ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > มาตรการแก้ไขมลพิษฝุ่น: (ตอน1) จีนทำแผนต่อเนื่องพร้อมมุ่งพลังงานสะอาด

มาตรการแก้ไขมลพิษฝุ่น: (ตอน1) จีนทำแผนต่อเนื่องพร้อมมุ่งพลังงานสะอาด

19 กุมภาพันธ์ 2019


ที่มาภาพ: http:// www.asianews.it/news-en/A-green-necklace-of-trees-against-air-pollution-in-Beijing-40286.html

ปี 2018 เป็นปีที่ชาวจีนหายใจได้อย่างเต็มปอดเพราะคุณภาพอากาศดีขึ้น เป็นผลจากความพยายามในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของรัฐบาลจีนทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น มีความคืบหน้า สามารถลดมลพิษในอากาศ

หลี กานจี้ รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จีนประสบความสำเร็จในเป้าหมายของปี 2018 ตามกรอบระยะเวลาของแผน 5 ปีฉบับที่ 13 ที่ได้วางไว้

คุณภาพอากาศใน 338 เมืองของจีนดีขึ้น 1.3 % จากปีก่อนหน้ามาที่ 79.3% บรรลุเป้าหมายของการปรับปรุงคุณภาพอากาศที่วางไว้จากรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา

ในพื้นที่ ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย สัดส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศดีของปีอยู่ที่ 50.5% เพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อนหน้า ส่วนค่า PM2.5 ลดลง 11.8% จากปีก่อนมาเป็น 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง สัดส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศดีของปีเพิ่มขึ้น 2.5% เป็น 74.1% ส่วนค่า PM2.5 ลดลง 10.2% เป็น 44 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนเมืองอื่น เช่น ฮาร์บิน ฉางชุน ในแถบตะวันออกฉียงเหนือ คุณภาพอากาศดีขึ้นตามลำดับในปีก่อน

ปี 2017 คุณภาพอากาศแม้มีค่า PM2.5 เฉลี่ยลดลงมาที่ 43 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ยังสูงกว่าระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกว่า 4 เท่า

กว่า 40 ปีที่ผ่านมา จีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศแต่ก็แลกมากับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่มีเมืองคุณภาพอากาศแย่จำนวนมากและเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของโลก

เริ่มควบคุมคุณภาพอากาศปี 2006

จีนเริ่มควบคุมคุณภาพอากาศอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2010 ด้วยการกำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซในแต่ละจังหวัด ซึ่งประสบผลสำเร็จในการลดการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2005 และเป็นที่ช่วงที่รัฐบาลจีนได้ตั้งกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในปี 2008 (ภายหลังได้ปรับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม) เพราะกระทรวงได้เริ่มรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซที่เก็บได้จากการระบบติดตามในระดับอำเภอและได้เพิ่มกฎข้อบังคับขึ้นอีก 17%

ในปี 2013 รัฐบาลกลางได้เริ่มให้ความสำคัญกับปัญหามากขึ้น เพราะปีนี้เป็นปีที่สื่อขนานนามกรุง ปักกิ่งว่า “Airpocalypse” เพื่อฉายภาพสภาพอากาศที่เลวร้ายสุดๆ ตั้งแต่ต้นปี และยังใช้ชื่อนี้เรียกนครเซี่ยงไฮ้ที่ประสบภาวะอากาศย่ำแย่เช่นเดียวกันในปลายปีนั้น

วันที่ 1 กันยายน 2013 กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ประกาศแผน 5 ปี ป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศตั้งแต่ 2013-2017 เนื่องจากรัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้นำมาตรการหลายอย่างมาใช้ โดยในแผนมีเป้าหมายลดค่าความหนาแน่นในพื้นที่ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย ลง 25% ภายในปี 2017 จากระดับปี 2012 ลดค่าความหนาแน่นในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงลง 20% ลดค่าความหนาแน่นในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงลง 15% ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 1.75 ล้านล้านหยวน รวมไปถึงการเริ่มต้นการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก

สภาพอากาศเหอเป่ย วันที่ 9 ตุลาคม 2014 ที่มาภาพ: http://www.china.org.cn/environment/2016-02/05/content_37741930.htm

นับจากนั้นได้มีการนำหลายมาตรการมาบังคับใช้ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและระดับท้องถิ่น ซึ่งทำให้คุณภาพอากาศของจีนดีขึ้น

