ThaiPublica > เกาะกระแส > ปฏิบัติการ Lava Jato (ล้างรถยนต์) ที่โด่งดังของบราซิล ความสำเร็จของการใช้หลักนิติธรรมกับปัญหาคอร์รัปชัน

ปฏิบัติการ Lava Jato (ล้างรถยนต์) ที่โด่งดังของบราซิล ความสำเร็จของการใช้หลักนิติธรรมกับปัญหาคอร์รัปชัน

8 ธันวาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในวันที่ 14 มกราคม 2015 นายตำรวจบราซิลชื่อ นิวตัน อิชิอิ (Newton Ishii) เดินทางไปสนามบินเมืองรีโอเดจาเนโร เพื่อนำตัวนายเนสเตอร์ เซอร์เวอโร (Nestor Cervero) ผู้บริหาร บริษัท Petrobras บริษัทน้ำมันแห่งชาติของบราซิล ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไปพบพนักงานสอบสวน นิวตัน อิชิอิ คิดว่ากรณีนี้คงจะไม่ยืดเยื้อ เพราะที่ผ่านๆ มา คนมีฐานะร่ำรวยและมีอิทธิพลอำนาจของบราซิลมักจะหลุดคดีต่างๆ มาตลอด

แต่นิวตัน อิชิอิ ก็คิดผิด การสอบสวนที่นำไปสู่การจับกุมผู้บริหารของ Petrobras ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่มีชื่อเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Operation Lava Jato หรือ “ปฏิบัติการล้างรถยนต์” ที่สามารถสืบสวนจนพบเครือข่ายคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดของบราซิล เมื่อรวมถึงบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเป็นการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ของโลก มีการจ่ายเงินที่ผิดกฎหมายมูลค่าถึง 5 พันล้านดอลลาร์ ให้กับผู้บริหารบริษัท นักการเมือง และพรรคการเมือง ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้มหาเศรษฐีด้านธุรกิจก่อสร้างใหญ่สุดของบราซิลต้องติดคุก ประธานาธิบดีต้องขึ้นศาล และรัฐบาลต้องล้มพังลงไป

ปฏิบัติการ “ล้างรถยนต์”

ปฏิบัติการล้างรถยนต์ของบราซิลเริ่มขึ้นเมื่อมีนาคม 2014 โดยพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจแลกเงินของตลาดมือในเมืองหลวงบราซิล ที่อาศัยธุรกิจเล็กๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน และร้านล้างรถยนต์ เป็นแหล่งฟอกเงิน แต่ต่อมาตำรวจค้นพบว่าแหล่งฟอกเงินเหล่านี้ เป็นเครือข่ายใหญ่ของผู้บริหารบริษัท Petrobras ที่ใช้โอนเงินจากการได้มาอย่างไม่ถูกกฎหมาย เงินเหล่านี้ได้มาจากการอนุมัติโครงการให้กับบริษัทก่อสร้างในราคาประมูลที่สูงเกินจริง โดยผู้รับเหมาต้องจ่าย 1-5% ให้กับกองทุนลับๆ ที่ตั้งขึ้นมา

หลังจากนั้น ผู้บริหาร Petrobras จะโอนเงินให้กับนักการเมืองที่เป็นคนแต่งตั้งพวกเขา รวมทั้งให้กับพรรคการเมืองที่นักการเมืองนั้นสังกัด จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นเงินสนับสนุนการเลือกตั้งให้กับบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาลให้ยังคงมีอำนาจต่อไป ระบบการโอนเงินมีความซับซ้อนเพื่อไม่ให้รู้ที่มาเงินต้นทางของเงิน ทำให้ต้องอาศัยวิธีการโอนเงินแบบโลว์เท็ค คือบรรดาร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือร้านล้างรถยนต์

ปฏิบัติการล้างรถยนต์ของบราซิลจึงกลายเป็นการสืบสวนครั้งใหญ่ต่อการคอร์รัปชันที่เป็นระบบเครือข่าย นอกจากจะค้นพบเครือข่ายคอร์รัปชันระหว่างบริษัทก่อสร้างกับรัฐวิสาหกิจชั้นนำของบราซิลอย่างเช่น Petrobras แล้ว ยังมีธนาคาร Brazilian National Development Bank และการไฟฟ้าบราซิลชื่อ Eletrobras สำนักงานอัยการบราซิลต้องการเรียกเงินที่เสียหายกลับคืนมา 12 พันล้านดอลลาร์

ปฏิบัติการล้างรถยนต์แสดงให้เห็นว่า บราซิลกำลังจะกลายมาเป็นประเทศที่มีกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน สำนักงานตำรวจแห่งรัฐ กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการเปลี่ยนเป็นองค์กรรัฐที่มีประสิทธิผลในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย โดยสามารถดำเนินการฟ้องคนที่มีอำนาจอิทธิพล การสอบสวนขยายไปถึง 9 บริษัทก่อสร้างชั้นนำ เครือข่ายคอร์รัปชันใหญ่ 4 เครือข่าย ประธานาธิบดี 2 คน และนักการเมืองจำนวนมาก

ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/97/Montagem_Lava_Jato.jpg

กระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง

สถาบัน CATO Institute ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ชื่อ Corruption and the Rule of Law: How Brazil Strengthened Its Legal System โดยกล่าวว่า ปฏิบัติการล้างรถยนต์แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหลายอย่างทำให้บราซิลกลายมาเป็นประเทศที่มีกระบวนการนิติธรรมที่เข้มแข็ง การปฏิรูปดังกล่าวประกอบด้วย

