ThaiPublica > คอลัมน์ > กาแฟคุณภาพ…ทางออกของเกษตรกรไทย

กาแฟคุณภาพ…ทางออกของเกษตรกรไทย

5 กรกฎาคม 2020


วริทธิ์นันท์ ชุมประเสริฐ, นุชนารถ คูประเสริฐ, อาทร เจียมเด่นงาม และอภิชญา ศรีรัตน์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมล็ดกาแฟสด
เมล็ดกาแฟสด

ก่อนจะพูดถึง “กาแฟจะเป็นทางออกให้เกษตรกรไทยได้อย่างไร” คงต้องเริ่มจากความสำคัญของกาแฟก่อน ปัจจุบันข้อมูลทางสถิติพบว่าคนไทยดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี หรือดื่ม 300 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่คนต่างชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นดื่ม 400 แก้วต่อคนต่อปี และชาวยุโรปดื่ม 500 แก้วต่อคนต่อปี รวมทั้งพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จากการดื่มเพื่อความสดชื่นสู่การดื่มเพื่อบ่งบอกไลฟ์สไตล์และรสนิยมเฉพาะของตน สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการบริโภคกาแฟมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้ากาแฟที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติหลายคนมีการซื้อเมล็ดกาแฟมาชงเองผ่านการสั่งซื้อจากไร่หรือโรงคั่วผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้ขายเพิ่มขึ้นจากแรงงานนอกภาคเกษตรที่กลับท้องถิ่นและมีความรู้ด้านการทำการตลาดออนไลน์ จึงทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภคได้โดยตรง

กาแฟ 101: รู้จักสายพันธุ์และภาพรวมตลาดกาแฟไทย

กาแฟหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่รู้จักกันทั่วไปมี 4 สายพันธุ์ คือ อะราบีกา โรบัสตา เอ็กซ์เซลซา และลิเบอริกา แต่เอ็กซ์เซลซาและลิเบอริกาไม่นิยมปลูกเพื่อการค้า เนื่องจากรสชาติไม่ค่อยดี เราจึงเห็นเพียงอะราบีกาและโรบัสตาวางจำหน่ายอยู่เท่านั้น อย่างไรก็ดี การปลูกอะราบีกามีข้อจำกัดมากกว่าโรบัสตา เพราะเน้นปลูกในที่สูง อากาศเย็น และทนต่อโรคน้อย ทำให้ได้ผลผลิตน้อยกว่า แต่ด้วยราคาที่สูงกว่าจึงจูงใจให้เกษตรกรทั่วโลกยังคงปลูกอะราบีกาเป็นหลัก ส่วนในประเทศไทย พื้นที่ปลูกอะราบีกาจะอยู่ทางภาคเหนือ ขณะที่ภาคใต้จะนิยมปลูกโรบัสตา เนื่องจากภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสม

เมื่อมองลึกลงไปในเรื่องของตลาดกาแฟไทย ในแต่ละปีความต้องการบริโภคกาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดปี 2562 มีความต้องการสูงถึง 10 ล้านตัน แต่หากดูข้อมูลการผลิตกาแฟทั่วโลกแทบจะไม่เห็นโอกาสสำหรับเกษตรกรไทย เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่มาจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 5 ประเทศ คิดเป็นส่วนแบ่งผลผลิตอะราบีกากว่า 75% และโรบัสตากว่า 90% ของผลผลิตทั้งหมดทั่วโลก อีกทั้งในด้านราคา พบว่า ราคาอะราบีกามีแนวโน้มลดลง ขณะที่ราคาโรบัสตายังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

ดังนั้น หากเกษตรกรหันมาผลิตกาแฟคุณภาพ จะช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากตลาดกาแฟทั่วไป ต้นทุนในไทยสูงกว่า ขณะที่ราคาไม่แตกต่างจากราคาในตลาดโลก ซ้ำยังถูกแข่งขันมากขึ้นจากการเปิดเสรีนำเข้ากาแฟของสมาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลตัวเลขการผลิตกาแฟ โดยเฉพาะโรบัสตาที่ลดลงมากจากการลดพื้นที่ปลูก

