ThaiPublica > สู่อาเซียน > อนาคตค่า “เงินจัต”

อนาคตค่า “เงินจัต”

27 กันยายน 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เงินจัตกำลังอ่อนค่าลงจนสร้างสถิติต่ำสุดใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2564 ที่มาภาพ: สำนักข่าว Khit Thit Media

ตลาดเงินตราต่างประเทศของเมียนมากำลังผันผวนอย่างหนัก เงินจัตอ่อนค่าลงมาสร้างสถิติต่ำสุดใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2564

เฉพาะเดือนกันยายน หลังรัฐบาลเงาของพรรค NLD ประกาศสงครามกับรัฐบาลทหาร ธนาคารกลางเมียนมาขายดอลลาร์ออกมาแล้ว 4 รอบ รวม 48 ล้านดอลลาร์ แต่หากย้อนกลับไปตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ธนาคารกลางขายดอลลาร์ออกมาแทบทุกเดือน เป็นเงินรวมถึง 169.8 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ไม่สามารถดึงเงินจัตให้แข็งค่าขึ้นมาได้

แล้วอนาคตของเงินจัตจากนี้ จะเป็นอย่างไร?
……

สัปดาห์ที่แล้ว ตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศในเมียนมาเกิดอาการผันผวนอย่างหนัก ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ค่าเงินจัตอ่อนค่าลงสร้างสถิติต่ำสุดใหม่ที่ 2,165 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ เมื่อช่วงเที่ยงของวันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2564

เป็นอัตราที่อ่อนลงมากกว่า 60% จากเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว ก่อนการรัฐประหาร ที่เงินจัตเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างดอลลาร์ละ 1,327-1,345 จัต

สำนักข่าว Khit Thit Media ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง เขาบอกว่า วันศุกร์ที่ 24 กันยายน ตลอดทั้งวันเงินดอลลาร์ไม่นิ่งเลย ช่วงเช้าเขาตั้งราคารับซื้อเงินดอลลาร์ไว้ที่ 2,080 จัต และขาย 2,105 จัต แต่หลังจากนั้นราคาเงินดอลลาร์ก็พุ่งขึ้นมาอีก จนถึงตอนเที่ยงต้องปรับราคาขายดอลลาร์ขึ้นใหม่เป็น 2,165 จัต ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดใหม่ของเงินจัตที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในวันเดียวกัน สำนักข่าว Shan News ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ร้านแลกเงินรายหนึ่งในย่างกุ้งเช่นกัน เขาบอกว่าอยู่ในธุรกิจนี้มามากกว่า 10 ปี วันศุกร์ที่ 24 กันยายน ถือว่าเป็นวันที่เงินจัตผันผวนรุนแรงมากที่สุด!!!

……

เงินจัตของเมียนมามีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัด นับแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา

แต่หลังจากวันที่ 7 กันยายน 2564 เมื่อรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government — NUG) ประกาศสงครามกับรัฐบาลของสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council —SAC) ที่มาจากคณะรัฐประหาร ความต้องการเงินดอลลาร์ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต

เวลาประมาณ 08.30 น. ของวันที่ 7 กันยายน เพจทางการของ NUG เผยแพร่คำแถลงการณ์ประกาศสงครามของมานวินข่ายตาน นายกรัฐมนตรี NUG จากนั้นไม่นาน เพจเดียวกันได้เผยแพร่คลิปคำประกาศของ ดูหว่า ลาชิ ลา รักษาการประธานาธิบดี ที่ปลุกเร้าให้ประชาชนเมียนมาทั่วประเทศจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหาร

สำนักงานธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ในกรุงย่างกุ้ง ที่มาภาพ: Eleven Media Group

ก่อนหน้าประกาศสงคราม อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ BETV Business สำนักข่าวที่นำเสนอเนื้อหาด้านการเงินและธุรกิจของเมียนมา ได้รายงานไว้ในวันที่ 6 กันยายน 2564 ธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar — CBM) ได้กำหนดอัตราอ้างอิงค่าเงินดอลลาร์ไว้ที่ 1,708.4 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ ส่วนสถาบันการเงินรับซื้อที่ 1,708 จัต และขายที่ 1,721 จัต

