่วน มีผู้คนส่วนหนึ่งตระหนักถึงความสำคัญในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา และได้ลงมืออย่างจริงจังมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของโลกใบนี้

ไทยพับลิก้าจะพาไปดูการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ climate actionต่างๆ ของอินเดียและโคลอมเบีย ที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาเป็นแรงจูงใจให้ลงมือทำอย่างจริง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

โครงการจำนองต้นไม้ รัฐเกรละ อินเดีย

ในอินเดียมีโครงการเพื่อผลักดันเมืองในอินเดียไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่าง “โครงการจำนองต้นไม้” ในเมืองมีนันคที อำเภอวายานาท รัฐเกรละ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เป็นเนินเขามีหมอกปกคลุมทางตอนใต้ของอินเดีย

ชาวบ้านชาวเกรละกำลังได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ที่จ่ายเงินให้พวกเขาอนุรักษ์ต้นไม้ไว้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการตัดต้นไม้

ชีจา ซีจี เกษตรกรวัย 46 ปี ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ท่ามกลางสวนกาแฟ มะพร้าว และพริกไทยมาตลอดชีวิต ในเดือนที่แล้วเธอมีรายได้เพิ่มขึ้นมาจากการจำนองต้นไม้ 53 ต้นที่ธนาคารในท้องถิ่น เป็นจำนวนเงิน 2,650 รูปี (35.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือคิดเป็น 50 รูปีต่อต้น ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์รายแรกๆ ของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐโครงการนี้

ถือเป็นแรงจูงใจง่ายๆ ที่ได้กำไรมหาศาล ด้วยการให้ประชาชนปลูกต้นไม้ แล้วหลังจาก 3 ปี สามารถจำนองต้นอ่อนแต่ละต้นเพื่อรับเงินกู้ฟรีดอกเบี้ย ซึ่งสามารถต่ออายุได้ทุกปีเป็นเวลา 10 ปี และจะต้องชดใช้เงินก็ต่อเมื่อต้นไม้ถูกโค่นลงเท่านั้น

ชีจา ซีจี เกษตรกรวัย 46 ปี ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/global-development/2020/dec/28/how-a-tree-mortgage-scheme-could-turn-an-indian-town-carbon-neutral

รัฐเกรละมีภูมิประเทศเป็นป่าไม้ที่เต็มไปด้วยเครื่องเทศ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากภาคเกษตรกรรมที่ไม่เอื้ออำนวยและการตัดไม้ทำลายป่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฤดูร้อนร้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวายานาทซึ่งเคยเป็นอำเภอที่เย็นสบาย

การฆ่าตัวตายของเกษตรกร ดินถล่ม และน้ำท่วมกลายมาเป็นพาดหัวข่าวในเกรละ เกษตรกรถูกบังคับให้โค่นต้นไม้เพื่อหารายได้เสริม จากภูมิหลังดังกล่าว โครงการธนาคารต้นไม้ซึ่งได้รับเงินสนับสนุน 100 ล้านรูปี (1.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากรัฐบาลกลายมาเป็นแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ให้พวกเขารักษาต้นไม้ไว้

“เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติเกือบ 5 องศา ทำให้ฉันต้องเผชิญกับการสูญเสียพืชผลไป 25% เงินกู้จากธนาคารต้นไม้จะไปช่วยลดความกดดันทางการเงิน ฉันจะเอาไปซื้อปุ๋ยสำหรับฟาร์มของฉัน” ชีจากล่าว

ภัยแล้งเป็นเวลานานและปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน ทำให้ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการทำนาที่ลดลงและยังเป็นภัยคุกคามต่อพืชเศรษฐกิจ เช่น พริกไทยและกาแฟ ตามแผนปฏิบัติการของรัฐเกรละเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Kerala State Action Plan on Climate Change) อำเภอวายานาทถือเป็น 1 ใน 4 จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ธนาคารต้นไม้มีจุดประสงค์ที่จะลดความเสียหายและเปลี่ยนเมืองมีนันคที ซึ่งมีประชากรประมาณ 35,000 คน ให้กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยโครงการ Carbon Neutral Meenangadi ซึ่งถือเป็นโครงการแรกในอินเดียที่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของชุมชน

