ThaiPublica > Sustainability > Headline > Climate Change:GCNT Forum (1) : “พลิกโฉมประเทศ” มุ่งสู่ความเป็น กลางทางคาร์บอน ปี 2065

Climate Change:GCNT Forum (1) : “พลิกโฉมประเทศ” มุ่งสู่ความเป็น กลางทางคาร์บอน ปี 2065

11 ตุลาคม 2021


โกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย-UN รวมพลังสมาชิก ประกาศเจตนารมณ์ สู้วิกฤติโลกร้อน ตั้งเป้า Net Zero ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070

  • นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมเป็นประธานและสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย CEO ขององค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมภาคเอกชนของไทย ให้นำแนวทางการพัฒนาธุรกิจปลอดคาร์บอนและยั่งยืน การวัดผล และการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน
  • การประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ของสมาชิกสมาคมฯ ประกอบด้วย ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำด้านเกษตร อาหาร พลังงาน การเงิน เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม นับเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนไทยทุกธุรกิจ ทุกขนาดมีเป้าหมายร่วมกันในเรื่องนี้อย่างชัดเจนและจริงจัง โดยให้คำที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070
  • นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าเป็นโอกาสในการ “พลิกโฉมประเทศ” สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า และจะเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจทุกขนาด
  • ผู้ประสานงานสหประชาชาติฯ ชี้ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด ที่ต้องแก้ไขและสร้างการเปลี่ยนด้วยนวัตกรรม และการขยายตลาดคาร์บอน
  • ศุภชัย เจียรวนนท์ ประกาศจุดยืนสมาชิก GCNT พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศแสดงพลังร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนองนโยบายรัฐ สนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และแข่งขันกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสหประชาชาติ จัดงาน ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ ภายใต้แนวคิด ‘A New Era of Accelerated Actions’ รวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เน้นไปที่การใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและวัดผลได้ รวมถึงการพัฒนาแหล่งกักเก็บคาร์บอน และการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ พร้อมผู้นำจากหลากหลายองค์กรร่วมแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นการส่งสัญญาณว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วน ที่ทุกภาคส่วนพร้อมมีส่วนร่วมผลักดันและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ โดยองค์กรสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำจากธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งด้านเกษตร-อาหาร พลังงาน การเงิน เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมทั่วไป ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนทุกธุรกิจ ทุกขนาด ของไทยตั้งเป้าหมายร่วมกันในเรื่องนี้อย่างชัดเจนและจริงจัง ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070

โดยจะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพิ่มมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาอันเกิดจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสถานการณ์วิกฤติ (Climate Emergency) รวมทั้งวัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Measure GHG Emissions) จากการประกอบธุรกิจของตนเอง เพื่อรับรู้และหาวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังคงมีอยู่ พร้อมเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ต่อสาธารณะเป็นประจำ ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ (Take Action to Reduce GHG Emissions) โดยมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งการประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจอื่นๆ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงส่งเสริมการบูรณาการงานด้านภูมิอากาศ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ๆ ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือเป็นศูนย์ สอดคล้องตามนโยบายพัฒนาประเทศ

ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันการประกาศเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา climate change อย่างยั่งยืน ของสมาชิกเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

    แถลงการณ์ร่วมเจตนารมณ์ของสมาชิก GCNT

    1. ตระหนักถึงภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ: สมาชิกจะกระชับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินการด้านสภาพอากาศและตอบสนองต่อความเร่งด่วนที่เพิ่มขึ้นเพื่อจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    2. วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ: ประเมินการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบุแนวทางแก้ไขเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ
    3. ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: ใช้มาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานและห่วงโซ่คุณค่าของสมาชิก เพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดคาร์บอน และส่งเสริมพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงบวก โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป
    4. มุ่งมั่นที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 หรือไม่ให้เกินปี 2070

ไทยวางเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2065

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานภายใต้หัวข้อ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Leadership for Climate Actions)” ว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ ที่ผ่านมายังได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสให้กับเลขาธิการสหประชาชาติด้วยตนเองเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งเวทีสหประชาชาติได้ใช้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีสเป็นแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน

โดยไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ที่ผ่านมาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าบางประเภทแล้ว เช่น กรณีการต่อต้านน้ำมันปาล์มที่ผลิตในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในสหภาพยุโรป (อียู)