หลังปะกาศสงคราม วันที่ 8 กันยายน อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์จาก CBM ขึ้นมาเป็น 1,718.1 จัต สถาบันการเงินรับซื้อที่ 1,717 จัต และขายที่ 1,727 จัต

จากนั้นค่าเงินดอลลาร์ได้พุ่งขึ้นอย่างอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นช่องว่างที่ถ่างกว้าง ระหว่างอัตราอ้างอิงที่ CMB ประกาศ กับค่าเงินที่มีการซื้อ-ขายจริงในราคาตลาด

ประกาศ CBM เรื่องการขายเงิน 15 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

วันที่ 13 กันยายน CBM ประกาศอัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ที่ 1,734.3 จัต แต่สถาบันการเงินรับซื้อที่ 2,050 จัต และขายที่ 2,100 จัต

ในวันเดียวกัน (13 ก.ย.) CBM เริ่มกระบวนการแทรกแซงด้วยการระบายเงินดอลลาร์เข้ามาในตลาด จำนวน 15 ล้านดอลลาร์ โดยวิธีการให้สถาบันการเงินในประเทศประมูลซื้อ

CBM พยายามควบคุมค่าเงินจัตให้นิ่งอยู่ในระดับ 1,750 จัตต่อ 1 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย

การเริ่มระบายดอลลาร์เข้ามาในตลาด ช่วยดึงให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงมาได้เล็กน้อยและเพียงชั่วคราวเท่านั้น ค่าเงินดอลลาร์ที่สถาบันการเงินรับซื้อในวันที่ 14 กันยายน อยู่ที่ 1,940 จัต และขายที่ 1,990 จัต แต่ยังสูงกว่าระดับราคาที่ CBM ต้องการควบคุมที่ 1,750 จัต

ประกาศ CBM เรื่องการขายเงิน 8 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564

วันที่ 15 กันยายน CBM ระบายดอลลาร์ออกมาอีก 8 ล้านดอลลาร์ด้วยวิธีการให้สถาบันการเงินเข้าประมูลเช่นเดิม แต่ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังสูงอยู่ โดยวันที่ 16 กันยายน สถาบันการเงินรับซื้อดอลลาร์ที่ 1,900 จัต และขายที่ 1,940 จัต

วันที่ 20 กันยายน CBM ระบายดอลลาร์ครั้งที่ 3 ออกมาอีก 15 ล้านดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์ที่สถาบันการเงินรับซื้อในวันที่ 21 กันยายน อยู่ที่ 1,970 จัต และขายที่ 2,000 จัต

วันที่ 22 กันยายน CBM ระบายดอลลาร์ออกมาเป็นรอบที่ 4 อีก 10 ล้านดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์ในวันที่ 23 กันยายน สถาบันการเงินรับซื้อ 2,010 จัต และขายที่ 2,030 จัต

ประกาศ CBM เรื่องการขายเงิน 15 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564
ประกาศ CBM เรื่องการขายเงิน 10 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน

รวมเวลาเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์ หลัง NUG ประกาศทำสงครามขับไล่รัฐบาลทหาร CBM ระบายเงินดอลลาร์เข้าไปในตลาดแล้วถึง 4 รอบ คิดเป็นเงินรวม 48 ล้านดอลลาร์ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในประกาศประมูลขายเงินดอลลาร์ของ CBM ทั้ง 4 ครั้ง)

แต่มาตรการของ CBM ไม่สามารถดึงค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนลงมาได้!!!

