ThaiPublica > Sustainability > Contributor > Climate Change : Climate Chance เปลี่ยนตัวเราก่อนเราจะถูกเปลี่ยน

Climate Change : Climate Chance เปลี่ยนตัวเราก่อนเราจะถูกเปลี่ยน

30 ตุลาคม 2021


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา,รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

ที่มาภาพ : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

เพราะกระบวนการธรรมชาติซับซ้อนมาก แต่มนุษย์มักถูกกิเลสพาให้หลงคิดไปว่ามีวิวัฒนาการที่ไม่เพียงไล่ทัน แต่ยังสามารถจัดการกับระบบของธรรมชาติได้

บัดนี้ แม้แต่ผู้นำประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดรวมตัวกัน ก็ยอมรับว่าวิวัฒนาการที่มนุษยชาติได้สั่งสมมาทั้งหมด ไม่พอที่จะรักษาให้พวกเขามั่นใจได้เลยว่า หลานๆของเขาจะมีเผ่าพันธุ์สืบต่อไปได้อีกกี่รุ่น

ผู้นำชาติต่างๆไม่อาจการันตีกับประชากรได้ ว่าหลานๆของประชากรของเขาจะได้มีชีวิตอย่างไม่แร้นแค้น

ปลายเดือนตุลาคม 2021 นี้ คือการพบกันครั้งสำคัญอีกหนของผู้นำโลก เพื่อคุยกันจริงจังว่า เราต้องเอายังไง จึงจะไม่ถูกชนรุ่นหลังจารึกว่า แม้เห็นโค้งสุดท้ายมาถึงแล้ว แต่คนยุคนี้ก็ไม่เลี้ยวพวงมาลัยหลบ แถมยังมุ่งตรงไปสู่ขอบเหวที่ลึกสุดดิ่ง

ที่จริง ผู้นำโลกเดินทางไปพบกันเรื่อง โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะเรือนกระจก และสภาวะแวดล้อมต่างๆมาหลายสิบหนแล้ว

แต่นี่จะเป็นครั้งแรก ที่ผู้นำทุกชาติเจอกันขณะที่ยังเผชิญความท้าทายจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่เห็นทีท่าใดเลย ว่ามันกำลังจะผ่านไป หรือมันละเว้นพื้นที่ใด

ความผยองของเทคโนโลยีใดๆจึงถูกบรรยากาศนี้ บั่นทอนความมั่นใจลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ต่อให้เป็นชาติเจ้าของเทคโนโลยีวัคซีน หรือเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็ตามที

ยังไม่มีชาติใดตอบโจทย์เรื่องโควิดได้จบ สักราย

แทบไม่ต้องคิดว่า โจทย์ระดับภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงจนเข้าขั้นวิกฤตินี้ จะมีคำปลอบขวัญที่ยืนยันได้ว่าจะควบคุมได้

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 (COP26) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปลายเดือนตุลาคมนี้ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ ที่มาภาพ : https://www.ics-shipping.org/event/cop26/

ข้อเขียนนี้ ถูกผูกขึ้นด้วยเป้าประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ทำไม การแก้ปัญหาระดับวิกฤติการณ์ต่อมวลมนุษยชาติหนนี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งใหญ่ของคนยุคเราขนาดไหน

เราทุกคนของยุคนี้ ไม่ว่าท่านจะเจนเนอเรชั่นอะไร

โอกาสรอดจากการถูกประวัติศาสตร์จารึกว่า เราพากันขับรถพุ่งลงเหว ทั้งที่ยังเลี้ยวหลบหรือเบรคกันได้ทัน

จริงอยู่ ว่าเราไม่ใช่ชนรุ่นแรกที่พารถโดยสารวิ่งมาในเส้นทางนี้

แต่ในโศกนาฏกรรมทุกครั้ง ไม่ค่อยมีใครถามหรอกว่า มันเริ่มตอนใครอยู่ แต่จะสนใจว่ามันจบตอนไหน และใครคือผู้ถือพวงมาลัยสุดท้ายก่อนตกเหวดับทั้งคัน