ปี 2014 ในมณฑลปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย เป็นพื้นที่มีค่าความหนาแน่นของ PM2.5 สูงถึง 93 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่า 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามมาตรฐานของประเทศ และสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามมาตรฐานของ WHO โดยเฉพาะหน้าหนาวปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น เพราะมีหมอกควันตลอดทั้งวัน ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน

ช่วงปี 2013-2016 ค่าความหนาแน่นของ PM10 เฉลี่ยใน 338 เมืองระดับอำเภอและระดับจังหวัดที่ติดตามวัดผลโดยกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมลดลง 15.5% เฉพาะปี 2016 ค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ในทั้ง 338 เมืองนี้ลดลง 6% จากปี 2015 มาที่ 47 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ตั้งแต่จีนได้จัดทำแผนขจัดมลพิษปี 2013 กรุงปักกิ่งได้เพิ่มแรงจูงใจให้ชุมชนมากขึ้นรวมทั้งปรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยก๊าซ ซึ่งส่งผลสำเร็จและมีความคืบหน้าในปี 2017 สามารถลดมลพิษและเพิ่มคุณภาพอากาศ ท้องฟ้าแจ่มใส ให้กับประชาชนในเมืองหลวง

สำนักคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของปักกิ่งรายงานข้อมูลว่า ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ลดลงมาที่ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือลดลง 20.5% จากปีก่อนหน้าซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของแผนปี 2013 ที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี

แผนปฏิบัติการมลพิษทางอากาศที่ประกาศในเดือนกันยายน 2013 จัดว่าเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิผลอย่างมากในรอบ 5 ปี เพราะทำให้จีนเพิ่มคุณภาพอากาศได้อย่างมาก โดยการตั้งเป้าลดค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ช่วงปี 2013-2017 สำหรับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงไว้ที่ 15% และลดลง 33% ในปักกิ่ง

ตามเป้าหมายกรุงปักกิ่งต้องลดค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ลงจาก 89 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงใช้วิธีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและห้ามประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเผาถ่านหินเพื่อทำความร้อน ซึ่งเป็นมาตรการที่มีต้นทุนสูงและประชาชนไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำให้ประสบความสำเร็จในการลดค่าฝุ่น PM2.5 ลงมาที่ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหรือ 35% ตามเป้าหมายของปี

เมืองอื่น ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน อย่างไรก็ตามค่าฝุ่น PM 2.5 ก็ยังสูงกว่ามาตรฐานของ WHO ในระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในสิ้นปี 2017 มีเมือง 107 จาก 338 เมืองที่ลดค่าฝุ่นลงที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่เป็นเกณฑ์ชั่วคราวของ WHO

มลพิษหลักคือกำมะถันหรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลง 8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือราว 20% จากปี 2016 มาที่ค่ามาตรฐานระดับชาติ ส่วนในเมืองอื่นค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงมาที่ 46 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหรือ 4.2% และฝุ่นจิ๋ว PM10 ลดมาที่ 84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 8.7%

ช่วงปี 2013-2016
ค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ในพื้นที่ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ยลดลง 33%
ค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงลดลง 31.3%
ค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงลดลง 31.9%
ค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ในปักกิ่งลดลง 18%
ค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ในเซี่ยงไฮ้ลดลง 27%

โหมมาตรการหนักใน 5 ปี

อู๋ เจี้ยนหัว หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของสำนักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า รัฐบาลได้ทุ่มเทและลงทุนหนักเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศในปักกิ่ง โดยรัฐได้ใช้เงินไป 22 พันล้านหยวน ซึ่งนับว่าสูงมาก ส่งผลให้ปี 2017 กรุงปักกิ่งจึงมีวันที่คุณภาพอากาศดีหรือวันที่ค่าฝุ่นไม่เกินระดับ 100 หรือต่ำกว่า ถึง 226 วัน สูงกว่าปี 2013 ถึง 50 วัน

ช่วงปี 2013-2017 กรุงปักกิ่งเปิดโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซใหม่ 4 โรงเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน รวมทั้งรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศที่ใช้ถ่านหิน ส่งผลให้เมืองรอบนอก 6 เมือง ที่ราบทางตอนใต้ และชุนอี ปัจจุบันมีระบบปรับอากาศที่ใช้ก๊าซ และสัดส่วนพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในสิ้นปี 2017

ในรอบ 5 ปี 2013-2017 ปักกิ่งรีไซเคิลรถยนต์ 2.17 ล้านคันที่ปล่อยก๊าซสูงและติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียแบบใหม่ที่ลดมลพิษในแท็กซี่ 50,000 คัน ซึ่งช่วยกรองอากาศและลดการปล่อยก๊าซ

