ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > สหรัฐฯ ถอนตัว “ข้อตกลงปารีส” อย่างเป็นทางการ ชาติแรกของโลก

สหรัฐฯ ถอนตัว “ข้อตกลงปารีส” อย่างเป็นทางการ ชาติแรกของโลก

5 พฤศจิกายน 2020


ที่มาภาพ:
https://www.livescience.com/united-states-exits-paris-climate-agreement.html

หลังจากทิ้งช่วงไป 3 ปี สหรัฐฯ กลายเป็นชาติแรกในโลกที่ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ

Paris Climate Agreement คือ ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

ประธานาธิโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสในเดือนมิถุนายน 2017 แต่ตามข้อบังคับของสหประชาชาติ ทำให้การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์จะมีผลในวันนี้ซึ่งเป็นวันถัดจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สหรัฐฯ สามารถเข้าร่วมข้อตกลงปารีสได้อีกในอนาคต หากประธานาธิบดีเลือกที่จะทำเช่นนั้น

ข้อตกลงปารีสถูกจัดทำขึ้นในปี 2015 เพื่อเสริมสร้างการตอบสนองของโลกต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อุณหภูมิของโลกในศตวรรษนี้เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนอุตสาหกรรม และเพื่อรักษาการการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

ทำไมจึงใช้เวลานานกว่าจะมีผล

ความล่าช้าในการถอนตัวเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน ซึ่งกำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสเพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอนาคตอาจตัดสินใจถอนประเทศออกจากข้อตกลง

ความพยายามที่จะจัดทำข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนหน้านี้ ได้เริ่มขึ้นจากการเมืองภายในของสหรัฐฯ

ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีคลินตันในยุคนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา เพื่อรับรองการเข้าร่วมในพิธีสารเกียวโต ตามที่ได้ตกลงกันในไว้ปี 1997 ดังนั้นในการเจรจาข้อตกลงปารีส ตัวแทนของประธานาธิบดีโอบามาที่ร่วมเจรจา ต้องการให้แน่ใจว่าสหรัฐฯ ต้องมีเวลาพอสมควรในการถอนตัว หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ

แม้ได้มีการลงนามในข้อตกลงปารีสในเดือนธันวาคม 2015 แต่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2016 หลังจากที่อย่างน้อย 55 ประเทศซึ่งมีการปล่อยก๊าซทั่วโลกรวมกันถึง 55% ได้ให้สัตยาบันเป็นเวลา 30 วัน

ไม่มีประเทศใดสามารถแจ้งขอออกจากข้อตกลงได้จนกว่าจะครบ 3 ปีนับจากวันที่ให้สัตยาบัน ถึงกระนั้น ประเทศสมาชิกจะยังไม่สามารถแจ้งสหประชาชาติได้จนกว่าจะครบ 12 เดือนตามข้อกำหนด ด้วยเหตุนี้แม้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศในเดือนมิถุนายน 2017 แต่สหรัฐฯ ก็สามารถแจ้งสหประชาติอย่างเป็นทางการได้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเท่านั้น ซึ่งวันนี้ก็เลยกำหนดแล้วและขณะนี้สหรัฐฯ ถือว่าออกจากข้อตกลง

การถอนตัวในทางปฏิบัติหมายถึงอะไร

สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นประมาณ 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แต่ก็ยังคงเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดในโลก ดังนั้นเมื่อเป็นประเทศเดียวที่ถอนตัวจากการแก้ปัญหาระดับโลก ก็ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความไว้วางใจ

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตัวแทนเจรจาของสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมการเจรจาด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ ขณะที่ฝ่ายบริหารพยายามใช้เหตุการณ์นั้นเพื่อส่งเสริมเชื้อเพลิงฟอสซิล

“การออกจากข้อตกลงอย่างเป็นทางการ มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด” แอนดรูว์ ไลท์ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสมัยรัฐบาลโอบามา ให้ความเห็น

“นี่จะเป็นครั้งที่สองที่สหรัฐฯ เป็นแรงผลักหลักที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาข้อตกลงด้านสภาพอากาศฉบับใหม่ จากพิธีสารเกียวโตที่สหรัฐฯ ไม่เคยให้สัตยาบัน ส่วนในกรณีของข้อตกลงปารีสนั้นสหรัฐฯ ถอนตัว ดังนั้นจึงคิดว่านี่เป็นปัญหาอย่างเห็นได้ชัด”

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ปี 2017 ที่มาภาพ: https://www.climatechangenews.com/2017/06/01/us-leaves-paris-climate-agreement-wants-come-back/