“การตรวจสอบพลังงานในปี 2018 พบว่าเมืองมีนันคทีมีคาร์บอนส่วนเกิน 15,000 ตัน เรากำลังหาวิธีทำให้มันเป็นศูนย์” บีนา วิชัยยัน ประธานปัญจาญัติ (รัฐบาลท้องถิ่น) กล่าว เพื่อสร้างสมดุลของการปล่อยก๊าซคาร์บอน เราได้กำหนดแผนปฏิบัติการอย่างละเอียดรอบคอบ

“เราได้จัดประชุมมากกว่า 500 ครั้ง กับเกษตรกรจากทุกซอกทุกมุม เกี่ยวกับการจัดการขยะ พลาสติกรีไซเคิล แสงสว่าง และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้เตาประสิทธิภาพสูง” เขากล่าว

โดยการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ถือเป็นขั้นตอนแรก “มันเป็นโครงการต้นแบบของทั้งอำเภอวายานาทที่เริ่มเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนที่เราเตรียมโรงเพาะชำที่มีต้นอ่อนกว่า 33 ชนิด ภายใต้โครงการรับประกันการจ้างงานในชนบทของประเทศ เราปลูกต้นอ่อนกว่า 300,000 ต้น ในบ้านเรือน 250 หลังและในพื้นที่ส่วนกลางในเมืองมีนันคที” วิชัยยันกล่าว

“ในปัจจุบันต้นไม้โตเต็มที่แล้ว เราจึงเปิดตัวโครงการธนาคารต้นไม้ และเราได้รับใบสมัครประมาณ 200 ใบ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ”

ต้นไม้ในโครงการ ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/global-development/2020/dec/28/how-a-tree-mortgage-scheme-could-turn-an-indian-town-carbon-neutral

ทอมัส ไอแซก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเกรละ เป็นคนแรกที่เสนอไอเดีย เขากล่าวว่ามันจะเป็นการรับประกันรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรในภูมิภาค รวมถึงเป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก

“วายานาทเป็นอำเภอที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดในรัฐเกรละ ดังนั้นเป้าหมายคือการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรเป็น 2 เท่า โดยไม่ให้มีอุตสาหกรรมมากเกินไป” ชยากุมาร ซี ผู้ก่อตั้ง Thanal หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินโครงการกล่าว

นอกจากนี้ต้นไม้ยังทำรายได้เสริมให้กับประชาชนด้วยการขายผลไม้และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

อาจิท โทมี ผู้ประสานงานโครงการกล่าวว่า “เราไปยังแต่ละฟาร์มพร้อมกับทีมอาสาสมัคร เพื่อไปสำรวจต้นไม้ที่โตเต็มที่ ถ่ายรูป และทำแผนที่พวกมันลงบนระบบการตรวจสอบของเรา” เขากล่าวอีกว่า “เราจะดำเนินโครงการนี้ในอีก 23 ปัญจาญัติในอำเภอวายานาทภายในปี 2021 และเราวางแผนที่จะปลูกต้นไม้ประมาณ 10 ล้านต้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”

สำหรับ สุเมธี วาไลยาโกลลี เงินกู้นี้มาในเวลาที่เหมาะสมมาก เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของน้องชายเธอกำลังสูงขึ้น เธอกล่าวว่า “มันช่วยได้มาก ฉันจะปลูกต้นไม้มากขึ้นและจำนองให้มากขึ้นในปีหน้า”

โคลอมเบียเปิดโครงการ Biodivercities

ไม่ใช่เพียงแค่ในอินเดียเท่านั้น ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโคลอมเบียก็ได้เปิดตัว “โครงการ Biodivercities Alliance for a Better Air” ที่จัดว่าเป็น climate action การลงมือทำด้านสภาพภูมิอากาศ

ในปีนี้ เมืองโบโกตา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของโคลอมเบีย เริ่มปรับไปใช้รถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 1,485 คันแทนรถยนต์ดีเซลที่ครองระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 16,000 ตันหรือเทียบเท่าในทุกๆ ปี

การเปลี่ยนไปใช้รถโดยสารไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันครั้งใหญ่ของโคลอมเบียเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและยังเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของคนนับพันต่อปี

ที่มาภาพ: https://www.unep.org/fr/node/29923

แต่เนื่องจากยังขาดระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศที่ดี โคลอมเบียจึงได้เปิดตัวโครงการ Biodivercities Alliance for a Better Air ซึ่งโครงการนี้จะช่วยระบุแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในเมือง 11 แห่ง นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (nature-based solution) เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศโดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ

คาร์ลอส คอร์เรีย เอสคาฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโคลอมเบียกล่าวว่า “การตัดสินใจต้องอาศัยข้อมูลเป็นหลัก โดย Biodivercities เรากำลังเน้นไปที่การพัฒนาความพร้อมของข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและการปล่อยมลพิษ เพื่อเสริมสร้างการป้องกันและการลดมลพิษทางอากาศ”

โดยสถาบันอุทกวิทยาอุตุนิยมวิทยาและสิ่งแวดล้อมศึกษา (Institute of Hydrology, Meteorology and Environmental Studies) ของโคลอมเบียระบุว่า 8% ของผู้เสียชีวิตในโคลอมเบียเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศและน้ำ และค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับมลพิษในบรรยากาศเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าระหว่างปี 2009 และ 2015

โครงการ Biodivercities เป็นการรวมกันระหว่างคำ 2 คำคือ “biodiversity (ความหลากหลายทางชีวภาพ)” และคำว่า “cities (เมือง)” เป็นโครงการที่มีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับเงินทุนมาจากภาษีคาร์บอนแห่งชาติที่มีผลบังคับใช้ในปี 2017

หนึ่งในเมืองที่เข้าร่วมคือ มอนเตรีอา เป็นเมืองที่มีประชากร 500,000 คน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำซินู และขึ้นชื่อเรื่องป่าที่เต็มไปด้วยลิงและตัวสลอธ

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Biodivercities มอนเตรีอาจะปรับใช้ 2 หน่วยตรวจสอบคุณภาพอากาศใหม่ หนึ่งในนั้นจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะได้เป็นครั้งแรก ซึ่งในมอนเตรีอา ประมาณ 28% ของการปล่อยมลพิษมาจากภาคการขนส่ง

“สิ่งที่เพิ่มขึ้นใหม่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการตรวจสอบคุณภาพอากาศที่มีอยู่ในเมืองของเรา ซึ่งจะทำให้เราสามารถดำเนินมาตรการแก้ไข ป้องกัน และบรรเทาผลกระทบได้” นายกเทศมนตรี คาร์ลอส โอร์โดสโกอิติอา กล่าว

โดยเมืองนี้ได้สร้างช่องทางสำหรับจักรยานขึ้นแล้ว 42 กิโลเมตร และมีเครือข่ายเช่าจักรยานสาธารณะที่มีผู้ใช้งานถึง 11,000 คน นอกจากนี้เมืองนี้กำลังสร้างระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำ ซึ่งจะเชื่อมเมืองจากทางเหนือสู่ทางใต้ เชื่อมโยงไปยังระบบรถโดยสารสาธารณะ และจะใช้พลังงานส่วนหนึ่งจากพลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ ยังมีเมืองอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ได้แก่ บาร์รังกียา เลติเซีย อาร์เมเนีย บาร์รันกาเบอร์เมจา มานิซาเลส วิลลาวิเซนซิโอ โยปาล ควิบโด ปาสโต รวมถึงเกาะซานอันเดรสในทะเลแคริบเบียน ซึ่งประชากรเกือบ 12% ของโคลอมเบียอาศัยอยู่ในเมืองเหล่านี้

ที่มาภาพ: https://bisinu.com/

เมืองเหล่านี้มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติทั้งในด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และกำลังตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ป่าชายเลน หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่รอบๆ อย่างยั่งยืนในขณะที่ลดรอยเท้าทางสิ่งแวดล้อม (environmental footprint)

“เราไม่สามารถแยกความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองออกจากการพัฒนาเมืองได้” คอร์เรีย เอสคาฟ กล่าว “ด้วยการขยายเครือข่ายการตรวจสอบคุณภาพอากาศ เราจะระบุพื้นที่ที่จะเข้าไปแทรกแซงด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน โดยการผสมผสานความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับภูมิประเทศของชุนชนเมือง”

ซึ่งเมืองมอนเตรีอากำลังเตรียมโครงการฟื้นฟูพื้นที่กว่า 375 เฮกตาร์ รวมถึงการปลูกต้นไม้พื้นเมืองกว่า 416,000 ต้น

กระทรวงสิ่งแวดล้อมคาดว่าโครงการ Biodivercities จะมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 51% ภายในปี 2030 และบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2050