ใช้รถเมลล์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานสะอาด 200,000 คัน ทำให้สัดส่วนรถที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็น 72.1% ในปี 2017 นอกจากนี้ยังสั่งปิดโรงงานปูนซีเมนต์ 6 แห่ง สั่งปิดและปรับปรุงหรือสั่งปิดอุตสาหกรรมอื่นที่สร้างมลภาวะ รวมทั้งตรวจสอบ 1,992 บริษัทในธุรกิจการพิมพ์ หล่อโลหะ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีผลให้ยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้

อู๋ เจี้ยนหัว กล่าวว่า เพื่อให้การป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศเป็นระบบเบ็ดเสร็จ กรุงปักกิ่งยังคงให้สิทธิประโยชน์จูงใจในเชิงเศรษฐกิจและเข้มงวดกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงศึกษาถึงสาเหตุของมลพิษทางอากาศ ตลอดจนมีการกำกับดูและที่เข้มงวดขึ้น

รัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนให้ชาวเมืองมีส่วนในการติดตามภาวะมลพิษทั้งในระดับชุมชนและจัดตั้งองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้น รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการศึกษาและตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยใช้ดาวเทียมที่มีสัญญานระยะไกลเพื่อให้การวิเคราะห์และการประเมินคุณภาพอากาศมีความถูกต้องมากขึ้น

ธนาคารโลกได้สนับสนุนด้วยการให้เงินกู้จำนวน 500 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม 2016 เพื่อดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อลดมลภาวะทางอากาศใน 3 เมืองหลัก คือ ปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย โดยธนาคารฮวา เซีย จะทำหน้าที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ต้องการจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดมลภาวะและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งลงทุนในพลังงานสะอาด และควบคุมมลภาวะทางอากาศให้เข้มงวดขึ้น

ถ่านหินคือสาเหตุหลักที่มีผลต่อมลภาวะทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจีน เนื่องจากมีการใช้ถ่านหินจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการ สัดส่วนการใช้ถ่านหินสูงถึง 66% ของแหล่งพลังงานรวมของประเทศ จีนใช้ถ่านหินราว 4 พันล้านตันในปี 2014 มากกว่าทั่วโลกใช้รวมกันเสียอีก โดยที่ปริมาณถ่านหินครึ่งหนึ่งใช้สำหรับเครื่องผลิตไอน้ำทั้งในภาคอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย

การใช้ถ่านหินใน 3 เมืองสูงถึง 1.8 พันล้านตันในปี 2014 หรือ 40% ของการใช้ถ่านหินรวมในจีนและเท่ากับปริมาณที่กลุ่มประเทศ OECD ใช้รวมกัน

เงินกู้จากธนาคารโลกได้ให้สินเชื่อแก่บริษัทผลิตถ่านหินรายใหญ่ บริษัทหวังผิง พาวเวอร์ ได้ติดตั้งเครื่องดักจับความร้อนและท่อส่งความร้อนในเทศบาลหัวเหริ่น ทำให้ดักจับความร้อนที่เกิดขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าได้และส่งเข้าท่อส่งเพื่อทำความร้อนให้กับบ้านเรือน จากเดิมที่ปล่อยสู่ทิ้งชั้นบรรยากาศ

โรงไฟฟ้าของหวังผิง พาว เวอร์ ที่มาภาพ: https:// www.worldbank.org/en/news/feature/2018/06/11/helping-china-fight-air-pollution

วิธีนี้ทำให้ยกเลิกเครื่องทำความร้อนขนาดเล็กสำหรับบ้านเรือนที่ใช้ถ่านหินได้ถึง 10 เครื่อง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 420,000 ตัน ลดไนโตรเจนไดออกไซด์มากกว่า 6,330 ตัน และลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้มากกว่า 13,100 ตันต่อปี

ปี 2016 มีเพียง 84 ในจำนวน 338 เมืองของจีนที่ปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ได้มาตรฐาน ขณะที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีค่าความหนาแน่นของ PM2.5 ที่ 73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 45 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

ปี 2017 เซี่ยงไฮ้มีคุณภาพอากาศดีขึ้นในช่วง 10 เดือนแรก ทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งปี 2013 โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น

เดือนกันยายนและตุลาคม 2017 บริษัทที่สร้างมลพิษในปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย ถูกทางการสั่งหยุดการผลิตหรือสั่งปิด ซึ่งมีผลกระทบในมูลค่าหลายพันล้านหยวนให้กับธุรกิจ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่าผลเสีย