มุมมองต่อการถอนตัวของสหรัฐฯ

แม้การถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสได้มีการรับรู้กันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สำหรับชาวอเมริกันจำนวนมากที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด และสหรัฐฯ ควรเป็นผู้นำในการต่อสู้กับปัญหานี้ มีความรู้สึกผิดหวังอย่างชัดเจน

“การตัดสินใจออกจากข้อตกลงปารีสนั้น ถือว่าผิดทั้งเมื่อมีการประกาศและวันนี้ก็ยังผิด” เฮเลน เมาท์ฟอร์ด จากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) กล่าว “พูดง่ายๆ ว่าสหรัฐฯ ควรจะร่วมกับอีก 189 พันธมิตรในข้อตกลงนี้ ไม่ใช่ถอนตัวออกไปคนเดียว”

การถอนตัวอย่างเป็นทางการได้เปิดแผลเก่าให้กับนักการทูตด้านภูมิอากาศอีกครั้ง

“ถือว่าเป็นการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ของข้อตกลงปารีส” คาร์ลอส ฟูลเลอร์ จากเบลีซ ผู้นำการเจรจาของกลุ่ม Alliance of Small Island States กล่าว

“เราทำงานอย่างหนักมากเพื่อให้แน่ใจว่าทุกประเทศในโลกสามารถยอมรับข้อตกลงใหม่นี้ได้ ดังนั้นการที่เราสูญเสียไปหนึ่งประเทศ เรารู้สึกว่าโดยพื้นฐานแล้วเราล้มเหลว”

ขณะที่คนอื่นๆ กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ถอนตัวนั้นส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลโอบามาที่ไม่สามารถทำให้วุฒิสภาสหรัฐฯ ให้สัตยาบันข้อตกลงปารีสได้

“สิ่งที่โอบามาทำเมื่อสิ้นสุดวาระที่สองนั้นไม่เป็นประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน เพราะลงนามในข้อตกลงปารีสโดยไม่ผ่านวุฒิสภาและสภาคองเกรส แต่กลับใช้คำสั่งบริหารแทน” อีโว โบเออร์ อดีตหัวหน้าด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติให้ความเห็น

สหรัฐฯ จะเข้าร่วมข้อตกลงอีกครั้งได้หรือไม่

แน่นอนว่า สามารถเข้าร่วมได้

ในระหว่างการหาเสียง นายโจ ไบเดน กล่าวว่า จะพยายามกลับเข้าร่วมข้อตกลงอีกครั้งให้เร็วที่สุด หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สหรัฐฯ ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน และสหรัฐฯ ควรกลับเข้ามา อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ เลือกที่จะกลับเข้าสู่ข้อตกลงอีกครั้ง แต่ก็จะมีผลที่ตามมาจากการที่ถอนตัวออกไปแม้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน

“เราทราบดีว่าสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป และเลขาธิการสหประชาชาติ กำลังวางแผนจัดงานในวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 5 ปีของการสรุปการเจรจาข้อตกลงปารีส ซึ่งพวกเขาจะพยายามผลักดันให้ตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้น” แอนดรูว์ ไลท์ กล่าวและว่า “ภายใต้ข้อกำหนดของข้อตกลงปารีส สหรัฐฯ จะไม่สามารถเข้าร่วมได้”

ไม่ใช่ทุกคนในสหรัฐอเมริกาที่ไม่พอใจต่อการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส

ประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้การออกจากปารีสเป็นส่วนสำคัญของเวทีการเลือกตั้งของเขาในปี 2016 โดยผูกเข้ากับวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูสหรัฐฯ ด้วยการผลิตพลังงานที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะถ่านหินและน้ำมัน

มุมมองของทรัมป์เกี่ยวกับข้อตกลงปารีส คือ เป็นการไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐฯ เพราะประเทศอื่นๆ เช่น อินเดียและจีน มีอิสระในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่สหรัฐฯ ต้องควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอน

“ฉันไม่แน่ใจว่าปารีสบรรลุเป้าหมายอะไร” เคที ทับบ์ นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโสของมูลนิธิเฮอริเทจ ซึ่งเป็นกลุ่มแนวคิดอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ กล่าว

“ในแง่ของการก้าวสู่ช่วงปลายศตวรรษ หากเป้าหมายคือการลดอุณหภูมิโลกก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นโลกอุตสาหกรรม”

“ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและธรรมชาติของมัน หรือความเร็วในการเปลี่ยนแปลง ต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเหล่านี้อย่างจริงจัง และให้การสนับสนุน และฉันก็ไม่เห็นว่าปารีสจะไปถึงจุดหมายอย่างมีประสิทธิภาพหรือในเชิงสร้างสรรค์”