ตรงกันข้าม ค่าเงินดอลลาร์กลับพุ่งสูงขึ้นจนเงินจัตลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ และก่อให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างค่าเงินดอลลาร์ที่ CBM พยายามควบคุมไว้ กับค่าเงินดอลลาร์ในราคาตลาดในวันศุกร์ที่ 24 กันยายน…

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เช้าวันศุกร์ที่ 24 กันยายน ที่มาภาพ: สำนักข่าว BETV Business

วันที่ 23 กันยายน Eleven Media Group รายงานข่าวว่า เงิน 40 ล้านดอลลาร์ ที่ CBM ได้ขายออกมาในเดือนกันยายน เป็นการเปิดประมูลขายแบบเฉพาะเจาะจงผ่านสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตดีลเลอร์จาก CBM เพื่อนำไปขายต่อให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังมีความต้องการเงินดอลลาร์อย่างเร่งด่วน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปรุงอาหาร อุตสาหกรรมน้ำมัน และอุตสาหกรรมยา

สถาบันการเงินในเมียนมาที่ได้รับใบอนุญาตดีลเลอร์จาก CBM ประกอบด้วยธนาคารของรัฐ 3 แห่ง ธนาคารพาณิชย์เอกชน 19 แห่ง และสาขาธนาคารต่างประเทศอีก 13 แห่ง

ในจำนวนนี้ มีเพียง 9 แห่ง ที่เข้าร่วมประมูลซื้อดอลลาร์ไปจาก CBM โดยสถาบันการเงินผู้ชนะประมูล ซื้อดอลลาร์จาก CBM ไปในราคา 1,750 จัต และนำไปขายต่อให้แก่ภาคอุตสากรรมที่มีความต้องการในราคา 1,753 จัต

มีรายงานจากภาคธุรกิจในเมียนมาว่า ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทหลายแห่งต่างระบายเงินจัตออกมา เพื่อกว้านซื้อเงินดอลลาร์เข้าไปเก็บไว้

“ดอลลาร์เป็นที่ต้องการมากของตลาด และกลายเป็นของหายาก” บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งที่มีฐานลูกค้าเป็นองค์กรเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งในเมียนมาบอก

……

เงินจัตเคยเกิดการผันผวนถึงขั้นทำให้ CBM ต้องเข้าไปแทรกแซงด้วยการระบายดอลลาร์เข้าไปในตลาดมาแล้ว เมื่อปี 2561 ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงกลางเดือนสิงหาคม 2 สัปดาห์ก่อนที่ CBM ได้เปลี่ยนมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน โดยปล่อยให้ค่าเงินจัตเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีในวันที่ 14 สิงหาคม 2561

ก่อนหน้านั้น CBM กำหนดช่วงการเปลี่ยนแปลงค่าเงินจัตให้บวก-ลบ ได้ไม่เกินวันละ 0.8% เมื่อเทียบเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ หลังการยกเลิกกำหนดช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคา CBM ได้นำวิธีประกาศอัตรากลางสำหรับอ้างอิงในตอนเช้า ก่อนเปิดตลาดซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศในแต่ละวันมาใช้แทน

วันที่ 14 สิงหาคม 2561 ที่กำหนดให้เงินจัตเคลื่อนไหวได้เสรี อัตราอ้างอิงเงินดอลลาร์ที่ CBM ประกาศเป็นครั้งแรกในตอนเช้าอยู่ที่ดอลลาร์ละ 1,460 จัต แต่ราคาที่ซื้อ-ขายจริงในตลาดวันนั้น ค่าเงินจัตอ่อนลงไปถึง 1,550 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ และยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องไปอีก 1-2 วัน ลงไปต่ำสุดที่ 1,570 จัต

ก่อนการยกเลิกช่วงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจัต CBM ก็เริ่มระบายเงินดอลลาร์เข้าไปในตลาดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 โดยขายเข้าไปแทบทุกวัน วันละ 1 แสนดอลลาร์ เพื่อควบคุมไม่ให้ค่าเงินผันผวนมาก

หลังประกาศให้เงินจัตเคลื่อนไหวเสรีได้ 1 วัน ในวันที่ 15 สิงหาคม CBM ระบายดอลลาร์ออกมาลอตใหญ่ 1.6 ล้านดอลลาร์ และยังคงขายออกมาอีก 4 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 16 สิงหาคม ส่งผลให้เงินจัตแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อย มาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,520-1,535 จัต

นับจากวันที่ 27 กรกฎาคม ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2561 CBM ระบายเงินดอลลาร์เข้าไปในตลาดเกือบทุกวัน มียอดเงินรวม 7 ล้านดอลลาร์โดยประมาณ

เงินจำนวนนี้ เทียบกันไม่ได้เลยเมื่อดูจากยอดเงินดอลลาร์ที่ CBM ได้ระบายเข้าไปในตลาดหลังเกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา!!!

