ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > เตรียมผลักดัน “กฎบัตรอาหารทะเลยั่งยืน” บนเวที “SB’19 Ocean & Beyond, Chumphon” ปลายต.ค.นี้

เตรียมผลักดัน “กฎบัตรอาหารทะเลยั่งยืน” บนเวที “SB’19 Ocean & Beyond, Chumphon” ปลายต.ค.นี้

3 ตุลาคม 2019


ด้วยมหาสมุทรกำลังวิกฤติ ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลง และมลภาวะต่างๆ เช่น ขยะทะเล กำลังส่งผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง งานสัมมนา Sustainable Brands (SB) ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาด้านความยั่งยืนของแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดระดับโลกในปีนี้ จึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ ในการจัดประชุม Sustainable Brands  ครั้งที่ 5 ในประเทศไทย “SB’19 Ocean & Beyond, Chumphon” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2562 นี้ ที่สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร การจัดงานครั้งนี้จึงมีความพิเศษกว่าทุกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกของการจัดประชุมสัมมนาด้านความยั่งยืนของแบรนด์ระดับโลกนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เรากำหนดโจทย์การจัดงานโดยใช้โลคอลธีม (local theme) หรือแนวคิดจากท้องถิ่น” ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Country Director, SB Thailand กล่าวโดยอธิบายว่าการจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Ocean& Beyond” เพราะประเด็นวิกฤติมหาสมุทร และปัญหาระดับโลกด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ทำให้งานนี้ไปไกลถึงชุมพร โดยมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้จากมหาสมุทร ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญด้านอาหารและการท่องเที่ยว ข้อดีของโลคอลธีมคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลประชุม และการระดมความคิด จะกลับมาตอบโจทย์ประเทศโดยเฉพาะ ในมุมแบรนด์ สำหรับประเทศไทยจึงมองศักยภาพเรื่องอาหาร และนั่นเป็นหลายๆ เรื่องที่ต้องผลักดัน

นโยบายการจัดงานในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแบ่งปันความรู้ แต่เน้นสานต่อความรู้สู่การทำงานได้จริงที่วัดผลได้ รูปธรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญในงานจะมีการเปิดตัว “Thailand Sustainable Seafood Manifesto” หรือการประกาศกฎบัตรในกลุ่มผู้ประกอบการอาหารเพื่อสร้างความยั่งยืนของอาหารทะเลในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วนในธุรกิจอาหารทะเลร่วมกันคิดและร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่อาหารทะเล เพื่อรับรองแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการสนับสนุนประเทศไทยเพื่อก้าวเข้าสู่แผนการบริโภคที่ยั่งยืนภายในปี 2573 โดย Sustainable Brand จะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ในการจัดทำชุดมาตรฐานเกี่ยวกับแนวปฏิบัติอาหารทะเลที่ยั่งยืน และสามารถรับรองได้ เพื่อเตรียมขยายผลตามแนวทางอาหารทะเลที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะเชื่อว่าเราทุกคนเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อมหาสมุทรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในธุรกิจอาหารทะเล ตั้งแต่สถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญอาหารยั่งยืน ไปจนกระทั่งเชฟ ร้านอาหาร และตัวแทนจากธุรกิจอาหารอื่นๆ

“เราศึกษาจาก New Nordic Food Manifesto ที่เจ้าของร้านอาหารเขามาประกาศ มีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับวัตถุดิบที่จะใช้ เรามองว่ามันเป็นความพยายามที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ เพราะบางทีที่ไปเริ่มต้นที่คนจับปลา ที่แพปลา มันอาจจะเริ่มต้นยาก แต่ถ้าเริ่มต้นจากปลายน้ำจากร้านอาหาร จากเชฟ ที่เข้าใจเรื่องอาหารที่ยั่งยืน มันก็น่าจะพอเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้เห็นผลในทางปฏิบัติได้ แล้วค่อยขยายวงออกไป โดย SB ก็จะติดตามและขยายผลเรื่องนี้ไปอีกในการประชุม SB ปี 2020 ที่จังหวัดจันทบุรี ” ดร.ศิริกุล กล่าว

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Country Director, SB Thailand