มาตรการปรับปรุงคุณภาพอากาศของรัฐบาลจีน

1. ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ปรับเปลี่ยนระบบทำความร้อนจากถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด ครัวเรือนกว่า 3 ล้านหลังจะใช้ไฟฟ้าจากก๊าซ
2. บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้น ลงโทษบริษัทที่ฝ่าฝืนหลายรายรวมทั้งสั่งให้ยุติการผลิต และเพิ่มการตรวจสอบในภาคเหนือและจับกุมผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก
3. กระทรวงสิ่งแวดล้อมประกาศแผนปฏิบัติการสำหรับฤดูหนาวปี 2017 และ 2018 ในกรุงปักกิ่งและเมืองทางตอนเหนือ ได้แก่

    • ลดความหนาแน่นของค่าเฉลี่ย PM 2.5 ลง 15% ในช่วงตุลาคม 2017 ถึงมีนาคม 2018
    • ปักกิ่ง เทียนจิน ฉือเจียจวง ต้องลด PM2.5 ลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
    • เมืองอุตสาหกรรมเหล็กต้องจัดทำแผนลดการผลิตลงให้ได้ 50% ในช่วงฤดูหนาว
    • จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ยขึ้นใหม่

4. มาตรการของกรุงปักกิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายปี 2017

    • ลงทุน 2.6 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มคุณภาพอากาศในปี 2017
    • ลดการใช้ถ่านผินลง 3 ล้านตัน
    • ปิดโรงงานที่ปล่อยมลภาวะอย่างน้อย 500 แห่ง
    • เข้มงวดกับการตรวจสอบยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเข้ม
    • ระงับงานก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นช่วง 15 พฤศจิกายน 2017 ถึง 15 มีนาคม 2018

5. ปิดโรงงานหลอมโลหะขนาดเล็กในเมืองระดับอำเภอและระดับจังหวัดที่ใช้ถ่านหินในปี 2017
6. ยกระดับโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก๊าซให้อยู่ในระดับต่ำมาก และประหยัดการใช้พลังงานในช่วงปี 2017-2020
7. เพิ่มการใช้แก๊สโซฮอล์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซ
8. ปี 2013-2017 เดินเครื่องโรงไฟฟ้า 4 แห่งที่ใช้ก๊าซแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน
9. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปักกิ่งรีไซเคิลรถยนต์ 2.17 ล้านคันที่ปล่อยก๊าซสูงและติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียแบบใหม่ที่ลดมลพิษในแท็กซี่ 50,000 คัน
10. ใช้รถเมลล์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานสะอาด 200,000 คัน
11. ปิดโรงงานปูนซีเมนต์ 6 แห่ง สั่งปิดและปรับปรุงอุตสาหกรรมอื่นที่สร้างมลภาวะ
12. ตรวจสอบ 1,992 บริษัทในธุรกิจการพิมพ์ หล่อโลหะ เฟอร์นิเจอร์

สภาพอากาศในจีน วันที่ 26 พฤศจิกายน 2018 ที่มาภาพ: https://
www.straitstimes.com/asia/east-asia/chinese-officials-warned-they-will-face-punishment-if-they-do-not-meet-air-quality

เดินหน้าต่อเนื่องด้วยแผนปี 2020

รัฐบาลจีนยังเดินหน้าปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยปลายปี 2018 ได้ประกาศแผน 3 ปีควบคุมมลพิษทางอากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ลงจากระดับปี 2015 ให้มากกว่า 15% ภายในปี 2020 โดยปักกิ่งจะต้องมีค่า PM2.5 ลดลงมาที่ 56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนเซี่ยงไฮ้ต้องลดค่า PM2.5 ลงให้ได้เป็น 42 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี

ขณะเดียวกัน เมืองรองระดับอำเภอและระดับจังหวัดต้องเพิ่มสัดส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศดี ให้ได้ 80% ต่อปีและสัดส่วนวันที่มีมลพิษทางอากาศลดลงมากกว่า 25% จากระดับปี 2015 ส่วนเมืองที่มีค่า PM 2.5 สูงกว่าระดับมาตรฐานจะต้องลดลงให้ได้ 18% จากปี 2015

หลี กานจี้ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที 19 ว่า ภายในปี 2035 ค่า PM2.5 ทั่วประเทศจะลดลงมาที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานของประเทศ

แผน 3 ปีระหว่าง 2018-2020 นับเป็นแผนระยะที่สองของการปรับปรุงคุณภาพอากาศในจีน และมีเป้าหมายไปที่เมืองอื่นๆ ในจำนวน 338 เมือง ซึ่งต่างจากแผนปี 2013 ที่เน้นพื้นที่ปักกิ่ง เทียนจินและเหอเป่ย และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงและแยงซีเกียง

ฮวง เหว่ย หัวหน้ากลุ่มกรีนพีซในเอเชียตะวันออกมีความเห็นว่า แผนฉบับใหม่ขยายพื้นที่ควบคุมค่า PM2.5 ให้ครอบคลุมอีกหลายเมืองที่ไม่ได้จัดการกับมลพิษทางอากาศมาก่อน โดยมุ่งไปที่บริเวณที่ราบเฟินเหวิน ครอบคลุมซีอาน ซานซี เหอหนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศที่มีค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงสุด และค่า PM2.5 อยู่ในระดับสูง

หลี กานจี้ กล่าวอีกว่า ขณะที่คุณภาพอากาศในพื้นที่อื่นดีขึ้นแต่บริเวณเฟินเหวินคุณภาพอากาศแย่ลง โดยเมืองซีอานค่า PM2.5 เพิ่มขึ้น 27% ในช่วงปี 2015-2017 เนื่องจากพึ่งพาถ่านหินในการผลิตพลังงาน รวมทั้งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลภาวะ

แผน 3 ปีฉบับใหม่กำหนดให้ลดการใช้ถ่านหินลงในปี 2020 ห้ามการเผาถ่านหินในปริมาณน้อยเพื่อทำความร้อนในหน้าหนาว และจะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลภาวะอย่างเต็มที่ในปี 2019

สำหรับบางเมืองการลดค่า PM2.5 ลง 18% จากระดับในปี 2016 ให้ได้ในปี 2020 ไม่ใช่เรื่องยาก โดยมีมากกว่า 70 เมืองบรรลุเป้าหมายในการลดค่า PM2.5 จากการปฏิบัติตามแผนฉบับแรก นอกจากนี้ เป้าหมายของแผนฉบับใหม่ยังสูงกว่าเป้าหมายของบางเมืองเสียอีก อย่างไรก็ตาม เมืองที่ไม่เคยเป็นพื้นที่เป้าหมายของแผนฉบับก่อนๆ ก็จะต้องปฏิบัติตามแผนฉบับใหม่นี้

แม้เมืองทั้งหมดบรรลุเป้าหมายลดค่า PM2.5 ลงได้ 18% แต่ก็ยังมีอีกกว่า 200 เมืองที่ไม่สามารถลดค่า PM2.5 ลงมาที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2020 ได้ และแผน 3 ปีฉบับใหม่ก็ไม่ได้ให้แนวทางว่าควรจะบรรลุเป้าหมายปีใด

แผนสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ยังเน้นไปที่โอโซน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds: VOC) ทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์ จึงกำหนดค่าการปล่อย VOC ลง 10% และลดไนไตรเจนออกไซด์ลง 15% ในปี 2020 จากระดับปี 2015

โอโซนในระดับพิ้นผิวมีผลต่อระบบหายใจ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มลภาวะโอโซนในจีนยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ก็มีสัญญาณว่าสภาวะเริ่มแย่ลง อุณหภูมิที่สูงขึ้นหมายถึงโอโซนที่เพิ่มขึ้น ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงที่อากาศร้อนและชื้น โอโซนคือสาเหตุหลักของมลพิษมากกว่าค่า PM2.5 ในหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาโอโซนในช่วงฤดูร้อน

ที่มาภาพ : https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/chinas-fight-against-air-pollution-sees-pm25-levels-plunge-but-ozone-levels-are

จาง เจียงอวี่ หัวหน้าสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งปักกิ่งกล่าวว่า แผนฉบับใหม่แสดงให้เห็นถึงการปรับนโยบายจัดการกับคุณภาพอากาศที่ปรับให้ดีขึ้นของจีน

ปี 2018 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ถ่ายโอนงานด้านนี้ไปให้กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม และแผน 3 ปีฉบับใหม่สะท้อนว่ามีการรวมการจัดการมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ด้วยกัน

