ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > นายกฯพลิกโฉม ปท. ชู BCG-นวัตกรรม แก้ยากจน-มติ ครม.ดึงต่างชาติพักไทย 5 ปี 1 ล้านคนเงินสะพัด 1 ล้านล้าน

นายกฯพลิกโฉม ปท. ชู BCG-นวัตกรรม แก้ยากจน-มติ ครม.ดึงต่างชาติพักไทย 5 ปี 1 ล้านคนเงินสะพัด 1 ล้านล้าน

14 กันยายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ลุย “พลิกโฉมประเทศ” ชู BCG-นวัตกรรมท้องถิ่น ลดเหลื่อมล้ำ-ยากจน-สั่งทุกหน่วยเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม-มติ ครม. จัดแพกเกจดึงต่างชาติฐานะดีพักไทย 5 ปี 1 ล้านคน เงินสะพัด 1 ล้านล้าน-ไฟเขียวเอกชนซื้อ ATK หักภาษีได้ 1.5 เท่า-จัดงบฯ 946 ล้าน ให้ ‘สภากาชาดไทย’ ซื้อโมเดอร์นา 1 ล้านโดส ฉีดกลุ่มเปราะบาง

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้นายกรัฐมนตรีไม่แถลงข่าวและไม่ได้มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

ลุย “พลิกโฉมประเทศ” ทุกมิติ ชู BCG-นวัตกรรมท้องถิ่น ลดเหลื่อมล้ำ-ยากจน

โดย ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว่า ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการ 4 ประเด็นด้วยกัน เรื่องแรก นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบว่า “พลิกโฉมประเทศ ถือเป็นวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี” ขอให้ส่วนราชการช่วยดำเนินการทุกมิติ ทั้งทางด้านเกษตร สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน เพื่อเดินหน้าลดความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกัน ต้องช่วยกันสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ เพื่อส่งออกตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งการให้ความสำคัญนวัตกรรมท้องถิ่น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

สั่งทุกหน่วยเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 นายกรัฐมนตรี ยังห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งมีหลายพื้นที่ เกิดจากอิทธิพลของมรสุม โดยที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม เตรียมแผนรองรับน้ำท่วม และออกไปช่วยเหลือประชาชน โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงลงพื้นที่ รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกไปตรวจเยี่ยมประชาชน

ชื่นชม ‘ลิซ่า’ มีชื่อเสียงระดับโลก ยังไม่ลืมวัฒนธรรมไทย

ดร.ธนกรกล่าวว่า เรื่องที่ 3 นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญของวัฒนธรรม โดยมีเด็กไทยและศิลปินไทย โดยเฉพาะนางสาวลลิษา มโนบาล หรือ ‘ลิซ่า แบล็กพิงก์’ ที่ไปสร้างชื่อเสียงระดับโลก แต่ก็ยังไม่ลืมวัฒนธรรมไทย โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเยาวชนไทย คนไทยที่มีความสามารถ และก็เป็นที่ชื่นชม รัฐบาลส่งเสริมเต็มที่

พอใจสถานการณ์โควิดฯ ดีขึ้น – ยอดผู้ติดเชื้อลดลง

ดร.ธนกรกล่าวว่า เรื่องที่ 4 นายกรัฐมนตรีพอใจการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และทั่วประเทศ นายกรัฐมนตรีขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือกัน และก็ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ไฟเขียวเอกชนซื้อ ATK หักภาษีได้ 1.5 เท่า

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้าง สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 หรือ 1.5 เท่า ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึง 31 มีนาคม 2565 นี้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ศบค. ได้ปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยให้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านนวด (เฉพาะนวดเท้า) และสนามกีฬา สามารถเปิดให้บริการได้ ประกอบกับในที่ประชุม ศบค. ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางตามนโยบาย ศบค. ที่จะเพิ่มการตรวจ ATK ในประชากรโดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน

กระทรวงการคลังจึงได้ออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจ โควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมกับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด – 19 ช่วยบรรเทาภาระภาษี สำหรับประชาชน ก็จะช่วยป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยลดผลกระทบต้องเศรษฐกิจและสังคมด้วย

  • ครม. ไฟเขียวให้บริษัทซื้อ ATK หักภาษีนิติบุคคล 1.5 เท่า
  • จัดแพกเกจดึงต่างชาติฐานะดีพักไทย 5 ปี 1 ล้านคน เงินสะพัด 1 ล้านล้าน

    ดร.ธนกรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) โดย มี 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

    ทั้งนี้ มาตรการฯ ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก คือ

      1) การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ให้กับกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภท ผู้พำนักอาศัยระยะยาว และวีซ่าประเภท Smart visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน
      2) การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยูในและนอกราชอาณาจักรได้ การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร

    โดยคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สศช. ดำเนินการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า สศช. ได้คาดระยะเวลาดำเนินการมาตรการฯ ภายใน 5 ปีงบประมาณ (2565-2569) จะช่วยเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล

    อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบคามที่ สศช. เสนอให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ภาพรวมโครงการฯ ทุกๆ 5 ปี รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการถือของที่ดินก็ให้สิ้นสุดหลังจากวันที่เริ่มบังคับใช้แล้ว 5 ปี รวมทั้งให้ประเมินมาตรการต่างๆ เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสมด้วย

    อนุมัติงบกลาง 3,851 ล้าน ป้องกันน้ำท่วม-ภัยแล้ง

    ดร.ธนกรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางจำนวน 3,851 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 จำนวน 3,378 รายการ

    หน่วยรับงบประมาณ คือ 3 กระทรวง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย 9 จังหวัด (กำแพงเพชร เชียงราย นครศรีธรรมราช พะเยา พัทลุง พิจิตร ยโสธร สระบุรี หนองคาย) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 33 จังหวัด สำหรับรายการโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 อาทิ โครงการ ซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ 1,028 รายการ วงเงิน 1,462.44 ล้านบาท โครงการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ 541 รายการ วงเงิน 540.33 ล้านบาท โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน 334 รายการ วงเงิน 538.59 ล้านบาท โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทั่วประเทศ 72 โครงการ วงเงิน 33.32 ล้านบาท โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค 120 รายการ วงเงิน 46.88 ล้านบาท เป็นต้น

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแผนงาน/โครงการ ทั้ง 3,378 รายการว่า ต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2564 เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝนเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง ปี 2564/2565 ในพื้นที่เป้าหมายเฝ้าระวังที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย และพื้นที่เฝ้าระวังที่อาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ซึ่งแผนงาน/โครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้ ต้องสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และไม่เกินมกราคม 2565 ด้วย

    นายกฯ ลงพื้นที่ เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมชัยนาท พรุ่งนี้

    ดร.ธนกรกล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมนำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดชัยนาท พร้อมตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรับน้ำเหนือหลากและวางแผนป้องกันพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง 15 ก.ย. นี้

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการตรวจราชการครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท และตรวจสถานการณ์น้ำ ณ เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกต่อเนื่องและเกิดพายุ “โกนเซิน” ขึ้นฝั่งเวียดนาม ส่งผลให้มีมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ดร.ธนกร กล่าวย้ำว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในพื้นที่ ซึ่งในการประชุม คณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้รัฐมนตรีทุกท่านลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และขอให้ ฃรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ติดตามในภาพรวมอีกครั้ง พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานพร้อมรับสถานการณ์ เตรียมแผนอพยพทั้งคนและสัตว์เลี้ยงไปในพื้นที่ปลอดภัย มีการแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้เตรียมแผนการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนภายหลังสถานการณ์คลี่คลายด้วย

