ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สงครามยาเสพติดไทย ของจริงหรือเฟกนิวส์ (1) : 18 ปี ปราบเท่าไหร่ ก็ไม่ลด

สงครามยาเสพติดไทย ของจริงหรือเฟกนิวส์ (1) : 18 ปี ปราบเท่าไหร่ ก็ไม่ลด

17 ธันวาคม 2021


18 ปี สงครามยาเสพติด จากรัฐบาลทักษิณถึงรัฐบาลประยุทธ์ จับพ่อค้า-ผู้เสพดำเนินคดีกว่า 3.2 ล้านคน ยึดของกลางยาเสพติด 1,885,848 กิโลกรัม-ยาบ้า 2,180 ล้านเม็ด

หลังจากที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงผลงานปราบปรามยาเสพติดในช่วงปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ “ป.ป.ส.” ได้ร่วมกับ 9 กระทรวง 26 หน่วยงาน และอีก 2 ส่วนราชการ บูรณาการการทำงาน สามารถจับกุมพ่อค้ายาเสพติด พร้อมของกลาง ดำเนินคดีในชั้นศาลได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยึดทรัพย์สินของขบวนการค้ายาเสพติดได้ถึง 7,347 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดไว้ 6,000 ล้านบาท

จากนั้นหลังจากที่ “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาโดยกฎหมายฉบับนี้ได้มีการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติด ตรวจสอบเส้นทางเงิน และยึดทรัพย์พ่อค้ายาเสพติดย้อนหลังได้ถึง 10 ปี รวมทั้งมีการแยกคดียึดทรัพย์สินออกจากคดีอาญา ทำให้ผู้แจ้งความนำจับ (สายสืบ) และเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำการจับกุมได้รับเงินสินบนและรางวัลเร็วขึ้น จากเดิมต้องรอให้ศาลอาญาพิพากษาคดีเสร็จเรียบร้อยก่อนถึงจะได้เงิน

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงยุติธรรมจึงปรับเป้าหมายในการยึดทรัพย์สินของขบวนการค้ายาเสพติดเป็น 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ยาเสพติดในปีหน้ายังคงทวีความรุนแรงอยู่เหมือนเดิม แม้ว่าในปีนี้จะมีการจับกุมกันอย่างเข้มงวดกวดขันเพียงใด แต่ยาเสพติดก็ไม่ได้ลดลง

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จึงมอบหมายให้ผู้สื่อข่าวใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ป.ป.ส. ขอข้อมูลสถิติผลการดำเนินงานปราบปรามยาเสพติด ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544–2564 (ย้อนหลัง 20 ปี) ปรากฏว่าสำนักงาน ป.ป.ส. ให้ข้อมูลผลงานการปรามปรามยาเสพติดมา 18 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545–2563 แต่ขาดไป 2 ปี คือ ปีงบประมาณ 2544 กับปีงบประมาณ 2564 บางส่วนได้ข้อมูลมาแค่ 10 ปี และก็มีบางส่วนได้ครบ 20 ปี แม้จะได้ข้อมูลมาไม่ครบ แต่เมื่อนำข้อมูลมาประมวลผล ก็พอจะเห็นภาพรวมของสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศไทยเป็นอย่างไร

  • “ไทยพับลิก้า” ใช้สิทธิ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ยื่นขอสถิติปราบปรามยาเสพติด ป.ป.ส.
  • เริ่มจากข้อมูลผลการดำเนินงานปราบปรามยาเสพติดในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบาย “ทำสงครามกับยาเสพติด” เมื่อปี 2546 เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องใช้ความรุนแรงในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีพ่อค้ายาเสพติดหลายพันคนถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมขณะเข้าทำการจับกุม รวมทั้งก็มีการฆ่าตัดตอนกันเอง เพราะเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่สาวไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด ทำให้ผู้ค้าบางรายต้องหลบหนีไปตั้งหลักอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะกลัวถูกเก็บ ขณะเดียวกัน ก็มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

