ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ตั้งรับเปิดประเทศ “แผนนำเข้า-เพิ่มสูตรไขว้” วัคซีนโควิด สิ้นปีนี้ 179.1 ล้านโดส

ตั้งรับเปิดประเทศ “แผนนำเข้า-เพิ่มสูตรไขว้” วัคซีนโควิด สิ้นปีนี้ 179.1 ล้านโดส

16 ตุลาคม 2021


ฉีดวัคซีนให้ประชาชน โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ รังสิต ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

วิเคราะห์วัคซีนโควิดในไทย “แผนนำเข้า-เพิ่มสูตรไขว้” รองรับเปิดประเทศหรือตั้งรับระบาดระลอกใหม่

การระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประชาชน เป็นอีกหนึ่งแผนการป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศไทย พร้อมๆ กับการรองรับการเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยได้แบบมีเงื่อนไข เบื้องต้น 5 ประเทศ คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ และจีน ส่วนที่เหลือรอที่ประชุม ศบค. อนุมัติเพิ่มเติม

โดยการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศนั้น ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและคนไทยด้วยกันเองว่า ทั้งเราและเขาต่างก็มีวัคซีนป้องกัน ยังไม่รวมกับมาตรการต่างๆ ในการป้องกันควบคุมโรคอีก ที่จะมาช่วยสกัดโควิด-19 ควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนที่ว่าจะฟื้นฟูได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องอยู่ที่มาตรการและการป้องกันโรครายบุคคล หลายๆ มาตรการ หลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามว่าจะเป็นไปตามแผนการจัดหาและการดำเนินการจะได้มากกว่า 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคนภายในปี 2564 หรือไม่

แน่นอนว่ารัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ปูพรมฉีดวัคซีนโควิดทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ตั้งเป้าอย่างน้อย 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งตัวเลขฉีดวัคซีนโควิดสะสมถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ฉีดแล้ว 63,614,352 โดส เป็นเข็มที่ 1 สะสมแล้ว 36,721,779 ราย เข็มที่ 2 ฉีดสะสมแล้ว 25,012,380 ราย และเข็มที่ 3 ฉีดสะสมแล้ว 1,880,193 ราย (ข้อมูลจาก MOPH-IC) ซึ่งจะเห็นว่า ตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิดสะสม ณ ขณะนี้อยู่ที่กว่า 63 ล้านโดส เป้าหมาย 100 ล้านโดสจึงไม่ไกลเกินเอื้อม

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่าจะสามารถฉีดได้ทะลุ 100 ล้านโดส โดยสิ้นเดือนตุลาคมจะฉีดได้ประมาณ 75 ล้านโดส เหลืออีก 2 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 12.5 ล้านโดส ย่อมสามารถทำได้ถึง 100 ล้านโดส และคาดว่าจะฉีดให้ได้มากที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่จะเข้ามาในประเทศไทย โดยแผนการจัดหาวัคซีนโควิดปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 127.1 ล้านโดส ไม่รวมซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา หากรวมกันจะอยู่ที่ 179.1 ล้านโดส

แต่มีคำถามว่า จากแผนการการจัดหาวัคซีนโควิดของภาครัฐที่จะเข้ามาไทยรวม 127.1 ล้านโดส โดยเดือนตุลาคมนี้ มีทั้งซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10.6 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส รวม 24.6 ล้านโดส ไม่รวมกับซิโนฟาร์มอีก 6 ล้านโดส ขณะที่เดือนพฤศจิกายน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีแผนจะเข้ามา 13 ล้านโดส ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส รวม 23 ล้านโดส ไม่รวมซิโนฟาร์ม 12.5 ล้านโดส และเดือนธันวาคม แอสตร้าฯ เข้ามา 14 ล้านโดส ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส รวม 24 ล้านโดส ไม่รวมซิโนฟาร์ม 12.5 ล้านโดส และไม่รวมโมเดอร์นาที่มีแผนจะเข้ามาในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมปีนี้ ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนต้องควักเงินซื้อกับโรงพยาบาลเอกชน

ปริมาณวัคซีนตามแผนดูจะมากมาย หากเป็นไปตามแผนแน่นอนว่าสามารถฉีดได้เกินเป้าหมาย 100 ล้านโดสอย่างแน่นอน แต่ก็เกิดข้อกังวล เนื่องจากคณะกรรมการด้านวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพิจารณาการใช้วัคซีนสูตรไขว้เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ใช้คือ “ซิโนแวคบวกแอสตร้าเซนเนก้า” โดยฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ล่าสุดที่ประชุม ศบค. เห็นชอบวัคซีนไขว้เพิ่มอีก 2 สูตร คือ “แอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 คือ ไฟเซอร์” และ “ซิโนแวคเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 เป็นไฟเซอร์”

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า มติ ศบค. เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา กรณีการอนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรไขว้เพิ่มนั้น คณะกรรมการวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ ศบค. พิจารณาอนุมัติวัคซีนสูตรไขว้ เพิ่มเติม 2 สูตร ได้แก่ 1. สูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับวัคซีนไฟเซอร์ ระยะห่าง 4-12 สัปดาห์ และ 2. สูตรวัคซีนซิโนแวคกับวัคซีนไฟเซอร์ ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์

ทั้งนี้ การนำไปใช้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ได้มีการจัดหา การบริหารจัดการก็จะต้องให้สอดคล้องกับวัคซีนที่มี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการให้วัคซีนนั้นเป็นหน้าที่ของสถานบริการนั้นๆ เป็นผู้จัดให้เหมาะสมต่อไป

ส่วนข้อสงสัยว่าปริมาณวัคซีนเข้ามามาก แต่เพราะอะไรต้องฉีดวัคซีนไขว้ ทั้งทางกระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างเคยให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากการฉีดไขว้ใช้เวลาระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ไม่นาน เพียง 3-4 สัปดาห์ ทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นไปอย่างรวดเร็วในสถานการณ์การระบาดเช่นนี้ ยิ่งสายพันธุ์เดลตาที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว ยิ่งต้องกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้น

เข้าใจได้ว่า การบริหารจัดการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมา ก็เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาด โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ที่แม้ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลงในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ในต่างจังหวัดตัวเลขก็ยังไม่ลดลง โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนใต้ก็ยังน่ากังวล

ฉีดวัคซีน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงพยาบาลจะนะ

รวมไปถึงล่าสุดปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังสั่งให้เฝ้าระวัง 10 จังหวัดที่ผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา ราชบุรี ระยอง จันทบุรี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และตาก โดยให้จังหวัดทบทวนสถานการณ์ประจำวัน เข้มมาตรการควบคุมโรค โดยมีระยะเวลาภายใน 1 เดือน ว่า จะทำตัวเลขลงมาได้เท่าไหร่

อย่างไรก็ตามการระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด การใช้วัคซีนสูตรไขว้ต่างๆ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะรัฐยังไม่มั่นใจสถานการณ์การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นระลอกใหม่หรือไม่ ยิ่งนายกรัฐมนตรีมีประกาศเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้ และยิ่งจะพิจารณาอนุมัติให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ผับ บาร์ได้ภายใน 1 ธันวาคม 2564

อดห่วงไม่ได้จริงๆ ว่า ระลอกใหม่จะมาช่วงปีใหม่อีกหรือไม่…