แม้มีข่าวสารให้เราอ่านได้มากมายในอินเทอร์เน็ตว่า ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มายังไง แต่ผมก็อยากพยายามสื่อสารกับผู้อ่านสักหน ว่ามันคืออะไร มายังไง และ เราต้องทำอะไร เพื่อชะลอหรือให้ดีกว่านั้น หยุดมันให้ได้

ขอเริ่มจากสภาพของโลกใบนี้ ก่อนที่จะเกิดปัญหาขนาดนี้นะครับ

ภาวะเรือนกระจกของโลก

เราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า โลกมีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่หลายชั้น มองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็น แต่มันทำหน้าที่ของมันตามระบบที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้อย่างซับซ้อนในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก

ดวงอาทิตย์ส่งคลื่นความร้อนทะลุทุกชั้นบรรยากาศได้ และพื้นผิวโลกก็สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วน กักเก็บความร้อนไว้บางส่วน ซึ่งเกิดจากการดูดซับความร้อนนั้นไว้โดยก๊าซเรือนกระจก ที่มีอยู่หลายชนิด อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจกจึงทำหน้าที่ควบคุมความอบอุ่นของโลกอยู่ให้ในสภาวะที่สมดุล เกิดสภาพอากาศและฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในชั้นบรรยากาศที่ผ่านมาในอดีต มีค่อนข้างสม่ำเสมอ ดังนั้น ภาวะเรือนกระจกจึงมีข้อดีของมันมานับหลายแสนล้านปี

เมื่อเรามีก๊าซเรือนกระจก หรือเรียกโดยทั่วไปว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ได้ เพราะมีก๊าซชนิดนี้ อยู่ในปริมาณมากที่สุด ในชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณที่พองาม

แต่บัดนี้ จากการที่โลกเรามีประชากรมากขึ้น มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องการผลิตไฟฟ้ามาให้เราใช้ ต้องการใช้พลังงานในบ้านเรือน อุตสาหกรรม ตลอดจนต้องการใช้เชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ผลิตขยะและน้ำเสียออกมาในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่อง

ใช่ครับ เราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินสมดุล

ความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้โดยก๊าซเรือนกระจก ในชั้นบรรยากาศจึงมากเกินกว่าที่ควร

ผลก็จะเหมือนเรานั่งรถปิดกระจก และปิดแอร์ ต่อแม้จะเป็นกลางคืน เราก็จะรู้สึกอบอ้าว อึดอัดอยู่ดี และความอึดอัดนี้จะมีทั่วห้องโดยสาร ไม่ว่าใครจะนั่งอยู่เบาะหน้าหรือหลัง จะเอนตัวลงนอน หรือลุกขึ้นยงโย่ยงหยก ก็จะรู้สึกอึดอัดอบอ้าวอยู่ดี

ยิ่งถ้าเรานั่งอัดกันหลายๆคนจะยิ่งอึดอัดเร็ว และอึดอัดมากกว่าการนั่งในรถปิดแอร์แต่เพียงลำพังคนเดียวด้วย

วันนี้ โลกมีประชากรถึง 7 พันล้านคน ยังไม่นับปศุสัตว์ที่เราขุนเลี้ยงกันไว้บริโภคอีกจนเยอะกว่าสัตว์ป่า

จุดนี้แหละครับที่ไม่ว่ารวยหรือจน ประชากรน้อยหรือมาก ก็อยู่ใต้ชั้นบรรยากาศเดียวกัน เพราะดันอยู่ดาวดวงเดียวกัน

ภาวะของเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันรักษาสมดุล ไม่ให้มีก๊าซใดลอยขึ้นไปอยู่มากหรือน้อยจนเกินไป นี่จึงเป็นที่มาของชื่อองค์การมหาชนของไทย ที่เรียกชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

และก็เพราะโลกมันร้อนขึ้นแยะ นับแต่โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ที่มนุษย์มีกิจกรรมเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เราเลยเริ่มมี ภาวะโลกร้อน ซึ่งช่วงแรกเราสังเกตเอาจากการละลายของน้ำแข็งที่ยอดเขาและขั้วโลก ว่ามันละลายหนักกว่าเดิม และละลายนานกว่าฤดูที่มันเคยเป็น

แปลว่าโลกอุ่นขึ้น ศัพท์คำว่า Global warming จึงถูกใช้มาเรื่อย

แต่พอสังเกตนานเข้าก็พบพื้นที่ๆไม่ได้อุ่นขึ้น แต่กลับเย็นหนาวจนหิมะตก ทั้งที่ๆนั่นไม่เคยเจอหิมะมาก่อน
ทีนี้ผู้คนก็เริ่มเห็นภาพของ สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change

จากนั้น ก็มีภัยจากพายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน น้ำท่วมหนัก และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น การเกษตรเสียหาย กระทบต่อรายได้ประชาชน เกิดโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ

ภายหลังมีคนลองขยับคำเรียกไปเป็น Climate Crisis หรือ วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ที่จ๊าบหน่อยก็มีคำเรียกเพิ่มขึ้นว่า ภาวะโลกรวน ด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม…

ที่มาภาพ : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

แต่ในทางการของไทย และของหลายประเทศ ยังคงเรียกสภาวะที่เรากำลังคุยกันนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ต่อไป

เอาล่ะ มาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านคงพอจะเข้าใจว่าแต่ละคำมีที่มายังไง

ตานี้มาดูว่าคำว่า ก๊าซเรือนกระจก ที่ว่าลอยไปสะสมอยู่ที่ชั้นบรรยากาศนั้น มันมายังไง และเราจะลดมันลงได้ยังไงนะครับ

ในทางวิทยาศาสตร์ ก๊าซเรือนกระจกมีหลายอย่างมาก แต่ผู้ร้ายที่สำคัญๆที่เราท่านพอจะมีส่วนร่วมในการลดมันลงได้ ได้แก่

อันดับ 1 ไม่ใช่เพราะมันร้ายกาจพิเศษ แต่เพราะสะสมในชั้นบรรยากาศโลก เยอะมากที่สุด คือเจ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (จากการเผาไหม้ทุกชนิด) อันนี้เป็นก๊าซที่เราท่านรู้จักค่อนข้างดี

การเผาป่า ที่มาภาพ : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

อันดับ 2 คือ ก๊าซมีเทน (มีเทนเป็นส่วนประกอบหลักของก๊าซชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ของซากพืช ซากสัตว์ที่ทับถมมาเป็นเวลานาน การปศุสัตว์ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับของก๊าซีเทนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องด้วย เช่น วัว ควาย ที่เป็นสัตว์กินหญ้า เกิดก๊าซมีเทน และปล่อยออกมาด้วยการตด หรือการเรอ ของวัว ควาย คือ ทั้งเอิ้กอ้ากและทั้งปู้ดป้าด) ก๊าซมีเทนนี้ มีพลังในการเป็นผู้กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศที่ร้ายกาจสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่าตัว ! อีกทั้ง มีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ราว 12 ปี

ส่วนอันดับ 3 ก๊าซไนตรัสออกไซด์ หรือก๊าซหัวเราะ ซึ่งมนุษย์มักใช้ในเวลาผ่าตัด เวลาทำฟัน เพื่อให้มีอาการชา จะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดชั่วคราว นักแข่งรถหลายวงการก็เอาก๊าซนี้ไปใช้ประกอบเพื่อเพิ่มพลังเครื่องยนต์ แต่ท่านทราบหรือไม่ครับว่า ไนตรัสออกไซด์นี้เกิดจากภาคเกษตรกรรมถึง 65% เพราะใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นผู้ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ราว 20% จากการผลิตพลาสติกบางกลุ่ม การผลิตเส้นไนลอน การผลิตกรดกำมะถัน การชุบโลหะ การทำวัตถุระเบิด และการผลิตไบโอดีเซล !!

ไนตรัสออกไซด์มีอายุในชั้นบรรยากาศได้ราวร้อยปี

ดีที่ว่า ไนตรัสออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศยังไม่มาก แต่ที่เราพึงต้องระวังเพราะมันสามารถส่งผลต่อภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปริมาณเดียวกันได้ถึง 265 เท่านี่แหละ

ไนตรัสออกไซด์จึงนับเป็นผู้ร้ายลำดับ 3 ที่เราต้องรู้ไว้ เพราะถ้ามันลอยไปสะสมในชั้นบรรยากาศมาก เจ้าก๊าซหัวเราะมันจะพาเราพังได้เร็วกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก

ทีนี้เหลืออีกตัวการภาวะโลกร้อนจากภาคอุตสาหกรรมแท้ๆ ได้แก่ พวกสาร CFC ซึ่งอยู่ในสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมายาวนานจนเพิ่งถูกเลิกใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้ ตามพิธีสารมอนทรีออล แต่สารประกอบหมวดนี้ของ CFC มีอายุยืนได้นับร้อยจนถึงสามพันปี และไปโดนควบคุมภายใต้พิธีสารมอนทรีออล เพราะ CFC ดันไปก่อให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซน อีกต่างหาก

ดังนั้น เท่าที่ปล่อยๆไปแล้ว แม้เพราะผู้ผลิตยังไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็นับว่าเพียงพอจะไปทำลายความสมดุลมากพอควรแล้ว และมันจะยังคงทำลายต่อไปตราบที่มันยังไม่เสื่อมสลายไปเองตามอายุของมัน

มีคนเคยถามเหมือนกันว่า แล้วทำไมคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ติดท้อป 5 ของผู้ร้ายในเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ยานยนต์ทุกคัน ในเกือบร้อยปีที่ผ่านมาทั่วโลก ต่างก็ปลดปล่อยมาโดยตลอดมิใช่หรือ

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แม้คาร์บอนมอนอกไซด์จะอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์มากๆ ตอนที่มันออกมาจากท่อไอเสีย แต่พอมันเจอชั้นบรรยากาศในธรรมชาติ ออกซิเจนจะค่อยๆ เข้าไปผสมเอง และผลคือมันจะสลายเองในเวลาไม่กี่เดือน

มันจึงไม่ทันได้แสดงฤทธิ์มากนักต่อภาวะเรือนกระจก อย่างก๊าซอื่นที่มีช่วงชีวิตยาวนานมากๆ ที่ติดท้อป 4 ข้างต้นของข้อเขียนนี้

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผมได้เล่าให้เห็นภาพว่าก๊าซเรือนกระจกคืออะไร มาจากไหน

ดังนั้น แน่นอนว่าการลดกิจกรรมที่ต้นเหตุทุกชนิด ย่อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปในตัว

ขอยกตัวอย่างสิ่งที่ควรลดและมาตรการเสริมดังนี้ครับ

1. เราต้องหาทางทดแทนเครื่องจักรเครื่องยนต์ทุกอย่างที่ใช้น้ำมันเป็นหลัก แล้วหันมาใช้พลังขับเคลื่อนมันด้วยพลังงานสะอาดอื่นๆแทน
ยิ่งถ้าโรงผลิตไฟฟ้าของเราใช้พลังงานสะอาดได้มากเท่าไหร่ เราก็จะมีทางเลือกอื่นเข้ามาทดแทนได้เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถไฟไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า โดรนส่งของ รวมทั้งโรงงานสารพัด ภาคขนส่ง และภาคพลังงาน ต้องรับบทหนักมากหน่อย

2. เราต้องเลิกเผาป่า เผาตอซัง และเศษวัสดุในแปลงเกษตร เพราะนั่นจะลดทั้งฝุ่นทั้งควัน ลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทางเลือกที่น่าสนใจคือ การเอาฟางเอาเศษเปลือกต่างๆ ของพืช ขายเข้าโรงต้มในท้องถิ่น เป่าให้แห้งแล้วบดเป็นผงเพื่อนำมาอัดขึ้นรูปใช้แทนภาชนะโฟม สำหรับบรรจุอาหารซึ่งเรามีแผนห้ามใช้โฟมในปีหน้าที่จะถึงเป็นต้นไปอยู่แล้ว ทำดีๆ เราจะสามารถส่งออกเป็นสินค้า หารายได้เข้าประเทศได้อีกด้วย

3. เราต้องลดการทานเนื้อปศุสัตว์ แล้วหันมาเร่งพัฒนาโปรตีนจากพืชให้มาก ส่วนนมและเนยนั้น บัดนี้มีนวัตกรรมใช้จุลินทรีย์เพื่อสร้างโปรตีนที่เหมือนน้ำนมวัวทุกประการ โดยไม่ต้องรบกวนวัว แม้แต่ตัวเดียว ไม่ต้องมีทุ่งหญ้าใส่ปุ๋ยเคมีไปเติมเป็นก๊าซเรือนกระจก ไม่ต้องแย่งน้ำมารดทุ่งหญ้าให้ปศุสัตว์ ลดการปลูกพืชไร่เลี้ยงสัตว์ได้ด้วย เน้นปลูกพืชเลี้ยงคนก็น่าจะพอ ที่ดินที่เหมาะจะเพาะปลูก ไม่ได้มีมากจนไม่จำกัดเสียแล้ว

ศูนย์รวบรวมขยะหนองแขม
4. ลดสุสานขยะ ด้วยการแยกหมักขยะเปียกให้เป็นปุ๋ย เพื่อลดบ่อฝังกลบที่เต็มไปด้วยการเน่าเปื่อย ปล่อยก๊าซมีเทน แถมยังไม่ต้องเผาทำลายขยะ อย่างไม่จำเป็น

5. เสื้อผ้ารองเท้าผ้าใบสุดโทรม ซึ่งทำจากเส้นใย ควรถูกนำไปรีไซเคิล เหมือนที่เราทำได้แล้วกับขวดแก้ว กระดาษ โลหะ และพลาสติก ถ้าเส้นใยใช้แล้วถูกนำกลับมาใช้ใหม่ เราจะลดการถางป่าปลูกฝ้ายและลดการผลิตเส้นใยจากพลาสติกในภาคปิโตรเคมีอีกมาก

เส้นใยที่มนุษย์สร้างมาตลอดศตวรรษนี้ น่าจะมีเพียงพอในการห่อหุ้มให้ความอบอุ่นและนำมาผลิตใช้ใหม่ตามแฟชั่นของยุคต่างๆ ได้เพียงพอทั้งโลกอยู่แล้ว ขอเพียงแยกสีของเส้นใยที่จะรีไซเคิลไว้ ก็จะลดขั้นตอนการฟอกย้อมใหม่ได้อีกมหาศาลเช่นกัน

6. เร่งส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้มีวิวัฒนาการใหม่ ในการสะสางก๊าซเรือนกระจกเดิมที่ขึ้นไปสะสมในชั้นบรรยากาศอย่างจริงจัง

7. ปลูกไม้ยืนต้นให้มากๆ ทั้งที่เป็น ไม้ชายเลน และไม้บกต่างๆ เพราะต้นไม้จะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ ไปเก็บในเนื้อไม้ แถมยังคายออกซิเจนออกมาเติมให้อากาศ รักษาความชุ่มชื้นในดิน และเป็นเครื่องจักรทางธรรมชาติที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนที่มหัศจรรย์ที่สุด

8. ฝึกใช้ทุกทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัด ให้เป็นนิสัย พยายามเลิกจากวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง มาเป็นใช้เท่าที่จำเป็น

9. รัฐพึงมีมาตรการสนับสนุน การเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ต่อทุกภาคส่วนในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างพอเพียง

โลกเตือนเราแล้ว ว่าเปลี่ยนแปลงกันเถอะ
ก่อนที่ระบบธรรมชาติจะไปถึงจุด Tipping point หรือ Point of No Return
แล้วเปลี่ยนเผ่าพันธุ์ใหม่ มาอยู่แทน