    การทำสงครามกับยาเสพติดดังกล่าวทำให้สถานการณ์ยาเสพติดในปีงบประมาณ 2547 ลดลงมากอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งจำนวนคดียาเสพติดลดลงมาเหลือ 35,213 คดี เปรียบเทียบกับปี 2546 คดียาเสพติดมียอดอยู่ที่ 101,848 คดี ลดลงถึง 65.43% ส่วนจำนวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดปีงบประมาณ 2547 ลดลงเหลือ 38,697 ราย เทียบปีก่อนลดลง 64.11% และของกลางยาเสพติดที่ยึดมาได้ เช่น เฮโรอีน, เมทแอมเฟตามีน, ไอซ์, เอ็กซ์ตาซี หรือยาบ้า, โคเคน, คีตามีน, กัญชาแห้ง และพืชกระท่อม (ข้อมูลที่ได้รับจาก ป.ป.ส.) ก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยมียอดรวมอยู่ที่ 12,394.65 กิโลกรัม เทียบกับปี 2546 ยึดของกลางยาเสพติดได้ 21,929.13 กิโลกรัม ลดลงจากปีก่อน 43.48%

    ลดลงมาได้แค่ปีเดียว ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดกลับมาทวีความรุนแรงต่อ จนกระทั่งมาถึงสมัยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ยาเสพติดขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในปีงบประมาณ 2555 จำนวนคดียาเสพติดมียอดอยู่ที่ 203,771 คดี และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 216,960 คน ยึดของกลางยาเสพติดได้ 81,326.85 กิโลกรัม ยาบ้าอีก 95.50 ล้านเม็ด

    แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้รับจากสำนักงาน ป.ป.ส. พบว่า ในยุคสมัยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูล “คดีที่ไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

    เริ่มจากปีงบประมาณ 2554 มีคดียาเสพติดที่ไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด 670 คดี, ปีงบประมาณ 2555 เพิ่มเป็น 890 คดี, ปีงบประมาณ 2556 เพิ่มเป็น 894 คดี, ปีงบประมาณ 2557 เพิ่มเป็น 1,242 คดี, ปีงบประมาณ 2558 ลดลงมาเหลือ 1,012 คดี, ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,282 คดี, ปีงบประมาณ 2560 เพิ่มเป็น 1,288 คดี โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีหลังนี้ ตัวเลขคดีที่ไม่ทราบผู้กระทำผิดเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในปีงบประมาณ 2561 มีคดียาเสพติดที่ไม่ทราบผู้กระทำผิดเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,011 คดี, ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป็น 2,278 คดี และปีงบประมาณ 2563 ไม่ทราบตัวผู้กระทำผิดเพิ่มเป็น 3,632 คดี

    จึงตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมช่วง 3 ปีหลังคดียาเสพติดที่ไม่ทราบตัวผู้กระทำผิดจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น!!!

    ขณะที่จำนวนคดีและจำนวนผู้ต้องหามีแนวโน้มลดลง โดยในปีงบประมาณ 2561 คดียาเสพติดมียอดอยู่ที่ 220,286 คดี มีผู้ต้องหาคดียาเสพติด 230,984 คน ปีงบประมาณ 2562 จำนวนคดีลดลงมาเหลือ 182,781 คดี จำนวนผู้ต้องหาลดลงเหลือ 189,841 คน และในปีงบประมาณ 2563 จำนวนคดีลดลงเหลือ 147,569 คดี จำนวนผู้ต้องหาลดลงเหลือ 152,707 คน

    สรุป ผลงานปราบปรามยาเสพติด ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ สามารถดำเนินคดีกับขบวนการค้ายาเสพติดไปแล้ว 3,002,082 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ไม่ทราบผู้กระทำผิด 15,199 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 3,229,813 คน ยึดของกลางยาเสพติดได้ 1,885,848 กิโลกรัม และยาบ้า 2,180 ล้านเม็ด

    จากข้อมูลสะท้อนข้อเท็จจริงว่า ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา มีข่าวการปราบปรามโชว์ผลงานกันมาตลอด แต่หากดูยอดรวม ยาเสพติดก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

    อ่านต่อตอนที่ 2 : สงครามยาเสพติดไทย ของจริงหรือเฟกนิวส์ (2) : 20 ปี ปราบเท่าไหร่ ก็ไม่ลด จ่ายค่า “สาย”(สืบ) ไม่รู้จบ