ที่มาภาพ:
https://www.bbc.com/news/science-environment-54797743

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการถอนตัวของสหรัฐฯ มีปฏิกิริยาอย่างไรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

หลังจากการประกาศของประธานาธิบดีในปี 2017 รัฐหลายรัฐและธุรกิจหลายแห่งได้ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อไป และพยายามชดเชยการตัดสินใจของรัฐบาลกลางที่ออกจากพันธสัญญาของสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงปารีส

ในจำนวนนี้ประกอบด้วยกลุ่ม America’s Pledge ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเจอร์รี บราวน์ อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย และไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก

กลุ่มนี้ระบุว่า รัฐและเมืองต่างๆ จะช่วยลดการปล่อยมลพิษของสหรัฐฯ ลงได้ 19% ในปี 2025 เมื่อเทียบกับระดับเดิมของปี 2005 ซึ่งไม่เพียงพอ ที่จะชดเชยตามคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงปารีส แต่จะรักษาเป้าหมายเหล่านั้นให้ “อยู่ไม่ไกล”

“ประชาชนเข้าใจดีว่าการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะควบคู่ไปกับการปกป้องสุขภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเรา” ไมเคิล บลูมเบิร์ก กล่าวในแถลงการณ์

”ดังนั้น แม้ว่าทำเนียบขาวจะพยายามอย่างเต็มที่ในการลากประเทศของเราให้ถอยหลัง แต่ก็ไม่ได้หยุดความก้าวหน้าของเราในด้านสภาพอากาศช่วง 4 ปีที่ผ่านมา”

ในส่วนของธุรกิจมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากผู้ถือหุ้นของอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ ให้เผชิญกับความท้าทายด้านสภาพอากาศ

ข้อเสนอที่ยื่นโดยบีเอ็นพี บาริบาส์ แอสเซต แมเนจเมนต์ ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก 53% จากการประชุมผู้หุ้นของบริษัทเชฟรอน ที่เรียกร้องให้บริษัทตรวจสอบให้แน่ใจว่า การล็อบบี้ด้านสภาพอากาศสอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

ประเทศอื่นๆ จะออกจากข้อตกลงหรือไม่

“ผมไม่คิดว่าจะมีใครออกจากข้อตกลงปารีสตามทรัมป์” ปีเตอร์ เบตตส์ อดีตผู้นำการเจรจาของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในการเจรจาเรื่องสภาพอากาศโลกและนักวิจัยที่ Chatham House

“ที่ผ่านมาไม่มีใครทำแบบนั้นและไม่คิดว่าจะมีใครทำในอนาคต”

บางคนกังวลว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ จะทำให้ประเทศอื่นๆ หันมาใช้แนวทางดำเนินการแบบช้าๆ ทั้งที่เป็นช่วงเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าต้องเร่งดำเนินการ

หลายประเทศทั้งซาอุดีอาระเบีย คูเวต และรัสเซีย ได้แสดงความเต็มใจที่จะเคียงข้างกับความดำเนินการของสหรัฐฯ ในการผลักดันวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

“พวกเขากำลังซื้อเวลา พวกเขากำลังบอกว่าหากสหรัฐฯ ไม่อยู่ในข้อตกลง เราก็ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบทำอะไรในเวลานี้” คาร์ลอส ฟูลเลอร์ ผู้นำการเจรจาจาก Alliance of Small Island States ให้ความเห็น

“ผมคิดว่าพวกเขากำลังป้องกันการเดิมพันของพวกเขา เพื่อดูว่ารูปแบบไหนที่ดีกว่ากัน และไม่ถอนตัวออกไปจริงๆ” คนอื่นๆ มีความหวังว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มอื่นๆ และคาดว่าจะเห็นผู้นำคนใหม่เกิดขึ้น

“ข้อตกลงสีเขียวของสหภาพยุโรปและข้อผูกพันด้านความเป็นกลางของคาร์บอนจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านของเชื้อเพลิงฟอสซิลของพวกเราโดยรวมไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” ลอเรนซ์ ทูเบียนา หนึ่งในผู้จัดทำข้อตกลงปารีสและซีอีโอของ European Climate Foundation ให้ความเห็น

“ขณะที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปจากน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน มักจะเกิดอุปสรรคที่ชะลอการเปลี่ยนแปลง แต่ทิศทางการเดินทางโดยรวมยังคงชัดเจน เพราะรัฐบาลเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจจากโควิด-19 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคต ไม่ใช่อดีต”