แผน 3 ปียังคงเข้มงวดกับการกำจัดมลพิษที่ปลายท่อ และเพิ่มมาตรการที่มีรายละเอียดมากขึ้นในการจัดกับการต้นเหตุของมลพิษและประ เด็นที่เป็นโครงสร้าง รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง เช่น การจัดทำตัวชี้วัด 11 ตัวและมาตรการสำหรับบริเวณเฟินเหวิน รวมทั้งการใช้ถ่านหิน สัดส่วนของการขนส่งด้วยรถไฟ และการทำความร้อนด้วยพลังงานสะอาด

ที่สำคัญ แผน 3 ปีฉบับใหม่นี้มีข้อมูลและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับมากขึ้น มีการแยกสาเหตุของหมอกควันลงไปถึงระดับภาคอุตสาหกรรม ทั้งพลังงาน การผลิต การขนส่ง

สำหรับการควบคุมมลพิษบนพื้นดิน หลี กานจี้ กล่าวว่า ประเทศได้ลดการนำเข้าขยะแข็งลง 46.5% จากปีกอ่น รวมทั้งได้ปรับปรุงโรงไฟฟ้าจากขยะที่ต่ำกว่ามาตรฐานและกวาดล้างการลักลอบนำเข้าขยะพิษอย่างผิดกฎหมายในปี 2018

นอกจากนี้ยังได้บำบัดลำน้ำที่มีสีดำและขุ่นข้นใน 36 เมืองใหญ่และ 1,586 แหล่งน้ำ ซึ่ง หลี กานจี้ กล่าวว่า งานแรกของปี 2019 จะให้ความสำคัญกับการป้องกันน้ำเสีย

จีนพยายามที่ผลักดันแผนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจในปี 2019

ที่มาภาพ : https://www.eco-business.com/news/china-releases-2020-action-plan-for-air-pollution/

มณฑลซานซีตั้งเขตปลอดถ่านหิน

เมืองระดับอำเภอของจีน 11 แห่งในมณฑลซานซีได้จัดตั้งเขตปลอดถ่านหินในเขตเมือง เพื่อจัดการกับมลภาวะทางอากาศ โดยในเขตนี้ห้ามสำรอง ขาย หรือใช้ถ่านหิน จากการประกาศของสำนักงานนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งมณฑลซานซี แต่ยกเว้นการใช้ถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้า เครื่องทำความร้อนขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบ ตลอดจนยังห้ามประชาชนเผาหรือขายถ่านหินคุณภาพต่ำและจะขยายพื้นที่เขตปลอดถ่านหินออกไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน โดยเจ้าหน้าที่ในระดับที่สูงกว่าเทศบาลจะมีคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และจะยึดทั้งวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ถ่านหิน และผลตอบแทนที่ได้อย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งมีโทษปรับสูงสุด 3 เท่าของมูลค่าของกลางที่ยึดไว้

มณฑลซานซีอยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะต้องจัดการกับคุณภาพอากาศ ใน 3 ไตรมาสแรกของปีก่อน มี 7 ใน 20 เมืองที่คุณภาพอากาศแย่ มณฑลซานซีเป็นแหล่งสำรองถ่านหินในสัดส่วน 1 ใน 4 ได้สั่งปิดเหมืองถ่านหินไปแล้ว 36 แห่งในปี 2018 ส่งผลให้ลดปริมาณการผลิตลงไป 23.3 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยจะปิดเหมืองถ่านหินที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 600,000 ตันภายในปี 2020

คาดโทษข้าราชการหากพลาดเป้า

ทางการจีนเตือนเจ้าหน้าที่ว่าจะถูกลงโทษหากไม่ประสบความสำเร็จเป้าหมายการลดค่า PM 2.5 ที่กำหนดไว้ในแผน หลังจากที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมเปิดเผยค่า PM2.5 ของกรุงปักกิ่งและเมืองใกล้เคียงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2018 ว่าเพิ่มขึ้นมาที่ 73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหรือ 3% จากปีก่อน

หลิว ปิงเจียง หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมชั้นบรรยากาศกล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชอบหากไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย เพราะนี่คือการทำสงครามเพื่อให้ท้องฟ้าสดใส จะต้องปฏิบัติตามคำสั่ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดมาตรการลงโทษ

นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เอาจริงกับการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศในปี 2014 รัฐบาลจีนได้จัดทำแผนมาอย่างต่อเนื่อง

แม้คุณภาพอากาศจะดีขึ้น แต่หลิว ปิงเจียง กล่าวว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรมซึ่งสร้างมลภาวะด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศถึง 3-5 เท่า

เรียบเรียงจากxinhuanet, healthandsaftyinshanghai, telegraph, straitstimes, scmp, worldbank, loc