    ต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 จว.ใต้ 3 เดือน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ว่า ครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในท้องที่ 1) จังหวัดนราธิวาส ยกเว้น อำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอสุคิริน 2) จังหวัดยะลา ยกเว้น อำเภอเบตง และอำเภอกาบัง 3) จังหวัดปัตตานี ยกเว้น อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน ออกไปอีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 19 ธันวาคม 2564

    อนุมัติงบกลาง 869 ล้าน หนุนชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์

    ดร.รัชดากล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลาง ปี 2564 รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น วงเงิน 869.93 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนเกษตรกรของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2562 ส่วนงบประมาณอีก 47.86 ล้านบาท ให้กรมการข้าวปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2564 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ จากเดิมสิ้นสุดปีงบประมาณ 2564 เป็นสิ้นสุดปีงบประมาณ 2565 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

    โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์นี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้นโยบายการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของเกษตรกรและบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2560 – 2564) กรอบวงเงินทั้งสิ้น 9,696 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้จากการผลิตข้าวที่ได้ผลผลิตลดลงในระยะเริ่มต้นของการผลิตระบบอินทรีย์ต่อเนื่อง 3 ปี ไม่เกินรายละ 15 ไร่ สำหรับผลการดำเนินโครงการในปี 2560 – 2562 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 58 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 5,818 กลุ่ม เกษตรกรกว่า 1.3 แสนราย รวมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่

    ผ่านร่างเอกสารแสดงท่าทีไทยในเวทีสมัชชา UN สมัยสามัญ ครั้งที่ 76

    ดร.รัชดากล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างเอกสารท่าทีไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ซึ่งจะจัดประชุมในวันที่ 14 กันยายนนี้ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ สำหรับร่างเอกสารท่าทีไทยในการประชุมครั้งนี้ เป็นการแสดงจุดยืนและท่าทีในประเด็นที่มีความสำคัญต่างๆ อาทิ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง เป็นต้น ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

      1.ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาและสนับสนุนแหล่งพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน การจัดการภัยพิบัติ และการรับมือการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
      2.บทบาทไทยในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสันติภาพของ UN และการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน
      3.ส่งเสริมความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยใช้หลักความเท่าเทียม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน
      4.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้เปราะบาง ทั้งเด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ การขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ รวมถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออก
      5.สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับประเด็นความร่วมมือและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อันเป็นผลมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาค
      6.ติดตามความคืบหน้าการทำงานคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การคุ้มครองบุคคลในกรณีภัยพิบัติ และโครงการช่วยเหลือแห่ง UN ในการเรียนการสอน
      7.สนับสนุนการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันมิให้ผู้ก่อการร้ายได้มาซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพ
      8.ให้ความสำคัญกับประเด็นร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา และมาตรการขจัดการก่อการร้ายสากล
      9.ให้ความสนใจประเด็นสุขภาพโลกและนโยบายต่างประเทศ โดยเน้นบทบาทนำของไทยในด้านสาธารณสุขและด้านบริหารองค์กร

    ไฟเขียวไทยร่วมขับเคลื่อนแผนงาน คกก.อาเซียนด้านสตรี

    ดร.รัชดากล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนงานคณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี พ.ศ. 2564 – 2568 (ASEAN Committee on Women Workplan 2021 – 2025) ที่จะมีการรับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี (ASEAN Ministerial Meeting on Women-AMMV) ครั้งที่ 4 ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมนี้ และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2564 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ซึ่งแผนงานคณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี พ.ศ.2564-2568 ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาประเด็นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและความก้าวหน้าของสตรีในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดวิสัยทัศน์มุ่งปฏิบัติเพื่อบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และการเสริมพลังของสตรีและเด็กหญิงทุกคนใน 7ด้าน พร้อมเป้าหมายที่จะบรรลุภายในพ.ศ. 2568 ดังนี้

