ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “บราซิล” แหล่งอาหารเช้าของโลกเผชิญไฟป่า น้ำค้างแข็ง ภัยแล้ง สั่นคลอนสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก

“บราซิล” แหล่งอาหารเช้าของโลกเผชิญไฟป่า น้ำค้างแข็ง ภัยแล้ง สั่นคลอนสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก

25 ตุลาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.bloomberglinea.com/2021/09/28/the-country-that-makes-breakfast-for-the-world-is-plagued-by-fire-frost-and-drought

พืชผลในบราซิลทั้งถูกเผา ถูกแช่แข็ง และยังเหี่ยวเฉาจากภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในศตวรรษ ส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกอย่างมาก

ไม่มีประเทศใดในโลกที่ส่งอาหารเช้าถึงโต๊ะในครัวให้กับโลกมากไปกว่าบราซิล

บราซิลในพื้นที่ราบกว้างใหญ่และที่ราบสูงที่อยู่เหนือชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกผลิตน้ำส้มส่งออกเป็น 4 ใน 5 ของโลก รวมถึงส่งออกน้ำตาลครึ่งหนึ่งของโลก ส่งออกกาแฟ 1 ใน 3 ของโลก และส่งออกข้าวโพดสำหรับเลี้ยงแม่ไก่ไข่และสัตว์อื่นๆ 1 ใน 3 ของโลก

ดังนั้น เมื่อพืชผลในภูมิภาคนี้ถูกแผดเผาและตามด้วยถูกแช่แข็งติดต่อกันในปีนี้ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ทำให้เกิดภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในศตวรรษ และต่อด้วยแนวปะทะมวลอากาศแอนตาร์กติก (Antarctic front) ที่ทำให้แผ่นดินถูกปกคลุมไปด้วยน้ำค้างแข็งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ทำให้ราคาของเมล็ดกาแฟอาราบิกาพุ่งสูงขึ้น 30% ใน 6 วันในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ราคาน้ำส้มพุ่งสูงขึ้น 20% ใน 3 สัปดาห์ และราคาน้ำตาลแตะจุดสูงสุดในรอบ 4 ปีในเดือนสิงหาคม

ที่มาภาพ: https://www.bloomberglinea.com/2021/09/28/the-country-that-makes-breakfast-for-the-world-is-plagued-by-fire-frost-and-drought/

ราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นนำไปสู่ภาวะราคาอาหารระหว่างประเทศเฟ้อ โดยดัชนี U.N. เพิ่มขึ้นถึง 33% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางการเงินมากขึ้นขณะที่โควิดยังระบาด และส่งผลให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำหลายล้านครอบครัวทั่วโลกลดการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคลง

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นสัญญานตือน โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและการลดลงของความชื้นในดินจะสร้างหายนะให้กับพื้นที่เพาะปลูกในบราซิลและส่วนอื่นๆ ของโลกมากขึ้น

“มันเป็นวงจรอุบาทว์” Marcelo Seluchi นักอุตุนิยมวิทยาจากศูนย์เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster Monitoring and Alert Center) ของบราซิลกล่าว “ไม่มีฝนเพราะไม่มีความชื้น ไม่มีความชื้นเพราะไม่มีฝน” และกล่าวอีกว่า การทำลายป่าแอมะซอน ซึ่งเหล่าเจ้าของฟาร์มตัดต้นไม้เพื่อเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชนั้นถือเป็นสาเหตุสำคัญ และจากการคำนวณของเขาแล้ว บราซิลไม่มีฤดูฝนตามปกติมาตั้งแต่ปี 2010

“มันเป็นปีที่แปลกมาก” เขากล่าว “น้ำท่วมในเยอรมนีและจีน และมีปัญหาภัยแล้งรุนแรงในบราซิล”

ที่มาภาพ: https://www.bloomberglinea.com/2021/09/28/the-country-that-makes-breakfast-for-the-world-is-plagued-by-fire-frost-and-drought/

นอกจากนี้ ยังมีภัยแล้งข้ามพรมแดนในอาร์เจนตินา ชิลี แคนาดา มาดากัสการ์ เม็กซิโก รวมถึงรัสเซีย ในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งในฤดูร้อนนี้ โดยฝั่งตะวันตกถูกโจมตีด้วยคลื่นความร้อน ไฟป่า และภัยแล้งรุนแรงเช่นเดียวกับในบราซิล ทะเลสาบและแม่น้ำขนาดใหญ่แห้งเหือดทำให้เกิดปัญหาในการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ ในขณะที่ฝั่งตะวันออกนั้นได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนและน้ำท่วมครั้งรุนแรง