ปัจจุบัน อียูอยู่ระหว่างร่างระเบียบมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 ครอบคลุมสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังสินค้าอื่นๆ ในอนาคต ขณะเดียวกัน เริ่มมีกระแสในสหรัฐฯ และแคนาดาที่อาจพิจารณาใช้มาตรการในลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นโอกาสที่ไทยจะ “พลิกโฉมประเทศ” สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า เน้นการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สร้างพลวัตใหม่ให้แก่เศรษฐกิจ และจะเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด ทั้งนี้ ไทยต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ใช้ประโยชน์จากกองทุนระหว่างประเทศ และประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ และโครงการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้ประโยชน์จากโครงการกลไกเครดิตร่วม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2558 และกำลังพิจารณาขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่นๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องปรับตัว แม้การปรับตัวจะมีค่าใช้จ่าย แต่การไม่ปรับตัวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าในระยะยาวซึ่งภาคเอกชนไทยหลายบริษัทเริ่มปรับตัวแล้ว โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำซึ่งกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ โดยภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วย ได้บรรจุประเด็น climate change ในนโยบายระดับประเทศ ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

โดยมีหมุดหมายที่สำคัญ คือ หมุดหมายที่ 10 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็น 2 หมุดหมายที่ตอบสนองต่อประเด็น climate change โดยตรง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยต่อยอดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปี 2565 และขอเชิญชวนภาคเอกชนมีส่วนร่วมในโครงการนี้ รวมทั้งการริเริ่มโครงการอื่นๆ ที่มุ่งใช้จุดแข็งในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรธรรมชาติของไทยและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับตัวตามทิศทางบรรทัดฐานใหม่ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทำความเย็นในการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนที่ทำลายชั้นบรรยากาศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยตั้งเป้าที่จะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2578

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การติดตามประเมินการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับตัวและก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และเชื่อมั่นว่าภาคเอกชนไทยมีบทบาทอย่างมากในการเป็นผู้นำเพื่อแก้ปัญหา climate change และสิ่งแวดล้อม

ปรับแผน NDC ส่ง COP 26 ดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การที่มีการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum ขึ้นในวันนี้ได้ะสะท้อนให้เห็นว่า ต้องมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในช่วง 3 ปีที่ผ่านการประชุม World Economic Forum ได้จัดให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change เป็นปัญหาที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ และนับจากนี้ไปปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากเดิมที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันสภาพเศรษฐกิจมหภาค

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ที่การคมนาคมขนส่งลดลง ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยลดลง 9% แต่เป็นการลดลงชั่วคราว เมื่อการระบาดสามารถควบคุมได้หรือคนปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้แล้ว การคมนาคม การขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ก็จะกลับมีกิจกรรมที่มากขึ้น ทำให้กังวลว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก โดยคาดว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นเป็น 20%

“การทำงานและการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะต้องจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป” นายวราวุธกล่าว

ที่ผ่านมาไทยได้ส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดําเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution — NDC) ทั้งฉบับแรกและฉบับปรับปรุงไปยังสํานักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change — UNFCCC) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20–25% ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นการลดลงที่ครอบคลุม 3 สาขาหลัก คือ ภาคพลังงาน ภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรม การทิ้งของเสียในภาคประาชน

นอกจากจัดทำแผน NDC แล้วกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังอยู่ระหว่างการร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนที่จะจัดส่งให้กับ UNFCCC เพือที่จะได้ใช้ในการประชุม COP 26 ที่จะมีขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้จะเป็นกรอบในการจัดทำเป้าหมาย NDC ฉบับที่ 2 และฉบับต่อไปของไทยภายใต้ข้อตกลงปารีส

สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ระยะยาวเป็นประเด็นที่จะทำให้ไทยมุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีปีที่การปล่อยก๊าซสูงสุดหรือ peak year คือปี 2030 หลังจากนั้นจะลดลงจนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero ในครึ่งหลังของศตวรรษนี้หรือประมาณปี 2090 รวมทั้งเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ carbon neutrality ในปี 2065 โดยที่ภาคพลังงานและภาคขนส่งยังเป็นตัวหลักของการลดก๊าซเรือนกระจก

“Net Zero Thailand หมายถึงการที่เราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2065 เป็นส่วนหนึ่งของ Net Zero Thailand”

สำหรับมาตรการต่างๆ เช่น การลดการปล่อยก๊าซในภาคพลังงาน จะสอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น เพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 50% รวมทั้งนโยบาย 30:30 คือ การมีรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 รวมไปถึงการใช้ประสิทธิภาพพลังงานให้ไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2037

ด้านภาคส่วนอื่น เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการทิ้งของเสียของภาคประชาชน ก็มีส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน แม้ว่าจะไม่มากนัก

การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้นั้น การดูดซับคาร์บอนจากป่าไม้ และการใช้ประโยชน์จากป่าที่ดี มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยมาตรการสำคัญ เช่น การปลูกป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเขตเมืองและชนบท รวมทั้งการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า การเพิ่มพื้นที่ป่าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกำหนดว่าประเทศจะต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่า 55% โดยเป็นพื้นที่ป่า 40% และในพื้นที่ป่านี้ 25% นี้จะเป็นป่าของรัฐ 15% เป็นป่าเศรษฐกิจและป่าเกษตร รวมไปถึงพื้นที่ป่าชายเลน

การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนของประเทศได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกจากนี้ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดักจับคาร์บอน หรือ carbon capture and storage นอกเหนือจากการใช้ป่าไม้เป็นเครื่องมือ เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการผลิตไฟฟ้า จากภาคอุตสาหกรรม ไปเก็บไว้ในชั้นใต้ดิน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องศึกษาและเร่งดำเนินการเพื่อลดการก๊าซเรือนกระจกในประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงความสมดุลของการลดก๊าซเรือนกระจกกับการกักเก็บเพราะเทคโนโลยีใหม่นี้จะเพิ่มต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมมากพอสมควร

การมีนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว คงไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่ได้การตอบรับจากภาคเอกชน ภาคประชาชน ดังนั้น ความร่วมมือของประชาขนในทุกภาค จะเป็นฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย ไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เตรียมพร้อมรองรับมาตรการจากนานาชาติ

นายวราวุธกล่าวว่า ในอนาคตหลายประเทศคงมีมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ประกอบด้วยกลไกต่างๆ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเทศหนึ่งของโลก เช่น สหภาพยุโรปได้ประกาศที่จะใช้มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือมาตราการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน โดยวางแผนการบังคับใช้ในปี 2023 และจะมีผลให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าของไทยสูงขึ้น

ด้านสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็เตรียมมาตรการในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นไทยจะต้องเร่งดำเนินการ ทั้งในการประกอบธุรกิจ โดยสามารถดำเนินการได้หลายแนวทางด้วยกัน ได้แก่ ยกระดับความเข้มข้นในการดำเนินโยบาย ในขั้นแรกเป็นการยกระดับภายในองค์กรก่อน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในสายการผลิต เช่น การลดของเสีย การลดมลภาวะ เพิ่มธุรกิจใหม่ การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เช่น เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการกำจัดของเสีย การจัดการกับห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการขนส่ง และเทคโนโลยีการเตือนภัยพิบัติเพื่อให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง

ภาคเอกชนสามารถร่วมกับสถาบันวิจัย หรือสถาบันการศึกษาในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อให้มีเทคโนโลยีที่ใช้ได้มากขึ้นและใช้ได้จริงในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยี

นายวราวุธกล่าวอีกว่า แนวทางการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยยังสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ตามที่รัฐบาลได้วางแนวนโยบายไว้

“การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เป็นการดึงศักยภาพของไทยออกมา ไทยเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของโลก เพราะมีความหลากหลากทางชีวภาพไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1% ของโลกแต่ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยมีเกือบ 10% ของโลก ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยจึงเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ”

มาตรการขับเคลื่อน

สำหรับการดำเนินการของภาครัฐที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดทำร่างพระราชญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนการดำเนินการด้าน climate change โดยกำหนดให้มีกลไกทางด้านการเงิน สามารถขอการสนับสนุนการดำเนินงานผ่านกลไกกองทุนสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจก

นายวราวุธกล่าวว่า ร่างพระราชญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ระหว่างการหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาในช่วง 1-2 เดือนนี้ นอกจากนี้กระทรวงฯยังได้ประกาศระเบียบของกรมป่าไม้ว่าด้วย carbon credit การปลูกป่าไม้ การฟื้นฟูป่า และยังมีระเบียบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เปิดให้บุคคลหรือองค์กรภายนอกสามารถสนับสนุนการปลูกป่า

ประเทศไทยได้ฟื้นฟูป่ามาแล้วกว่า 2 แสนไร่ใน 5 ปีที่ผ่าน ด้วยการเน้นการปลูกป่า โดยเฉพาะป่าชายเลนที่มีศักยภาพในการลดการกัดเซาะชายฝั่ง มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าป่าอื่นได้ 3 เท่า