      1.ส่งเสริมการใช้ข้อมูลจำแนกเพศและสถิติหญิงชาย เป้าหมายคือ ใช้ข้อมูลจำแนกเพศและสถิติหญิงชาย เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนงานและกำหนดนโยบายที่มีมิติเพศภาวะ
      2.บูรณาการความเสมอภาคระหว่างเพศ เป้าหมายคือ มีความรู้ความเข้าใจในการบูรณาการมิติเพศภาวะกับการทำงานในประเด็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในทุกภาคส่วนของอาเซียน
      3.ส่งเสริมสตรีและเด็กหญิงให้มีส่วนร่วมในการจัดการและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายคือ สตรีและเด็กหญิงได้รับการเยียวยา เตรียมพร้อม และมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
      4.คุ้มครองและเสริมพลังให้กับสตรีและเด็กหญิงมีความปลอดภัย เป้าหมายคือ สร้างบรรทัดฐานทางสังคม ขจัดกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
      5.ส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพและความมั่นคง เป้าหมายคือ รัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรีในด้านการสร้างสันติภาพและความมั่นคง
      6.การทำงานที่มีคุณค่าของสตรีทุกคน เป้าหมายคือ สนับสนุนการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันทางการศึกษา การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการเข้าถึงแหล่งทุน
      7.เสริมสร้างความเป็นผู้นำของสตรี ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการปกครองทุกระดับ เป้าหมายคือ รัฐบาลอาเซียนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการตัดสินใจในทุกระดับ

    สำหรับแผนงานของไทยที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอกรอบแนวคิดมีด้วยกัน 2 โครงการ คือ (1)การพัฒนาคู่มือการเรียนการสอนเพื่อขจัดอคติทางเพศและการใช้ภาษาเชิงลบในกระบวนการการศึกษา เพื่อสร้างชุดข้อมูลความรู้และแหล่งอ้างอิงในการเรียนการสอน ที่ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศในกระบวนการการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (2)การพัฒนาแนวทางในการขจัดอคติทางเพศและการใช้ภาษาเชิงลบในระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการขจัดวงจรของอคติทางเพศ และสร้างบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในระบบการศึกษา

    เห็นชอบความร่วมมือ ศก. “อาเซียน-สหราชอาณาจักร” 11 สาขา

    ดร.รัชดากล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (สหราชอาณาจักร) (Joint Declaration on Future Economic Cooperation between the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland (UK) ซึ่งจะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 ในวันที่ 15 กันยายนนี้ โดยประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

    ปฏิญญาร่วมฯ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นและครอบคลุม สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยมีสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 11 ด้าน ได้แก่ (1)การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 (2)การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอาเซียน-สหราชอาณาจักร และการคงไว้ซึ่งการเปิดตลาด (3)ความเป็นเลิศด้านกฎระเบียบ (4)นวัตกรรมดิจิทัล (5)การให้บริการทางการเงิน (6) การเติบโตอย่างยั่งยืน (7)โครงสร้างพื้นฐาน (8)ทักษะและการศึกษา (9)การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (10)การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี และ (11)การเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะขับเคลื่อนภายใต้โครงการและกิจกรรม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสนใจและประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนและสหราชอาณาจักร โดยมีโครงการสนับสนุนทางการเงินที่สหราชอาณาจักรได้ผูกพันให้กับอาเซียนแล้ว เป็นพื้นฐานในการดำเนินการและต่อยอด และเกื้อหนุนการดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ของอาเซียน เช่น แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) แผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) และแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียน ปี ค.ศ.2016-2025 (พ.ศ.2559-2568)

    รองโฆษกฯ รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำปฏิญญาร่วมฯ ครั้งนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำให้อาเซียนสามารถรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าในด้านต่างๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ ที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย

    ‘จุรินทร์’ ชงเปิด “เกาะพยาม” เชื่อมภูเก็ตแซนบอกซ์

    ดร. รัชดากล่าวว่าหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ได้มีการหาเรื่องความเป็นไปได้ในการการเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวเพิ่มเติมจาก Phuket Sandbox ที่ครอบคลุม เกาะสมุย และเกาะในจังหวัดพังงา และกระบี่ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานผลการลงพื้นที่จังหวัดระนอง และข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ต้องการให้มีการเชื่อมต่อ Phuket Sandbox กับเกาะพยาม เนื่องจากเป็นสถานที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจมาก และเป็นพื้นที่ปิด มีประชากรบนเกาะไม่มาก สามารถบริหารจัดการตามมาตรการสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก รับไปพิจารณาต่อไป

    จัดงบฯ 946 ล้าน ให้ ‘สภากาชาดไทย’ ซื้อโมเดอร์นา 1 ล้านโดส ฉีดกลุ่มเปราะบาง

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น จำนวน 946.31 ล้านบาทให้กับสภากาชาดไทย สำหรับใช้ในโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 Moderna ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 1 ล้านโดส โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งทางบริษัท ชิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์น่าในประเทศไทย ได้เสนอขายราคา 28 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 940 บาทต่อโดส รวมค่าขนส่ง 26.75 บาทต่อโดส รวมเป็น 966.75 บาทต่อโดส ซึ่งกำหนดให้ชำระเงินล่วงหน้าร้อยละ 30 ของมูลค่าวัคซีนรวม ภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่อให้สามารถส่งมอบวัคซีนงวดแรกได้ในต้นปี 2565

    ทั้งนี้สภากาชาดไทยได้มีนโยบายในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐ ด้วยการให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน ทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยชุดธารน้ำใจและชุดธารน้ำใจฝ่าวิกฤตโควิด-19 การจัดตั้งหน่วยครัวเคลื่อนที่สภากาชาดไทยในจังหวัดต่างๆ การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละจังหวัดด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค ผ้าห่ม หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ร่วมกับภาครัฐในการจัดหน่วยบริการฉีดวัคซีน การจัดบริการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน(Home Isolation) และการส่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดและอาสาสมัครไปช่วยสนับสนุนการฉีดวัคซีนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภูมิภาค รวมถึงการจัดทำโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยไม่คิดมูลค่าด้วยการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 Moderna จำนวน 1 ล้านโดส โดยสภากาชาดไทยดำเนินการเองส่วนหนึ่ง และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมดำเนินการด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นต้นไป

    อนุมัติงบฯ 3,484 ล้าน สร้างความเข้มเข็ม ศก.ฐานราก 11 จว.

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มเข็มของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 5 จำนวน 1,013 โครงการ ในพื้นที่ 11 จังหวัด วงเงินรวม 3,484.27 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายเงินจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอ

    ทั้งนี้ เมื่อรวมกับผลการอนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในครั้งที่ 1-5 แล้ว ครม. ได้อนุมัติโครงการไปแล้วจำนวน 8,516 โครงการ ใน 70 จังหวัด เป็นวงเงินที่เข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 19,904.93 ล้านบาท คงเหลือ 6 จังหวัดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนได้แก่ ชัยนาท ราชบุรี เชียงใหม่ สุพรรณบุรี แม่ฮ่องสอน และสกลนคร

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ทั้ง 11 จังหวัดที่ได้รับอนุมัติโครงการฯ ครั้งที่ 5 ประกอบด้วย ลำพูน จำนวน 115 โครงการ วงเงิน 185.04 ล้านบาท, ลำปาง จำนวน 64 โครงการ วงเงิน 298.86 ล้านบาท, เชียงราย จำนวน 89 โครงการ วงเงิน 355.47 ล้านบาท, เพชรบูรณ์ จำนวน 89 โครงการ วงเงิน 232.42 ล้านบาท, มุกดาหาร จำนวน 246 โครงการ วงเงิน 219.04 ล้านบาท