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทยที่เปลี่ยนไป ต้องการกาแฟที่มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ทั้งร้านกาแฟพรีเมียมที่เป็นแฟรนไชส์และร้านกาแฟท้องถิ่นที่เน้นกาแฟคุณภาพยังเห็นโอกาสเติบโต ส่งผลให้ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีร้านกาแฟสดเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 6.2% มีการจ้างงานในสายอาชีพเพิ่มขึ้นมากทั้งบาริสตา คนทำการแปรรูป และคนคั่วกาแฟ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ (Q-grader) ที่ผ่านการรับรองโดยสถาบันคุณภาพกาแฟหลายร้อยคน

ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟไทยหลายรายเห็นตรงกันว่า คุณภาพกาแฟไทยดีกว่าในหลายประเทศ ทำให้ยังมีความต้องการสูงจากร้านกาแฟที่เน้นกาแฟคุณภาพ ทั้งนี้ แม้ว่าร้านกาแฟส่วนใหญ่ยังคงใช้อะราบีกาเป็นหลัก เพราะรสชาติที่ละมุนและกลิ่นที่หอมกว่าโรบัสตา แต่ปัจจุบันพบว่าหลายร้านได้นำโรบัสตาเกรดคุณภาพไปผสมกับอะราบีกา เพื่อดึงความเข้มข้นของกาแฟให้โดดเด่นขึ้นมา

การเก็บเกี่ยวของกาแฟ Robusta เกรดอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกาแฟสำเร็จรูปที่ใช้โรบัสตาเป็นหลัก ได้เริ่มออกผลิตภัณฑ์ที่เป็น single-origin สำหรับโรบัสตา เพื่อตอบสนองความต้องการกาแฟคุณภาพของลูกค้า

ดังนั้น หากจะตอบคำถามที่ว่า “เกษตรกรควรมุ่งไปทางไหนเพื่อมีรายได้ที่ยั่งยืน” คงต้องตอบว่า ทางออกที่ดีที่สุดของกาแฟไทยไม่ใช่การขายปริมาณ แต่เน้นขายคุณภาพที่เกษตรกรกำหนดราคาได้เอง

ทางออกเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมผลิตกาแฟคุณภาพ คือ กาแฟที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้บริโภคให้ความสำคัญและใส่ใจ เพื่อนำไปสู่การผลิตกาแฟคุณภาพ จำเป็นต้องทลายข้อจำกัดที่อุตสาหกรรมกาแฟไทยกำลังเผชิญ ประกอบด้วย

1. ต้นน้ำ (เกษตรกร)

เกษตรมีข้อจำกัดร่วมกัน คือขั้นตอนการผลิตที่มีรายละเอียด ต้นทุนการผลิตที่สูง และหนี้ครัวเรือน ทำให้เกษตรกรไม่กล้าเปลี่ยน รวมถึงขาดความรู้ในการเพิ่มมูลค่าหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ขายได้ราคาต่ำ ในส่วนของข้อจำกัดเฉพาะอะราบีกา คือพื้นที่ส่วนใหญ่ในการปลูกไม่มีเอกสารสิทธิ

การแก้ปัญหาปัญหาข้างต้นได้ ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น แต่ราคาที่ขายได้จะสูงกว่ามาก” โดยอาจเริ่มด้วยการทยอยปรับพื้นที่บางส่วนมาผลิตกาแฟคุณภาพ (ทำได้ทั้งไร่กาแฟเดิมและไร่ที่ปลูกพืชอื่น) เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องแบกภาระต้นทุนมากเกินไป ต้องเปลี่ยนรูปแบบการขายจากผลเชอร์รีสดที่ได้ราคาต่ำ เป็นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การแปรรูปผลผลิต ทั้งในรูปแบบ แห้ง (dry process) แบบเปียก (washed process) แบบกึ่งเปียกกึ่งแห้ง (semi-washed process) และการเพิ่มมูลค่า โดยทำให้เมล็ดกาแฟเป็นที่รู้จัก เช่น การเข้าประกวดเมล็ดกาแฟและการสร้างแบรนด์ เช่น กาแฟดอยช้าง กาแฟขุนช่างเคี่ยน และกาแฟอาข่า อ่ามา

