ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้โมเดล ‘เศรษฐกิจ BCG’ เปลี่ยนจุดแข็งไทย แนะรัฐบาลต้องทำให้เป็น Global Agenda

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้โมเดล ‘เศรษฐกิจ BCG’ เปลี่ยนจุดแข็งไทย แนะรัฐบาลต้องทำให้เป็น Global Agenda

26 ตุลาคม 2021


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

เปิดแนวคิด ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ โดยดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรมว.กระทรวงอุดมศึกษาฯ มองความท้าทายร่วมกันของทุกประเทศทั่วโลกและไทยคือความมั่นคงขั้นพื้นฐาน ชี้ BCG คือทางออกที่ทั่วโลกปรับใช้ได้ผ่าน 3 ปัจจัยคือ คน ผลิตภัณฑ์ และพื้นที่ โดยเฉพาะจุดแข็งของประเทศไทยคืออุตสาหกรรมอาหาร แนะรัฐบาลเสนอ BCG เข้าสู่เวทีการประชุมระดับโลก APEC เพื่อสร้างความร่วมมือให้ไทย-ประเทศแถบลาตินอเมริกา สร้างโอกาสใหม่ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย

หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดมาจากการบรรยายพิเศษหัวข้อ “BCG ของประเทศไทย และความร่วมมือของภูมิภาคลาตินอเมริกา” จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ว่าประเทศไทยต้องแสดงจุดยืนและเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ตามแนวทางของโลกที่ต้องการความยั่งยืน และสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

BCG ในความหมายของดร.สุวิทย์คือ เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน ทุกประเทศสามารถนำไปใช้ได้โดยประยุกต์ให้เข้ากับบริบทภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เนื่องจากความท้าทายในยุคปัจจุบันคือ ‘stakeholder’ ที่กระจายในทุกภาคส่วน แต่การใช้ BCG จะช่วยรวมคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาไว้ด้วยกันและทำให้มีเป้าหมายเดียวกัน

เศรษฐกิจในแบบ BCG มีคุณสมบัติอย่างน้อย 5 ข้อ คือ

  1. อาศัยจุดแข็งของความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม
  2. การกระจายตัวของสาขายุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
  3. การกระจายตัวของผู้ประกอบการ ครอบคลุมผู้ประกอบการในระดับฐานราก วิสาหกิจชุมชน SMEs ผู้ประกอบการรายใหญ่และสตาร์ทอัพ
  4. การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจภูมิภาค เศรษฐกิจระดับประเทศและเศรษฐกิจโลกเข้าด้วยกัน
  5. สร้างสมดุลระหว่างการนำเข้าเทคโนโลยี กับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ

“BCG มีมาตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชวาล ตั้งอยู่บนหลักคิด 3 เรื่อง คือ สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นำไปสู่การสร้าง Growth engine ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา แม้เราล้มลุกคลุกคลานกับวิกฤติการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจไปบ้าง แต่ BCG อยู่ข้างหลังมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์)จนมาสู่ Eastern Seaboard สู่ยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในยุคพลเอกชาติชาย”

“แต่ปัจจุบัน ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญความท้าทาย ‘ความมั่นคงพื้นฐาน’ ทั้งหมด 4 เรื่องได้แก่ ความมั่นคงด้านสุขภาพ อาหาร พลังงาน และรายได้-การมีงานทำ”

นอกจากนี้ BCG ยังเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม (Industry Transformation) ครั้งใหญ่ จากการเป็นข้อต่อของ Global Value Chain ผ่าน 10 อุตสาหกรรม S-Curve สู่การพัฒนา 5 อุตสาหกรรมระดับโลก (Global Industry) ที่จะรุ่งเรืองภายใน 10 ปีนี้ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ พลังงาน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อีกทั้งจะต้องเชื่อมโยงการลงทุนระดับโลก ทั้งบรรษัทข้ามชาติเป้าหมาย (Targeted MNCs) สถาบันวิจัยระดับโลก รวมถึงเทรนด์ระดับโลกให้เกิดการยกระดับโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ระดับโลก

ดร.สุวิทย์มองว่า หากประเทศไทยนำเสนอ BCG ให้ทั่วโลกยอมรับได้ จะทำให้ BCG กลายเป็น Soft Power ของประเทศไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ดร.สุวิทย์ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยต้องเป็นตัวชูโรง BCG ไม่ใช่แค่ในฐานะ National Agenda แต่ต้องเป็น Global Agenda โดยอาศัยเวทีการประชุมระดับโลก เพื่อแสดงจุดยืน 2 ประการคือ (1) ประเทศไทยสามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์ SDGs ได้อย่างลงตัว แถมยังส่งต่อแนวคิดให้กับประเทศอื่นๆ ได้ และ (2) เป็นการเชื่อมต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับ SDGs

  • BCG Economy Model ในบริบทการต่างประเทศ
  • Krungthai COMPASS ชี้อนาคตธุรกิจไทยต้อง เคลื่อนด้วย “BCG Model”
  • เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : BCG Soft Power นำไทยสู่โลก
  • ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG สู่ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารโลก
  • ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรเสนอเรื่อง BCG ในงานประชุมผู้นำ APEC เพื่อใช้โอกาสนี้ในการผลักดันประเด็นต่างๆ ไปยังประเทศต่างๆ รวมไปถึงประเทศแถบลาตินอเมริกา เพื่อสร้างความร่วมมือในระยะยาว