“โลกอยู่บนเส้นทางที่อันตรายมาก” Seluchi กล่าว

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Environmental Economics and Management ระบุว่า

สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผลผลิตพืชผลลดลง 10% ในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 5

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในบราซิลทำให้มองเห็นถึงอนาคต ในระหว่างภัยแล้งและน้ำค้างแข็งปกคลุม พืชผลบนพื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านตารางกิโลเมตรเสียหาย ซึ่งคิดเป็นขนาดเทียบเท่ากับประเทศเปรู และที่น่าตกใจมากที่สุดคือกาแฟ เมล็ดกาแฟเสียหายไป 590 ล้านกิโลกรัมหรือกว่า 1.3 พันล้านปอนด์ เทียบเท่ากับปริมาณที่ชาวอเมริกันชงดื่มทุกวันเป็นเวลากว่า 4 เดือน

ซึ่งนี่ทำให้เหล่าผู้ค้าปลีกกาแฟรายใหญ่ของโลก อย่างเช่น Starbucks Corp. และ Nestle SA เร่งจัดหาสินค้ากันอย่างบ้าคลั่ง

Jack Scoville เทรดเดอร์ที่ Price Futures Group ซึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในชิคาโกกล่าวว่า “ผู้ค้าปลีกเหล่านี้กำลังแย่งชิงกันอย่างหนัก” Starbucks กล่าวในแถลงการณ์ว่า มักจะซื้อเมล็ดกาแฟล่วงหน้าหลายเดือน และ Mark Schneider ซีอีโอของ Nestle บอกกับนักลงทุนในการประชุมผ่านทางไกลในเดือนกรกฎาคมว่า บริษัทได้ป้องกันฐานะการเงินโดยการซื้อสัญญาป้องกันความเสี่ยงที่ครอบคลุมไปถึงต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม Scoville เตือนว่าการล็อกราคาได้สำเร็จไม่ได้หมายความว่าจะมีกาแฟเพียงพอในระยะยาว เขาคาดการณ์ว่าการขาดแคลนผลผลิตในบราซิลจะทำให้ตลาดสั่นคลอนไปอีกหลายปี จากที่ปกติแล้วผู้ซื้อจะซื้อเมล็ดกาแฟทั้งหมดจากบราซิลและเวียดนาม ก็หันไปซื้อจากที่อื่นเพื่อพยายามจะทดแทนเมล็ดกาแฟส่วนที่ขาดไป

ในอิสตันบูล Bader Olabi พนักงานคั่วเมล็ดกาแฟกำลังพยายามตามหาซัพพลายเออร์รายใหม่ทั้งในโคลอมเบีย อินเดีย และแอฟริกา เพื่อนำมาทดแทนเมล็ดกาแฟประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์ที่เขารับมาจากบราซิลในทุกๆ ปี เขารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่ากาแฟเหล่านั้นก็อร่อยไม่แพ้กัน สำหรับในตุรกีแล้ว Olabi กล่าวว่า “กาแฟบราซิลดีที่สุด”

ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส บริษัท Greater Goods Coffee Co. ซึ่งเป็นบริษัทคั่วเมล็ดกาแฟแบบพิเศษ กำลังวางแผนที่จะขึ้นราคาเร็วๆ นี้เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นของเมล็ดกาแฟ โดย Sara Gibson หัวหน้านักคั่วเมล็ดกาแฟ กล่าวว่าลูกค้าต้องยอมรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเพื่อช่วยให้การทำไร่ยั่งยืนมากขึ้นในยุคของ climate change

ในบราซิลคาดว่าเมล็ดกาแฟจะลดลงมากกว่า 25% ในปีนี้ ซึ่งจุดหนึ่งที่ได้รับความเสียหายคือเมืองคาคอนเจ (Caconde) ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเซาเปาโล

กาแฟถือเป็น 80% ของเศรษฐกิจที่นี่ ถ้าหากมองลงมาจากยอดเขาจะเห็นไร่กาแฟสุดลูกหูลูกตา หนึ่งในนั้นคือไร่กาแฟเล็กๆ ของอดีตนายธนาคารวัย 70 ปีชื่อ Antonio Ribeiro Goulart ซึ่ง Goulart สูญเสียไปทั้งหมดเนื่องจากน้ำค้างแข็ง