กระทรวงมีนโยบายให้ carbon credit ให้กับผู้ที่มีโครงการถึง 90% ส่วนอีก 10% เป็นของหน่วยงานรัฐ แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้อตกลง นอกจากี้ได้มีการจัดตั้งคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network — TCNN) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ชุมชนในการขับเคลื่อนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยภาคีเครือข่ายขององค์กรนี้จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ระบบนิวเวศสมบูรณ์มากขึ้น

กลไกคาร์บอนเป็นการขับเคลื่อนในเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยปัจจุบันมีสมาชิก 118 ราย มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางคาร์บอน หรือ carbon trading hub ในอาเซียน

กระทรวงฯ ได้สนับสนุนการเข้าถึงกองทุนระหว่างประเทศ เช่น กองทุนอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund (GCF) กองทุนการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Adaptation Fund กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) หรือกองทุน NAMA Facility โดยเอกชนสามารถขอรับทุนตามเงื่อนไขที่แต่ละกองทุนกำหนดไว้

นอกจากนี้ยังได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐในการที่จะส่งเสริมเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ได้หารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีให้กับกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกิจการที่ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 3 ปี ให้กับห้องเย็นที่ใช้สารทำความเย็นจากธรรมชาติ หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปีให้กับโรงงานผลิตสำหรับการเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขยายมาตรการลงไปถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน

“เราได้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เป็นความจริงที่เราเผชิญอยู่และหากประชาชนทุกคน ภาคเอกชน ภาคธุรกิจไม่มาร่วมมือกันอย่างจริงจังแล้ว เราจะเจอปัญหาอีกมากมาย กระทรวงฯ พร้อมเป็นกลไกสำคัญที่ประสานงานกับทุกฝ่าย และผลักดันให้ประเทศไทยของเราสามารถส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป โดยไม่แบกภาระทางสิ่งแวดล้อม ต้องแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero Thailand” นายวราวุธกล่าว

Climate Actionของสมาชิก GCNT

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของสมาชิกเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้หนึ่งในสามของสมาชิกสมาคมฯ ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อแล้ว โดยได้ดําเนินโครงการหรือจะดําเนินโครงการในอนาคตอันใกล้นี้ จํานวน 510 โครงการ และบางส่วนของโครงการเหล่านี้คิดเป็นมูลค่ากว่าสี่แสนสองหมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการแสดงพลังในวันนี้ ที่จะร่วมป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเป็นกำลังขับเคลื่อนและสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการขยายผลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-based, Circular และ Green Economy อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพื้นฐาน ชีวภาพ และธุรกิจมูลค่าสูงที่สร้างมลพิษต่ำ หรือ New S-Curve พร้อมการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงนักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาสร้างผู้นํารุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างหัวใจสำคัญของการปฏิรูปที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือ การส่งเสริมความโปร่งใสหรือการตระหนักรู้ผ่านตัวชี้วัดและการรายงาน อีกทั้งยังน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจมาใช้ สร้างภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลง (Resilience) ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท มีความรัก มีความเมตตา เอาใจเขามาใส่ใจเรา (Compassion) ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มจากตัวเอง

“เราต้องเร่งมือ เร่งการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไทย สู่ยุค Net Zero ให้เร็วที่สุด ให้เป็น Race to Zero อย่างแท้จริง ด้วยระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ต้องเร่งมือเพื่อให้เกิด Just Transition หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความเหลื้อมล้ำในทุกมิติโดยเฉพาะในเรื่องเพศ เรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจ และการศึกษาที่มีคุณภาพ” นายศุภชัย กล่าว

กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจําประเทศไทย

ในโอกาสนี้ กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจําประเทศไทย ได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคธุรกิจ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขยายตลาดคาร์บอน การเพิ่มและการสร้างสรรค์นวัตกรรม การลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืน รวมถึงการให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่ง GCNT ตระหนักดีว่า แม้ว่าเป้าหมายด้านความยั่งยืนจะเป็นเป้าหมายสากล แต่บริษัทต่าง ๆ จะต้องดำเนินการตามความพร้อมของตนในการเรียนรู้และเรียนแก้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้

“เราควรให้ความสำคัญกับการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะสองข้อนี้ เป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน เรามีเวลาและโอกาสที่จำกัดสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมในช่วงเวลานี้ จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจในยุคปัจจุบัน ภาคเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของเวทีความร่วมมือเช่น GCNT” กีต้า กล่าว

