ThaiPublica > คอลัมน์ > “โลกร้อน” นั้นใกล้ตัว

“โลกร้อน” นั้นใกล้ตัว

5 พฤศจิกายน 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://ukcop26.org/around-120-leaders-gather-at-cop26-in-glasgow-for-last-best-chance-to-keep-1-5-alive/

ปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) เป็นเรื่องที่คนไทยเราดูจะไม่ “อิน” เท่าใด รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากโลกร้อนขึ้นก็ใช้เครื่องปรับอากาศหรืออยู่แต่ในบ้านก็หมดปัญหาไปแล้ว แต่ความจริงนั้นมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ และดูจะรุนแรงขึ้นทุกที การประชุมของสหประชาชาติครั้งสำคัญที่เรียกว่า COP26 ที่อังกฤษเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นหลักฐานว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเพียงใด วันนี้ผู้เขียนขอขยายความว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวใกล้ตัวเรามากอย่างไร

ก๊าซเรือนกระจก (GHG_Green House Gas) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก กล่าวคือโดยปกติโลกเรามีกลไกธรรมชาติที่ควบคุมภูมิอากาศโลกโดยควบคุมให้อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15๐C โลกจึงเป็นดาวเคราะห์ที่สามารถอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้ หากปราศจากกลไกที่มีชื่อว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” แล้วอุณหภูมิของโลกจะมีค่าประมาณ -18๐C

โลกเรามีชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกไว้ ในเวลากลางวันรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์จะถูกดูดซับโดยผิวโลกซึ่งทำให้พื้นผิวโลกอุ่นขึ้นและบางส่วนถูกสะท้อนออกไปในบรรยากาศสูงของโลก ในเวลากลางคืนเมื่อพื้นผิวโลกเย็นลง ความร้อนก็จะถูกปล่อยกลับสู่บรรยากาศ แต่ความร้อนบางส่วนจะถูกสิ่งที่เรียกว่าก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศกักเก็บไว้ ทำให้พื้นผิวโลกมีความอบอุ่นแม้ในเวลากลางคืน

ความสมดุลที่สร้างขึ้นโดยก๊าซเรือนกระจกดำรงอยู่ได้ตราบที่ไม่มีก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป หากมันมีมากเกิดจุดสมดุลในชั้นบรรยากาศของโลกแล้ว ก็จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆเนื่องจากรังสีความร้อนสะท้อนออกไปนอกโลกได้น้อยลงเพราะเจอชั้นบรรยากาศที่มีก๊าซเรือนกระจกอยู่หนาแน่นจนทำให้การสะท้อนกลับไป-กลับมา ไม่เป็นไปตามปกติ เกิดความร้อนสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น จนเป็นสาเหตุทำให้โลกของเราร้อนขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ภูเขาน้ำแข็งที่มีอยู่มากมายที่ขั้วโลกทั้งสองละลายจนน้ำท่วมโลก ระบบภูมิศาสตร์ของลมและน้ำเปลี่ยนแปลงจนเกิดฝนแล้ง น้ำท่วมอย่างผิดไปจากปกติ และเกิดผลกระทบอีกมหาศาลต่อโลก

ก๊าซเรือนกระจกตัวหลัก ๆ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)/มีเทน (CH4)/ไนตรัสออกไซด์ (N2O)/โอโซน (O3) และละอองไอน้ำที่อยู่ในสภาพก๊าซ (H2 O) ตัวสำคัญที่สุดที่เกิดจากการเผาไหม้บนโลกคือคาร์บอนไดออกไซด์ การเผาไหม้ที่สำคัญคือการเผาไหม้ถ่านหินและก๊าซเพื่อผลิตพลังงาน ตลอดจนการผลิต การบริโภคสินค้าและบริการของชาวโลกที่ใช้พลังงานจากการเผาไหม้ ฯลฯ

ข้อมูลในการเขียนวันนี้อาศัยข้อมูลจากเอกสาร “Climate Change & Low Carbon Economies” โดย ดร.สวิสา อริยปรัชญา แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

คงไม่มีอะไรที่ใกล้ตัวมนุษย์เท่ากับเรื่องเงินเรื่องทองดังนั้นจึงขอกล่าวถึงเรื่อง Climate Change (ปัจจุบันมักเรียกกันว่า Climate Crisis (CC) เพราะเห็นถึงความรุนแรง) ที่มีผลกระทบต่อเงินทองและปากท้อง

ความเสียหายสำคัญในเรื่อง CC ก็คือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในนานาประการ อันนำไปสู่การเสียหายด้านการเงินของบุคคลและของประเทศ ในเบื้องต้นความเสี่ยงจาก CC ทำให้เกิดความเสี่ยงในระหว่างการเปลี่ยนผ่านกล่าวคือในการพยายามต่อสู้กับ CC ประเทศต่าง ๆ และกลุ่มต่าง ๆ ระดับโลกจะออกกฎเกณฑ์ นโยบาย คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้รสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ฯลฯ จนกระทบต่อผู้คนมากมายในการประกอบธุรกิจและการดำเนินชีวิต มีต้นทุนและความไม่สะดวกสูงขึ้น