ใบของต้นกาแฟทั้งหมดประมาณ 11,000 ต้นที่ Goulart มี เปลี่ยนจากสีเขียวสดใสเป็นสีน้ำตาลหม่นภายในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง “พวกมันเคยงดงามมากก่อนที่จะเกิดน้ำค้างแข็ง” เขากล่าว

ในปีนี้รวมถึงปีหน้า Goulart จะไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยว หรือแม้แต่ปี 2023 เองก็อาจจะไม่มีผลผลิตเช่นกัน และเช่นเดียวกันกับชาวสวนหลายพันรายที่อยู่รอบๆ Goulart จะทำการตัดกิ่งต้นกาแฟทั้งหมดเพื่อหวังว่ามันจะแตกหน่อใหม่ ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้น Goular จะต้องฟันต้นกาแฟทิ้งและเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่อีกครั้ง

“ไม่มีวิธีแก้อื่น” Goulart กล่าว

ที่มาภาพ: https://www.bloomberglinea.com/2021/09/28/the-country-that-makes-breakfast-for-the-world-is-plagued-by-fire-frost-and-drought/

ซึ่งความจริงแล้วก่อนหน้าที่ลมขั้วโลกจะพัดผ่าน ผลผลิตในคาคอนเจนั้นอ่อนแออยู่แล้ว เนื่องจากภัยแล้งซึ่งเข้าสู่เดือนที่ 7 แล้วนั้นรุนแรงเกินกว่าที่จะทำให้ผลผลิตงอกงามได้ และความชื้นในดินยังลดลงเหลือเพียงแค่ 20% ซึ่งตามหลักการแล้วตัวเลขนี้ควรจะอยู่ที่ประมาณ 60% Ademar Pereira หัวหน้าสมาคมผู้ปลูกกาแฟในท้องถิ่นกล่าว

Pereira ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ทั้งสนามหญ้าที่กลายเป็นสีน้ำตาล ร่องรอยบนภูเขาจากไฟป่าครั้งล่าสุด และอ่างเก็บน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าที่ระดับน้ำต่ำมากจนท่าจอดเรือที่สร้างไว้ริมน้ำตอนนี้อยู่ห่างออกไป 1 ส่วน 4 ไมล์

“มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” Pereira กล่าว

เมื่อคำนวณจากปริมาณสะสมของน้ำฝนที่ขาดหายไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจากหลายๆ แอ่งน้ำในบราซิล ปริมาณที่หายไปนั้นเทียบเท่ากับปริมาณน้ำฝนประมาณ 1 ปี ตามข้อมูลของ ONS ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเครือข่ายจ่ายไฟฟ้าแห่งชาติของบราซิล ลมฝนที่เหล่าชาวสวนพึ่งพาก็พัดมาถึงช้าลงๆ ในทุกปี นอกจากนี้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) คาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่แย่ลงกว่านี้ ฤดูแล้งจะยาวนานขึ้นและจะคลอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ตอนกลางของบราซิลไปจนถึงแอมะซอน

ณ เมืองโนวา มูตุม (Nova Mutum) ในเดือนกรกฎาคม Cleverson Bertamoni เห็นควันลอยขึ้นมาจากไร่ข้าวโพดของเขาเนื่องจากไฟไหม้ ซึ่งลุกลามเกือบ 6 ชั่วโมง ทำให้พื้นที่เกือบ 250 เอเคอร์ถูกทำลาย และสูญเสียข้าวโพดไปกว่า 1.6 ล้านถุง

สำหรับ Bertamoni ในวัย 43 ปี เขากล่าวว่ามันไม่เหมือนกับไฟไหม้ครั้งใดๆ ที่เขาเคยพบเจอมาตั้งแต่เริ่มทำไร่ข้าวโพดและถั่วเหลือง เนื่องจากในตอนนี้พื้นดินแห้งมาก ดังนั้นแค่ประกายไฟธรรมดาก็ทำให้เกิดเปลวไฟลุกไหม้ได้แล้ว “มันกระจายไปเร็วมาก” เขากล่าว ซึ่ง Bertamoni คิดว่าตราบใดที่มีฝนตกเขาจะสามารถรอดพ้นจากไฟไหม้ได้