ASEAN Roundup ประจำวันที่ 20-26 มิถุนายน 2564
เวียดนามทดลองวัคซีนพาสปอร์ตก.ค.นี้
เวียดนามจะทดลองโครงการหนังสือเดินทางวัคซีนในเดือนกรกฎาคม ในจังหวัดกว๋าง นิญ ทางภาคเหนือ ซึ่งผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและผู้หายป่วยโควิดจากต่างประเทศจะถูกกักกันเป็นเวลา 7 วัน
นายโด ซวน เตียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนหรือหายจากโรคโควิด-19 และมีผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบ เมื่อเดินทางมาถึง ให้กักตัวในศูนย์กักตัวกลาง 7 วันจากเดิมที่กำหนดไว้ 21 วัน จากนั้นต้องกักตัวแบบคนเดียวเป็นเวลา 7 วัน
จังหวักกว๋าง นิญ เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติวัง ดุ่ง และอ่าวฮาลองที่มีชื่อเสียงระดับโลก จังหวัดจะดำเนินการทดลองหนังสือเดินทางวัคซีนตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม
วัคซีนที่ได้รับการยอมรับ ภายใต้โครงการหนังสือเดินทางวัคซีน คือ วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก, ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา, European Medicines Agency หรือเวียดนาม โดยที่การฉีดนัดสุดท้ายต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 14 วันถึง 12 เดือนก่อนวันเดินทางเข้า
สำหรับผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 จะต้องได้รับการรับรอง จากหน่วยงานที่ผ่านการรับรองจากประเทศที่เข้ารับการรักษา วันที่ออกจากโรงพยาบาลจะต้องอยู่ในช่วง 12 เดือนก่อนวันเดินทางเข้า และภายใน 36 ชั่วโมงก่อนเข้าประเทศ ผู้เดินทางต้องรายงานข้อมูลทางการแพทย์ พร้อมระบุว่าจะพักในโรงแรมหรือสถานที่ใด และภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางออกจากเวียดนาม ต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบ
ในเดือนเมษายน คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แห่งชาติ ได้กำหนดว่า ผู้ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ มี 3 กลุ่ม คือ พลเมืองเวียดนามที่ได้รับวัคซีนแล้วและตกค้างในต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเข้าสู่เวียดนามเพื่อการลงทุนและมีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ และนักท่องเที่ยวต่างชาติก็สามารถใช้วัคซีนพาสปอร์ตได้
ปัจจุบันหนังสือเดินทางวัคซีนเป็นเอกสารดิจิทัลที่ออกโดยประเทศที่ฉีดวัคซีน
เวียดนามวางแผนที่จะรับผู้ที่มาจากประเทศที่มีการจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างดี รวมถึงประเทศที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยโครงการการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ที่เดินทางเข้าสามารถเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวและพักรีสอร์ทที่กำหนดไว้ เพื่อให้สามารถควบคุมการสัญจรของนักท่องเที่ยวได้อย่างดีและสามารถจัดการกับแผนการเดินทางของผู้ที่มาเยือนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
เวียดนามปิดพรมแดนและยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เฉพาะชาวเวียดนามที่เดินทางกลับประเทศ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ นักการทูต นักลงทุน และแรงงานที่มีทักษะสูงเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาได้ เนื่องจากมีข้อกำหนดกักกันที่เข้มงวด
สิงคโปร์-เวียดนามถกแนวทางฟื้นท่องเที่ยว
สิงคโปร์และ เวียดนาม ได้ร่วมหารือแนวทางรองรับการเดินทางเพื่อธุรกิจและสถานที่ท่องเที่ยว ที่ผ่านการคัดเลือกอีกครั้งดร.วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ กล่าวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ว่า สิงคโปร์และเวียดนามกำลังหารือกันถึงแนวทาง การเตรียมความพร้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและปลอดภัย กับการเดินทางเพื่อธุรกิจและเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่คัดเลือกมาแล้วได้ ซึ่งหวังว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ ได้เสร็จสิ้นการเยือนฮานอยเป็นเวลา 4 วัน นับเป็นการเยือนเวียดนามครั้งแรกของรัฐมนตรีสิงคโปร์นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19