ในด้านกายภาพ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดฝนแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม อากาศร้อนขึ้น ฯลฯ อย่างไม่หยุดหย่อน จนกระทบต่อการผลิตและผลิตภาพ (productivity) ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ผลกระทบในระดับจุลภาค (ครัวเรือนและธุรกิจ) และมหภาค (ประเทศโดยรวม)

สำหรับครัวเรือนนั้นอากาศที่แปรปรวนและโรคระบาดใหม่ (เชื้อไวรัสอาจโดดข้ามจากสัตว์สู่คนหรือกลับกัน เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป) ทำให้เกิดการว่างงาน สูญเสียรายได้ ที่อยู่อาศัยประสบความเสียหายจากภัยพิบัติ ทรัพย์สินมีมูลค่าลดลงและต้นทุนในการดำเนินชีวิตสูงขึ้น สำหรับธุรกิจก็เกิดความปั่นป่วนในการประกอบการ ทรัพย์สินเสียหาย โรงงานผลิตถูกปิดหรือเปิดไม่ได้ มีต้นทุนสูงขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเพราะปรากฎการณ์จนตามไม่ทัน สูญเสียเงินจากข้อผูกพันทางกฎหมาย เช่นส่งมอบสินค้าไม่ทัน ฯลฯ

ในระดับมหภาค CC ทำให้เครื่องจักรและทุนเสื่อมเร็วขึ้นจนต้องลงทุนมากขึ้น ราคาผันผวนอันเนื่องมาจากผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานและปัญหาการส่งมอบวัตถุดิบ ผลิตภาพในการผลิตลดลง ตลาดแรงงานปั่นปวนอันเนื่องจากผลกระทบด้านกายภาพและการเปลี่ยนผ่านเพื่อต่อสู้ CC นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมเศรษฐกิจ เช่น จากแบบแผนการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร การอพยพ ส่วนผลกระทบอื่น ๆ ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ รายรับของภาครัฐ อัตราแลกเปลี่ยน (กระทบการส่งออกและนำเข้า) อัตราดอกเบี้ย (ความต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น) ข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลัง ฯลฯ

ทั้งหมดจากระดับจุลภาคและมหภาคนำสู่ความเสี่ยงด้านการเงิน เช่น ด้านเครดิต (ธุรกิจล้มละลาย ครัวเรือนไม่มีเงินใช้หนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันลดลง) ด้านตลาด(มูลค่าของทุนและหลักทรัพย์ลดลง) ด้านการประกัน (เบี้ยประกันสูงขึ้น ต้องประกันมูลค่าสูงขึ้น) ด้านการดำเนินงาน สัพพลายเชนเกิดความปั่นป่วน โรงงานถูกปิดและด้านเงินทุน (ต้องการความคล่องตัวของเงินทุนสูงขึ้น เกิดความเสี่ยงในเรื่องรีไฟแนนซ์)

ความเสี่ยงจาก CC ผลกระทบทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค และความเสี่ยงด้านการเงินนั้นมีปฏิกริยาโต้กลับไปมาทั้งระบบ ทั้งหมดนี้มาจากการสร้างก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถ้ามองไปลึก ๆ แล้วสาเหตุเกิดจากการบริโภคเกินพอดีของเหล่ามวลมนุษย์จนทำให้เกิดการเผาไหม้เกิดเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกินความพอเหมาะ

ที่มาภาพ : https://together-for-our-planet.ukcop26.org/

เรามาช่วยส่งใจไปเชียร์การประชุม COP 26 ที่มุ่งแสวงหาความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก (ขณะนี้อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นแล้ว 1๐C เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 1880 โดยปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดของโลก) เพื่อให้ปริมาณสุทธิที่ปล่อยเป็นศูนย์ก่อนปี 2050 เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5๐C ณ ปลายศตวรรษที่ 21

ถ้าทั้งหมดนี้ยังฟังไม่น่ากลัวและดูไกลตัว ลองพิจารณาข้อวิเคราะห์ดังต่อไปนี้

    (ก) ถ้าโลกไม่ทำอะไรกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย ก่อนปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 1 เมตร
    (ข) กลุ่มการค้าสำคัญของโลกเริ่มพิจารณาออกกฎบังคับให้สินค้านำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ต้องมีการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิในปริมาณที่ต่ำ
    (ค) ด้วยสภาวการณ์ CC ที่เป็นอยู่ ก่อนถึงปี 2050 จะมี 20 เมืองซึ่งรวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วยจะถูกน้ำท่วมหมด

เวลายาวสุดคือ 29 ปีนั้นมาถึงเร็วมาก เราสมควรเริ่มใคร่ครวญความเป็นไปได้ของคำพยากรณ์ และหาทางหนีทีไล่ พร้อมกับร่วมมือกันลดการเผาไหม้เพื่อช่วยโลกให้มากที่สุด

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 พ.ย. 2564