    (1) การใช้วิธีการต่อรองให้รับผิดในการสอบสวน
    (2) การตั้งองค์กรรัฐ เพื่อกำกับดูแลงานการฟ้องคดี
    (3) การคัดเลือกบุคลากรด้านยุติธรรมจากความสามารถ
    (4) ความเป็นอิสระมากขึ้นของหน่วยงานอัยการและตำรวจส่วนกลาง

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญของบราซิล คือ การต่อรองให้จำเลยรับผิด (plea bargain) วิธีการนี้มักใช้ทั่วไปในประเทศ ที่ยึดถือกฎหมายแบบจารีตนิยม (common law) แต่ไม่ค่อยมีการนำมาใช้ในประเทศที่มีกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (civil law) ทุกวันนี้ การใช้วิธีการต่อรองกับจำเลย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมบราซิล โดยอัยการและจำเลยเจรจาต่อรองกันในเรื่องการรับผิด

บราซิลเริ่มใช้วิธีการต่อรองกับจำเลยในคดีอาชญากรรมมาตั้งแต่ปี 1990 แต่ในปี 2013 บราซิลออกกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การใช้วิธีการต่อรองเพื่อการรับผิดของจำเลย โดยวิธีการนี้จะชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การระบุคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิด การเปิดเผยข้อมูลเรื่องโครงสร้างและการทำงานขององค์กรอาชญากรรม ช่วยป้องกันไม่ให้มีการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น หรือช่วยนำประโยชน์ที่เสียหายกลับคืนมาทั้งหมดหรือบางส่วน และข้อมูลที่ทำให้ผู้เป็นเหยื่ออาชญากรปลอดภัยทางด้านชีวิตและร่างกาย เป็นต้น

การกำหนดเงื่อนไขเรื่องการต่อรองกับจำเลยก็เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเกิดประสิทธิผล จำเลยที่ให้ความร่วมมือจะได้ประโยชน์ เช่น ความเป็นไปได้ที่ระยะเวลาจำคุกลดลงถึง 2 ใน 3 หรือการใช้การลงโทษจากการจำกัดสิทธิแทนการจำคุก หรือจำเลยอาจจะพ้นผิดหากความร่วมมือของจำเลยมีนัยสำคัญ เป็นต้น แต่การร่วมมือของจำเลยต้องเปิดเผยหลักฐานการทำผิด วิธีการต่อรองกับจำเลยนี้ทำให้ปฏิบัติการล้างรถยนต์ได้ผลมาก เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2017 มีการตกลงการรับผิดกับจำเลยแล้ว 155 ราย และสามารถเรียกเงินคืนเข้ารัฐมาแล้ว 225 ล้านดอลลาร์

การสารภาพของจำเลยจากการต่อรองทำให้ได้หลักฐานการเชื่อมโยงของนักการเมืองกับกระบวนการฟอกเงินนี้ รวมถึงอดีตประธานาธิบดี Dilma Rousseff และ Lula da Silva หากไม่มีวิธีการต่อรองการรับผิดของจำเลย การสืบสวนของยุทธการล้างรถยนต์คงจะไม่สามารถมาได้ไกลขนาดนี้ วิธีการนี้ทำให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเลยมีแรงจูงใจที่จะให้ความร่วมมือกับการสอบสวน เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่จำเลยพ้นผิดลอยนวล ไม่เกิดขึ้นในบราซิลอีกแล้ว

บราซิลกลายเป็นประเทศที่กระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งมากขึ้น ที่มาภาพ: http://en.mercopress.com/2017/07/08/brazilian-government-prunes-the-corruption-investigation-operation-car-wash

ประเทศที่ธุรกรรมมี “ต้นทุนบราซิล”

บราซิลเป็นประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ต้องต่อสู้กับสภาพ “การด้อยพัฒนา” มาเป็นเวลาหลายสิบปี บางคนบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุที่เรียกว่า “ต้นทุนบราซิล” (Brazil Cost) คือการทำธุรกิจต้องมีต้นทุนสะสม ทั้งในรูปการจ่ายสินบน และต้องกินเวลาที่เนิ่นนาน บางคนก็กล่าวว่า สาเหตุมาจากการขาดการลงทุนที่พอเพียงด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ และการศึกษา

ที่สำคัญ คอร์รัปชันที่เป็นระบบเครือข่าย ทำให้ระบอบประชาธิปไตยตกต่ำและเสื่อมลง ประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองของรัฐบาลจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน แต่คอร์รัปชันกลายเป็นวิธีการที่ทำให้นักการเมืองมีอำนาจและสามารถครองอำนาจต่อเนื่องไป การลงทุนของรัฐมาจากการตัดสินใจของผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจเอกชน ทรัพยากรต่างๆ เพื่อการพัฒนา แทนที่จะใช้ไปกับการปรับปรุงชีวิตของคนทั่วไป หรือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ก็ต้องไปหล่อเลี้ยงระบบพรรคการเมือง

แต่ปฏิบัติล้างรถยนต์ของบราซิล เป็นการส่งสัญญาณแก่คนทุกกลุ่มในบราซิล ผู้นำประเทศ รวมทั้งผู้นำภาคธุรกิจ จะถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม หากว่าการตัดสินใจลงทุนของหน่วยงานรัฐมาจากวิธีการคอร์รัปชัน ปฏิบัติการล้างรถยนต์ของบราซิลที่สามารถกวาดล้างเครือข่ายคอร์รัปชันที่กว้างขวางทำให้บราซิลก้าวสู่รากฐานใหม่ที่ตั้งบนหลักการที่ว่า ความหมายของความยุติธรรมคือการบังคับใช้กับคนทุกคน

เอกสารประกอบ
Corruption and the Rule of Law: How Brazil Strengthened Its Legal System. Geanluca Lorenzon, CATO Institute, November 20, 2017.