แม้ทั้งสองประเทศจะใช้แนวทางที่ใกล้เคียงกันมากในการจัดการกับโควิด-19 แต่ความแตกต่างอยู่ที่ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ดร.บาลากริชนันกล่าว
“เราโชคดีมากในสิงคโปร์ เพราะโครงการฉีดวัคซีนของเราอยู่ในระหว่างดำเนินการ ในขณะที่ (ในเวียดนาม) ยังต้องการวัคซีนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อเริ่มฉีดวัคซีน”
“แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ เวียดนามต้องใช้เวลาสักพักในการยกระดับโครงการการฉีดวัคซีน ดังนั้นเราจะรอให้พวกเขาพร้อม”
“แต่ในระหว่างนี้ เรากำลังทำงานในระดับเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมการต่าง ๆ เช่น การออกใบรับรองวัคซีน การตรวจหาเชื้อ และเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในระบบของกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่เราจะเปิด”
เมื่อถูกถามว่ามีเกณฑ์มาตรฐานใดที่ต้องทำก่อนเดินทางระหว่างทั้งสองประเทศหรือไม่ ดร.บาลากริชนันกล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์เฉพาะ และเวียดนามกำลังระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องการยกระดับโปรแกรมการฉีดวัคซีน
ทั้งสองประเทศได้หารือกันถึงแนวทางการเลือกเปิดสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งของเวียดนาม ดร.บาลากริชนัน กล่าวและว่า เช่น การทดลองเปิดบางสถานที่ ในช่วงหลังของปีนี้
ดร.บาลากริชนันกล่าวเสริมว่า เวียดนามยังแสดงความสนใจในเทคโนโลยีบางอย่างของสิงคโปร์ เช่น การทดสอบเครื่องวิเคราะห์ลมหายใจเพื่อระบุตัวผู้ที่อาจติดเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็วและสะดวก ซึ่งสิงคโปร์จะช่วยเวียดนามในการจัดหาเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้
ช่วงเวลาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีความสำคัญ เนื่องจากสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน (อาเซียน) ได้ขยายโครงการฉีดวัคซีน ดร.บาลากริชนันกล่าว
“สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นฟู ทำให้ระบบของเราสามารถทำงานร่วมกันได้ รับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เริ่มต้นใหม่ หางาน และมองไปข้างหน้า ซึ่งจะดีขึ้นมาก”
ในระหว่างการเยือนของเวียดนาม ดร.บาลากริชนันยังได้พบกับประธานาธิบดีเวียดนาม เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรี ฟาม มินห์ จิญ รวมถึงนาย ดิ่น เตียน ดุ๋ง เลขาธิการพรรคฮานอย และ นายเล ฮว่าย จุงประธานคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ภายนอกของเวียดนาม
ในการพบปะกับรองนายกรัฐมนตรีฟาม มินห์ จิญ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินภายใต้ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์สิงคโปร์-เวียดนาม ซึ่งจะครบรอบ 10 ปีในปี 2566 กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวในแถลงการณ์
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในนักลงทุนต่างชาติที่ติดอันดับต้นๆ ของเวียดนาม ด้วยเงินลงทุนสะสมมากกว่า 56 พันล้านดอลลาร์ในกว่า 2,600 โครงการ MFA กล่าวเสริม
สิงคโปร์และเวียดนามยังหารือเกี่ยวกับการพัฒนาในภูมิภาค รวมถึงอาเซียนและความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม (RCEP)
FDI ไหลเข้าอสังหาฯเวียดนาม
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาที่ระดับ 1.15 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ติดอันดับ 3 ของ FDI ที่เงินไหลเข้ามาก
กระทรวงการวางแผนและการลงทุนระบุว่า ภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดเงินได้ 6.98 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้า 5.34 พันล้านดอลลาร์
FDI โดยรวมลดลง 2.6% มีจำนวนทั้งสิ้น 15.27 พันล้านดอลลาร์ สิงคโปร์เป็นผู้นำด้วยการลงทุน 5.64 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 37% ของ FDI ทั้งหมด รองลงมาคือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน
โครงการหลักในช่วง 6 เดือนแรก ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว Long An 1 และ Long An 2 ซึ่งได้รับทุนจากสิงคโปร์ด้วยทุนจดทะเบียน 3.1 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ O Mon 2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนในเมืองเกิ่น เธอ ด้วยทุนจดทะเบียน 3.1 พันล้านดอลลาร์
LG Display ในเมืองไฮ ฟอง เพิ่มการลงทุน 750 ล้านดอลลาร์
กัมพูชาเตรียมตั้งศาลพาณิชย์
กระทรวงยุติธรรมและหอการค้ากัมพูชา (CCC) ได้จัดประชุมหารือเกี่ยวกับ การจัดตั้งศาลพาณิชย์เพื่อให้การลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในกัมพูชามีความน่าสนใจมากขึ้นนายชีพ ซงฮัก รัฐมนตรีของรัฐ กระทรวงยุติธรรม นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา นาย หงวน เม็ง เต๊ก ผู้อำนวยการใหญ่หอการค้ากัมพูชาและประธานร่วมของคณะทำงานรัฐและเอกชน 13 ชุดเข้าร่วมการประชุมออนไลน์
หอการค้ากัมพูชาเปิดเผยว่า การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนทางกฎหมายอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการรับฟังข้อมูลจากประธานร่วมของคณะทำงานภาครัฐและเอกชนเพื่อจัดตั้งศาลพาณิชย์
นายลิม เฮง กล่าวว่าศาลพาณิชย์ที่จะจัดตั้งขึ้นในเร็ว ๆ นี้มีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักธุรกิจในกัมพูชา
“เมื่อจัดตั้งแล้ว ศาลพาณิชย์จะให้ความมั่นใจและข้อกำหนดแก่นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศในกัมพูชา” นายลิม เฮงกล่าว
อย่างไรก็ตามยังต้องมีการเจรจาหารือเพิ่มเติม เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องการให้มีการจัดตั้งศาลขึ้นโดยเร็ว ปัจจุบัน ข้อพิพาททางธุรกิจในกัมพูชาได้รับการแก้ไขโดยหลักผ่านศูนย์อนุญาโตตุลาการด้านพาณิชย์แห่งชาติ ข้อพิพาทที่ร้ายแรงจะถูกตัดสินด้วยศาลอาญา
กัมพูชาทำเอ็มโอยูสหราชอาณาจักรเปิดทางค้าสะดวก
กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า กัมพูชาและสหราชอาณาจักรกำลังพิจารณาทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อส่งเสริมการค้าทวิภาคีต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษี( Generalized Scheme of Preferences :GSP) ของสหราชอาณาจักชในการประชุมวันที่ 23 มิถุนายนกับนายโดมินิก ราบบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นายปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาย้ำถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ทางการฑูตกัมพูชา-อังกฤษทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มีมาอย่างดี และกล่าวขอบคุณรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่บรรจุกัมพูชาไว้ในโครงการ GSP
กระทรวงต่างประเทศระบุว่า “รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาร่วมกันที่จะเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา การกวาดล้างทุ่นระเบิด สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
“ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นในการประชาสัมพันธ์โอกาสทางธุรกิจในกัมพูชาเพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนชาวอังกฤษเลือกกัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทาง โดยมองถึงศักยภาพของกัมพูชาในด้านภาษีและสิ่งจูงใจอื่นๆ รวมทั้ง AFTA [ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน] RCEP [Regional Comprehensive Economic Partnership], FTA กัมพูชา-จีน [ข้อตกลงการค้าเสรี], กรอบ FTA กัมพูชา-เกาหลี” กระทรวงระบุ
นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่า MoU ระดับทวิภาคีหรือพหุภาคีใดๆ หรือข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกัมพูชา เพราะสหราชอาณาจักรเป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่ของกัมพูชา
สหราชอาณาจักรนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอ จักรยาน และข้าวสารของกัมพูชาจำนวนมาก และผู้ส่งออกสินค้ากัมพูชาก็มีโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป
“หากกัมพูชาลงนามใน MoU กับสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น จะทำให้สินค้าของกัมพูชาเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน”
หลังจากการลงประชามติในปี 2016 สหราชอาณาจักรได้แยกตัวจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 มกราคม 2020 หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ Brexit ทำให้สหราชอาณาจักรมีอิสระในการกำหนดนโยบายการค้าที่เป็นอิสระ
รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มการเข้าถึงตลาดสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่สินค้าเกษตรของกัมพูชาได้รับการสนับสนุนและส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น
ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านในวันที่ 31 ธันวาคมหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะให้สิทธิ GSP แก่กัมพูชาพร้อมกับประเทศอื่น ๆ อีกกว่า 40 ประเทศ
การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ประกอบด้วยเสื้อผ้า รองเท้า จักรยาน ข้าวสาร และสินค้าเกษตรอื่นๆ ขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่ประกอบด้วยรถยนต์และเครื่องจักร
ในเดือนกุมภาพันธ์ นายพัน สรสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา ยกย่องว่าสหราชอาณาจักรมีส่วนอย่างมากต่อเศรษฐกิจกัมพูชาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการจัดหาเงินทุนเพื่อการขยายภาคส่วนสำคัญ โดยเฉพาะการศึกษา เศรษฐกิจ และการค้า และการให้สิทธิพิเศษทางการค้าที่มีผลบังคับใช้เมื่อ ช่วงเปลี่ยนผ่านของ Brexit สิ้นสุดลง
นายพันกล่าวว่า รัฐบาล “ได้พยายามอย่างมากในการปฏิรูปสถาบันและกฎระเบียบสำหรับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และได้แสดงเจตจำนงที่แข็งแกร่งในการขยายความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าผ่านการจัดตั้งข้อตกลงการค้าเสรีกับคู่ค้ารายใหญ่ในภูมิภาคนี้”
จากข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ การค้าระหว่างกัมพูชาและสหราชอาณาจักรแตะ 877.54 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ลดลง 17% จาก 1.05728 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 826.16 ล้านดอลลาร์ ลดลง 15.48% เมื่อเทียบปีต่อปี และนำเข้า 51.38 ล้านดอลลาร์ ลดลง 35.60% เมื่อเทียบปีต่อปี
เมียนมาประกาศอัตราภาษีเงินได้ใหม่
สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา ประกาศอัตราภาษีเงินได้ใหม่เป็น 3% สำหรับรายได้ที่ไม่เกิน 100 ล้านจ๊าด และ 30% สำหรับรายได้ที่เกิน 3 พันล้านจ๊าดขึ้นไป
สภาบริหารแห่งรัฐได้ออกกฎหมายแก้ไขกฎหมายภาษีของสหภาพปี 2020 โดยระบุว่าผู้ที่มีรายได้ 100 ล้าน จ๊าดหรือต่ำกว่าจะต้องเสียภาษีเงินได้ 3%และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 3 พันล้านจ๊าดจะเสียภาษีในอัตรา 30%
สภาบริหารแห่งรัฐประกาศเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ว่า สภาได้ผ่านกฎหมายตามมาตรา 419 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูธุรกิจและการลงทุนที่ชะลอตัวจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
กฎหมายฉบับแก้ไขกำหนดว่า อัตราภาษีเงินได้อยู่ที่ 3% สำหรับรายได้ที่ไม่เกิน100 ล้านจ๊าด อัตราภาษีเงินได้ 5% สำหรับรายได้100-300 ล้านจ๊าด อัตราภาษีเงินได้ 10%สำหรับรายได้300-1,000 พันล้านจ๊าดอัตราภาษีเงินได้ 15%สำหรับรายได้ 1,000-3,000 พันล้านจ๊าดและอัตราภาษีเงินได้ 30% สำหรับรายได้ 3 พันล้านจ๊าด ขึ้นไป
กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2021 ถึง 30 กันยายน และให้ใช้ตารางภาษีใหม่แทน
กฎหมายฉบับเก่าระบุอัตราภาษีเงินได้ 6% สำหรับรายได้100 ล้านจ๊าดหรือต่ำกว่า อัตราภาษีเงินได้ 10%สำหรับรายได้ 100-300 ล้านจ๊าด อัตราภาษีเงินได้ 20% สำหรับ รายได้ 300 ล้านจ๊าด ถึง 3 พันล้านจ๊าด และอัตราภาษีเงินได้ 30% สำหรับรายได้ 3 พันล้านจ๊าดขึ้นไป