    ทั้งนี้ ในการนำเสนอเศรษฐกิจ BCG สามารถทำผ่านเวทีโลกต่างๆ ได้ เช่น

    • เวทีระดับโลก ได้แก่ UN, World Economic Forum, Global Bioeconomy และ STS Forum
    • เวทีระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ได้แก่ APEC, ASEM, ASEAN PLUS, ASEAN และ CLMVT

    “ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยมีบทบาทในการผลักดันประเด็นต่างๆ เพราะเราเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก (small economy) แต่ในเวทีประชุม APEC ครั้งนี้ (12 พ.ย.64) BCG จะทำให้ประเทศมี power to lead เพราะนี่กลยุทธ์สำคัญของประเทศไทย การผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมจะทำให้ประเทศไทยมี soft power และสามารถ set the rule of the game ในเวทีโลกได้”

    แต่สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำควบคู่กับการผลักดัน BCG สู่เวทีโลกคือ การส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG อย่างจริงจังให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยสามารถพัฒนา 3 อุตสาหกรรมนี้เพราะทุกภูมิภาคในประเทศไทยมีต้นทุนด้านนี้

    ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า เมื่อพัฒนาระดับอุตสาหกรรมแล้ว ต้องมาพัฒนาระดับภาค ตามด้วยระดับชุมชน เช่นการตั้งกองทุนอุตสาหกรรม BCG ให้ครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติในประเทศเช่น แหล่งน้ำ แหล่งไม้มีค่า วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ

    “BCG เป็น local links global reaches ทำให้เราเชื่อมต่อกับโลก พร้อมกันเราก็มีแหล่ง supply ในประเทศมากมาย แหล่งท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดก็แตกต่างกัน สินค้า สมุนไพรก็แตกต่างกัน กระชายดำ กระชายขาว ฟ้าทลายโจร กัญชา กัญชง เหล่านี้คือโอกาส เรามี Local BCG ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ถ้าแต่ละจังหวัดบริหารจัดการให้ดี”

    ดร.สุวิทย์กล่าวถึง 2 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมอย่างจริงจังคือ (1) อุตสาหกรรม Functional Food (อาหารแห่งอนาคต) โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากพืชและให้โปรตีนเทียบเท่าหรือสูงกว่าอาหารจากเนื้อสัตว์ (Plant Based Protein) 

    “หน่วยงานภาครัฐเรายังไซโล ถ้าไม่เปลี่ยน mindset ก็จะเกิดโอกาสยากมาก ผมเคยประชุมกับผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข ก็เห็นตรงกันว่า มีหลายอย่างที่มองไม่ตรงกัน บางอย่างเป็นยา มันไม่ได้ มันต้องทำให้เป็นอาหารเสริม แต่พอเป็นอาหารเสริมก็มีเรื่องกฎระเบียบอีก บ้านเรายังคิดว่า ถ้าไม่เป็นแบบนี้ ก็ต้องเป็นแบบนี้ ทั้งที่อาหารกับยา แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนประโยคที่ว่า you are what you eat”

    ส่วนอุตสาหกรรมที่ (2) คือการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเท่าที่ควร

    “เราต้องมองนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย เพราะเราขายเทคโนโลยีได้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างเทคโนโลยีเอง หลายอุตสาหกรรมยังอยู่ในกลุ่มที่ต้องพัฒนาจากเทคโนโลยี dependent เป็น independent นี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะต่อเชื่อมกับโลก”

    ดร.สุวิทย์กล่าวเสริมว่า เราต้องมองกรอบการทำงานของ BCG ออกเป็น 3 เรื่องคือ คน (people) ผลิตภัณฑ์ (product) และเชิงพื้นที่ (place) บนความแตกต่างหลากหลายทั้งในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค เพื่อถักทอให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ที่มีประชาชนที่แตกต่างกัน

    ดร.สุวิทย์ยังกล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่สามารถส่งเสริมเพียงแค่อุตสาหกรรมเดียวได้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญคือสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (cliamte changes) ซึ่งทำให้การส่งเสริมด้านเดียวไม่ตอบโจทย์แก่การพัฒนา

    ท้ายที่สุด ดร.สุวิทย์มองไปถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหลังยุคโควิด-19 (post COVID-19) โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

    1. อุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ ถ้าเสริมความแข็งแกร่งจะสามารถเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกได้
    2. อุตสาหกรรมที่แข่งขันไม่ค่อยได้ ต้องซ่อมเสริม เช่น การค้าบริการ โลจิสติกส์ การเงิน การศึกษา ฯลฯ
    3. อุตสาหกรรมที่ยังแข่งขันไม่ได้ เช่น อุตสาหกรรมอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ฯลฯ
    4. อุตสาหกรรมที่จะเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ เช่น ธุรกิจดิจิทัล เอไอ EV ฯลฯ
    5. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต
    6. อุตสาหกรรมที่สู้ไม่ได้แล้ว ต่างชาติรอย้ายฐานการผลิต

    หากประเทศไทยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่เวทีระดับโลก ด้วยการนำเสนอต้นแบบความสำเร็จภายในประเทศ จะทำให้ทั่วโลกยอมรับ และเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะแสดง soft power ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้