ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > “EECi” พร้อม “โรดโชว์” ประชุมผู้นำ APEC

“EECi” พร้อม “โรดโชว์” ประชุมผู้นำ APEC

27 มีนาคม 2022


เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) (ขวา) พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) นำคณะสื่อมวลชนเดินทางมาศึกษาดูงานที่ เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “EECi” อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

‘สกพอ.-สวทช.’นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ “EECi” วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เตรียมความพร้อม ‘โรดโชว์’ เทคโนโลยีของไทย ต้อนรับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ปลายปีนี้

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) นำคณะสื่อมวลชนเดินทางมาศึกษาดูงานที่ เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “EECi” อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆที่เดินทางประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ “APEC” ประจำปี 2565

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการนำคณะสื่อมวลชนมาศึกษาดูงานที่ EECi ครั้งนี้ เนื่องจากในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APEC รัฐบาลไทยได้เชิญชวนผู้บรรดาผู้นำของประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาร่วมประชุม APEC ในช่วงปลายปีนี้ หากสนใจที่จะมาดูความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย ทาง สกพอ.ก็รับอาสาที่จะพามาดูงานที่ EECi แต่ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เจ้าของพื้นที่ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เร่งดำเนินการก่อสร้างตัวอาคาร และโครงสร้างพื้นฐานจนเสร็จเรียบร้อย ซึ่งในขณะนี้กำลังทยอยนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาติดตั้ง คาดว่าจะเริ่มเปิดใช้อาคารได้ในเดือนมิถุนายนนี้ และจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2565

ดร.คณิศ กล่าวว่าความสำคัญของเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “EECi” เป็นหนึ่งใน 6 เขตส่งเสริมกิจกรรมพิเศษของพื้นที่อีอีซี (ฉะเชิงเทรา,ชลบุรีและระยอง) ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ทั้งหมด 3,302 ไร่ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม เชื่อมโยงการวิจัยพัฒนากับการลงทุนต่างๆในเขตส่งเสริมกิจกรรมพิเศษในพื้นที่ EEC ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

“เวลานักลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี นอกเหนือจากเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีและอื่นๆแล้ว ส่วนใหญ่จะสอบถามอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. มีบุคลากรหรือแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง รองรับการลงทุนหรือไม่ 2. เมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีแล้ว เกิดปัญหาด้านเทคนิค ที่ EEC มีห้องปฏิบัติการ หรือ Laborotory ไว้บริการหรือไม่ ซึ่ง EECi จะเป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ของไทย เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ตามที่กล่าวข้างต้น EECi จึงเปรียบเสมือนมันสมอง หรือ Laborotory ของอีอีซี สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ รองรับการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศไทย” ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้จะเกิดสถานการณ์โควิดฯระบาดในช่วง 2 ปีหลัง แต่ สกพอ.ได้อนุมัติโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนเฟสแรกไปแล้ว 1.7 ล้านล้านบาท (ภาคเอกชนลงทุน 80% และภาครัฐ 20%) ถือเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ กพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ จึงมีมติอนุมัติแผนการลงทุน เฟส 2 โดยตั้งเป้าหมายให้ สกพอ.สนับสนุนให้เกิดการลงทุนใหม่ๆในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นอีก 2.2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี (เริ่มปี 2565-2569) หรือ เฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาท และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ สกพอ.เข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 14,619 ไร่ เพื่อนำมาพัฒนาเป็น “โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” หากทำได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี และเมื่อสถานการณ์โควิดฯคลี่คลาย คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และก้าวเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ภายใน 7-8 ปีข้างหน้า

เลขาธิการ สกพอ. กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ EECi จะเน้นไปในเรื่องเกษตรสมัยใหม่ หรือ เกษตรอัจฉริยะ ที่สำคัญๆ อาทิ โรงเรือนปลูกพืชฟีโนมิกส์ (Phenomics Greenhouse) ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยการเจริญเติบโตของพืชในสภาวะแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ หรือ โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant) ซึ่งถือเป็นโรงงานต้นแบบของการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ชีวมวล และวัสดุเหลือทิ้ง ซึ่งมีมูลค่าต่ำนำไปสู่สารสกัดที่มีมูลค่าสูง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมชีวภัณฑ์ , ยา , อาหารเสริม และวัสดุชีวภาพ เป็นต้น

เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน

ส่วนที่เหลืออีก 40% จะเน้นไปในเรื่องของการยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยที่ EECi ได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Manufacturing center : SMC) ค่อยให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคแก่โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาทักษะของบุคลากร หรือ เป็นศูนย์ทดสอบความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ ออกแบบ ปรับแต่งเครื่องจักร ระบบต่างๆ ก่อนนำไปใช้งานจริง นอกจากนี้ยังมีสนามทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ , โรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ทางเลือก และเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3 GeV ซึ่งเปรียบเสมือนกล้องจุลทรรศน์ขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นโครงสร้างของวัตถุในระดับอะตอม ซึ่งจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ออกแบบวัสดุสมัยใหม่ เช่น โมเลกุลยา อาหารโปรตีนสูง โลหะทนความร้อนสูงที่ใช้ในอากาศยาน เป็นต้น

“แต่ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งทำได้เร็วมาก ตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกคนในโลกตื่นตัวกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาก นอกจากบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ที่ไปเซ็นสัญญากับกรมสรรพสามิตแล้ว ยังมีค่ายรถยนต์จากจีน, ญี่ปุ่น และยุโรป เตรียมเข้ามาตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ EEC อีกหลายราย รวมไปถึงการลงทุนก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า , โรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่จากสังกะสีไอออน และสนามทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า หรือ ยานยนต์อัตโนมัติ เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ในเร็ว ๆนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการวางรากฐานเทคโนโลยีของไทย เพื่ออนาคตของเยาวชนรุ่นต่อไป” ดร.คณิศ กล่าว

ด้าน ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมของ EECi เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG จะมีอยู่หลายด้านด้วยกัน แต่ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่อุตสาหกรรม 3 กลุ่มก่อน อันได้แก่ กลุ่มเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง , แบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่ และ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเลกทรอนิกส์อัจฉริยะ โดย EECi จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งภายใน EECi จะมีทั้งโรงงานต้นแบบ , สนามทดสอบ , พื้นที่สาธิต , แหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ เปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการ นำผลงานวิจัยที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2565 ส่วนโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟนอรี ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมเกษตรของไทนนั้น ตามกำหนดการเดิมจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรอโรงงานไบโอรีไฟนอรีเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพราะในเร็วๆนี้ทาง สวทช.กำลังจะทำบันทึกความร่วมมือกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเบลเยี่ยม ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านไบโอรีไฟเนอรีชั้นนำของโลก เข้ามาช่วยบริหารโครงการนี้ และทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ นำผลงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้จากห้องทดลองมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรของไทย

“นอกจากเรื่องเกษตรอัจฉริยะแล้วที่ EECi เรายังทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.0 ซึ่งเราจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลและหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเสริม เพื่อยกระดับอุตสากรรมของไทยขึ้นไปเป็น 3.0 และ 4.0 ต่อไป ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ตามที่ดร.คณิศ กล่าวในข้างต้นนั้น ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตก็จะมีการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติตามมาแน่นอน ตรงนี้ EECi ก็ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานเอาไว้ โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการจะมาลงทุนทำสนามทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติที่นี่ ซึ่งการนำเทคโนโลยีประเภทนี้เข้ามาในเมืองไทยจะต้องมีสนามทดสอบ ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการ และออกกฎระเบียบที่เหมาะสมมากำกับดูแลต่อไป” ดร.เจนกฤษณ์ กล่าว

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable
Manufacturing Center : SMC)
โรงเรือนปลูกพืชฟีโนมิกส์ (Phenomics Greenhouse)
เทคโนโลยีแปรรูปผลผลิต
ทางการเกษตรจากโรงงานไบโอรีไฟนอรี

ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ วังจันทร์วัลเลย์
ศูนย์นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ GPSC บริษัท โกลบอล เพาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด
สนามบินขนาดเล็กเพื่อใช้ทดสอบอากาศยาน
ป้ายจอดรถประจำทางอัจฉริยะ

ป้ายคำ :