    นนทบุรี จำนวน 45 โครงการ วงเงิน 168.61 ล้านบาท, สมุทรปราการ จำนวน 53 โครงการ วงเงิน 312.66 ล้านบาท, กาญจนบุรี จำนวน 47 โครงการ วงเงิน 313.04 ล้านบาท, ชลบุรี จำนวน 82 โครงการ วงเงิน 546.41 ล้านบาท,ระยอง จำนวน 125 โครงการ วงเงิน 401.80 ล้านบาท และภูเก็ต จำนวน 58 โครงการ วงเงิน 450.85 ล้านบาท

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในจำนวนทั้งหมด 1,013 โครงการ ใน 11 จังหวัด จำแนกลักษณะโครงการดำเนินการเป็น 4 กลุ่มลักษณะ ได้แก่ 1) กลุ่มโครงการพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยว บริการและการค้า จำนวน 46 โครงการ หรือ ร้อยละ 5 ของจำนวนโครงการรวม 2) กลุ่มโครงการยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร จำนวน 33 โครงการ หรือร้อยละ 3 ของจำนวนโครงการรวม 3) โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานจำนวน 43 โครงการ หรือร้อยละ4 ของจำนวนโครงการรวม และ 4) กลุ่มโครงการที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 891 โครงการ หรือร้อยละ 88 ของจำนวนโครงการ

    สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 36,070 คน และมีผู้ได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,602,819 คน และไม่น้อยกว่า 38,721 ครัวเรือน รวมทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านและชุมชน

    ปูนบำเหน็จ จนท.ปราบยาเสพติดคนละ 6,570 บาทต่อปี

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดปีงบประมาณ 2564 ในอัตราไม่เกิน 12,041 อัตรา โดยแบ่งเป็นดังนี้

    ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง ทั้งหมด มีจำนวน 337,713 อัตรา ปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 2.5 คิดเป็นจำนวนไม่เกิน 8,443 อัตรา และผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดมีทั้งหมดจำนวน 239,8861 อัตรา ปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1.5 คิดเป็นจำนวน 3,598 อัตรา

    สำหรับงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต้นสังกัดเป็นลำดับแรกก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการ เป็นลำดับต่อไป โดยประมาณการค่าใช้จ่ายการจัดสรรบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษดังกล่าว สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดครั้งนี้มีจำนวน 79,109,370 บาท หรือ ประมาณรายละ 6,570 บาทต่อปี

    สสช.แจงผลโพลโควิดฯ พบกลุ่มรับจ้าง-ขับรถ-กรรมกร เข้าโรงจำนำมากกว่าอาชีพอื่น

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้านการปรับตัวและการเข้าถึงดิจิทัล โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 46,600 คน ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน -6 กรกฎาคม 2564

    พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 81.5 ไม่ได้ทำงานที่บ้าน เพราะอาชีพไม่เหมาะสมกับการทำงานที่บ้าน ส่วนปัญหาที่ประชาชนประสบในการทำงานที่บ้าน เช่น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย และสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี

    ส่วนการเรียนออนไลน์ พบว่าร้อยละ 42 มีบุตรหลานอยู่ในวัยที่เรียนออนไลน์ ร้อยละ 14.7 มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน แต่ไม่ได้เรียนออนไลน์ โดยปัญหาที่ประสบจากการเรียนออนไลน์ 5 อันดับแรกได้แก่ ไม่ค่อยเข้าใจในวิชาที่เรียน,ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, ไม่มีสมาธิ, สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี และอุปกรณ์ไม่ทันสมัย

    สำหรับแผนการปรับตัวเพื่อรับมือกับโควิด-19 พบว่า 3 อันดับแรก คือ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต เช่น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านทุกครั้งและหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหากไม่จำเป็นร้อยละ 95.4 ,นำเงินออมออกมาใช้จ่ายร้อยละ 32.6 โดยพบในกลุ่มอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัวในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น และ กู้ยืมเงิน หรือ จำนำ ขายทรัพย์สินที่มีอยู่ร้อยละ 22.8 โดยพบในกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง กรรมกร ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น