ประเทศนอร์เวย์มี New Nordic Food Manifesto ประเทศสวีเดนมี Food Made Good และประเทศอินเดียมี Food Forward  ในเร็วๆ นี้ก็กำลังจะมี Thailand Sustainable Seafood Manifesto ถามว่าทำไมต้องมี เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อมหาสมุทร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สำหรับเนื้อหาการประชุม “SB’19 Ocean & Beyond, Chumphon” ตลอด 2 วันมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลจังหวัดชุมพร พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุดของภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีป่าชายเลนกว่า 3 หมื่นไร่ และมีระบบนิเวศปากแม่น้ำที่เป็นรอยต่อระหว่างระบบนิเวศบกกับทะเล เพื่อรู้วิธีการปกป้องระบบนิเวศทางชายฝั่งและทางทะเลจากภาวะโลกร้อน มลพิษจากแหล่งบนบก การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน การจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการกำจัดขยะที่เป็นพิษ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทร

งานประชุมได้รับการออกแบบเป็นการผสานมุมมองเชื่อมโยงมหาสมุทรจากนักคิดระดับโลก ซึ่งจะมุ่งเน้นประเด็นอาหารที่ยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน และความรู้เรื่องขยะ โดยวิทยากรสำคัญระดับโลก ได้แก่ มาร์ก บักลีย์ ผู้ก่อตั้ง Sustainable Futurist ผู้บุกเบิกแนวคิดอาหารยั่งยืนกับโจทย์ว่า “ทำไมเราต้องปฏิวัติอาหาร”, ฮาเวียร์ โกเยเนเซ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “อีโคอัลฟ์” แบรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืนจากสเปน ที่ปักธงเรื่อง upcycling ขยะทะเลในธุรกิจแฟชั่น, ทาเนีย ไนเบิร์ก ศิลปินเจ้าของโครงการ Sea Sick Fish โครงการไม่แสวงหากำไรที่ทำงานปกป้องระบบนิเวศน์ทางทะเล

นอกจากนี้ยังมีนักทำระดับตำนาน ปราชญ์ชาวบ้าน นักอนุรักษ์ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ได้แก่ นายอำพล ธานีครุฑ ผู้ใหญ่หรั่งแห่งเกาะพิทักษ์, นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้ง Beanspire   ฯลฯ ในงานจะมี Day Trip 3 เส้นทางในการจัดงานวันแรกเกี่ยวกับ

1. Coffee Co-Creation การเรียนรู้เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานกาแฟจากคอฟฟี่มาสเตอร์จากภาคใต้และภาคเหนือ

2. Young Wisdom ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่น

3. Seafood Journey ร่วมเดินทางไปกับเชฟแบล็ค และผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นเดินตลาด ซื้ออาหารทะเลจากตลาดพื้นบ้านและเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดอาหารที่ยั่งยืนจากการลงมือทำ

“ระหว่างทางที่เราเข้าไปทำงานในพื้นที่ เราพบว่าที่ชุมพรเป็นพื้นที่ที่ชุมชนเข้มแข็ง และมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เราจึงพยายามที่จะผสมผสานและให้เกิดของบางอย่างที่มันน่าจะไปต่อยอดได้ อย่างเรื่องกาแฟ ที่มีลักษณะเฉพาะในแบบการทำกาแฟอุตสาหกรรมของภาคใต้ จะต่อยอดกันอย่างไรเมื่อมาพบกับผู้ประกอบการและคนทำกาแฟจากภาคเหนือที่ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก นั่นรวมถึงความพยายามในการผลักดันเรื่องอาหารทะเลยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย” ดร.ศิริกุล กล่าว

ทั้งนี้ เวที Sustainable Brand กรุงเทพฯ จัดมาแล้วกว่าสิบปี ในเมืองชั้นนำทั่วโลก เช่น แซนดีเอโก ลอนดอน บาร์เซโลนา รีโอเดจาเนโร โตเกียว ซิดนีย์ เคปทาวน์ แวนคูเวอร์ รวมถึงที่กรุงเทพฯ นอกจากเป็นเวทีเรียนรู้ปรัชญา วิธีคิด กระบวนการ และการดำเนินงานเกี่ยวกับแบรนด์ที่ยั่งยืนแล้ว ปีนี้ยังเป็น matchmaker สำคัญของแบรนด์ที่ยั่งยืนหลายแห่งในประเทศไทย

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมงาน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่https://www.sustainablebrandsbkk.com/