ก.ล.ต. ยึดหลักการ ESG

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวถึง “บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ว่า ตามที่ World Economic Forum เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2564 (Global Risks Report 2021) โดยประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคมติดเป็นความเสี่ยง 10 อันดับแรกมากที่สุด ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การตั้งเป้าหมาย net zero และ sustainable finance (การเงินเพื่อความยั่งยืน) จึงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศไทย

ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้ตลาดทุนไทยมีความยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน และได้กำหนดประเด็นความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเรือธงของ

แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. สอดรับกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ก.ล.ต. ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบนิเวศ (ecosystem) สำหรับตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน และขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่า การนำหลัก ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมีความสำคัญมากกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ก.ล.ต. จึงได้นำหลักการ ESG มาบูรณาการกับการดำเนินงาน และนโยบายการกำกับดูแลขององค์กร โดยเน้นหลัก tone from the top และการบริหารจัดการความเสี่ยง

เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ก.ล.ต. ได้มีการปรับปรุงแบบรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียน คือ แบบ 56-1 One Report โดยมุ่งเน้นไปยังมาตรฐานการรายงานข้อมูล ที่ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลทางการเงินแต่รวมถึงข้อมูลด้าน ESG ได้แก่ ประเด็นเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

โดยที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนได้ให้ความร่วมมือแบ่งปันความรู้และประสบการณ์และมีบริษัทที่เริ่มดำเนินการแบบสมัครใจ (early adoption) ในปี 2564 เป็นจำนวน 169 บริษัท

ในการส่งเสริมและผลักดันการเงินเพื่อความยั่งยืน ก.ล.ต. ส่งเสริมการออกผลิตภัณฑ์การระดมทุนและลงทุนที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจและผู้ลงทุน

สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องการป้องกัน และแก้ไขปัญหา อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก.ล.ต. ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยการจัดสัมมนาอบรมและมีเครื่องมือเพื่อให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียน และ ก.ล.ต. ยังเป็นแกนกลางในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในตลาดทุน และเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ในการลดก๊าซเรือนกระจก ปลูกป่าชุมชน ผ่านโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” โดยได้รับความมือจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต โครงการ “วิภาวดีไม่มีขยะ” และโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน”

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network —TCNN) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการร่วมกันระหว่างองค์กรในภาคส่วนต่างๆ ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญ GCNT ถือเป็นพันธมิตรหลักของสำนักงานในการร่วมขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย UN SDGs

ในการขับเคลื่อนเรื่อง ESG จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นและร่วมแบ่งปันมุมมองกับภาคธุรกิจและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก.ล.ต. ตระหนักดีว่าความร่วมมือของ ทุกภาคส่วน จะเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน SDGs ให้บรรลุผลสำเร็จ

เช่นเดียวกับ ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า “ในการเร่งกระบวนการธุรกิจเปลี่ยนผ่าน New Economy เป็น Net Zero อีกไม่นานนี้ ตลาดหลักทรัพย์กําลังจะหารือเพื่อร่วมมือกับ TGO และสภาอุตสาหกรรม ในการจัดตั้งตลาด Carbon Credit เป็นโครงสร้างพื้นฐานสําคัญที่จะนําไปสู่การลดการใช้พลังงาน และการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกลไกตลาดให้เป็นรูปธรรมในไทย”

ทั้งนี้ งาน ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ ภายใต้แนวคิด ‘A New Era of Accelerated Actions’ หรือการประชุมสุดยอดระดับผู้นําของประเทศไทย ด้านการปัองกันและแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิดมิติใหม่ของการเร่งลงมือทํา จัดขึ้นบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB)

โดยมีผู้นําจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงาน จํานวนมากกว่า 800 คน อาทิ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศประจําประเทศไทย ผู้แทน UN Global Compact ผู้นําภาครัฐ ประชาสังคม ภาคเอกชน อาทิ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์จํากัด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) บริษัท ซีพีออลล์ จํากัด(มหาชน) ธนาคาร เอชเอสบีซี บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จํากัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) บริษัท บีซีพีจี จํากัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จํากัด บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จํากัด บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด (โลตัส) บริษัท ไออาร์พีซี จํากัด (มหาชน) บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท แพรนด้าจิวเวลรี่ จํากัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจํากัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) บริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ที่มาผนึกกําลังร่วมกับสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เป็นภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เดินหน้าเร่งลงมือทําอย่างจริงจังและวัดผลได้ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยภายในงานมีเสวนาถึง 5 เวที5 หัวข้อได้แก่ การประเมินสถานการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป บทบาทของภาคการเงินและการลงทุน บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสรุปการหารือและการดําเนินการต่อไป