ThaiPublica > Sustainability > Contributor > พหุนิยม หรือจักรวาลคู่ขนาน กับการสู้ปัญหาโลกร้อนของไทย

พหุนิยม หรือจักรวาลคู่ขนาน กับการสู้ปัญหาโลกร้อนของไทย

25 ตุลาคม 2021


กฤษฎา บุญชัย

ที่มาภาพ : https://www.ics-shipping.org/event/cop26/

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 (COP26) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปลายเดือนตุลาคมนี้ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์เป็นที่น่าจับตายิ่ง หลังจากที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ออกมาเตือนหายนะโลกร้อนที่กำลังจะกู้ไม่กลับ สาระสำคัญที่จะประชุมใน COP ได้แก่ เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ ระบบตลาดคาร์บอน และนโยบายด้านภาษี

แม้จะมีมุมมอง ข้อถกเถียงต่อเป้าหมายและวิธีการอยู่มากมาย แต่ก็ยังมีจุดร่วมของชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจบางประการ นั่นก็คือ การใช้กลไกตลาดจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจก ด้วยการจัดการคาร์บอนในฐานะปัจจัยการผลิตและทรัพย์สิน ไปสู่สร้างเศรษฐกิจการตลาดเงินตราคาร์บอน สร้างแรงจูงใจจากผลประโยชน์และกำไรในระบบตลาดเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรรม ระบบการผลิต

แต่ตลาดคาร์บอนกำลังจะเบี่ยงเบนจากการกระแสปกป้องธรรมชาติที่มีต่อชุมชนและประชาชนเป็นฐาน ไปสู่ทุนนิยมคาร์บอนแนวใหม่ ที่ส่วนหนึ่งยังคงรักษาผลประโยชน์ธุรกิจพลังงานฟอสซิล หรือเกิดธุรกิจลดคาร์บอนใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ไม่เปลี่ยนโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมที่มีต่อประชาชน

สภาวะโลกที่ย้อนแย้งก็เป็นเช่นเดียวกับการขับเคลื่อนปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสังคมไทยที่กำลังไปคนละทาง ซึ่งไม่เพียงเป็นความแตกต่างแบบพหุนิยมในสังคมที่ซับซ้อน แต่กำลังกลายเป็นจักรวาลคู่ขนานไม่รู้จะบรรจบได้หรือไม่

จักรวาลแรก ทุนนิยมคาร์บอนโดยรัฐและทุน นายกรัฐมนตรีไทยเพิ่งกล่าวปาฐกถาเรื่อง “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เมื่อ 11 ตุลาคม มีใจความว่า

“รัฐบาลตระหนักปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นโอกาสที่ไทยจะพลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า เน้นการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด…ไทยได้ประโยชน์จากโครงการกลไกเครดิตร่วม ได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2558 และกำลังพิจารณาจะร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์…รัฐบาลกำลังจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี 2573 และปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้”

​สอดรับกับคำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายธุรกิจชั้นนำในนามโกลบอลคอมแพคฯ ที่ประกาศเจตนารณ์ว่า สมาชิกจะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย เพิ่มมาตรการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการประกอบธุรกิจตนเองและหาวิธีลดปริมาณก๊าซ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ลดปล่อยก๊าซ เพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน ลดปล่อยก๊าซฯ สุทธิเป็นศูนย์ ภายใน 2050-2070

​ทั้งรัฐบาลและเอกชนมุ่งลดการปล่อยก๊าซฯ สุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต และการใช้ระบบตลาดคาร์บอน ซึ่งขณะนี้ได้แปรสภาพคาร์บอนให้กลายเป็น “เงินตรา” สกุลหนึ่ง ที่ภาครัฐและเอกชนใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยน เก็งกำไร กักตุน ฯลฯ เพื่อให้ได้เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์โดยสุทธิ

​ภาคตลาดคาร์บอนกำลังคืบคลานเข้ามาสู่ด้านต่างๆ ที่เราแทบไม่รู้ตัว องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) อันเป็นหน่วยงานของรัฐก็กำลังพัฒนาระบบตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจกับภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การค้าขายคาร์บอนในตลาดระดับโลก

ในระดับปฏิบัติการ กลไกตลาดคาร์บอนกำลังเริ่มขึ้นแล้ว กรมป่าไม้ร่วมกับ อบก.กำลังจับเรื่องคาร์บอนเครดิตใส่เข้าไปในการจัดการป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน เช่นเดียวกับธนาคารโลกร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ และองค์กรสิ่งแวดล้อมกำลังดำเนินการพัฒนา “กลไกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทําลายป่า และการทําให้ป่าเสื่อมโทรม กิจกรรมในการอนุรักษ์ป่าไม้ และการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนในการเพิ่มคาร์บอนสต๊อกในพื้นที่ป่าในประเทศกําลังพัฒนา” (REDD+) ซึ่งเป็นรูปธรรมหนึ่งในระบบตลาดคาร์บอน ด้วยการชักชวนให้ภาคทุนเข้ามาสนับสนุนการปลูก ฟื้นฟูป่าและการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ป่า

ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนป่า (ซึ่งมีชุมชนพึ่งพาอาศัยทำกินอยู่มากมาย) ให้กลายเป็นสินทรัพย์คาร์บอน ที่รัฐและผู้ลงทุนจะใช้ซื้อขายในระบบตลาดคาร์บอน โดยซ้อนลงไปบนสิทธิชุมชนในการดำรงชีพและพึ่งพาทรัพยากรในพื้นที่ป่า ทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิชุมชนจะทวีความซับซ้อนขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างสิทธิชุมชนกับการอ้างสิทธิของรัฐต่อทรัพยากรเท่านั้น ยังมีภาคทุนที่เข้ามาอ้างสิทธิจากการลงทุนฟื้นฟูป่าเพื่อเอาคาร์บอนเครดิต และมาเสริมอำนาจรัฐควบคุมการใช้ทรัพยากรของชุมชนมากขึ้น

ขณะที่ผลประโยชน์อันมหาศาลที่เกิดจาการลงทุน ค้ากำไรคาร์บอนเครดิต แต่ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าจะแบ่งปันอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม ชุมชนจะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานในระบบดูดซับคาร์บอนในพื้นทีป่า ภายใต้เจ้านายคือหน่วยงานรัฐ และมีผู้ลงทุนจากทุนในชาติและข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ตักตวงผลประโยชน์สูงสุด

ไม่เพียงการก่อเกิดความสัมพันธ์การผลิตเชิงครอบงำของระบบทุนนิยมผ่านธุรกิจคาร์บอนในผืนป่าและกิจกรรมต่างๆ แต่ยังต้องแลกกับคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มทุนจะได้เอาชดเชย (offset) กับการทำลายทรัพยากร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำไว้ไม่ว่าส่วนไหนของโลก

​ข้อเสนอ REDD+ ได้รับการคัดค้านจากขบวนการชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก รวมถึงชุมชนในพื้นที่ป่าและองค์กรพัฒนาเอกชนในไทย เพราะเป็นกระบวนการ “ฟอกเขียว” ที่เปิดทางให้กลุ่มทุนเบี่ยงเบนไม่ต้องปรับลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำไว้ และมิหนำซ้ำดำเนินการภายใต้ระบบกฎหมายและกลไกจัดการป่าของรัฐที่ควบคุมผูกขาด ริดรอนสิทธิชุมชน

​อย่างไรก็ตาม จักรวาลรัฐและกลุ่มทุนกำลังถูกวิพากษ์ว่า เพราะตัว แท้ที่จริงสาเหตุของวิกฤติโลกร้อน และการที่โลกยังไปไม่ถึงไหนในการจัดการปัญหา เพราะตัวระบบทุนนิยมที่มีกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล ทุนการเกษตรเป็นฐาน กลุ่มผลประโยชน์จากระบบทุนนิยมพยายามหาทางออกใหม่ๆ ดังเช่น ตลาดคาร์บอน ตราบใดที่ทางออกเหล่านั้นไม่ไปลดความมั่งคั่งของตนเอง

จักรวาลที่สอง ขบวนการปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตจากกระแสการเคลื่อนไหวระดับโลก ดังตัวอย่างสาวน้อยเกรต้า ธุนเบิร์ก นักรณรงค์ปัญหาโลกร้อนชาวสวีเดน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนการตื่นตัวของขบวนการคนรุ่นใหม่ที่กำลังวิจารณ์รัฐบาล และกลุ่มทุนต่างๆ ถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา มุ่งแต่กลบเกลื่อนการแก้ปัญหาที่แท้จริง

​ขบวนการคนรุ่นใหม่ในไทยก็กำลังเติบโตจากกระแสคนรุ่นใหม่ทั่วโลก เช่น Climate Strike Thailand กลุ่ม Climate Talks Thailand Club on Club house และอื่นๆ อีกมาก ที่สนใจวิพากษ์ปัญหาโลกร้อนด้วยการวิพากษ์ทุนนิยมที่เป็นสาเหตุปัญหา โดยมีวงสนทนาถกเถียงปัญหาโลก มีปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ ขบวนการเหล่านี้มีความหลากหลายทั้งสนใจปัญหาเชิงโครงสร้างของโลก ทั้งมุ่งรณรงค์ปรับพฤติกรรมของคนชั้นกลางในชีวิตประจำวัน เกิด influencer ที่มีชื่อเสียงหลายคนพากันชวนผู้คนชั้นกลางช่วยกันสนใจโลกร้อน ประกาศตัวจะลดการปล่อยคาร์บอน ชวนประหยัดพลังงาน ติดโซล่าเซลล์ ลดการกินเนื้อสัตว์ ลดใช้พลาสติก และอื่นๆ อีกมาก

​ขบวนการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่ ที่เน้นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ (คำ ภาษา ภาพ ศิลปะ วรรณกรรม ฯลฯ) ในประเด็นสาธารณะระดับสากลที่ไม่ยึดติดกับรัฐ-ชาติ หรือชนชั้น ด้วยยุทธวิธีสร้างกระแสสาธารณะในโลกออนไลน์ ไม่ได้เน้นการเจรจา ต่อรอง หรือเรียกร้องกับภาครัฐหรือทุนให้มาแก้ปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง ขบวนการคนรุ่นใหม่กำลังเป็นกระแสเติบโตและเป็นความหวังของโลก

​จักรวาลที่สาม ขบวนการชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมรากหญ้า มีชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรรายย่อย รวมถึงประชาชนคนรากหญ้าในเมืองที่เผชิญผลกระทบจากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด พวกเขาและเธอโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงวัย คนพิการ คนจน ต้องสูญเสียนิเวศเพื่อยังชีพ ความไม่มั่นคงอาหาร การผลิต เศรษฐกิจท้องถิ่นเมื่อเผชิญกับความแห้งแล้ง ความร้อน และภัยพิบัตินานาประการ โดยที่ไม่ได้มีอำนาจเลือกการดำรงชีพ การตั้งถิ่นฐาน การใช้ทรัพยากร ต้องยากลำบาก คุณภาพชีวิตตกต่ำ เศรษฐกิจย่ำแย่ และนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมที่สูงมากขึ้น

​แต่กลับเป็นขบวนการชุมชนท้องถิ่นและคนรากหญ้าเหล่านี้ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องนิเวศและฐานทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ มาไม่ต่ำกว่า 30 ปี เช่น เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายลุ่มน้ำ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มที่ได้ผลกระทบอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เขื่อน เหมืองแร่ และโครงการต่างๆ

​หากโลกร้อนทำให้ความหลากหลายชีวภาพเสื่อมสูญ พวกเขาและเธอก็กำลังปกป้องฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในป่า น้ำ ทะเล ผืนดินโดยตรง เมื่อเกิดภัยพิบัติเช่น ไฟป่า อุทกภัย ชุมชนเหล่านี้ก็จัดการไฟ ป้องกันภัยพิบัติอย่างเต็มที่ เมื่อมีปัญหาผลผลิตการเกษตรตกต่ำและไม่ปลอดภัยจากสารเคมี พวกเขาและเธอทำระบบนิเวศเกษตรที่สร้างความมั่นคงอาหารและผลิตอาหารปลอดภัยให้สาธารณะ ฯลฯ

นี่เป็นขบวนการเคลื่อนทางสังคมแบบดั้งเดิม ที่ต่อสู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านวิถีดำรงชีพ ทั้งๆ ที่โลกร้อนกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อชุมชนมากที่สุด แต่พวกเขากลับเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยจากรัฐ ทุน และสาธารณะที่แสดงสนใจปัญหาโลกร้อน

​อาจะเป็นเพราะขบวนการชุมชนท้องถิ่นไม่ได้อธิบายปัญหานิเวศผ่านเรื่อง “โลกร้อน” และ “คาร์บอน” จึงไม่ถูกนับให้อยู่ในจักรวาลของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ถูกมองว่าเป็นประชาชนที่มองสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงระยาว ไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง

คนจนและชุมชนจะมีบทบาทในตลาดคาร์บอนได้ ก็เป็นเพียงแรงงานไร้ฝีมือที่ถูกกำกับให้ต้องปลูกป่าในที่ป่าและที่ทำกินตนเองผ่านโครงการ REDD+ และคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน ถูกกำกับห้ามเผาพื้นที่เพื่อทำเกษตรทั้งที่ผลิตตามความต้องการของนายทุนเพื่อป้อนผลผลิตสู่คนเมือง ไม่เช่นนั้นอาจถูกฟ้องร้องได้ว่ามีส่วนสร้างโลกร้อน ดังเช่น คดีโลกร้อนที่กรมอุทยานฯ ฟ้องร้องชุมชนในพื้นที่ป่าในหลายคดีแล้ว หรือถูกกล่าวหาว่าขัดขวางการพัฒนาจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ปัจจุบันได้เอาวาทกรรมโลกร้อนเข้ามารองรับความชอบธรรมอย่างย้อนแย้ง เช่น เขื่อนแก้ปัญหาโลกร้อน นิคมอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

​จะมีภาคส่วนไหนบ้างที่ประกาศตัวรณรงค์โลกร้อน จะมาสนใจจริงจังในการเข้าใจผลกระทบที่ชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อย คนจนที่ต้องเผชิญความยากลำบากต่อการปรับตัวกับปัญหาภูมิอากาศวิบัติ และยังถูกกล่าวโทษว่าทำให้เกิดโลกร้อนทั้งที่พวกเขามีส่วนน้อยมาก จะมีนักคาร์บอนใดบ้างที่จะเข้าร่วมคัดค้านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำลายนิเวศและฐานทรัพยากรที่ชุมชนพึ่งพาอาศัย และจะมีภาคีโลกร้อนใดที่จะสนับสนุนสิทธิและความเข้มแข็งของชุมชนที่ดูแลป่าชุมชน แม่น้ำ ชายฝั่งทะเล ฟื้นฟูนิเวศเกษตร ใช้พลังงานหมุนเวียนท้องถิ่นว่าพวกเขาเป็นพลเมืองที่มีบทบาทสำคัญร่วมกอบกู้วิกฤติโลกร้อน

​เมื่อนโยบายและโครงการพัฒนา เช่น แผนพัฒนาพลังงานชาติ เขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เหมืองแร่ โครงการสร้างเขื่อนผันน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ การยึดพื้นที่ป่าโดยขับไล่หรือปิดล้อมชุมชนในป่าเพื่อนำมาเป็นแหล่งคาร์บอนเครดิต การผูกขาดระบบเศรษฐกิจของกลุ่มทุนการเกษตรที่ทำลายทรัพยากร และเปลี่ยนให้เกษตรกรรายย่อยต้องกลายเป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว ฯลฯ ทั้งหมดนี้สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสร้างปัญหาโลกร้อนโดยตรงมาหลายทศวรรษ แต่ภาคส่วนที่ประกาศตนมุ่งมั่นแก้ปัญหาโลกร้อนหายไปไหนในการต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้

​ทำไมเราจึงเห็นแต่ขบวนการชุมชน กลุ่มประชาสังคมรากหญ้าที่เป็นหลักออกมาคัดค้านโครงการทำลายผืนดิน ผืนป่า สายน้ำ ท้องทะเลอย่างโดดเดี่ยว และสืบสาน พัฒนานวัตกรรมนิเวศวัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรนิเวศ ระบบอาหารท้องถิ่น ซึ่งทำให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ “กิน” ได้

ขณะที่จักรวาลคู่ขนานของรัฐและทุนต่างประกาศความหวังต่อทุนนิยมคาร์บอนต่ำอันรุ่งโรจน์ ค้าขายคาร์บอนให้เพื่อทำตัวเลขคาร์บอนเป็นศูนย์ ประกาศโมเดลพัฒนาโครงการเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมากมาย โดยสื่อให้เชื่อว่านี่คือหนทางแก้ปัญหาวิกฤติโลกร้อนที่ดีที่สุด และจะเป็นเศรษฐกิจใหม่จะกระจายรายได้สู่คนจน

ความหวังทางออกจากของจักรวาลคู่ขนานที่เหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมนี้อยู่ที่ขบวนการของปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยสามารถนำเรื่องโลกร้อนจาก “ฟากฟ้าสู่ผืนดิน” ได้ ด้วยการเข้าร่วมเรียนรู้และขับเคลื่อนกับขบวนการชุมชนท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมและเสริมพลังซึ่งกันและกัน ร่วมปกป้องธรรมชาติ วิถีชุมชนจากนโยบาย โครงการรัฐและทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและละเมิดสิทธิชุมชน ร่วมกันตั้งคำถามและแสวงหาแนวทางต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลุดจากไปกรอบทุนนิยมคาร์บอน และหนุนเสริมคนชายขอบให้มีอำนาจต่อรองเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และผลักดันนโยบาย ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยการบรรจบกันของจักรวาลขบวนการชุมชนนิเวศและขบวนการคนรุ่นใหม่ สร้างพลังการเคลื่อนไหวจากฐานท้องถิ่นสู่โลกาภิวัตน์เพื่อถ่วงดุลกับจักรวาลของรัฐละทุน อนาคตของสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้นได้ ​