    สำหรับเรื่องที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จัดหาWIFI ฟรีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ร้อยละ 66.7 , จัดหาอินเตอร์เน็ตให้ประชาชนในราคาถูกร้อยละ 60, จัดหาอินเตอร์เน็ตให้นักเรียน นักศึกษาฟรี ร้อยละ 47.6, จัดหาอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ ให้ประชาชนในราคาถูก ร้อยละ 42.2 และ จัดให้มีสถานที่กลางในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนร้อยละ 33

    ส่วนเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย 3 อันดับแรกได้แก่ ลดภาระค่าสาธารณูปโภคร้อยละ 67.3 , จ่ายเงินชดเชย เยียวยาร้อยละ 60.7 และช่วยเหลือด้านค่าครองชีพร้อยละ 58.7

    ขณะที่โครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด – 19 ระลอกใหม่ที่มีประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ โครงการเราชนะ ร้อยละ 76.2 ,โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 66.7, มาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าร้อยละ 65.4 ,โครงการคนละครึ่งร้อยละ 61.2 และโครงการ ม.33 เรารักกัน ร้อยละ 43.3

    ผ่านร่าง กม.คุมโฆษณาสินค้าที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค-สังคม

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาสินค้า หรือ บริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือ ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม และ ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณา

    โดยได้กำหนดข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือ ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ได้แก่ ข้อความผู้ประกอบธุรกิจจะจัดให้มีการแถมพก หรือ รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค หรือ จัดให้มีการให้ของแถม หรือ ให้สิทธิ หรือ ประโยชน์โดยให้เปล่า

    ข้อความโฆษณาขายห้องชุดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นอาคารชุดหรือจดทะเบียนเป็นอาคารชุดแล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดตามเงื่อนไขที่กำหมายกำหนด ข้อความโฆษณาขายที่ดินโดยการแบ่งขายเป็นแปลงย่อยไม่ว่าจะเป็นการขายเฉพาะที่ดิน หรือขายที่ดินพร้อมอาคารโดยไม่ได้ระบุรายละเอียดตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

    รวมถึงข้อความที่ใช้หรืออ้างอิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้กระทำไปโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต พระราชานุญาต หรืออนุญาต แล้วแต่กรณี เว้นแต่เป็นข้อความที่กฎหมายกำหนด

    ส่วนร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณา ซึ่งการยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายที่มีบทบัญญัติในการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำกับดูแลการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติอาหาร เพื่อให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ

    มอบ สธ.นำข้อสังเกต “กฤษฎีกา” ไปศึกษาผลข้างเคียงยาที่มีส่วนผสมกัญชา

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่ง ครม. ได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยสาระสำคัญเป็นเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีไว้ในครอบครอง

    อย่างไรก็ตามทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การผลิตและจำหน่ายยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ยังขาดขั้นตอนสำคัญของการรับรองตำรับยาที่จะต้องมีการวิจัยในมนุษย์ เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และผลข้างเคียงจากยานั้นเสียก่อน การกำหนดให้นำยาดังกล่าว มาใช้กับประชาชน จึงอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในสุขภาพของประชาชนได้

    แต่เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประสงค์ให้กำหนดบทบัญญัติเรื่องนี้ไว้ เพื่อให้สามารถใช้ยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว จึงควรประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ในรูปแบบพิเศษสำหรับการเข้าถึงยา

    การใช้ยาดังกล่าวกับผู้ป่วยควรเป็นกรณีที่มีความจำเป็น และต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และอันตรายจากการใช้ยานั้นร่วมกับยาอื่นที่ใช้อยู่แล้ว หรือที่จะมีการใช้ในอนาคต และแพทย์ซึ่งจะสั่งยานั้นกับผู้ป่วย ควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความจำเป็น ประโยชน์ ความเสี่ยง หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้วย