……

ก่อนการรัฐประหาร ในเดือนมกราคม 2564 เงินจัตเคลื่อนไหวระหว่าง 1,327-1,345 จัตต่อ 1 ดอลลาร์

เดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังรัฐประหาร เงินจัตเริ่มอ่อนตัวลงไปเคลื่อนไหวระหว่างดอลลาร์ละ 1,335-1.465 จัต

เดือนมีนาคม เงินจัตต่อดอลลาร์ขยับลงไปเคลื่อนไหวระหว่าง 1,420-1,550 จัต เดือนเมษายนยังคงอ่อนตัวไปอยู่ที่ 1,550-1,610 จัต และ 1,585-1,730 จัตในเดือนพฤษภาคม

วันที่ 1 กันยายน 1 สัปดาห์ก่อน NUG ประกาศสงครามกับรัฐบาลทหาร อัตราอ้างอิงเงินจัตที่ CBM ประกาศในช่วงเช้าวันนั้นอยู่ที่ 1,683.5 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ราคาตลาด สถาบันการเงินรับซื้อที่ 1,692 จัต และขายที่ 1,696 จัต

ก่อนประกาศสงคราม CBM พยายามควบคุมค่าเงินจัตต่อดอลลาร์ ให้เคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 1,650 จัต โดยเฉลี่ย…

หลังการรัฐประหาร เพื่อพยายามควบคุมค่าเงินให้มีเสถียรภาพ CBM ทยอยระบายดอลลาร์เข้าไปในตลาด โดยเริ่มขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ จำนวน 6.8 ล้านดอลลาร์ โดยวิธีการประมูล จากนั้นได้ขายออกมาอีกในวันที่ 22 และ 24 เมษายน อีกวันละ 6 ล้านดอลลาร์ ด้วยวิธีเดียวกัน

เดือนพฤษภาคม เงินจัตเริ่มเห็นแนวโน้มของความผันผวนที่รุนแรงขึ้น CBM ได้ขายดอลลาร์เข้าไปในตลาด 4 ครั้ง มูลค่ารวม 24 ล้านดอลลาร์ และขายต่อเนื่องเข้าไปอีก 12 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายน

เดือนกรกฎาคม CBM เริ่มขายมากขึ้น รวม 39 ล้านดอลลาร์ และขายต่ออีก 28 ล้านดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคม

หลัง NUG ประกาศทำสงครามกับรัฐบาลทหาร เมื่อวันที่ 7 กันยายน CBM ได้ขายเงินดอลลาร์ออกมาทั้งสิ้น 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 13-22 กันยายน เป็นเงินรวม 48 ล้านดอลลาร์

แต่หากนับย้อนหลังตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 22 กันยายน CBM ได้แทรกแซงค่าเงินจัต โดยระบายเงินดอลลาร์เข้าไปในตลาดด้วยวิธีการประมูลแล้วทั้งสิ้น 169.8 ล้านดอลลาร์

……

ผู้ที่สังเกตการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในเมียนมา มองว่า CBM กำลังใช้วิธีการเปิดหน้าตัก ขายเงินดอลลาร์ที่มีอยู่ในมือ เพื่อเอาไปสู้กับความผันผวนหรือความตกต่ำที่กำลังเกิดขึ้นกับเงินจัต

วิธีการนี้ ขึ้นอยู่กับว่าหน้าตักเงินดอลลาร์ที่ CBM ถือครองอยู่นั้นมีมากน้อยเพียงใด

ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่าปี 2563 เมียนมามีทุนสำรอง (ไม่รวมทองคำ) 7,228.12 ล้านดอลลาร์

เว็บไซต์วิทยุเอเซียเสรี รายงานเมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยอ้างข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2564 ทุนสำรองของเมียนมา มีอยู่ 6,700 ล้านดอลลาร์

ตัวเลขเหล่านี้ เป็นดัชนีชี้วัดอนาคตของเงิน “จัต” หลังจากนี้…