สำหรับข้อจำกัดสุดท้ายในเรื่องพื้นที่ส่วนใหญ่ในการปลูกอะราบีกาไม่มีเอกสารสิทธิ์ ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือในการอนุญาตใช้พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในลงทุน ทั้งนี้ มีตัวอย่างเกษตรกรบางพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การปลูกกาแฟใน จ.น่าน, อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และดอยช้าง จ.เชียงราย เพื่อลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและลดปัญหาหมอกควันได้ด้วย

เมล็ดกาแฟ

2. กลางน้ำ (โรงคั่ว)

อุปสรรคร่วมของโรงคั่วก็คือ โรงคั่วกาแฟวิสาหกิจชุมชนบางแห่งยังขาดมาตรฐานและความรู้การคั่วกาแฟแต่ละชนิด ส่วนเกษตรกรที่ต้องการลงทุนทำกาแฟคั่วบดยังขาดความเชี่ยวชาญและเงินทุนดำเนินการ ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างโรงคั่วกาแฟผ่านการส่งเสริมกิจกรรมรวมกลุ่มผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟ เช่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การแข่งขันประกวดการคั่วกาแฟ เพื่อยกระดับโรงคั่วกาแฟให้มีมาตรฐานและความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคั่วกาแฟแต่ละชนิดมากขึ้น

นอกจากนี้ เกษตรกรควรดำเนินงานในลักษณะวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น โดยอาจเริ่มต้นจากให้บางกรรมวิธีจ้างการผลิตกับโรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการลงทุนในเครื่องจักรได้ค่อนข้างมาก ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ คือวิสาหกิจกาแฟถ้ำสิงห์ จ.ชุมพร

3. ปลายน้ำ (ร้านกาแฟ)

ข้อจำกัดเฉพาะโรบัสตา ได้แก่ ผู้บริโภคยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรบัสตา ทำให้ร้านกาแฟส่วนใหญ่ยังไม่กล้านำเข้ามาขายเพื่อเป็น single-origin ดังนั้น การแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวด้วยการเพิ่มความรู้และช่องทางในการนำเสนอความพิเศษของกาแฟให้ผู้บริโภค นอกจากจะสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างให้กับร้านแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของกาแฟคุณภาพ เช่น ร้านขมิ้น ในกรุงเทพฯ นำกาแฟไฟน์โรบัสตาจากระนองมาใช้

การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง จะช่วยให้กาแฟไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันช่วยเกษตรกรยกระดับผลผลิตกาแฟให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อตอบสนองการบริโภคที่กำลังขยายตัว ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของประเทศ

สำหรับข้อเสนอแนะในการช่วยเหลือต้นน้ำ (เกษตรกร) ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐในแต่ละพื้นที่ผลักดันโครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) มากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมความรู้ในการปลูกกาแฟและการแปรรูปในชุมชน รู้จักบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของกาแฟและสามารถเป็นต้นแบบเกษตรสมัยใหม่ให้กับเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ในท้องถิ่นได้

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐช่วยคัดเลือกและแจกจ่ายเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และกรมป่าไม้จังหวัด ควรเร่งจัดสรรที่ดินทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่เกษตรกรใช้ทำกินตกทอดกันมานาน ให้สามารถใช้เป็นที่ดินทำกินได้ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามเงื่อนไข สนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งสนับสนุนเกษตรกรภาคเหนือปลูกกาแฟชดเชยพื้นที่ปลูกข้าวโพด เพื่อลดการเผาป่าและเป็นการช่วยรักษาป่าต้นน้ำ

สำหรับกลางน้ำ (โรงคั่ว) หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เป็นตัวกลางผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟเอกชนรายใหญ่ รายเล็ก และวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น เช่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีโรงคั่วกาแฟรายใหญ่มาเป็นผู้ให้ความรู้แก่โรงคั่ววิสาหกิจชุมชนหรือรายเล็ก โดยภาครัฐอาจให้การสนับสนุนด้านวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ แก่รายใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟไทย

และสุดท้ายในด้านปลายน้ำ (ร้านกาแฟ) หน่วยงานภาครัฐทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ (Q-grader) เพื่อต่อยอดสร้างการตลาดเมล็ดกาแฟ เช่น การสร้างเรื่องราวกาแฟและรสชาติเฉพาะในแต่ละพื้นที่ และทำงานร่วมกับผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ผลักดันให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับจากร้านกาแฟและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

รายละเอียดงานศึกษาฉบับเต็ม