    โดยให้กระทรวงสาธารณสุขรับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดำเนินการต่อไปด้วย

    ผ่านร่าง กม.กำหนดเกณฑ์จ่ายเงินชดเชยให้ผู้ถูกเวนคืนที่ดิน

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน โดยมีสาระสำคัญ เช่น กำหนดหลักเกณฑ์เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนที่จะได้รับการชดเชยเป็นที่ดิน ต้องเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนที่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในวันก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และไม่มีที่ดินเหลืออยู่หรือมีเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือ ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ในกรณีที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ติดต่อกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน ให้พิจารณาโดยรวมถึงที่ดินแปลงติดต่อที่เป็นเจ้าของเดียวกันด้วย

    นอกจากนี้ยังกำหนดลักษณะที่ดินที่จะเวนคืนเพิ่มเติมเพื่อนำไปชดเชย ต้องเป็นที่ดินที่เจ้าของคนเดียวหรือหลายคนมีกรรมสิทธิ์คนละไม่น้อยกว่า 25 ไร่

    สำหรับที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม และไม่น้อยกว่า 5 ไร่ สำหรับที่ดินที่ใช้เพื่อการอื่น ถ้าที่ดินที่อยู่ติดต่อกันเป็นเจ้าของคนเดียวกันให้พิจารณาเสมือนหนึ่งว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และการชดเชยเป็นที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน ให้พิจารณาโดยคำนึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้ เช่น ราคาค่าทดแทนที่ดินตามมติของคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ จำนวนเนื้อที่ดินและสภาพและที่ตั้งของที่ดิน เป็นต้น

    สำหรับการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมเพื่อนำไปชดเชยนั้น อาจเวนคืนเท่ากับหรือน้อยกว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนก็ได้ แต่ต้องเพียงพอให้เจ้าของที่ดินสามารถอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ทั้งนี้หากเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนไม่พอใจเงินค่าทดแทนสำหรับส่วนต่างของราคามูลค่าที่ดิน ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่

    โยก “ประภาศ” คุมธนารักษ์ – “กุลยา” นั่งบัญชีกลาง – “พรชัย” ขึ้น สศค.

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการกระทรวงต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การบรรจุและแต่งตั้งผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรีกลับเข้ารับราชการ (กระทรวงการคลัง)

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอบรรจุและแต่งตั้ง นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรีกลับเข้ารับราชการ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายพาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
      2. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
      2. นายบรรจง สุกรีฑา ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
      3. นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอรับโอน พลเอก สุพจน์ มาลานิยม ข้าราชการทหาร ตำแหน่ง เสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม มาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    6. เรื่อง การแต่งตั้งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายคุรุจิต นาครทรรพ ให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ต่ออีกวาระหนึ่ง และสมาชิกอื่น (ฝ่ายไทย) อีก 6 คน ในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ซึ่งเป็นข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คงองค์ประกอบเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 (เรื่อง การแต่งตั้งประธานร่วมและสมาชิกฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

    7. เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แทนตำแหน่งที่ว่าง

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอรายชื่อ พันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล ให้เป็นบุคคลที่คณะรัฐมนตรีสรรหาและเสนอรายชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการการคัดเลือก แทนตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ท. ที่ว่างลง

    8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอโอน/ย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 7 ราย ดังนี้

      1. โอน นายประภาศ คงเอียด อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมบัญชีกลาง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมธนารักษ์
      2. โอน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมบัญชีกลาง
      3. โอน นายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
      4. ย้าย นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      5. โอน นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      6. โอน นายธิบดี วัฒนกุล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      7. ย้าย นางชลิดา พันธ์กระวี ที่ปรึกษาการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    9. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง โดยย้ายสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมท่าอากาศยาน ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท
      3. นายปริญญา แสงสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมท่าอากาศยาน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    10. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

    ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการ จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
      2. นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 14 กันยายน 2564 เพิ่มเติม